ม.112 ไม่ใช่ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามคำบิดเบือนที่สร้างความหวาดกลัวเกินจริง

มีความพยายามซ้ำ ๆ ที่จะเรียก กฎหมายมาตรา 112 ว่าเป็นกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือ Lèse-majesté Law เพื่อที่จะทำให้เกิดความเข้าใจผิด คิดว่าเป็นกฎหมายที่ล้าหลังและละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งที่จริง ๆ แล้ว ประเทศไทยเลิกใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไปนานแล้ว

ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมีอยู่ในระบบกฎหมายสยามโบราณ ซึ่งต้องย้อนไปถึงกฎหมายฉบับแรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ นั่นคือกฎหมายตราสามดวง ที่ตราขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 ซึ่งพระองค์ได้โปรดเกล้าฯ ให้ปรับปรุงแก้ไขตัวบทกฎหมายต่าง ๆ ที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แล้วนำมารวบรวมไว้เป็นหมวดหมู่

ส่วนที่เป็นสาระสำคัญเกี่ยวกับประมุขของประเทศในกฎหมายตราสามดวง กำหนดไว้ว่า พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจสูงสุดในการปกครอง ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้ และได้มีการบัญญัติให้มีความผิดฐานเจรจาหยาบช้าต่อพระเจ้าอยู่หัวด้วย

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการปฏิรูปกฎหมายและศาลครั้งใหญ่ นำไปสู่การยกเลิกกฎหมายตราสามดวง และได้ประกาศใช้กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 ซึ่งมีการกำหนดความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ไว้ในมาตรา 98 โดยให้มีโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี ปรับไม่เกิน 5,000 บาท

ซึ่งเท่ากับว่าไม่มีความผิดฐาน “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ในกฎหมายไทยอีกต่อไป จะมีก็เพียงแต่ความผิดฐาน “หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์”

ยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ที่พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ในปี พ.ศ. 2478 รัฐสภาได้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายลักษณะอาญาฯ ด้วยการยกเลิกมาตรา 100 ที่กำหนดความผิดฐานหมิ่นประมาทต่อพระราชโอรส พระราชธิดา เป็นพิเศษ และต่อมาได้มีการตราประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499 ขึ้นมาใช้แทนกฎหมายลักษณะอาญาฯ ฉบับเดิม โดยย้ายบทบัญญัติมาตรา 98 ของกฎหมายลักษณะอาญาฯ ไปอยู่ในมาตรา 112 และมีการแก้ไขเนื้อความว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี”

นี่คือจุดเริ่มต้นของมาตรา 112 ในระบบกฎหมายไทยปัจจุบัน ซึ่งต่อมากฎหมายมาตรา 112 ได้มีการแก้ไขอัตราโทษเป็นจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี ในช่วงหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

ความผิดตามมาตรา 112 จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ มีการกระทำที่ครบทั้งองค์ประกอบภายนอก และองค์ประกอบภายใน ซึ่งในทางกฎหมาย องค์ประกอบภายนอก จะต้องเป็นการกระทำที่เป็นการ “หมิ่นประมาท” หรือ “ดูหมิ่น” หรือ “แสดงความอาฆาตมาดร้าย” และเป็นการกระทำต่อบุคคลที่ดำรงตำแหน่ง “พระมหากษัตริย์” หรือ “พระราชินี” หรือ “รัชทายาท” หรือ “ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ส่วนองค์ประกอบภายใน คือ การกระทำนั้น (หมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้าย) จะต้องมีเจตนา

แล้วแบบไหนล่ะถึงจะเรียกว่าเจตนา? เราก็ต้องมาดูกันถึงความหมายของการกระทำที่เรียกได้ว่าเข้าข่ายเจตนา

