โศกนาฏกรรม กรณีสวรรคตรัชกาลที่ 8

“…ย่อมเป็นที่ประจักษ์ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองมาแล้วว่า ในกลุ่มนักปฏิวัติ ใช่ว่าจะมีผู้ใดมีจิตต์ใจมุ่งมั่นต่อหน้าที่ ต่อประชาชนทุกคนไป การประพฤติปฏิบัติในกาลต่อมา แสดงออกตามหลักแห่งความนิยมของเขา 

จนได้ปรากฏถึงสมัยหนึ่งที่ประชาธิปไตยได้ผันแปรไปในรูปเผด็จการ และได้มีการร่วมมือกับบรรดาประเทศเผด็จการทั้งหลาย ได้มีการปฏิบัติทำนองตั้งราชสำนักขึ้นใหม่เหล่านี้…” 

คำแถลงปิดคดีของทนายจำเลยกรณีสวรรคตล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 8 โดยนายฟัก ณ สงขลา วันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ.2494 ให้ภาพรวมโศกนาฏกรรมของกรณีสวรรคตล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 8 ได้ชัดเจนที่สุด

ภาพจำของประวัติศาสตร์สร้างใหม่มุ่งส่องสว่างเฉพาะการช่วงชิงอำนาจโดยกลุ่มอำนาจเก่าที่ถูกตั้งชื่อว่า ฝ่ายอนุรักษ์นิยมบ้าง ฝ่ายนิยมเจ้าบ้าง ฝ่ายขวาบ้าง ไปจากกลุ่มอำนาจใหม่ที่เรียกตัวเองว่าประชาธิปไตยก้าวหน้า

ทว่าเรื่องราวข้างหลังเมฆบนฟากฟ้าเดียวกัน กลับตกสำรวจอย่างจงใจ ภาพจำกระท่อนกระแท่นสร้างเรื่องเล่าใหม่เพื่อแก้มือความล้มเหลวในประวัติศาสตร์  

ช่วงเวลาเพียง 25 ปี นับจาก พ.ศ.2475-2500 ศึกชิงอำนาจไม่ได้ขีดเส้นแบ่งขั้วแต่เพียงกลุ่มก้าวหน้ากับอนุรักษ์นิยมเท่านั้น แต่เป็นการต่อสู้กันเองในกลุ่ม เพราะอำนาจ ผลประโยชน์ บุญคุณ ความแค้น การทรยศหักหลัง เกิดขึ้นตลอดเวลา การทิ้งมิตรจับมือกับศัตรู แตกแยกศัตรูกลับไปหามิตร เกิดขึ้นราวกับเป็นเรื่องปกติ ตรงกับที่ใครคนหนึ่งเคยพูดไว้ว่า การเมือง ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร 

เพียง 2 ทศวรรษเศษนับจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 การแตกหักของผลประโยชน์ การทรยศหักหลังของมิตรร่วมอุดมการณ์ ปะทุเป็นการกบฏถึง 8 ครั้ง โดยกบฏ 6 ครั้งเกิดจากผู้นำและผู้มีส่วนร่วมจากกลุ่มเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475  เกิดรัฐประหาร 5 ครั้ง ซึ่งจำนวน 4 ครั้งนั้นแกนนำคือกลุ่มเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 อีกเช่นกัน มีเพียงการรัฐประหารครั้งสุดท้ายของทศวรรษนี้ นำโดยจอมพลสฤษดิ์ ผู้เป็นผลผลิตของการเมืองหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองนั่นเอง 

“…หม่อมฉันทูลขอใต้ฝ่าพระบาทอย่าให้ทรงเปนทุกข์นักเลย เวลาหม่อมฉันกลุ้มใจมากๆเข้า ก็มาคิดเสียว่าการที่นันท์รับเป็นคิงเสีย ก็ได้ช่วยบ้านเมืองของเราในทางอ้อม ถ้าเขาจะตั้งคนอื่นก็อาจเกิดยุ่งขึ้นได้ ก็ทำให้สบายใจขึ้นหน่อย…”

ลายพระหัตถ์สมเด็จพระราชชนนีในรัชกาลที่ 8 ถวายสมเด็จพระพันวัสสาฯ อัยยิกาเจ้า( สมเด็จย่าของล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 8 ) วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ.2477

ลายพระหัตถ์ หรือ จดหมายในตอนนั้น ทำให้เห็นว่าแม้ต้องเผชิญปัญหามากมายนับแต่พระราชโอรสทรงรับอัญเชิญขึ้นเป็นกษัตริย์ แต่คงจะทรงไม่เคยนึกไปถึงเรื่องที่ร้ายแรงที่สุด

เดือนธันวาคม พ.ศ.2488 ในท่ามกลางมรสุมการช่วงชิงอำนาจ ซึ่งมีมากกว่า 2 กลุ่ม กษัตริย์หนุ่มรูปงามวัยเพียง 20 ปี กลับบ้านเป็นการชั่วคราวพร้อมกับ “แม่และน้องชายวัย 18 ปี” ทว่าเพียงไม่กี่เดือนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่อานันทมหิดล กลับต้องพระแสงปืน สวรรคตในห้องบรรทมของพระองค์เอง 

ยามนั้น เป็นช่วงเวลาที่ขั้วอำนาจใหม่ของโลกเริ่มสยายปีก กลุ่มอำนาจในประเทศไทยเองต่างก็ซุ่มรอเวลาที่ฝ่ายตนจะได้เปรียบ การสิ้นพระชนม์ของกษัตริย์หนุ่มจากราชสกุลที่มีสมาชิกสายตรงไม่กี่พระองค์ เปิดทางให้มรสุมการเมืองโหมกระหน่ำขึ้นอีกครั้ง เพียงแต่ครั้งนี้ต่างก็ตื่นตัวกับโอกาสทองที่ร้อยปีก็ไม่อาจมีมาสักครั้ง 

