ดับฝันกลับบ้านของคนแดนไกล ย้อนเหตุดีลลับกลับประเทศ ที่พลิกล่มสลายไปต่อหน้าของ ปรีดี พนมยงค์

เป็นที่ทราบกันดีอยู่ว่าความขัดแย้งระหว่างจอมพล ป. พิบูลสงครามและปรีดี พนมยงค์ อดีต 2 แกนนำคณะราษฎรนั้นเป็นไปอย่างแหลมคมเพียงใด แม้ว่าทั้งคู่จะเคยเป็นเพื่อนร่วมอุดมการณ์ในการต่อสู้ให้ได้มาซึ่งระบอบรัฐธรรมนูญของสยามมาตั้งแต่สมัยเรียนที่ประเทศฝรั่งเศส จนกระทั่งกระทำการสำเร็จในการปฏิวัติ 2475 หากแต่หลังจากนั้นไม่กี่ปี รอยร้าวระหว่างสองบุคคลนี้ก็เริ่มบาดลึกขึ้นเรื่อย ๆ กระทั่งมาถึงจุดแตกหักในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

ในเบื้องต้น ฝ่ายปรีดีและเสรีไทยดูเหมือนจะสามารถกุมบังเหียนประเทศได้อย่างเด็ดขาด เพราะนับตั้งแต่ปี 2487 ที่จอมพล ป. ต้องหมดอำนาจลง (ในรอบแรก) ฝ่ายปรีดีได้กลายมาเป็นกลุ่มอำนาจทางการเมืองเพียงกลุ่มเดียวในประเทศไทย ก่อนที่จะต้องสลายลงเพราะการรัฐประหารในปี 2490 จากทหารที่สนับสนุนจอมพล ป. ให้ขึ้นมาเป็นนายกฯ รอบที่ 2 กระทั่งจนถึงปี 2500

ข้อความเบื้องต้นจึงจัดเป็นความรู้ทางประวัติศาสตร์ทั่วไปที่ผู้ที่สนใจการเมืองก่อนช่วงกึ่งพุทธกาลน่าจะรู้จักกันดี อย่างไรก็ดี มีข้อมูลและหลักฐานจำนวนมากมายยืนยันว่า แม้ทั้งป.และปรีดีจะขัดแย้งกันจริง หากแต่ในช่วงก่อนการรัฐประหาร 2500 ไม่นานนัก เขาทั้งสองต่างมีแผนการหรือ ‘ดีลลับ’ ที่จะกลับมาคืนดีกัน อันมีสาเหตุมาจากความผันผวนจากกระแสทางการเมืองของฝ่ายจอมพล ป. ที่ตกต่ำลง การนำปรีดีในฐานะตัวแทนของ ‘ฝ่ายก้าวหน้า’ (ตามทัศนะของพวกเขา) มาค้ำยันกับปีกจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ที่กำลังสูงเด่นขึ้นพร้อมด้วยการสนับสนุนของสหรัฐอเมริกา น่าจะเป็นทางออกเดียวของจอมพล ป. ในสถานการณ์ชิงอำนาจดังกล่าว

ด่านแรกสำหรับความสัมพันธ์ระหว่าง ป. และปรีดี ก็คือการเข้าไปติดต่อกับทางการจีน เนื่องจากจีนในเวลานั้นเป็นประเทศจีนคอมมิวนิสต์อย่างสมบูรณ์ ประเทศไทยในฐานะประเทศฝ่ายเสรีประชาธิปไตย (อันมีสหรัฐอเมริกาหนุนหลัง) ย่อมไม่ประสีประสาจะเจริญสัมพันธไมตรีด้วย หากแต่เมื่อจอมพล ป. กำลังเปลี่ยนนโยบาย จากเดิมที่เคย “โปรอเมริกา” มาเป็น “เอียงไปทางจีน” การสลัดตัวจากอเมริกาที่ดีที่สุดก็ย่อมหมายถึงการไป ‘ซบ’ จีนนั่นเอง ดังนั้น คณะทูตคณะหนึ่งที่มีภารกิจติดต่อกับทางการจีน (อันมีรัฐบาลจอมพล ป. รู้เห็นเป็นใจ) จึงเดินทางออกจากไทยในช่วงเดือนธันวาคม 2498 ผู้แทนของไทยคณะนี้ได้พบกับประธาน เหมา เจ๋อ ตุง ผู้นำของจีนคอมมิวนิสต์ด้วย

