บทบาททหารไทยยุคใหม่ ยามศึกมุ่งรบ ยามสงบมุ่่งมั่น ‘พิทักษ์ประชาชน’

กองทัพหรือทหารเป็นที่ทราบกันดีว่าฟังก์ชั่นหลักโดยตัวคือทำหน้าที่ในการสู้รบ ดังนั้นกองทัพจึงเป็นกำลังหลักอันสูงสุด (Ultima ratio) ของรัฐหนึ่งๆ ในการรับมือกับภัยคุกคามหรือกระทั่งเป็นเครื่องมือในการต่อรอง [1] ดังนั้นรูปแบบของการจัดกำลังและการฝึกฝนของทหารจึงออกมาในรูปแบบการเป็นผู้ใช้กำลังสูงสุดของรัฐ [2] การจัดองค์กรและรูปแบบเช่นนี้ทำให้เรามักเข้าใจว่า องค์กรทหารนั้นเป็นสิ่งที่แปลกปลอมไปจากพลเรือน แต่เราอย่าลืมว่าทหารนั้นเกิดมาจากพลเรือนเพื่อปกป้องพลเรือนเอง [3]

บทบาทของทหารนั้น เราจึงมักจะคุ้นเคยกับการสู้รบและการวางแผนใช้กำลังรับมือกับภัยต่างๆ ทั้งนี้ ในยุคสมัยใหม่บทบาทของทหารได้พัฒนาไปมากขึ้นโดยมีนักวิชาการเรียกว่า ความเป็นมืออาชีพของทหารแบบใหม่ (New professional military) ซึ่งมีวัฒนธรรมและความคิดในการดำเนินงานของกองทัพที่เปลี่ยนไป ไม่ใช่เพียงแค่ความเป็น “มืออาชีพ” แบบเดิมที่มีเรื่องยศ เรื่องลำดับบังคับบัญชา และการทำหน้าที่ทางทหารในแบบเดิม [4] ดังนั้นบทบาทของทหารในโลกยุคใหม่จึงเกี่ยวข้องกับโลกพลเรือนมากขึ้น จนมีนักวิชาการตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ควรจะเลิกแบ่งโลกพลเรือนกับโลกทหารอย่างตายตัวได้แล้ว [5]

การมีมุมมองดังกล่าวย่อมหมายความว่า ทหารสามารถมีภารกิจบางอย่างที่ไปทับซ้อนกับพลเรือนได้ด้วย แต่ก็ไม่ได้ทิ้งความเชี่ยวชาญในการทำสงครามไป แต่เป็นเพียงภารกิจที่ซ้อนขึ้นมาเท่านั้น เช่น ในช่วงที่โรคโควิด 19 แพร่ระบาดที่ผ่านมาก็มีความร่วมมือระหว่างทหาร-พลเรือนเกิดขึ้น ซึ่งการร่วมมือนี้ทำให้ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการวิกฤตเป็นไปได้ดีมากขึ้น [6] หรือสหรัฐอเมริกาเองก็มีหน่วยงานที่ชื่อว่า Defense Security Cooperation Agencyซึ่งมีภารกิจหนึ่งในการสนับสนุนให้ทหารไปช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมหรือการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติต่างๆ ด้วย ประเด็นของบทบาททหารในยุคใหม่นี้ ทหารจากที่เป็นนักรบจึงสามารถเป็น “ทหารนักพัฒนา” ได้ด้วย ซึ่งไม่ใช่เป็นเพียงวาทกรรมหลอกๆ แต่เป็นภารกิจใหม่ที่สอดคล้องกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป

ทหารไทยเองก็ปรากฏบทบาทเช่นนี้ด้วย แต่การปรากฏตัวครั้งแรกอาจจะย้อนกลับไปถึงช่วงที่ชัดเจนที่สุดคือในสมัยของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ โดยคำสั่ง 66/23 หรือคำสั่ง “กลับบ้านเรา” ที่ส่งไปถึงอดีตคอมมิวนิสต์ทุกคนที่ต้องหลบหนีเข้าป่า ให้กลับมาร่วมกันพัฒนาประเทศอีกครั้ง ซึ่งเป็นหมุดหมายอันดีที่ชี้ให้เห็นว่า บทบาทของทหารได้เปลี่ยนไปหลังจากที่การใช้กำลังปราบคอมมิวนิสต์ไม่ได้ผล หรือเป็นจุดเริ่มต้นของ “ทหารผู้พิทักษ์” นั่นเอง

ผลกระทบทางการเมืองของคำสั่ง 66/23 [7] ได้ทำให้บทบาทของทหารมีความหมายใหม่ จากแต่เดิมที่รัฐบาลสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กล่าวถึงความจำเป็นในการพัฒนาประเทศ แต่ไม่ได้กล่าวเรื่องประชาธิปไตย แต่คำสั่งนี้ (และคำสั่ง 65/25) ได้สร้างความชอบธรรมใหม่ให้กับทหารคือ บทบาทในฐานะผู้สร้างประชาธิปไตยโดยการขจัดความไม่เป็นธรรมในสังคมออกไป เช่น เราจะเห็นได้ว่า พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ หรือพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ได้กล่าวถึงประเด็นที่มีพรรคการเมืองไปเกี่ยวข้องกับอิทธิพลมืด และกระทั่งกรณีที่การให้กู้เงินโดยคิดดอกเบี้ยสูงมาก ข้าราชการที่คดโกง และการกดขี่ขมเหง ดังนั้นทหารจึงมีบทบาทในการพัฒนามากขึ้นเพื่อขจัดประเด็นต่างๆ เหล่านี้ออกไป โดยเฉพาะการพัฒนาชนบท