แผนการทุกรูปแบบถูกนำมาใช้ โดยไม่คำนึงถึงความสูญเสียจากการตาย การพลัดพรากของหนึ่งราชสกุล และข้าราชบริพารที่เกี่ยวข้อง นำไปสู่โศกนาฎกรรม การไล่ล่า การสาดโคลน และ การล้มล้าง ที่ยาวนานถึง 77 ปี

จับ 3 จำเลย

หลังการรัฐประหารในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2490 มีการจับกุมจำเลยในกรณีสวรรคต ใช้เวลาสืบ-สอบอีก 2 ปีเศษ  อัยการจึงยื่นฟ้องศาลด้วยข้อหา “ประทุษฐร้ายต่อพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ เพทุบายเท็จปกปิดการกระทำผิด” นายเฉลียว ปทุมรส เป็นจำเลยที่1 นายชิต สิงหเสนีเป็นจำเลยที่ 2 และ นายบุศย์ ปัทมศรินเป็นจำเลยที่ 3

ฝ่ายทนายจำเลย (อาศัยนายเฉลียว ซึ่งมีฐานะดีที่สุด)ว่าจ้างทนายถึง 8 คน คือ หลวงอรรถไกรวัลวที, นายทองม้วน สถิรบุตร, นายชมภู อรรถจินดา, หลวงประมูลคดี, นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์, นายถวิล อุดล, นายฟัก ณ สงขลา และ นางสาวเครือพันธ์ ปทุมรส ภายหลังบางคนถอนตัว บางคนเสียชีวิต (นายทองอินทร์และนายถวิลถูกยิงเสียชีวิตพร้อมสองรัฐมนตรี ขณะอยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ตำรวจยุคพล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์)  สุดท้ายจึงเหลือเพียง 2 คนคือ นายฟัก และ นางสาวเครือพันธ์ (บุตรสาว)

สำนวนที่ส่งอัยการมาจากชุดทำงานของพล.ต.ท.พระพินิจชนคดี รวบรวมจากปากคำพยานและหลักฐาน 5 ครั้ง  ครั้งแรก บันทึกโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจในเช้าวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2489  ครั้งที่ 2 ศาลกลางเมือง สมัยนายปรีดี พนมยงค์ เป็นรัฐบาล

ครั้งที่ 3 ชุดพระพิจารณ์พลกิจ สมัยหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ไม่คืบหน้าเพราะพยานไม่กล้าให้การ (ชุดนี้ใช้เวลา 7 เดือนในการตรวจสำนวนและสอบพยาน ซึ่งขณะนั้นทั้งล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระราชชนนีประทับอยู่สวิตเซอร์แลนด์) น่าสังเกตว่าภายหลัง หลวงธำรงฯ อ้างงานสืบสวนในสมัยตนที่ยังคลุมเครือนั้น สงสัยว่าเป็นอุบัติเหตุจากสมเด็จพระอนุชา หรือไม่ก็สมเด็จพระราชชนนี อันเป็นจุดเริ่มต้นของผู้ต้องสงสัยรายใหม่ ถัดจากนายชิต และ นายเฉลียว

ครั้งที่ 4 เป็นทีมสอบสวนที่กรมตำรวจตั้งขึ้นโดยคำสั่งของคณะรัฐประหาร ซึ่งเส้นทางการดำเนินคดีกับสามจำเลยเริ่มที่ชุดนี้ หลังเกิดเหตุ 1 ปี 5 เดือนเศษ คณะรัฐประหารสั่งจับกุม 3 จำเลย (วันที่ 16 พฤศจิกายน สำนักข่าว ยู.พี. ระบุว่าคณะรัฐประหารจับกุมผู้ต้องสงสัย 7 คน นอกจาก 3 จำเลยแล้ว ยังมีหญิงอีก 4 คนทำงานในห้องเครื่อง (โรงครัวของวัง) จอมพลผิน ชุณหะวัณเผยว่าเรือเอกวัชรชัย ชัยสิทธิเวชเป็นผู้ต้องสงสัยคนที่8แต่หายตัวไป) จับกุมคุมขังพระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียร(คนสนิทของสมเด็จพระราชชนนี) หัวหน้ากองมหาดเล็ก, นายวงศ์ เชาวนะกวี  และนางชอุ่ม ภรรยาของเรือเอกวัชรชัย  ชัยสิทธิเวช ก่อนจะส่งตัวให้ตำรวจดำเนินการ

ครั้งที่ 5 คณะรัฐประหารเปลี่ยนหัวหน้าสอบสวนเป็นพล.ต.ท.พระพินิจชนคดี และใช้สำนวนนี้ส่งฟ้องอัยการ การดำเนินคดีในชั้นศาลจึงเริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2491 ในยุครัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม

