ตีแผ่วาทกรรมแบ่งแยกดินแดน! ‘งบพหุวัฒนธรรมยะลา’ หลักฐานที่ชี้ชัดว่า ‘รัฐกดทับคนไทยมลายู’ โกหกทั้งเพ!

โดย จีรวุฒิ (อุไรรัตน์) บุญรัศมี

จากการเคลื่อนไหวผ่านข่าวหรือสื่อต่าง ๆ ที่เบื้องหน้าและเบื้องหลังเป็นองค์การ BRN (กลุ่มแบ่งแยกดินแดนรัฐปัตตานี ในพื้นที่ปัตตานี-ยะลา-นราธิวาส) หรือประชาชนที่มีใจฝักใฝ่หรือเป็นใจให้การแบ่งแยกดินแดน แม้พวกเขาเหล่านั้นว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ได้พยายามประโคมข่าวให้คนไทยบางส่วนรวมถึงชุมชนนานาชาติเข้าใจไปในทำนองว่า ‘รัฐไทยกดขี่อัตลักษณ์ชาวมลายูในพื้นที่ชายแดนใต้’ อาทิ การห้ามแต่งกายอย่างมลายู การห้ามพูดภาษามลายู หรือกระทั่งการประโคมข่าวว่ารัฐไทยกำลังใช้นโยบาย ‘กลืนกลาย’ (Assimilation) ต่อชาติพันธุ์มลายูในพื้นที่ภาคใต้ชายแดน ทำให้ประชาชนหรือตัวแทนนานาชาติที่ไม่ทราบเบื้องลึกเบื้องหลังของขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่พยายามใช้ ‘โฆษณาชวนเชื่อ’ (Propaganda) ในการหลอกลวงในลักษระพูดความจริงกึ่งเดียว (Half-Truth) เกิดความเข้าใจผิดไปว่า ประเทศไทยกำลังดำเนินนโยบายกดทับอัตลักษณ์และปฏิเสธความแตกต่างหลากหลายจากแนวทางพหุวัฒนธรรมที่สหประชาชาติให้การรับรองมาช้านาน กระทั่งได้ละเมิดรัฐธรรมนูญในเรื่องที่ว่า รัฐต้องให้การสนับสนุนพหุวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเคารพในอัตลักษณ์ที่หลากหลายของประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ตราบเท่าที่ความแตกต่างเหล่านี้ไม่ได้เป็นไปในทางละเมิดรัฐธรรมนูญ ดังปรากฎเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ความว่า

มาตรา 27 บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครอง ตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องถิ่นกําเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือเหตุอื่นใด จะกระทํามิได้”

และ

มาตรา 43 บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิ (1) อนุรักษ์ ฟื้นฟู หรือส่งเสริมภูมิปัญญา ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และจารีตประเพณีอันดีงามทั้งของท้องถิ่นและของชาติ…”

และด้วยความที่กฎหมายสูงสุดได้บัญญัติประจักษ์ชัดไว้เช่นนี้ ไฉนเลย ‘วาทกรรม’ ของฝ่ายแบ่งแยกดินแดนที่กล่าวว่า รัฐไทยกดขี่อัตลักษณ์ชาวมลายู อาทิ การห้ามแต่งกายอย่างมลายู การห้ามพูดภาษามลายู หรือรัฐไทยกำลังใช้นโยบาย ‘กลืนกลาย’ จึงกลายเป็น ‘วาทกรรมทรงอำนาจ’ ต่อคนจำนวนไม่น้อยเชื่อถือ ‘วาทกรรม’ ดังกล่าว ทั้งที่ข้อมูลเชิงประจักษ์ใช้ไปในทำนองว่า ‘วาทกรรม’ เหล่านี้ ถูกสร้างขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์เดียว คือ ‘ต้องการสร้างความแตกแยก’ ผ่าน ‘การดิสเครดิต’ ทางการไทย ทำให้ประชาชนในพื้นที่รู้สึกว่ารัฐไทยกำลังกดขี่พวกเขา เพื่อจะได้เข้ารูปกับคำพังเพยที่ว่า ‘ที่ใดมีการกดขี่ ที่นั่นต้องมีการต่อสู้’

