ในหลวงรัชกาลที่ 10 ไม่ได้เพียงเสียภาษีเงินได้จากการปันผลธุรกิจ แต่ยังทรงเสียภาษีที่ดิน ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีมรดกและอื่นๆ เฉกเช่นคนไทยคนหนึ่ง อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่เพียงแต่ทรงเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากบรรดารายได้ต่างๆ จากเงินปันผลที่ทรงได้รับในฐานะผู้ถือหุ้น หากยังทรงเสียภาษีต่างๆ ตามกฎหมายอื่นด้วย ไม่ว่าจะเป็นภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ตลอดจนกระทั่งภาษีการรับมรดก

หรือแม้แต่ในปัจจุบัน สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ตาม พรบ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2561 กฎหมายนอกจากจะไม่กำหนดให้ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ได้รับการยกเว้นภาษีอากรอีกต่อไปแล้ว ยังบัญญัติโดยชัดแจ้งอีกด้วยว่า หากมีกฎหมายใดกำหนดให้ต้องเสียภาษี ก็ย่อมต้องเสียภาษีตามกฎหมายนั้น

จากตำรากฎหมายปกครอง ของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ซึ่งอธิบายหลักการในเรื่องของ “หลักความเสมอภาค” อันเป็นหลักการสำคัญอย่างหนึ่งในระบอบประชาธิปไตย นายปรีดี พนมยงค์ มองว่า “มนุษย์เมื่อเป็นอิสระดังที่กล่าวแล้ว ก็อาจที่จะใช้ความอิสระของตนเสมอภาคกับเพื่อนมนุษย์อื่น… กล่าวคือ สิทธิและหน้าที่ในทางกฎหมายเช่นเดียวกับบุคคลอื่น” ซึ่งสอดคล้องกับแนวพระราชดำริ ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 มีพระราชประสงค์ให้กระทรวงนครบาลเก็บภาษีจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพราะทรงถือว่าพระองค์แม้จะเป็นพระเจ้าแผ่นดิน แต่ก็ทรงเป็นบุคคลคนหนึ่งด้วย ในเมื่อชาวสยามทุกคนมีหน้าที่เสียภาษี ฉะนั้นก็ไม่ควรที่จะยกเว้นพระองค์

“ฉันก็ถือว่า ฉันเป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง ทรัพย์สมบัติของฉันที่มีอยู่ก็นับว่าเป็นส่วนมาก ถ้ารัฐบาลจะแบ่งผลประโยชน์ของฉันที่ได้มาจากทรัพย์สมบัติทั้งหมดนั้นบ้าง ฉันมีความยินดีเต็มใจที่จะเฉลี่ยให้เป็นการอุดหนุนชาติแลบ้านเมืองอย่างคนสามัญด้วยเช่นเดียวกัน”

พระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงเจ้าพระยายมราช เสนาบดีกระทรวงนครบาล เลขที่หนังสือ 3/49 ลงวันที่ 15 เมษายน ร.ศ.131

ความเสมอภาคในหน้าที่หรือภาระ เช่น การมีหน้าที่ที่จะต้องเสียภาษีอากรด้วยนี้ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ได้สดุดีพระเกียรติคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ไว้ในตำรากฎหมายปกครองว่า เป็นเรื่องที่ “ควรระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 6”

นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2455 เป็นต้นมา หลังจากที่รัชกาลที่ 6 มีพระราชกระแสรับสั่งให้กระทรวงนครบาลดำเนินการเก็บภาษีจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ตั้งแต่นั้นมาพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ก็ได้ทรงเสียภาษีอากรเสมอมา

ในปี พ.ศ.2562 เกิดกรณีการเผยแพร่ใบเสร็จรับเงินการชำระภาษีบำรุงท้องที่ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ซึ่งเป็นการเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคล แม้จะเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและมิชอบด้วยกฎหมายก็ตาม แต่ก็ทำให้ประชาชนได้ทราบถึงการเสียภาษีบำรุงท้องที่ของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นที่ดินส่วนพระองค์ ที่ได้รับพระราชมรดกส่วนพระองค์จากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรฯ รัชกาลที่ 9

โดยนางสาวพัชรี รักสากุล หัวหน้าฝ่ายพัฒนารายได้ ผู้ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ออกใบเสร็จ และนายเฉลิมชัย โถน้อย นายกเทศมนตรีตำบลศาลากลาง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี ต่างก็ออกมาเปิดเผยกับสื่อมวลชน โดยกล่าวยืนยันถึงการเผยแพร่ใบเสร็จรับเงินที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวชำระภาษีบำรุงท้องที่ว่าเป็นความจริง และให้ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า ที่ดินแปลงดังกล่าวมีเนื้อที่ประมาณ 285 ไร่ เสียภาษี 19,440 บาท และทรงพระราชทานให้ประชาชนใช้ที่ดินส่วนนี้ทำกิน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการปลูกเลี้ยงบัว