รู้จัก 3 จำเลย

นายชิต สิงหเสนี และ นายบุศย์ ปัทมศริน เป็นมหาดเล็กรับใช้ห้องบรรทมที่นายฉันหุ้มแพร (ทัศน์ สุจริตกุล) ผู้ได้ชื่อว่ามีความจงรักภักดีมากเป็นผู้เลือกให้มารับหน้าที่ (นายฉันผู้นี้ เสียชีวิตลงกะทันหันด้วยอาการปวดท้องในตอนเช้า และเสียชีวิตในตอนเย็น โดยมีข่าวลือว่าเขาถูกวางยาพิษ) ทั้งคู่เคยถวายการรับใช้ล้นเกล้าฯรัชกาลที่๘ ตอนเสด็จนิวัติพระนครเมื่อ พ.ศ.2471 จากนั้นถูกส่งไปทำหน้าที่มหาดเล็กรับใช้พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ในสมัยที่ทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการร่วมสิบปี หลังจากทรงลาออก กลับไปประจำแผนกรับใช้ตามเดิม ก่อนจะถูกเรียกตัวมารับหน้าที่มหาดเล็กห้องบรรทม เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.2488 รวมเวลา7เดือนก่อนเกิดเหตุสวรรคต

ข่าวลือเรื่องนายชิต (และนายเฉลียว) เกี่ยวข้องกับการสวรรคต ปรากฏขึ้นตั้งแต่เกิดเหตุใหม่ๆแล้ว ตอนที่เขาให้ปากคำในศาลกลางเมือง ประชาชนที่มาฟังคำให้การ บางคนถึงกับปรบมือไม่พอใจขณะเขาขึ้นให้การ 

การจับกุมคุมขังพระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียร ซึ่งเป็นคนสนิทของสมเด็จพระราชชนนี ส่วนหนึ่งก็ต้องการคำให้การที่เชื่อมโยงนายชิตกับการลอบปลงพระชนม์ แต่พระยาอนุรักษ์ฯ ยืนยันความเชื่อของตนว่านายชิตไม่มีเจตนาร้ายต่อพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ หลังจากถูกคุมขังอยู่ 7 เดือนจึงได้รับการปล่อยตัวไป ส่วนนายบุศย์อาจถูกผูกพ่วงเข้ามาในฐานะมหาดเล็กห้องบรรทมด้วยกัน

นายเฉลียว ปทุมรส  จำเลยที่1ในคดี อยู่ในกลุ่มเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 เดิมรับราชการอยู่กรมไปรษณีย์โทรเลขกับ พ.ต.ควง อภัยวงศ์ ต่อมาเดือนสิงหาคม พ.ศ.2487 จึงมาดำรงตำแหน่งราชเลขานุการในพระองค์ตามคำเสนอของนายควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรี ภายหลังรับตำแหน่งเลขานุการนายกรัฐมนตรีในสมัยนายปรีดี พนมยงค์

ปลายปี 2487 นายเฉลียวร่วมกับเจ้าพระยารามราฆพและพวกรวม 7 คน จดทะเบียนก่อตั้งธนาคารกรุงเทพ มีพรรคพวกของนายปรีดี, เสรีไทยและพ่อค้าเข้าร่วมทุนด้วย หลังจากเขาถูกจับกุมจึงปรากฏชื่อ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์เข้าร่วมกิจการ 

หลังคำพิพากษาศาลชั้นต้น นายเฉลียวและนายบุศย์ได้รับการปล่อยตัว เนื่องจากศาลตัดสินลงโทษนายชิตคนเดียวในข้อหาสับเปลี่ยนปืนของกลาง ต่อมาหลังกบฏสันติภาพ 5 วัน (นายสุพจน์ ด่านตระกูล ผู้เขียนหนังสือกรณีสวรรคตหลายเล่ม ก็ถูกจับในการกบฏครั้งนี้ด้วย) นายเฉลียวถูกจับกุมครั้งที่สอง วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2495  ขณะอยู่ในงานหมั้นของลูกสาว (เครือพันธ์ ปทุมรส) ท่านผู้หญิงพูนศุข ภรรยานายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งอยู่ในงานพลอยถูกจับกุมไปด้วยและถูกคุมขังที่สันติบาล 84 วันก่อนได้รับการปล่อยตัว 

เรือเอกวัชรชัย ชัยสิทธิเวช

จบหลักสูตรโรงเรียนนายเรือ ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2486 หลังจากจอมพล ป.พิบูลสงครามยื่นใบลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรีต่อผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ คือนายปรีดี พนมยงค์ แล้วกลับเปลี่ยนใจ พล.ร.ต.ผัน นาวาวิจิตรและนาวาเอกสังวร สุวรรณชีพ จึงส่งเรือเอกวัชรชัยเป็นหัวหน้าคุมกำลังมาอารักขานายปรีดี ภายหลังผู้บังคับบัญชาทั้งคู่ถูกจอมพลป.สั่งปลดจากราชการ  หลังจากนั้นกองทัพเรือจึงหันมาสนับสนุนนายปรีดีเต็มที่   

เรือเอกวัชรชัย ทำหน้าที่ราชองครักษ์ประจำผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ คือนายปรีดี พนมยงค์ ตั้งแต่ 6 ตุลาคม 2487 เมื่อล้นเกล้าฯรัชกาลที่8 เสด็จนิวัติพระนครจึงมาเป็นราชองครักษ์ตามตำแหน่งหน้าที่ หลังจากสวรรคต 3 วันก็พ้นหน้าที่และรับแต่งตั้งเป็นเลขานุการนายกรัฐมนตรี นายปรีดีตั้งแต่ 12 มิถุนายน 2489 เขาถูกกล่าวหาในชั้นศาลว่า ไม่ทำงานหน้าที่ราชองครักษ์ตามสมควร ขาดราชการบ่อย ฝักใฝ่ทางทำเนียบท่าช้าง ทั้งที่ถูกปลดแล้วยังได้ไปเป็นเลขานุการนายกรัฐมนตรี