แต่เมื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงผ่านอกสารและข้อมูลที่น่าเชื่อถือเพื่อพิสูจน์เบื้องหลัง ‘วาทกรรม’ดังกล่าวแล้ว พบว่าข้อเท็จเหล่านั้นกลับเป็นเรื่องหน้ามือเป็นหลังเท้าเลยก็ว่าได้ เหตุใดฝ่ายสนับสนุนการแบ่งแยกดินแดนจึงโกหกหน้าตายได้ขนาดนี้ ? แต่ที่น่าสนใจที่สุด เหตุใดคนไทยจำนวนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องหรือสนใจประเด็นชายแดนใต้มาตั้งแต่ต้นจำนวนหนึ่ง จึงตกเป็นเหยื่อของวาทกรรมของฝ่ายขบวนการ บทความนี้จะพาไปสำรวจข้อเท็จจริงเพื่อตีแผ่ ‘ความเท็จ’ ดังกล่าวแม้จะเพียง ‘การสำรวจเบื้องต้น’ คือเน้นเฉพาะจังหวัดยะลาในระยะเวลาอันใกล้ก็ตามที

เพราะนอกจากการบิดเบือนข่าวเท็จเร็ว ๆ นี้ เช่นการสมอ้างว่าการใส่ชุดมลายูเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายแล้ว ต้องย้ำว่าคนเหล่านั้นกระทำผิดกฎหมายเพราะพูดปลุกระดมให้เกิดความรุนแรง ไม่ใช่เพราะแต่งชุดมลายู ใครที่พูดซ้ำ ๆ ว่าแต่งชุดมลายูเป็นเรื่องผิดกฎหมาย คนนั้นกำลังกล่าวเรื่องเท็จ ผนวกกับการกล่าวหาว่ารัฐไทยไม่สนับสนุนอัตลักษณ์ชาวไทยเชื้อสายมลายู ยังเป็นการกล่าวเท็จสวนทางกับข้อมูลเชิงประจักษ์ที่มีข้อมูลด้านงบประมาณมหาศาลรองรับอีกด้วย ซึ่งในประเด็นนี้ ผู้เขียนขอนำเพียงตัวอย่างข้อมูลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดยะลามานำเสนอ เนื่องจากว่าจังหวัดยะลาเป็นจังหวัดที่มีประชากรจำนวนมากและมีความหลากหลายที่สุดในบรรดา 3 จังหวัดชายแดนใต้ เหมาะต่อการศึกษาโครงการสนับสนุนอัตลักษณ์และพหุวัฒนธรรม ด้วยเหตุนี้ การใช้ตัวอย่างของจังหวัดยะลามาเป็นกรณีศึกษาจึงน่าจะสะท้อนความเป็นไปในพื้นที่ชายแดนใต้ได้มากที่สุด

ก่อนเข้าถึงส่วนของ ‘ข้อมูลงบประมาณด้านพหุวัฒนธรรม/อัตลักษณ์ท้องถิ่น’ นั้น ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจเสียก่อนว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท. ถือเป็นนิติบุคคลมหาชนรูปแบบหนึ่งที่มีลักษณะเป็นประชาธิปไตยและใกล้ชิดกับประชาชนในท้องถิ่นมากที่สุด การที่หน่วยงานท้องถิ่นจะจัดทำโครงการใด ๆ จำต้องสำรวจความต้องการพื้นฐานของประชาชนในพื้นที่เสียก่อน นี่จึงสอดคล้องกับหลักการปกครองใจตนเอง (Self Determination) มากที่สุด อีกทั้งฝ่ายบริหาร (นายก อบจ. / นายกเทศบาล / นายก อบต.) รวมถึงฝ่ายสภาท้องถิ่น (สมาชิกสภา อบจ. / เทศบาล / อบต.) ล้วนแล้วมาจากการเลือกตั้ง ‘โดยตรงจากประชาชน’ ไม่มีทางที่ฝ่ายราชการมหาดไทยหรือทหารจะมาชี้นำหรือบงการให้เลือกผู้นำประชาชนด้วยวิธีอื่นใดได้ ดังนั้น หากไล่เช็คชื่อบรรดาผู้บริหารท้องถิ่นก็จะพบความจริงที่น่าตกใจว่า เกือบทั้งหมดในชุมชนมุสลิม คนที่ได้รับการเลือกตั้งล้วนแต่เป็นคนไทยเชื้อสายมลายู มากกว่าที่จะคนไทยพุทธเสียอีก

และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเหล่านี้ จำต้องได้รับงบประมาณจัดสรรมาจากงบส่วนกลาง โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย (ผ่านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น) เพราะงบประมาณที่จัดเก็บเองในพื้นที่ย่อมไม่เพียงพอในการบริหารจัดการ นอกจากกรมนี้แล้ว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังได้รับงบอื่น ๆ มาจากหน่วยงานราชการอื่นใดด้วย อาทิ กรมปกครอง กระทรวงวัฒนธรรม เป็นต้น แต่เฉพาะ ‘งบประมาณด้านพหุวัฒนธรรม/อัตลักษณ์ท้องถิ่น’ ที่บทความนี้ให้ความสนใจ จะมุ่งเน้นไปเฉพาะงบท้องถิ่นเป็นหลัก นั่นก็คือ งบประมาณจัดสรรมาจากส่วนกลาง ผ่านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นงบที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ‘ขอรับงบประมาณ’ แล้ว ‘ดำเนินการจัดโครงการด้วยตนเอง’ แต่กระนั้นก็พึงระลึกว่ายังมี‘งบประมาณด้านพหุวัฒนธรรม/อัตลักษณ์ท้องถิ่น’ จากแหล่งอื่นที่เข้ามาดำเนินโครงการในพื้นที่ในลักษณะโครงการเพื่ออนุรักษณ์วัฒนธรรมท้องถิ่น สังคม และชุมชน เช่น กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงท่องเที่ยวและการกีฬา สำนักนายกรัฐมนตรี และ ศอ.บต. ซึ่งก็มีพันธะกิจของหน่วยงานในการส่งเสริมประเพณีและพหุวัฒนธรรมด้วย เป็นต้น  

ในปี 2567 ‘งบประมาณด้านพหุวัฒนธรรม/อัตลักษณ์ท้องถิ่น’ ของจังหวัดยะลา ระบุว่า ลำพังเพียงแค่องค์การบริการส่วนจังหวัดยะลา (อบจ. ยะลา) เพียงหน่วยงานเดียว ได้ตั้ง ‘งบประมาณด้านพหุวัฒนธรรม/อัตลักษณ์ท้องถิ่น’ แทรกไว้ในส่วนของ ‘แผนงานการศาสนา วัฒนธรรม และนันทนาการ’ ไว้สูงถึง 18,019,700 บาท (สิบแปดล้านหนึ่งหมื่นเก้าพันเจ็ดร้อยบาท) ต้องกล่าวด้วยว่า โดยงบจำนวนนี้หมายรวมถึงงบรายจ่ายทุกประเภท (งบโครงการ การดำเนินการ บุคลากร วัสดุ)

ด้านบริการชุมชนและสังคม
แผนงานการศึกษา 28,160,200
แผนงานสาธารณสุข 60,843,700
แผนงานสังคมสงเคราะห์ 5,432,200
แผนงานเคหะและชุมชน 400,000
แผนงานสร้างความเข้มแข็งของชุมชน 4,215,000
แผนงานการศาสนา วัฒนธรรม และนันทนาการ 18,019,700
ที่มา : ข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี องค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา พ.ศ.2567

เมื่อสำรวจในโครงการที่เกี่ยวข้องหรือที่เข้ารูป ‘งบประมาณด้านพหุวัฒนธรรม/อัตลักษณ์ท้องถิ่น’ โดยเฉพาะที่สนับสนุนอัตลักษณ์ท้องถิ่นแล้ว ในหมวด ‘งานศาสนาวัฒนธรรมท้องถิ่น’ ตัวอย่างโครงการภายใต้งบประมาณ พ.ศ.2567 เช่น

ชื่อโครงการ งบประมาณ (บาท)
โครงการทดสอบการอ่านอัลกุรอาน 900,000
โครงการพัฒนาศักยภาพการบริหารจัดการศาสนสถาน 1,000,000
โครงการมหากรรมตาดีกาสัมพันธ์ 1,700,000
โครงการรอมฏอนสัมพันธ์ 1,500,000
โครงการอนุรักษ์ขนมธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรมและภูมิปัญญา 500,000
โครงการอบรมการสอนอ่านอัลกุรอาน 750,000
โครงการฟื้นฟูวัฒนธรรมของชาวไทยเชื้อสายจีน 150,000
ที่มา : ข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี องค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา พ.ศ.2567