แม้ว่า พรบ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2491 จะยกเว้นให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไม่ต้องเสียภาษี ทว่านับแต่ในสมัยรัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ก็ได้ทรงพระราชทานแนวพระราชดำริให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มีการดำเนินงานอย่างมีธรรมาภิบาล

ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักทรัพย์สินฯ ได้น้อมนำพระราชดำริ โดยดำเนินการแยกเอาการลงทุนที่ดำเนินการแสวงหาผลกำไรในเชิงธุรกิจ จากเดิมที่สำนักงานทรัพย์สินถือหุ้นอยู่ ก็เปลี่ยนแปลงด้วยการให้มีบริษัท ทุนลดาวัลย์ จำกัด เข้ามาถือหุ้นแทน ได้ส่งผลให้แต่เดิมบริษัทต่างๆ ที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ถือหุ้นอยู่ เมื่อได้รับเงินปันผล ก็จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ แต่เมื่อบริษัทต่างๆ ถือหุ้นผ่านบริษัท ทุนลดาวัลย์ จำกัด แล้ว เงินปันผลต่างๆ จึงไม่อยู่ในขอบข่ายที่ได้รับการยกเว้นภาษี

ในสมัยรัชกาลที่ 10 การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจัดการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ได้ส่งผลให้หลักการบริหารและดูแลทรัพย์สิน ไม่เปิดช่องให้สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ถือหุ้นได้เอง ทำให้รัชกาลที่ 10 ทรงถือหุ้นในพระปรมาภิไธยด้วยพระองค์เอง ซึ่งส่งผลโดยตรงทำให้รายได้จากเงินปันผลต่างๆ ต้องมีภาระภาษีที่สูงขึ้น จากแต่เดิมการถือหุ้นผ่านบริษัท ทุนลดาวัลย์ จำกัด ทำให้ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล แต่การถือหุ้นในพระปรมาภิไธย จะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทำให้ทรงต้องรับภาระภาษีมากขึ้นกว่าเดิม

อย่างไรก็ตาม การเสียภาษีบำรุงท้องที่ หรือภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง นับตั้งแต่อดีตในสมัยโบราณ การเก็บภาษีนั้นรัฐจะเก็บภาษีจากประชาชนทุกคน ยกเว้นพระเจ้าแผ่นดิน เนื่องจากพระเจ้าแผ่นดินเป็นรัฐ หากรัฐเก็บภาษีตัวรัฐเองแล้ว เก็บภาษีก็เหมือนไม่เก็บ เพราะภาษีเป็นรายได้ของรัฐ เหมือนย้ายเงินกระเป๋าซ้ายไปกระเป๋าขวา สุดท้ายก็เป็นเงินแผ่นดินเหมือนเดิม

ทว่านับแต่ในสมัยรัชกาลที่ 6 ตั้งแต่ พ.ศ.2455 เป็นต้นมา พระมหากษัตริย์ต้องเสียภาษีที่ดินทุกพระองค์ อีกทั้งพระมหากษัตริย์ไทย ทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภกในทุกๆ ศาสนา และยังทรงเป็นพุทธมามกะอีกด้วย ดังนั้น นับแต่ในสมัยรัชกาลที่ 1 เป็นต้นมา จึงทรงยกเว้นการเก็บภาษีที่ดินจากวัด ซึ่งส่งผลมาจนถึงปัจจุบัน ที่ประเทศไทยไม่เคยยกเลิกการยกเว้นการเก็บภาษีจากที่ดินวัดเลย พูดง่ายๆ ก็คือ จนถึงปัจจุบันนี้ วัดไม่จำเป็นต้องเสียภาษีที่ดิน

นอกจากพระมหากษัตริย์ไทยจะไม่เก็บภาษีที่ดินจากวัดแล้ว ยังทรงถวายเงินนิตยภัตแก่พระภิกษุสงฆ์อีกด้วย บรรดาสมณศักดิ์ หรือเครื่องประกอบสมณศักดิ์ต่างๆ ก็ทรงถวายเป็นพุทธบูชาแด่พระรัตนตรัย ทำให้ศาสนาพุทธในประเทศไทยมีความมั่นคง พระภิกษุสงฆ์สามารถปฏิบัติธุดงควัตร มุ่งมั่นศึกษาพระธรรม สืบสานพระพุทธศาสนาได้โดยไม่ต้องประกอบธุรกิจอย่างฆราวาส

อ้างอิง :

[1] สุดปลาบปลื้ม “ในหลวง” ทรงเสียภาษีให้ราษฎรใช้เป็นที่ทำกิน 285 ไร่
[2] ปรีดี พนมยงค์.ประชุมกฎหมายมหาชนและเอกชนของปรีดี พนมยงค์, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2553
[3] พระราชหัตถเลขา ร.6 เลขที่ 3/49 ถึงเจ้าพระยายมราช วันที่ 15 เมษายน ร.ศ.131
[4] พรบ.ว่าด้วยการยกเว้นภาษีอากรอันเกี่ยวแก่ทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พุทธศักราช 2477
[5] พรบ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2491 (ฉบับที่ 3)
[6] พรบ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2561

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า