คำสารภาพของจำเลย

คำให้การของจำเลยเกี่ยวกับการสวรรคต เกิดขึ้น 4 ครั้ง ครั้งแรก จากการที่นายชิต สิงหเสนีวิ่งไปกราบทูลสมเด็จพระราชชนนีหลังเกิดเหตุว่า “ในหลวงยิงพระองค์” (พ.ศ.2489)

ครั้งที่ 2 หลังถูกจับกุมโดยคำสั่งคณะรัฐประหาร การสอบสวนที่เข้มงวดทำให้ทั้งนายชิตและนายบุศย์ต่างให้การซัดทอดกันและกันว่า อีกฝ่ายเป็นสาย นำคนนอกเข้ามาลอบปลงพระชนม์ (พ.ศ.2490)

ครั้งที่ 3 หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์หลบหนีการรัฐประหารไปฮ่องกงไม่นาน ก็กลับมาตอนต้นปี 2491 ในสมัยนายควง อภัยวงศ์เป็นนายกรัฐมนตรี ปลายเดือนกุมภาพันธ์ เขาเข้าพบทูตอังกฤษแจ้งข่าวการสืบสวนในสมัยของเขาว่าตัดประเด็นปลงพระชนม์เองออกไป ทั้งอ้างว่า ถ้าไม่ใช่การลอบปลงพระชนม์ก็เป็นเรื่องอุบัติเหตุ ซึ่งถ้าไม่ใช่สมเด็จพระอนุชา ก็เกิดจาก“อีกคนหนึ่ง” หลังจากนั้นเขาได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2491 

เดือนต่อมาเข้าพบทูตชาวอเมริกัน กล่าววิจารณ์จอมพลป.และภรรยาว่าทะเยอทะยาน เชื่อว่าจะใช้วิถีทางรัฐสภากลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง รัฐบาลนายควงกำลังเจอสภาพเดียวกับเขาคือต้องแลกผลประโยชน์เพื่อขอเสียงสนับสนุน ตอนหนึ่งเขาพูดเรื่องสมเด็จพระอนุชาตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับกรณีสวรรคต ทั้งบอกพระนามเชื้อพระวงศ์ที่จะขึ้นเป็นกษัตริย์แทน หากทรงสละราชสมบัติ 

เดือนเดียวกันนั้น กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาได้รับรายงานจากหลายแหล่งข่าว สรุปความว่านายควงกำลังเตรียมแถลงการณ์กรณีสวรรคต และการสถาปนาพระมหากษัตริย์ (ใหม่) จอมพลป.เกรงว่าเขาจะใช้เรื่องนี้รวมกลุ่มนิยมเจ้า ฟื้นอำนาจสถาบันพระมหากษัตริย์ขึ้นใหม่ โดยผู้ที่ถูกชูขึ้นใหม่ มีคุณสมบัติพร้อม คือมีวุฒิภาวะสูง มั่งคั่งมาก มีประสบการณ์การเมืองมานาน คนไทยและชาวจีนที่อาศัยในเมืองไทยให้การสนับสนุน รายงานนั้นยังระบุว่า จอมพลป.และนายปรีดีไม่ได้ต่อต้านพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน เพราะยังไม่ทรงเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว และ ทรงไม่มีบริวารห้อมล้อม  

มีความเป็นไปได้มากว่า “ความเชื่อ” ที่อ้างอิงต่อๆกันมาของราชสำนักอังกฤษกับอีกหลายประเทศ และอาจรวมถึงนายปรีดี พนมยงค์เอง มีที่มาจากเหตุการณ์ช่วงนี้ ที่การต่อสู้ทางการเมืองต้องการการยอมรับจากต่างประเทศในการเปลี่ยนสายผู้สืบสันตติวงศ์..?

เดือนเดียวกับเหตุการณ์ที่ยกมาข้างบน มีการใช้ยาฉีดเพื่อให้ผู้ต้องหาสารภาพ แต่ไม่ปรากฏหลักฐานคำให้การในเหตุการณ์ดังกล่าว หรือ มีการนำปากคำดังกล่าวมาใช้ในชั้นศาล จึงคาดเดาได้สองทางว่า ยานั้นไม่ได้ผล หรือ ได้ผล แต่ไม่ตรงกับความต้องการ อันอาจเป็นเพราะคำสารภาพนั้นไม่ได้ระบุว่าการสวรรคตเกิดขึ้นจากการกระทำของสมเด็จพระอนุชา (พ.ศ.2491)

ครั้งที่ 4 ในชั้นศาลอาญา 3 จำเลยให้การสนับสนุนซึ่งกันว่า การสวรรคตเกิดจากการปลงพระชนม์เอง ซึ่งน่าแปลกใจที่ปากคำครั้งสุดท้ายของจำเลยที่กำลังต่อสู้ เพื่อเอาชีวิตรอดจากอาญาแผ่นดิน กลับแทบไม่ปรากฎ และไม่พบการให้ความสำคัญในงานเขียน หรือบทวิเคราะห์จากผู้ศึกษาในชั้นหลังๆเลย โดยเฉพาะนักวิชาการบางคนถึงกับ (กล้า) ระบุ (บิดเบือน) ว่า จนตัวตายก็ไม่สารภาพเพราะความจงรักภักดี

