กำเนิดนามสกุลของคนไทย จากพระราชวิสัยทัศน์อันทันสมัยของ รัชกาลที่ 6

นับตั้งแต่สมัยโบราณมาจนถึงสมัยของรัชกาลที่ 5 คนไทยเราไม่เคยมีการใช้นามสกุลมาก่อน จะมีเพียงชื่อเรียกเดี่ยวๆ เช่น นายมั่น นายมี ตาสี ตาสา แม่นวล อำแดงเหมือน เป็นต้น ซึ่งในแง่ของการเรียกขานนั้นก็ถือว่าสะดวกปากอยู่ แต่บ่อยครั้งที่มีการตั้งชื่อคนซ้ำๆ กัน ดังนั้น เวลาจะสืบสาวหรือระบุเจาะจงลงไปว่าคนๆ นั้นเป็นใครหรือมีเทือกเขาเหล่ากอใด ก็จะต้องอ้างไปถึงพ่อแม่ผู้ให้กำเนิด เช่น นายอิน ลูกตาเอื้อน หรือบางทีก็ใช้การระบุถึงลักษณะเด่น/ด้อยเฉพาะตัวของคนๆ นั้น หรือพ่วงด้วยชื่อถิ่นที่อยู่อาศัย เช่น ตามีหัวล้าน หรือ นายมั่นบ้านดอน เป็นต้น

และหากย้อนไปถึงสมัยสุโขทัย พ่อขุนรามคำแห่งก็ยังทรงประกาศพระนามของพระองค์ โดยอ้างอิงถึงพระนามของพระชนกและพระชนนี ประกอบไว้ในศิลาจารึกว่า “พ่อกูชื่อศรีอินทราทิตย์ แม่กูชื่อนางเสือง”

หรืออย่างในนิทานมหากาพย์พื้นบ้านของไทยสมัยอยุธยาอย่าง เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ก็จะพบว่ามีการเรียกชื่อตัวละครเพียงว่า พลายแก้ว นางพิม ขุนช้าง ขุนแผน และเมื่อจะอ้างให้จำกัดความเฉพาะตัวลงไปว่าเป็นใครมาจากไหน ก็จะต้องระบุไปถึงบิดามารดา เช่น พลายแก้ว ลูกของขุนไกรพลพ่ายและนางทองประศรี เป็นต้น

ซึ่งการเรียกขานชื่อของคนไทยจะแตกต่างจากชาวต่างชาติ เช่น คนจีนจะนิยมชื่อเรียกพร้อมกับชื่อแซ่ของต้นตระกูล หรือชาวตะวันตกก็จะมีนามสกุลใช้ เพื่อระบุถึงวงศ์วานว่านเครือ

และเมื่อสังคมเริ่มมีการขยายตัว การเรียกเฉพาะชื่ออย่างเดียวของคนไทยก็เกิดปัญหาขึ้น เริ่มมีความไม่สะดวกและเกิดความยุ่งยาก โดยเฉพาะเมื่อเริ่มมีระบบราชการ ดังนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 6 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรา “พระราชบัญญัติขนานนามสกุล พ.ศ. 2456” ขึ้น โดยมีการประกาศและบังคับใช้เป็นกฎหมายตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2456 ด้วยทรงดำริเห็นว่าคนไทยทุกคนควรจะมีทั้งชื่อตัวและชื่อสกุล เพื่อช่วยกำหนดตัวบุคคลได้แน่นอนกว่าการเรียกชื่อเพียงอย่างเดียว ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากในทางราชการ

สำหรับคนไทยคนแรกที่มีนามสกุล คือ “เจ้าพระยายมราช” เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น โดยในหลวงรัชกาลที่ 6 ได้พระราชทานนามสกุล “สุขุม” ให้แก่เจ้าพระยายมราช (ปั้น) เป็นสกุลแรก และในประกาศชุดแรกตามพระราชบัญญัติขนานนามสกุลนั้น นามสกุล “สุขุม” ก็ได้ถูกแสดงไว้เป็นรายการที่ 1 ด้วย

หลังจากมีการตราพระราชบัญญัติขนานนามสกุลแล้ว การดำเนินงานขนานนามสกุลแก่ประชาชน จะมีการแบ่งท้องที่ที่จะจดทะเบียนนามสกุลทั่วราชอาณาจักร โดยมีหลักการตั้งชื่อสกุลดังนี้