เงินจำนวนนี้เมื่อนำมาเทียบกับจำนวนงบประมาณรายจ่ายทั้งหมดกว่า 400 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่รัฐไทยจัดสรรให้ จำนวน 271,000,000 บาท (สองร้อยเจ็ดสิบเอ็ดล้านบาท) และอุดหนุนให้อีก จำนวน127,136,000 บาท (หนึ่งร้อยยี่สิบเจ็ดล้านหนึ่งแสนสามหมื่นหกพันบาท) เมื่อนำมาเทียบกับงบประมาณที่ทาง อบจ. ยะลา จัดเก็บได้เองโดยไม่ต้องส่งส่วนกลาง พบว่ามีงบประมาณที่สามารถจัดเก็บเองเพียง 9,864,000 บาท (เก้าล้านแปดแสนหกหมื่นสี่พันบาท) นั่นเท่ากับว่า งบประมาณจำนวนกว่า 400 ล้านบาทนั้นปรากฎส่วนที่ อบจ.ยะลา จัดเก็บเองได้ไม่ถึง 10 ล้านเท่านั้น ซึ่งนั่นหมายความว่าเงินจำนวนแค่นี้น่าจะยังไม่เพียงพอต่อ ‘งบประมาณด้านพหุวัฒนธรรม/อัตลักษณ์ท้องถิ่น’ ที่ อบจ.ยะลา ระบุไว้ในข้อบัญญัติเสียอีก จึงกล่าวได้ว่า เงินจำนวนกว่า 400 ล้านของ อบจ.ยะลา นี้ (แม้ว่าจะหักลบงบที่จัดเก็บเองออกไป) ย่อมไม่เพียงพอต่อการส่งเสริมอัตลักษณ์ท้องถิ่นอย่างยิ่งใหญ่ในปัจจุบันเป็นแน่

และคำตอบคงชัดเจนว่า เงินจำนวนมากขนาดนี้มาจากไหน ? ถ้าหากไม่ได้มาจากการจัดสรรมาจากภาษีของคนไทยที่เหลือทั้งประเทศ ? และถึงแม้จะมีผู้โต้แย้งว่าหากตัดเอางบประมาณที่รัฐเก็บแล้วจัดสรรให้ (ซึ่งมีนักวิชาการบางคนอ้างว่าท้องถิ่นควรมีหน้าที่นี้เอง คือให้ท้องถิ่นจัดเก็บงบในส่วนนี้เองไม่ใช่หน่วยงานส่วนกลาง) มารวมกับเงินอีกเกือบ 10 ล้าน แต่คำตอบก็ยังน่าสงสัยว่า หากตัดเงินอุดหนุนจนเหลืองบประมาณราว 281 ล้านบาท เงินจำนวนเท่านี้จะทำให้การบริหารจัดการท้องถิ่นของ อบจ. ยะลา จะสามารถบรรลุประสิทธิภาพเช่นปัจจุบันหรือไม่ ?

และเมื่อตรวจสอบข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีขององค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา ย้อนกลับไปในปีเก่าขึ้นไปอีก ปรากฏข้อมูล ‘งบประมาณด้านพหุวัฒนธรรม/อัตลักษณ์ท้องถิ่น’ ดังนี้

ปี งบประมาณ (บาท)
2566 17,790,300
2565 13,150,800
2564 14,797,000
ที่มา : ข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี องค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา พ.ศ.2564-2566

จากข้อมูลจะเห็นได้ว่า ‘งบประมาณด้านพหุวัฒนธรรม/อัตลักษณ์ท้องถิ่น’ ของ อบจ.ยะลา ตั้งแต่ พ.ศ. 2564 – 2567 มีแนวโน้ม ‘เพิ่มขึ้น’ แทบทุกปียกเว้นปี 2565 ปีเดียวที่ลดลงจากปีก่อน กระนั้นในภาพรวมแนวโน้มของ ‘งบประมาณด้านพหุวัฒนธรรม/อัตลักษณ์ท้องถิ่น’ มีลักษณะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนแตะหลัก 18 ล้านบาทในห้วงปีงบประมาณล่าสุด (2567) ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวคาดว่าจะสูงขึ้นอีกในอนาคต