ราชสกุลมหิดล

ปีเดียวกันนี้ (พ.ศ.2491) วันที่ 4 ตุลาคม เวลา 22.00 น. ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 9 ทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนตร์บาดเจ็บสาหัสจนถึงขั้นเสียพระเนตรข้างขวา อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นนี้ไม่ว่าจะบังเอิญหรือมีผู้จงใจ แต่ (น่าจะ) สร้างความห่วงใยแก่ผู้ที่จงรักภักดีอย่างพระพี่เลี้ยงเนื่อง จินตดุล ผู้กำลังจะขึ้นให้การในศาลเป็นครั้งแรกในอีก 1 เดือนข้างหน้า คือวันที่ 12 พฤศจิกายน และขึ้นเบิกความอีกหลายครั้งในเดือนเดียวกัน

ยังคงมีเหตุร้ายเกิดขึ้นกับ“ครอบครัว”ของพระองค์อีกหลายครั้ง สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาพระราชทานสัมภาษณ์ในหนังสือ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ.2525 สรุปความว่า สมเด็จพระราชชนนีทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ ต้องรักษาพระองค์ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ “ท่านไม่ได้กลับ บอกไม่ไหว มาถวายพระเพลิง ( รัชกาลที่ 8 ) ไม่ไหว ไม่มา ก็อยู่ที่โน่น”

ที่โลซานน์ทรงย้ายจากพระตำหนักวิลล่าวัฒนา ไปเช่าแฟลตในทำเลไม่หรูหรานัก แต่มีแฟลตหลายหลังขนาบทั้งหน้าและหลัง ทำให้เห็นทิวทัศน์ภูเขาและทะเลสาบไม่ถนัด(แต่ปลอดภัยกว่า) ตลอดหลายปี ทรงบรรทมไม่หลับ ต้องเสวยพระโอสถเป็นประจำและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนเมื่อทรงเริ่มฝึกปฏิบัติกรรมฐาน เมื่อวันอังคาร 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2498 เวลา 17.00 น. ที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ ต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหนึ่ง จึงทรงมีพระอาการดีขึ้น และหยุดการเสวยพระโอสถได้ในที่สุด (จากตามรอยบาทพระราชชนนี สัมภาษณ์และรวบรวมโดย อัครวัฒน์ โอสถานุเคราะห์)

นเรศ : ได้ข่าวว่าพล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจและตำรวจในระยะนั้น “ข้องใจ” ท่านมาก (กรณีความเห็นแย้งศาลอุทธรณ์)…การขู่เข็ญอย่างอื่นมีอะไรบ้างไหมครับ? 

หลวงปริพนธ์ : มีคนมาบอกตลอดเวลาว่าเขาจะเล่นงานผมเหมือนกัน ได้เฝ้าติดตามอยู่ถึงสองปี เมื่อเห็นว่าผมอยู่กับหมาไทยแน่ๆ แล้ว ก็มีคนมาบอกผมว่าเขาเลิกสนใจ และตั้งแต่นั้นมาผมก็ไม่ต้องคอยระวังตัวอีก

บทสัมภาษณ์หลวงปริพนธ์พจนพิสุทธิ์ (ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ผู้มีความเห็นแย้งให้ปล่อยสามจำเลยในกรณีสวรรคต) โดยนเรศ นโรปกรณ์ เดือนสิงหาคม พ.ศ.2517 ที่บ้านริมทางรถไฟ พญาไท กรุงเทพฯ

หลักฐานใหม่ในวันประหาร

ผ่านเวลา 8 ปี 8 เดือน 8 วัน ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2498 เวลา 2 นาฬิกา คำสั่งประหาร 3 จำเลย ณ เรือนจำกลางบางขวาง จ.นนทบุรี ก็มาถึง ราว 4.20 น. นายเฉลียวซึ่งตอนนั้นอายุ 52 ปี ถูกนำตัวเข้าสู่หลักประหารเป็นคนแรก ราว 4.40น. นายชิตในวัย 50 ปีเศษ ถูกนำตัวมาประหารเป็นคนต่อไป ราว 5.00 น.ประหารนายบุศย์เป็นคนสุดท้ายเมื่อวัย 49 ปีเศษ

เช้าวันถัดมา หนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทย ซึ่งเคยลงข่าวว่าล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 9 ทรงยกฎีกาของจำเลย พาดหัวข่าวว่า “เฉลียวขอพบเผ่า แฉความลับทั้งหมดก่อนประหาร” พร้อมรายงานว่า เมื่อเจ้าหน้าที่ผูกตาเรียบร้อยแล้ว นายเฉลียวได้ขอร้องขอพบพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์เป็นการด่วน เจ้าหน้าที่จึงรีบแจ้งไป พล.ต.อ.เผ่าจึงรีบมาพบกันราว 10 นาที นายเฉลียวกล่าวคำอำลา ส่วนถ้อยคำที่บอกแก่ พล.ต.อ.เผ่า ก่อนจะถูกประหารนั้นเป็นความลับ

“รู้สึกว่า พล.ต.อ.เผ่า มีความสนใจเป็นอย่างมาก”

ในขณะที่ หนังสือพิมพ์อีกฉบับหนึ่งลงข่าวว่า ก่อนการประหาร พล.ต.อ.เผ่า ให้หลวงแผ้วพาลชน ดูหน้านายชิตกับนายบุศย์อีกครั้งให้แน่ใจว่าใช่ทั้งคู่จริง เมื่อประหารไปแล้วยังเข้าไปดูศพด้วยตัวเองทุกคน ศพทั้งสามถูกวางบนเสื่อที่ปูด้วยผ้าขาว เขายืนจ้องศพที่วางเรียงกันสักครู่ ทำท่าคล้ายขออโหสิกรรมแล้วพูดว่า “ลาก่อนเพื่อนยาก” (ก็ไม่เข้าใจว่าทั้งสองฝ่ายเป็น “เพื่อน” กันตั้งแต่เมื่อไหร่)  