จึงกล่าวได้ว่า แผนของรัฐบาลจอมพล ป. ในเวลานั้นก็คือการแอบติดต่อกับจีนเพื่อถ่วงดุลกับอเมริกา ซึ่งเป็นประเด็นระหว่างประเทศ และประเด็นที่ 2 อันค่อนข้างส่วนตัวกับจอมพล ป. ที่สุด ก็คือการแอบติดต่อกับปรีดีเพื่อให้กลับไทยมาต่อสู้กับพวกอนุรักษ์นิยม ซึ่งนี่เป็นประเด็นการเมืองในประเทศไทยที่อิงแอบกับนโยบายต่างประเทศดังกล่าว

เมื่อการติดต่อประสานกับฝ่ายปรีดีเริ่มชัดเจนขึ้น (คณะประสานฝ่ายไทยมีผู้เล่นหลักคือ สังข์ พัธโนทัย คนสนิทจอมพล ป.) สถานทูตสหรัฐฯ ได้รายงานไปยังกระทรวงการต่างประเทศที่กรุงวอชิงตันในประเด็นดังกล่าวด้วยอาการจดจ่อ แหล่งข่าวกรองสหรัฐฯ ระบุด้วยว่า เผ่า ศรียานนท์ คือผู้ที่อยู่เบื้องหลังการเจรจาภายใต้การเห็นชอบของจอมพล ป. และเห็นด้วยว่าแผนการให้ปรีดีกลับไทยนั้นเป็นแผนของจีนคอมมิวนิสต์ อีกทั้งจะมีการให้ปรีดีมาต่อสู้ในคดีสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 8 ด้วย

และเมื่อข่าวนี้เล็ดลอดมาสู่สาธารณชนคนไทย ควง อภัยวงศ์ อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้ออกมาให้ความเห็นเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2499 ว่า ‘ไม่เชื่อว่าทั้งสองจะคืนได้กันได้’

แต่ทั้งในเค้าลางของความเป็นไปได้ที่ปรีดีจะกลับมาไทยผ่าน ‘ดีลลับ’ กับจอมพล ป. นั้นส่อเค้าความจริงขึ้นทุกที จากข้อมูลที่ว่าในราวต้นเดือนเมษายน 2499 คนสนิทของปรีดีที่จีน 2 คนได้เดินทางกลับมายังประเทศไทยโดยสวัสดิภาพ จากการอนุญาตของจอมพล ป. และเผ่าศรียานนท์ นั่นก็คือ เฉียบ ชัยสงค์ และชม แสงเงิน (2 คนนี้เรียกได้ว่าคือบอร์ดี้การ์ดของปรีดี) เมื่อสัญญาณ ‘ไฟเขียว’ จากจอมพล ป. ชัดเจนขนาดนี้ ‘ข่าวลือเรื่องดีลลับ’ คงไม่ไกลเกินจริง เพราะไม่นานหลังจากนั้นจอมพล ป. ก็ได้ให้สัมภาษณ์ว่าอาจจะมีการ ‘นิรโทษกรรมนักโทษทางการเมือง’ ในโอกาสฉลองกึ่งพุทธกาลในปีหน้า จากสัญญาณดังกล่าวคงเป็นที่ชัดเจนว่าดีลลับระหว่างปรีดีและจอมพล ป. นั้น ‘มีอยู่จริง’

และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏชัดขึ้น เมื่อพูนศุข พนมยงค์ ภริยาของปรีดีได้เดินทางกลับไทยเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2500 ภายหลัง ‘การเลือกตั้งสกปรก’ ที่พรรคเสรีมนังคศิลาของจอมพล ป. ชนะถล่มทลายด้วยกลโกงสารพัดนานา เมื่อมั่นใจว่าพวกเขาสามารถคุมเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภาได้แล้ว จอมพล ป. และเผ่าจึง ‘ไฟเขียว’ ฝ่ายปรีดีอย่างเต็มที่ การปรากฏตัวของภริยาของปรีดีย่อมเป็นหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญแล้วว่า อีกไม่ช้าไม่นาน ปรีดีคงจะมีหมายกำหนดการกลับไทยอย่างเป็นทางการอย่างแน่แท้ เพราะจอมพล ป. ก็ได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ด้วยว่า เขาอนุญาตให้ปรีดีกลับไทยมาสู้ในคดีสวรรคต

