ทุกพระปฐมบรมราชโองการของกษัตริย์ราชวงศ์จักรีชี้ชัดว่า กษัตริย์มิได้ทรงเป็นเจ้าของ ‘ทุกอย่าง’ และ ‘แผ่นดินทั้งผืน‘ อย่างที่เชื่อและเล่ากันมาตลอด

ใครคือเจ้าของประเทศ? (ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475)

เห็นมีผู้ทรงคุณวุฒิแห่งประเทศ ตั้งคำถาม ทำไมพระมหากษัตริย์ไม่ปฏิญาณตนก่อนรับตำแหน่ง เหมือนกับคณะราษฎร์ ที่ประกาศเจตจำนงในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่เป็นเหมือนสัญญาประชาคม

สงสัยไม่รู้จักพระราชพิธีบรมราชาภิเษก หรือเลือกที่จะละเลยไม่กล่าวถึงไป

พระราชพิธีนี้เป็นทั้งทางราชการ​ ศาสนพิธี และ วัฒนธรรมเพื่อแสดงว่าทรงเป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์ แต่ละพระองค์จะทรงประกาศพระปฐมบรมราชโองการ คล้ายๆสัญญา คล้ายๆนโยบายของพระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์

รัชกาลที่ 1-5 ตามระบอบการปกครองยังถือว่าที่ดินเป็นของพระเจ้าแผ่นดินทั้งหมด(ก่อนมีโฉนดที่ดิน) ทุกพระองค์จะมีพระปฐมบรมราชโองการทำนองเดียวกันว่า ต้นไม้ แหล่งน้ำ สิ่งของ ที่ดิน ที่ไม่มีเจ้าของนั้นก็ให้ตามแต่สมณชีพราหมณ์ ราษฎร “ปรารถนาเถิด”

พระปฐมบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์ในพระมหาจักรีบรมราชวงศ์ โดยเฉพาะในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ นั้นดูจะสะท้อนสิ่งที่แตกต่างกับแนวคิดที่ว่า พระมหากษัตรย์ทรงเป็น “เจ้าของทุก ๆ อย่างในแผ่นดิน” เหมือนที่เชื่อและเล่ากันมา

เพราะโดยเนื้อหาแล้วเหมือนจะตรงกันข้ามทั้งหมดกล่าวคือ ไม่ได้ทรงเป็นเจ้าของ “ทุกอย่าง” และ “แผ่นดิน” ที่มักจะเข้าใจกันว่าคือพื้นดินทั้งผืนของประเทศไทยในปัจจุบัน (หรืออาจจะมากกว่าในยุคที่ยังไม่โดนล่าอาณานิคม) นั้น

จริง ๆ คือไม่ใช่ คือไม่ได้ทรงปกครองขวานทองทั้งผืนแต่ทรงเป็นเพียง “พระเจ้ากรุง” ทรงปกครองอาณาเขตพระนครเท่านั้น ซึ่งมันสะท้อนอยู่ในพระปฐมบรมราชโองการของรัชกาลที่ 1-5 โดยเนื้อความของพระปฐมบรมราชโองการยุคนี้นั้น มีทำนองเดียวกันประมาณนี้ว่า

“พรรณพฤกษชลธี และสิ่งของในแผ่นดิน ทั่วเขตพระนครซึ่งหาผู้เป็นเจ้าของหวงแหนมิได้แล้ว ให้พระราชทานแก่สมณ ชี พราหมณาจารย์ และอาณาประชาราษฎรตามแต่จะปรารถนาเถิด”

ดังนั้นอาจจะกล่าวได้ว่า เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงขึ้นครองราชย์แล้ว สิ่งต่าง ๆ คือซึ่งถูกนำมาถวาย ไม่ว่าจะเป็น ต้นไม้ แม่น้ำลำธาร และสิ่งของที่ไม่มีเจ้าของ ก็ทรง “ยกกลับคืน” ให้กับผู้คนให้จับจองกันตามที่จะมีกำลังความสามารถ

ดังนั้นจึงแปลว่า มิได้ทรงเป็นเจ้าของสิ่งอื่นนอกจากสิ่งที่ “ทรงเป็นเจ้าของอยู่เดิม” อย่างเช่น สิริราชสมบัติ พระราชวัง-ราชนิเวศ ข้าทาสราชบริพารในพระองค์ ฯลฯส่วนของที่ “ไม่มีเจ้าของ” ก็ให้ทุกคนจับจองเป็นของตนเองได้

ซึ่งในจุดนี้นั้นยังมีหลักฐานในสมัย ร.4 สนับสนุน เท่าที่จำได้คือจดหมายที่ทรงโต้ตอบกับแอนนา เลียวโนเวนส์ที่แอนนาเรียกร้องให้ทรงปลดปล่อยทาสคนหนึ่ง แต่ ร.4 ทรงปฏิเสธว่าทำไม่ได้ เพราะมีผู้ที่เป็นเจ้าของทาสคนนั้นอยู่และทรงไม่สามารถยึดทาสนั้นมาแล้วปล่อยเป็นไทไปได้เพราะทรงไม่ใช่เจ้าของทาสเอง

ดังนั้นความเชื่อที่ว่าในยุคสมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 นั้น “กษัตริย์จะทำอะไรก็ได้” น่าจะเป็นเรื่องที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงเท่าไร