หลังจากนั้น 8 วันมีข่าวปล่อยออกมาว่า พล.ต.อ.เผ่า มอบหลักฐานและรายงานที่ได้คุยกับนายเฉลียวก่อนถูกประหารให้แก่จอมพลป. กรณีนี้ ในเดือนตุลาคม ปี 2553 เฟซบุ๊กของนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล โพสต์จดหมาย(ตอบ)ของนายปรีดี พนมยงค์ ถึงนายสังข์ พัธโนทัย คนสนิทของจอมพล ป. ลงวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ.2499  ตอนหนึ่งระบุว่า

“ผมเห็นว่าคุณได้บำเพ็ญบุญกุศลอย่างแรง ในการที่คุณได้แจ้งให้ผมทราบถึงบันทึกของคุณเผ่าได้สอบถามปากคำคุณเฉลียว ชิต บุศย์ ก่อนถูกยิงเป้า ที่ยืนยันว่าผู้บริสุทธิ์ทั้งสามรวมทั้งผม ไม่ได้มีส่วนพัวพันในกรณีย์สวรรคต”

จากฉากเหตุการณ์ที่เผยแพร่ออกมา มีข้อสังเกตว่า ประการแรก การถูกจับกุมจนถึงประหารชีวิตนั้นอยู่ภายใต้เงาของคณะรัฐประหาร พ.ศ.2490 ซึ่งพล.ต.อ.เผ่า เป็นเนื้อเดียวกันมาตลอดตั้งแต่เริ่ม หลังจากที่จำเลยผ่านการถูกทำร้ายร่างกายและจิตใจมาหลายครั้งหลายหน เป็นไปได้หรือที่พวกเขาและพล.ต.อ.เผ่าจะเป็น “เพื่อนยาก” และเป็นคนสุดท้ายที่จะนึกถึงเพื่อบอกเล่าความลับ (ถ้ามี) ให้รับรู้ 

ประการที่ 2 ถ้านายเฉลียวมีความลับจะเปิดเผยแก่พล.ต.อ.เผ่า จริง ทำไมต้องรอจนถึงวินาทีที่กำลังจะเข้าสู่แดนประหารซึ่งไม่ก่อประโยชน์หรือให้คุณใดๆ แก่เขาได้เลย

ประการที่ 3 ถ้าความลับนั้นมีความสำคัญมาก ถึงขนาดที่รายงานจอมพลป.แล้วเก็บเข้าเซฟในฐานะความลับสุดยอดจริง 3 จำเลยหรือนายเฉลียวคือพยานปากสำคัญซึ่งจำเป็นต้องรักษาชีวิตไว้หรือไม่? ด้วยอำนาจบารมีของอธิบดีกรมตำรวจยุคอัศวินผยอง ที่ไม่มีอะไรที่ตำรวจไทยทำไม่ได้นั้น เหตุใดเขาจึงไม่ชะลอการประหารอย่างน้อยก็แค่ชั่วคราว? (เพราะตอนเข้าพบยังพบได้)  

ประการสุดท้าย ซึ่งสำคัญที่สุด มีชาวที่ซึ่งเข้าเวรบนพระที่นั่งบรมพิมานในวันเกิดเหตุเคยทำงานใกล้ชิด ติดตามจอมพล ป. มาก่อน เป็นไปได้หรือที่จะไม่มีการซักถาม สื่อสารกันเกี่ยวกับการสวรรคต ในทางตรงกันข้าม เป็นไปได้หรือไม่ว่ากลุ่มจอมพล ป. รับทราบเรื่องราวความเป็นไปบนพระที่นั่งบรมพิมานมาโดยตลอดอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ผลของฉากสุดท้ายในชีวิต 3 จำเลย ถูกใช้เป็นชนวนข่าวลือการต่อคดี ( ภาค 2 ) ที่แพร่หลายในช่วงใกล้กึ่งพุทธกาล ( พ.ศ.2500 ) ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ในทำนองว่าพล.ต.อ.เผ่า ได้รู้ความลับของกรณีสวรรคต ซึ่งขยายเพิ่มเติมเป็นว่าเขาได้ทำบันทึกเสียงความลับนี้ (ในคุกก่อนการประหาร) ไว้ด้วย 

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของหมากตาสุดท้ายนี้ สามารถหล่อเลี้ยงความ “คลุมเครือ”ของกรณีสวรรคตไว้ได้ต่อไป เพื่อรอการเริ่มกระดานใหม่ของการต่อสู้ระหว่างกลุ่มการเมือง 3-4 กลุ่มในขณะนั้น โดยมีกลุ่มอำนาจจากต่างชาติสังเกตการณ์เพื่อเลือกสนับสนุนกลุ่มที่เอื้อประโยชน์แก่ตนที่สุด…หรือไม่?