หมิ่นประมาท” ตามมาตรา 112 มีความหมายเดียวกับหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไปตามมาตรา 326 นั่นคือ เป็นการใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง เมื่อพิจารณามาตรา 112 ร่วมกับมาตรา 326 แล้ว การหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ หมายถึง การใส่ความพระมหากษัตริย์ต่อบุคคลที่สาม โดยที่น่าจะทำให้พระมหากษัตริย์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง เช่น นาย A เล่าให้นาย B ฟังถึงเรื่องพระมหากษัตริย์ โดยทำให้พระมหากษัตริย์เสียชื่อเสียง ไม่ว่าเรื่องที่เล่ามานั้นจะจริงหรือเท็จก็ตาม ถ้าพระมหากษัตริย์เสียหาย ก็ถือว่านาย A หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์แล้ว

ดูหมิ่น” หมายถึง การแสดงความเหยียดหยาม อาจจะเป็นการกระทำทางกริยา เช่น ยกส้นเท้า ถ่มน้ำลาย หรือกระทำด้วยวาจา เช่น ด่าด้วยคำหยาบคาย

แสดงความอาฆาตมาดร้าย” หมายถึง การแสดงว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายในอนาคต เช่น ขู่ว่าจะปลงพระชนม์ ไม่ว่าจะมีเจตนากระทำตามที่ขู่จริงหรือไม่ก็ตาม

ในปัจจุบันยังมีหลายคนที่ไม่เข้าใจและยังเอาความผิดฐาน “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” มาเรียกใช้กัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ “ผิด” เพราะความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ไม่มีในระบบกฎหมายไทยปัจจุบันแล้ว

ความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เป็นความผิดในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่แสดงถึงเดชานุภาพและบารมีของกษัตริย์ ซึ่งการพูดว่า “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ในปัจจุบันนั้นน่าจะเป็นการพูดที่ติดปากกันเสียมากกว่า (ไม่ว่าจะเป็นการพูดติดปากเพราะจงใจหรือเหตุบังเอิญ)

ในแง่ประวัติศาสตร์การเมืองและประวัติศาสตร์กฎหมาย คำว่า “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” จะกินความกว้างกว่า “หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์” เพราะความหมายของคำว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้น จะสะท้อนถึงแนวคิดของการปกครองในระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่ถือคติพราหมณ์ในระบบกฎหมายของบ้านเมืองด้วย

จะเห็นได้ว่า ในระบบกฎหมายไทยปัจจุบันไม่มีความผิดฐาน “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” อีกต่อไป มีเพียงแต่ “หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์” ซึ่งโดยเนื้อหาก็เหมือนกับความผิดฐานหมิ่นประมาทคนธรรมดา จะเป็นมาตรา 112 หรือ มาตรา 326 ก็ใช้นิยามเดียวกัน คือ “การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สามอันน่าจะทำให้ผู้อื่นเสียหาย” ต่างกันแค่มาตรา 112 มุ่งคุ้มครองบุคคลที่ดำรงตำแหน่งประมุขของรัฐ และมีอัตราโทษที่หนักกว่ามาตรา 326

ในปัจจุบัน การเรียกข้อหา ม.112 ว่าเป็น “ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” จึงเป็นการเรียกที่ไม่ถูกต้อง และการที่มีคนชอบออกมาใช้คำว่า “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ซ้ำ ๆ ในทุก ๆ โอกาส ก็อาจจะส่งผลให้เกิดการเร่งเร้าอารมณ์ ทำให้เกิดความรู้สึกว่า กฎหมายมาตรา 112 มีความล้าหลัง ทำให้ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรม สุดท้ายนำไปสู่การเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมาย ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว มาตรา 112 เป็นกฎหมายที่มุ่งคุ้มครองประมุขของรัฐ ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับความมั่นคงของชาติ เช่นเดียวกับในอารยประเทศทั่วโลกที่มีการบัญญัติใช้กฎหมายลักษณะนี้เช่นเดียวกัน

ที่มา :

[1] ปิยบุตร แสงกนกกุล “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” อาวุธทรงพลังในหมู่ “ลูกแกะ”
[2] การประชุมอนุกรรมการตรวจพิจารณาแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาของคณะกรรมการกฤษฎีกา วันที่ 7 มกราคม 2484