  1. ตั้งตามชื่อของบรรพบุรุษ (ปู่ ย่า ตา หรือยาย)
  2. ข้าราชการที่มีราชทินนาม มักจะนำราชทินนามมาตั้งเป็นนามสกุลของตน เช่น หลวงพิบูลสงคราม (แปลก) ใช้นามสกุล “พิบูลสงคราม”
  3. ตั้งตามชื่อตำบลที่อยู่อาศัย
  4. ชาวไทยเชื้อสายจีนอาจแปลความหมายจาก “แซ่” ของตน หรือใช้คำว่าแซ่นำหน้าชื่อแซ่ หรือใช้ชื่อแซ่นำหน้า หรือสอดแทรกไว้ในนามสกุล
  5. หม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ และหม่อมหลวง ใช้นามราชสกุลของตนเป็นนามสกุล แต่ลูกของหม่อมหลวงและต่อไปเป็นหลาน เหลน ใช้นามราชสกุลโดยลำพังไม่ได้ ต้องมีคำว่า “ณ อยุธยา” ต่อท้าย สำหรับเชื้อพระวงศ์
  6. ห้ามมิให้หญิงตั้งชื่อสกุลของตนเอง ให้ใช้ของบุรุษหัวหน้าครอยครัว หรือญาติฝ่ายชายผู้มีสิทธิ์ใช้ชื่อสกุลร่วมกัน

และนอกจากการจดทะเบียนตั้งนามสกุลด้วยตนเองแล้ว ยังมีหลายนามสกุลที่ได้รับพระราชทานจากในหลวงรัชกาลที่ 6 โดยจมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช) ข้าราชบริพารที่ใกล้ชิดกับพระองค์ ได้อรรถาธิบายถึงพระปรีชาญาณในการคัดเลือกหรือตั้งนามสกุลให้เหมาะแก่ผู้รับพระราชทานนามสกุลว่า พระองค์จะทรงศึกษาถึงความเกี่ยวดองซึ่งกันและกันของแต่ละสกุล อาทิ นามของ ปู่ ย่า ตา ยาย บิดา มารดา สถานที่เกิด อาชีพเดิมของบรรพบุรุษ และของผู้ขอพระราชทานนามสกุล แล้วพระราชทานคำอันเป็นมงคลและเหมาะสมให้เป็นนามสกุลเพื่อศักดิ์ศรีและความภาคภูมิใจของผู้สืบสกุล

สำหรับการพระราชทานนามสกุลแก่ขุนนางข้าราชบริพารนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 6 จะทรงจำแนกออกเป็นประเภทต่างๆ อาทิ ผู้เคยมีรกรากเหล่ากอหรือดูแลปกครองบ้านเมืองใดอยู่ ก็ทรงขนานนามสกุลตามพื้นที่เหล่านั้น เช่น ณ ระนอง, ณ ถลาง, ณ สงขลา, ณ เชียงใหม่ หรือถ้าเป็นตระกูลทหารเก่าก็จะทรงใช้คำที่มีความหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น โยธิน, เสนีย์, ณรงค์ ส่วนคนที่มีอาชีพด้านการแพทย์ก็จะทรงใช้คำเช่น วิทย์, เวช, แพทย์ ประกอบอยู่ในนามสกุลนั้น และหากเป็นสกุลพ่อค้าก็จะมีคำว่า วาณิช ผสมอยู่ในนามสกุล หรือบางครั้งก็ทรงใช้ชื่อบรรพบุรุษของตระกูลนั้นๆ เพื่อตั้งเป็นนามสกุล เช่น บุนนาค

ส่วนผู้ขอพระราชทานนามสกุลที่มีเชื้อสายจากชาติอื่น พระองค์จะทรงพยายามแปลงจากนามสกุลภาษาต่างประเทศของต้นตระกูลนั้นๆ ให้เป็นคำไทยที่เหมาะสม และมีความหมายหรือสำเนียงที่คล้องจองกับนามสกุลเดิม อาทิ นามสกุลที่แปลงจากชื่อแซ่ของบรรพบุรุษที่เป็นคนจีน เช่น

“แซ่ตัน” นามสกุลภาษาไทยจะมีคำว่า “ตัณฑะ”
“แซ่เล้า” นามสกุลภาษาไทยจะมีคำว่า “เลาหะ”
“แซ่กิม” นามสกุลภาษาไทยจะมีคำว่า “กาญจนะ”

หรือนามสกุลที่แปลงจากชื่อนามสกุลของชาวตะวันตก เช่น

“เฮนดริกซ์” แปลงเป็นนามสกุลไทยคือ “อหันทริก”
“ลอว์สัน” แปลงเป็นนามสกุลไทยคือ “ลวสันธ์”

ทั้งหมดนี้คือเกร็ดเรื่องราวกำเนิดนามสกุลของคนไทย อันเกิดจากการมองการณ์ไกลด้วยพระราชวิสัยทัศน์อันทันสมัยของในหลวงรัชกาลที่ 6 ที่นอกจากจะก่อให้เกิดประโยชน์ในระบบราชการสมัยใหม่แล้ว ยังเป็นแนวทางหนึ่งของการจัดระเบียบสังคมตามแบบสากลอีกด้วย นับเป็นคุณูปการอันใหญ่หลวงของพระองค์ที่มีต่อประเทศชาติมาจนถึงปัจจุบัน