เมื่อทบทวนคลื่นการเมืองที่โหมซัดตลอดเส้นทางการสืบสวน สอบปากคำ จับกุม คุมขัง จนถึงวันที่ศาลฎีกาตัดสินประหาร 3 จำเลย เป็นไปได้หรือไม่ว่าคำให้การสารภาพของสามจำเลยในชั้นศาลที่ระบุว่า ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 8 ทรงปลงพระชนม์พระองค์เอง (ฆ่าตัวตาย) ทำให้ “การปฏิบัติทำนองตั้งราชสำนักขึ้นใหม่” ไม่อาจบรรลุเป้าหมาย การไม่มี 3 จำเลยจึงเอื้อประโยชน์ต่อ “หลักฐานใหม่” มากกว่าการปลดปล่อยหรือแม้แต่จำคุกตลอดชีวิต

ปริศนาการถวายฎีกา

กรณีการถวายฎีกาของ๓จำเลย เป็นที่กังขาของคนทั่วไปว่าเหตุใดล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 9 จึงทรงให้ยกฎีกา ผู้เขียนขอนำเสนอข้อกฏหมาย ระเบียบการ และ ข้อมูลต่างๆเพื่อให้ผู้อ่านลองชั่งน้ำหนักว่า การยกฎีกาของ 3 จำเลยนั้น แท้จริงแล้วน่าจะเป็นไปอย่างไรแน่

  1. การถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษต้องผ่านการตรวจสอบจากกรมราชทัณฑ์ก่อน จึงจะส่งให้กระทรวงยุติธรรมตรวจสอบอีกครั้ง ยกเว้น เรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลเสนอ แต่ก็ต้องผ่านการตรวจสอบขององคมนตรีก่อน จึงจะนำขึ้นกราบบังคมทูล โดยแนบคำพิจารณาและความเห็นจากรัฐมนตรี หรือองคมนตรีถวายประกอบด้วยเสมอ  
  2. การถวายฎีกาทำได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น ถ้ายกฎีกาให้ดำเนินการประหารชีวิตทันที 

พระนิติกฤษณ์ประพันธ์ อธิบดีศาลอาญาตอนนั้น ให้สัมภาษณ์กรณี 3 จำเลยว่า “…เมื่อคดีถึงที่สุด ก็เป็นหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ปฏิบัติตามระเบียบที่จะต้องนำจำเลยไปประหารชีวิตภายใน 60 วัน เว้นแต่จะมีการทูลเกล้าฯถวายฎีกา ซึ่งถ้าจะกระทำก็กระทำได้เพียงครั้งเดียว ถ้าฎีกานั้นยก ก็ให้ดำเนินการประหารทันที”

ศาลฎีกาตัดสินประหารชีวิต 3 จำเลยเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ.2497 (ตามเกณฑ์คือต้องประหารภายในกลางเดือนธันวาคม) – จำเลยยื่นถวายฎีกาผ่านกรมราชทัณฑ์เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน หลังศาลตัดสิน 24 วัน – ใช้เวลาถึง 33 วันหนังสือฎีกาจึงเข้าคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม

วันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2498 หนังสือพิมพ์สยามรัฐตีพิมพ์โดยอ้างแหล่งข่าวเป็นรองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ว่า คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาฎีกาของสามจำเลยและได้ทูลเกล้าฯผ่านสำนักราชเลขาธิการ ไปถึงราชเลขาธิการฝ่ายใน (ไม่แน่ใจว่ามีหน่วยงานนี้หรือไม่)

3 วันต่อมา คือวันที่ 15 หนังสือพิมพ์พาดหัวข่าวอีกครั้งว่าโปรดเกล้าฯให้ยกฎีกา – 2 วันต่อมา จึงประหารทั้ง 3 คน ในวันที่17 กุมภาพันธ์

ปี พ.ศ.2519 พล.ต.อนันต์ พิบูลสงคราม เขียนในหนังสือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ความตอนหนึ่งว่าเขาได้ถามเรื่องนี้ ขณะจอมพล ป. ลี้ภัยการเมืองอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นว่า เหตุใดไม่ขอพระราชทานอภัยโทษให้ 3 จำเลย 

“…ท่านตอบข้าพเจ้าทันทีอย่างหนักแน่นว่า พ่อได้ขอพระราชทานอภัยโทษขึ้นไปถึงสามครั้ง ได้พยายามทำหน้าที่ของพ่อจนถึงที่สุดแล้ว…”

ข้อสังเกต

  1. จากเส้นเวลา จะเห็นว่าเวลาส่วนใหญ่ของฎีกาอยู่ที่กรมราชทัณฑ์กับคณะรัฐมนตรีหรือไม่?
  2. การทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาผ่านการพิจารณาและถวายความเห็นจากกรมราชทัณฑ์และคณะรัฐมนตรีแล้ว ตามปกติต้องส่งผ่านองคมนตรีเพื่อประชุมพิจารณาและถวายความเห็นอีกครั้ง (ไม่ใช่สำนักราชเลขาธิการ)
  3. ระหว่างวันที่ 11 กุมภาพันธ์ที่มีการอ้างว่าฎีกาได้ทูลเกล้าฯถวาย ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ที่มีข่าวว่าทรงยกฎีกาและประหารในอีกเพียง 2 วันต่อมานั้น ด้วยเวลาเพียง 5 วันเป็นไปได้หรือกับการขอพระราชทานอภัยโทษถึง 3 ครั้ง (ตามกฏหมายยื่นขอพระราชทานอภัยโทษได้เพียงครั้งเดียว)

เมื่อประกอบเข้ากับส่วนหนึ่งของคำบรรยายฟ้องโดยนายปรีดี พนมยงค์ ในการฟ้องคดีแพ่งนายรอง ศยามานนท์ คดีหมายเลขดำที่ 4226/2521 วันที่ 11 เมษายน พ.ศ.2521 ความว่า 