คำสั่ง 66/23 นี้ทางกองทัพถือว่าทหารกับประชาชนแยกกันไม่ออก เพราะทหารมาจากประชาชน และทหารเองก็เป็นประชาชนด้วย อะไรที่ประชาชนได้ประโยชน์ ทหารก็ย่อมมีสิทธิทำได้ ซึ่งแน่นอนว่าคำสั่งนี้ก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์หลายแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เป็นอำนาจนิยมมากกว่าประชาธิปไตย หรือเอาประชาธิปไตยมาบังหน้าก็ด้วย อย่างไรก็ดี คำสั่งนี้เป็นส่วนสำคัญที่มีจุดมุ่งหมายอยู่ที่การเอาชนะคอมมิวนิสต์ผ่านการใช้การเมืองนำการทหาร ดังนั้นทุกภาคส่วนจึงต้องร่วมมือกันในการพัฒนาด้วย

พลเอกชวลิต ได้กล่าวครั้งหนึ่งเมื่อ พ.ศ. 2527 ว่า “ถ้าประเทศมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย พรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศนั้นจะไม่สามารถทำให้การปฏิวัติของตนเป็นฝ่ายรุกทางยุทธศาสตร์การเมืองได้เลย” และได้สรุปว่า “นโยบายนี้มิได้เป็นนโยบายการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์เท่านั้น แต่เป็นนโยบายที่ต่อสู้กับความไม่ถูกต้องทั้งปวงในประเทศ และนำไปสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” และทหารเองก็สามารถทำหน้าที่นี้ได้ เพราะทหารมีศักยภาพสูงพอในการเข้าไปช่วยเหลืองานพลเรือน

พลเอกพิจิตร กุลละวณิชย์ เคยแสดงทัศนะเอาไว้ว่าทหารมีกำลังพลมาก และการพัฒนาต้องอาศัยทรัพยากรมาก ซึ่งทหารสามารถช่วยได้ เพราะทหารฝึกคนให้มีวินัยและใช้เครื่องมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นการที่กล่าวว่า งบประมาณของทหารไม่เกิดประโยชน์นั้นไม่จริง ในชนบทที่ห่างไกลทหารได้เข้าไปช่วยเหลือพัฒนาประชาชนให้มีความสามารถมากขึ้น และยังมีภารกิจในการจัดตั้งมวลชนเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์อีกด้วย เช่น การตั้งหมู่บ้านอาสาและป้องกันตนเองในชนบทในการล้อมผู้ก่อการร้ายไม่ให้ขยายตัวหรือ “บ้านล้อมป่า” และอบรมประชาชนในเรื่องต่างๆ เพิ่มเติม เช่น สาธารณสุข การศึกษา และการเกษตร

บทบาทของทหารในการพัฒนาจึงดำเนินไปได้อย่างดี จนกระทั่งภัยคอมมิวนิสต์ได้ยุติลงในที่สุดในยุคสมัยพลเอกเปรม-ชาติชาย ชุณหะวัณ จึงนับได้ว่า ทหารได้พยายามล้างภาพลักษณ์อันตกต่ำที่เคยเกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และในปัจจุบันกองทัพไทยก็ยังคงมีภารกิจที่ไปคาบเกี่ยวกับพลเรือนอยู่คือ กรมกิจการพลเรือนทหาร ความเป็นมืออาชีพของทหารในยุคสมัยใหม่จึงได้พัฒนาไปมากขึ้น และต้องมีการถกเถียงทางวิชาการกันต่อไปว่า เราควรจะทำความเข้าใจบทบาทของพลเรือนที่มีต่อทหาร และบทบาทของทหารที่มีต่อพลเรือนอย่างไร เพราะความสัมพันธ์ในยุคสมัยใหม่นี้ “เป็นความสัมพันธ์แบบเพื่อนร่วมงานหรือ partnership มากกว่าเป็นเรื่องใครคุมใคร” [8]

อ้างอิง :

[1] Timothy Edmunds, “What Are Armed Forces For? The Changing Nature of Military Roles in Europe,” International Affairs Vol. 82, No. 6 (Nov., 2006): 1059-1075.
[2] Kurt Lang, “Military Sociology,” Current Sociology Vol.13, No. 1 (1965): 1-26.
[3] Lina Marcela Martínez Durango, John Campos Benavides, Guissepe D’Amato Castillo, and Milton Arrieta-López, “Military Sociology: A Historical Perspective,” Journal of Positive School Psychology Vol. 6, No. 6 (2022): 4489-4495.
[4] Rethinking Military Professionalism for the Changing Armed Forces (Canada: Springer, 2020).
[5] Risa Brooks, “Beyond Huntington: US Military Professionalism Today,” The US Army War College Quarterly: Parameters Vol. 51, No.1 (2021): 76.
[6] Markus Ries, “Global key concepts of civil-military cooperation for disaster management in the COVID-19 pandemic-A qualitative phenomenological scoping review,” Front Public Health Vol. 10 (2022).
[7] เรียบเรียงจาก สุจิต บุญบงการ, ทหารกับการพัฒนาการเมืองไทย (กรุงเทพฯ: มูลนิธิเพื่อการศึกษาประชาธิปไตยและการพัฒนา โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2562), หน้า 125-145.
[8] สุจิต บุญบงการ, ทหารกับการพัฒนาการเมืองไทย (กรุงเทพฯ: มูลนิธิเพื่อการศึกษาประชาธิปไตยและการพัฒนา โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2562), หน้า 200.

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า