ประเด็นที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งในจดหมายนี้นั้นคือการที่ทรงตรัสเป็นนัยว่า พระองค์ทรงไม่สามารถทำได้เพราะจะเป็นการผิดกฎหมาย ซึ่งน่าจะทำให้เห็นว่าพระมหากษัตริย์เองก็เหมือนจะทรงอยู่ภายใต้กฎหมาย ซึ่งถึงจะไม่ได้เป็นกฎหมายที่ยึดโยงกับประชาชนแต่ก็ทรงมีขอบเขตหนึ่ง ๆ ที่จำกัดพระองค์อยู่ดี

ทั้งสองประเด็นนี้ คือเรื่องสิทธิความเป็นเจ้าของและเรื่องกฎหมายและขอบเขตของพระมหากษัตริย์เองนั้นอาจจะมองในมุมมองอื่นด้วยก็ได้ว่าที่ทรงไม่ได้สามารถ “ทำอะไรก็ได้” เป็นเพราะมีหลักการบางอย่างที่ทรงยึดถือและทำให้ทรงทำไม่ได้ หรือเป็นเพราะ dynamic ทางการเมืองเป็นหลัก

และอีกอย่างหนึ่งคือพระปฐมบรมราชโองการเหล่านี้นั้น มีนัยยะอย่างชัดเจนว่าอาณาเขตที่ทรงปกครองจริง ๆ นั้นคือพระนครเท่านั้น ซึ่งก็ตรงตามแนวคิดนักประวัติศาสตร์ตะวันตกที่เสนอว่าแถบอุษาคเนย์นั้นปกครองกันในรูปแบบ มณฑล เป็นความสัมพันธ์แบบ ผู้ปกครองและผู้ถูกปกครอง ดังนั้นพระมหากษัตริย์ในแถบนี้จึงเป็น “พระเจ้ากรุง” คือทรงปกครอง ‘กรุง’ หรือ ‘นคร’ โดยมีกรุงหรือนครหรือเมืองอื่น ๆ ส่งบรรณาการมาให้

ทั้งหมดนี้น่าจะเป็นสิ่งที่ชี้ให้เราเห็นว่าควรจะมีการ คิดใหม่เกี่ยวกับแนวคิดทางสังคม การเมือง และอำนาจ (และกระทั่งเศรษฐกิจ) ในยุคที่เรียกกันว่า “สมบูรณาณาสิทธิราชย์” หรือยุค “ก่อน 2475” กันใหม่ว่ามีลักษณะจริง ๆ เป็นอย่างไร

ศาสตราจารย์ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้อธิบายถึงความหมายในพระปฐมบรมราชโองการรัชกาลก่อนหน้านี้ ในการบรรยายพิเศษเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ในประวัติศาสตร์ไทย เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2558 ในงานสัมมนาวิชาการเรื่องประวัติศาสตร์ชาติไทย ของกระทรวงวัฒนธรรม มีเนื้อหาช่วงนึงบอกว่า

“กฎหมายยังเขียนในสมัยอยุธยาว่าที่ดินของนครศรีอยุธยาเป็นของพระเจ้าแผ่นดิน จะส่งมอบต่อให้คนอื่นไม่ได้ ฟังแล้วเหมือนที่ดินเป็นของกษัตริย์ทุกตารางนิ้ว แต่เอาจริงๆ ก็ไม่เคยเห็นมันแบบนั้นนะ ที่ผ่านมากษัตริย์ใช้แผ่นดินนั้นเพื่อประชาชนไม่ใช่เพื่อตัวเอง เพราะงั้น กษัตริย์ตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงสมัยกรุงเทพฯ เมื่อเวลาบรมราชาภิเษก สวมมงกุฎเสร็จ ก็จะให้สัญญาเหมือนๆ กันแหละ ยกเว้นรัชกาลที่ 9 เพราะ เป็นกษัตริย์ในยุคระบอบประชาธิปไตยแล้ว”

ทีนี้มาดู พระปฐมบรมราชโองการของรัชกาลที่ 9 กันหน่อย ท่านบอกไว้ว่า

“เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

ที่ไม่ได้มีคำพูดคล้ายๆ รัชกาลก่อนๆ ก็เพราะว่า ยุคสมัย ร.9 ใช้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแล้ว กษัตริย์ไม่ได้เป็นเจ้าของต้นไม้ แม้น้ำ หรือสิ่งของต่างๆ นั้นอีกต่อไป

คำพูดต่อจาก “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมนั้น เป็น คำพูดที่พูดกันมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอู่ทอง นั่นคือการตั้งสัตย์ อธิษฐาน และกรวดน้ำ ในพิธีว่าจะขอยึดและคงไว้ด้วยทศพิธราชธรรมจรรยา ซึ่งเป็นประโยคที่เหมือนกับคำสัญญาผูกมัดระหว่างราชาเข้ากับคนธรรมดา เพื่อให้เกิดความสบายใจแก่ประชาชน”

ส่วนพระปฐมบรมราชโองการของรัชกาลที่ 10 คือ

“เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป”

เป็นคำมั่นสัญญาที่สะท้อนให้เห็นความตั้งใจในการสืบทอด รักษา ต่อยอดโครงการต่างๆ ของรัชกาลที่ 9 เอาไว้ เพื่อให้ผลประโยชน์นั้นตกสู่มือคนไทยทุกคน

พูดให้เข้าใจง่ายๆ พระปฐมบรมราชโองการ ก็คือ การประกาศ MISSION ของกษัตริย์ ที่มีต่อคนไทยและประเทศไทยนั่นเอง