“…อนึ่ง ถ้าจอมพลพิบูลฯ ต้องการที่จะช่วยผู้บริสุทธิ์อย่างแท้จริง โดยไม่เกรงว่าท่านจะเสียคำมั่นที่ให้ไว้ เพื่อวัตถุประสงค์ในการทำรัฐประหารนั้นแล้ว ท่านก็มีทางทำได้โดยถูกต้องตามระเบียบราชการ และตามวิถีทางรัฐธรรมนูญคือ ฎีกาของผู้ต้องหาทั้งสามนั้น ต้องผ่านคณะรัฐมนตรีก่อน ในตอนนั้นจอมพลพิบูลฯก็มีหน้าที่แสดงความเห็นในฎีกานั้นได้ว่าผู้ต้องหาบริสุทธิ์ แล้วนำฎีกานั้นกราบบังคมทูลพระมหากษัตริย์ หรือ ถ้าฎีกานั้นผู้ต้องหาส่งไปถวายพระมหากษัตริย์โดยตรง พระมหากษัตริย์ก็มิได้วินิจฉัยโดยพระองค์เอง หากมีนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ รับผิดชอบตามรัฐธรรมนูญ 

แต่จำเลยที่ 1 (นายรอง ศยามานนท์) เจตนาปิดบังระเบียบราชการและวิถีทางรัฐธรรมนูญดังกล่าวนั้น และปิดบังความจริงที่จำเลยที่ 1 รู้ หรือควรรู้ ในฐานะศาสตราจารย์ประวัติศาสตร์ว่า เมื่อผู้ต้องหาทั้งสามได้ทูลเกล้าถวายฎีกานั้น จอมพลพิบูลฯได้ออกจากกรุงเทพฯไปปักษ์ใต้  มอบให้จอมพลผิน ชุณหะวันเป็นผู้รักษาการแทนจอมพลพิบูลฯ  จอมพลผิน ชุณหะวัณ จึงเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการในฎีกาฉบับนั้น…”

ซึ่งสันนิษฐานได้หรือไม่ว่าการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนั้นมีมติให้ยกฎีกาก่อนจะทูลเกล้าฯ ถวาย

จากหนังสือความเห็นแย้งคำพิพากษากรณีสวรรคต รวบรวมโดยนเรศ นโรปกรณ์ ตีพิมพ์บทสัมภาษณ์นายปรีดี พนมยงค์ที่บ้านพักชานกรุงปารีส โดยนายวีระ โอสถานนท์ ผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ มหาราษฎร์ ซึ่งตอนหนึ่งเขาได้ถามนายปรีดีเกี่ยวกับข่าวที่จอมพล ป. และ พล.ต.อ.เผ่า เตรียมจะรื้อฟื้นกรณีสวรรคต

นายปรีดีได้ตอบว่า รัฐบาลจอมพล ป. ส่งตัวแทนไปพบตนที่ประเทศจีน “แจ้งว่าได้หลักฐานใหม่ที่แสดงว่าผู้ถูกประหารชีวิตทั้งสามคนและผมเป็นผู้บริสุทธิ์” และจะเสนอสภาผู้แทนราษฎรให้ออกกฎหมายพิจารณาคดีใหม่ 

แต่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ทำรัฐประหารเสียก่อน “…อีกทั้งในระหว่างที่จอมพลป.พิบูลสงคราม ย้ายจาก ส.ร.อ. (สหรัฐอเมริกา)มาอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น ก็ได้แจ้งแก่บุคคลไม่น้อยกว่า 2 คน ถึงหลักฐานใหม่นั้น พร้อมทั้งมีจดหมายถึงผม 2 ฉบับ ขอให้ผมอโหสิกรรม แก่การที่จอมพล ป. พิบูลสงครามได้ทำผิดพลาดไปในหลายกรณี รวมทั้งในการที่มิได้ขอพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้บริสุทธิ์ที่ถูกประหารชีวิตไปแล้วนั้นด้วย…”

นเรศ : …ได้ทราบมาว่าในศาลฎีกา เมื่อคดีนี้ผ่านการพิจารณาแล้ว ผู้พิพากษาสองในสามมีความเห็นแย้งอย่างความเห็นแย้งของท่าน คือให้ปล่อยตัวจำเลยทั้งสามไป 

หลวงปริพนธ์ : คุณทราบจากทางไหน?

นเรศ : ก็อย่างที่ท่านรู้จักผมนั่นแหละครับ สมัยเป็นนักข่าวทางโรงพิมพ์มอบให้ผมทำข่าวนี้เรื่อยมาเกือบจะทุกโรงพิมพ์ทีเดียว ผมก็เลยได้ข่าวลือว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาสองในห้าท่านมีความเห็นแย้งดังกล่าว แต่ไม่ทราบว่าจริงหรือเท็จ?

หลวงปริพนธ์ : ผมตอบอย่างตรงไปตรงมาได้ว่า ผมไม่ทราบว่าจริงหรือเท็จเหมือนกัน แต่ข่าวลือนั้นผมได้ยินอย่างเดียวกับคุณนเรศ ผมคิดว่าเราไม่ควรจะพูดถึงข่าวลือไม่ใช่หรือ?

บทสัมภาษณ์หลวงปริพนธ์ พจนพิสุทธิ์ (ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ผู้มีความเห็นแย้งให้ปล่อยสามจำเลยในกรณีสวรรคต)  โดยนเรศ นโรปกรณ์ เดือนสิงหาคม พ.ศ.2517 ที่บ้านริมทางรถไฟ พญาไท กรุงเทพฯ

ที่มา :

โดย ปัณฑา พล ผู้เขียนหนังสือไขปริศนากรณีสวรรคต ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 8

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า