จากเอกสารของสถานทูตอังกฤษในไทย ลงวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2500 ระบุความเคลื่อนไหวของฝ่ายจอมพล ป. ไว้ว่า เผ่า ศรียานนท์พยายามที่ให้ปรีดีกลับประเทศไทย และเขาอยู่เบื้องหลังการสนับสนุนฝ่ายของปรีดีที่กลับมาอยู่ในไทยแล้ว (เช่น เฉียบ และชม) และที่สำคัญ เอกสารของอังกฤษระบุไว้ชัดเจนว่า “เผ่าคือสถาปนิกผู้มีบทบาทสำคัญในการวางแผนการนี้” (แผนเอาปรีดีกลับไทยมาต่อสู้คดีสวรรคต) เอกสารฉบับนี้เขียนไว้อย่างไม่ปิดบังว่า เผ่าได้ริเริ่มกระบวนการใส่ร้ายต่อต้านพระบรมวงศานุวงศ์ (Royal family) ด้วยการจะทำให้ มรว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็น “แพะรับบาป” (scapegoat) แทนปรีดีในกรณีสวรรคต

และท้ายที่สุด ในราวเดือนกรกฎาคม 2500 ปรีดีได้ออกมาให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ฮ่องกงยืนยันว่าเขาจะกลับมาสู้คดีสวรรคตในไทย และจอมพล ป. ได้ส่งตัว ‘ทนาย’ 2 คนไปยังประเทศจีนเพื่อพูดคุยกับปรีดี นั่นก็คือ ชิต เวชประสิทธิ์ และลิ่วละล่อง บุนนาค นอกจากนั้น ปรีดียังได้ฝากจดหมายไปถึงจอมพล ป. ลงวันที่ 10 กันยายน 2500 มีข้อความตอนหนึ่งว่า

“…ผมขอเรียนท่านจอมพลพิบูลสงคราม ว่าผมขอส่งความรักความคิดถึง และขอให้ท่านอโหสิกรรมในการกระทำใด ๆ ของผมที่เปนการล่วงเกินต่อท่าน ผมขออวยพรให้ท่านมีศุขภาพสมบูรณ์ มีความเจริญและเปนที่พึ่งของมวลชนราษฎรไทย…”

อย่างไรก็ดี แผนการหรือ ‘ดีลลับ’ ระหว่าง 2 ป. คือ ป. พิบูลสงคราม และปรีดี ต้องถึงการฝันสลายลง เพราะหลังจากนั้นไม่กี่วันที่จดหมายฉบับดังกล่าวถูกเขียน จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ได้ทำการรัฐประหารที่เรียกกันว่า ‘การรัฐประหาร 2500’ แล้วขับไล่จอมพลป. และเผ่าออกไปจากประเทศไทย อันเป็นการจบสิ้นการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งที่ 2 ของจอมพลผู้มีฉายาว่า ‘พิบูลตลอดกาล’ อีกทั้งยังเป็นการ ‘ดับฝัน’ ของปรีดีที่จะกลับมายังประเทศไทยโดยดุษณี

เห็นได้ชัดว่า ความพยายามที่จะกลับมา ‘จูบปากกัน’ ระหว่างจอมพล ป. กับปรีดี สะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกผิดในอดีตที่พวกเขาได้กระทำกันอย่างโหดร้ายทารุณ (ทั้งในเรื่องสมัยสงครามโลก และกบฏวังหลวง รวมถึงกบฏแมนฮัตตัน) แต่ด้วยผลประโยชน์ทางการเมืองที่มีเดิมพันสูง เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป ทำให้ฝ่ายที่เคยจะฆ่าจะแกงกันถึงกับต้องกลับมาอาศัยกันอย่างแทบไม่น่าเชื่อ

และนี่คือสัจธรรมความจริงที่ว่า การเมืองก็คือการเมือง… ไม่มีมิตรแท้ และศัตรูที่ถาวร”

อ้างอิง :

[1] DS1015/28. From Bangkok to Tomlinson 12 May 1957
[2] รุ่งมณี เมฆโสภณ. อำนาจ II : ต่อสู้กู้ชาติ เอกราษฎร์ อธิปไตย. (กรุงเทพ : สำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์). 2555.

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า