นอกเหนือจาก อบจ.ยะลา ตัวอย่างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นภายในจังหวัดยะลาที่น่าสนใจและมีบทบาทสูงเด่นในการให้บริการสาธารณะอีกแห่งหนึ่ง คือ เทศบาลนครจังหวัดยะลา เพราะในปี 2567 เทศบาลนครแห่งนี้จัดทำงบประมาณไว้ถึงหลักหนึ่งพันกว่าล้านบาท (1,170 ล้านบาท) ซึ่งมากกว่า อบจ. ยะลาเสียอีก และเมื่อสำรวจงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับ ‘งบประมาณด้านพหุวัฒนธรรม/อัตลักษณ์ท้องถิ่น’ ซึ่งปรากฏอยู่ในส่วนของ ‘แผนงานการศาสนา วัฒนธรรม และนันทนาการ’ ปรากฏข้อมูลงบประมาณและโครงการ ดังนี้

ปี งบประมาณ (บาท) ตัวอย่างโครงการ
2567 11,275,000 โครงการแข่งขันนกเขาชวาเสียงอาเซียน (700,000 บาท), โครงการรักษ์วัฒนธรรม รักษ์วิถีแดนใต้ (900,000 บาท), โครงการมลายูเดย์ (1,500,000 บาท), โครงการส่งเสริมทักษะอาชีพการตัดเย็บเสื้อท้องถิ่นมลายู (500,000 บาท) และโครงการส่งเสริมอนุรักษ์ผ้าท้องถิ่นมลายู (1,000,000 บาท) เป็นต้น
2566 10,200,600 โครงการประเพณีชักพระ (1,200,000 บาท), โครงการแข่งขันนกเขาชวาเสียงอาเซียน (700,000 บาท), โครงการรักษ์วัฒนธรรม รักษ์วิถีแดนใต้ (1,200,000 บาท), โครงการมลายูเดย์ (1,200,000 บาท) และโครงการส่งเสริมทักษะอาชีพการตัดเย็บเสื้อท้องถิ่นมลายู (500,000 บาท) เป็นต้น
2565 9,175,600 โครงการประเพณีวันลอยกระทง (200,000 บาท),โครงการแข่งขันนกเขาชวาเสียงอาเซียน (700,000 บาท),โครงการรักษ์วัฒนธรรม รักษ์วิถีแดนใต้ (1,200,000 บาท), โครงการมลายูเดย์ (1,200,000 บาท) และ โครงการอบรมสัมมนาแนวทางตัดสินนกเขา (100,000 บาท) เป็นต้น
ที่มา : เทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี เทศบาลนครยะลา พ.ศ.2565-2567

จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่า ‘งบประมาณด้านพหุวัฒนธรรม/อัตลักษณ์ท้องถิ่น’’ ของเทศบาลนครยะลาเพิ่มขึ้นทุกปี เฉลี่ยปีละประมาณ 1 ล้านบาท และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นในทำนองนี้ในปีถัดไป โดยตัวอย่างโครงการที่จัดขึ้นโดยนโยบายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเห็นได้ว่าได้ใช้งบประมาณกว่าหลายล้านบาทในการสนับสนุนอัตลักษณ์ของชาวไทยเชื้อสายมลายู อีกทั้งส่งเสริมพหุวัฒนธรรมในพื้นที่อย่างเต็มที่ ดังที่เห็นว่าบางโครงการ เช่น โครงการวันมลายูเดย์ อันเป็นโครงการสนับสนุนอัตลักษณ์มลายูที่จัดประจำอย่างยิ่งใหญ่ทุกปีอีกทั้งจัดติดต่อกันหลายวันหลายคืน และโครงการการส่งเสริมการตัดเย็บผ้าท้องถิ่นมลายู นี่เป็นตัวอย่างที่ประจักษ์ชัดถึงที่สุดของการส่งเสริมอัตลักษณ์ความเป็นมลายูภายใต้การสนับสนุนงบประมาณของรัฐ โครงการดังกล่าวจัดขึ้นทุกปีไม่มีขาดมาตลอดหลายปี จึงกล่าวได้ว่า โครงการภายใต้ ‘งบประมาณด้านพหุวัฒนธรรม/อัตลักษณ์ท้องถิ่น’ ต่างได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐไทยทุกปีไม่มีขาดตกบกพร่องและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี

สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดเล็ก อาทิ เทศบาลเมือง เทศบาลตำบล และ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ขอยกตัวอย่างงบที่เกี่ยวข้องกับ ‘งบประมาณด้านพหุวัฒนธรรม/อัตลักษณ์ท้องถิ่น’ พร้อมตัวอย่างโครงการ เพื่อให้ภาพภาพว้าง ๆ ของการสนับสนุนอัตลักษณ์และพหุวัฒนธรรมท้องถิ่นในพื้นที่ชายแดนใต้ ดังนี้

ปี ชื่อโครงการ ชื่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
2567

- โครงการอุดหนุนชมรมตาดีกา อำเภอบันนังสตา (สองหมื่นบาท)

- โครงการคิดถึงเมืองบันนังสตา (ห้าหมื่นบาท)

- โครงการจัดงานเทศกาลอาณีรายอ (สามหมื่นบาท)

- โครงการประเพณีเมาลิดสัมพันธ์ (ห้าหมื่นบาท)

- โครงการรอมฏอนสัมพันธ์ (สี่แสนบาท)

- โครงการอาซูรอสัมพันธ์สืบสานประเพณีชาวมุสลิม (ห้าหมื่นบาท)

เทศบาลตำบลบันนังสตา
2566

- โครงการประเพณีกวนอาซูรอ (ห้าหมื่นบาท)

- โครงการจัดงานเมาลิด (ห้าหมื่นบาท)

- โครงการรอมฏอนสัมพันธ์ (ห้าหมื่นบาท)

- โครงการเบิกฟ้ารามันสืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่น (ห้าหมื่นบาท)

องค์การบริหารส่วนตำบลกาลูปัง
2565

- โครงการกิจกรรมในเดือนรอมฏอน (หนึ่งแสนบาท)

- โครงการสืบสานประเพณี วัฒนธรรม วิถีชีวิตท้องถิ่น (สามหมื่นบาท)

- โครงการจัดวันสำคัญ (สองหมื่นบาท)

องค์การบริหารส่วนตำบลบันนังสาเรง
2565

- โครงการเทศการฮารีรายอ (สองหมื่นบาท)

- โครงการประเพณีเมาลิดสัมพันธ์ (ห้าหมื่นบาท)

- โครงการรอมฏอนสัมพันธ์ (สองแสนบาท)

- โครงการอาซูรอสัมพันธ์สืบสานประเพณีชาวมุสลิม (หกหมื่นบาท)

เทศบาลตำบลบันนังสตา
ที่มา : เทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี เทศบาลตำบลบันนังสตา (2565 และ 2567) , ข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี องค์การบริหารส่วนตำบลบันนังสาเรง (2565) และ ข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี องค์การบริหารส่วนตำบลกาลูปัง (2566)

ข้อมูลข้างต้นชี้ให้เห็นว่า แม้แต่ในองค์กรส่วนท้องถิ่นขนาดเล็ก ก็ย่อมได้รับการจัดสรรงบประมาณและจัดทำโครงการเกี่ยวกับอัตลักษณ์และพหุวัฒนธรรมอันเป็นอัตลักษณ์ท้องถิ่นในพื้นที่อย่างชัดเจนสอดคล้องกับที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย สำหรับประเด็นการให้การสนับสนุนพหุวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเคารพในอัตลักษณ์ที่หลากหลายของประชาชนกลุ่มต่าง ๆ (ตามมาตรา 27 และ 43) โครงการส่วนมากก็เป็นไปในทางส่งเสริมอัตลักษณ์ของมลายูและศาสนาอิสลามมากกว่าประชาชนไทยพุทธซึ่งมีจำนวนน้อยกว่าในพื้นที่ ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้วว่า บรรดาผู้บริหารท้องถิ่น ข้าราชการ หรือพนักงานของท้องถิ่นที่ได้รับจัดสรรงบประมาณเหล่านี้มา ย่อมเป็นชาวไทยเชื้อสายมลายูเป็นหลักตามภูมิรัฐศาสตร์ชายแดนใต้ อีกทั้งการเขียนโครงการก็ย่อมเป็นไปในการเขียนให้สอดคล้องกับความต้องการหรือในที่นี้คือ ‘อัตลักษณ์’ ของคนส่วนมากในท้องถิ่นอันย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่าก็คือ ‘ชาวไทยเชื้อสายมลายู’  ด้วยเหตุนี้ นี่จึงสอดคล้องกับหลักการกระจายอำนาจ(Decentralisation) อันเป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดการกำหนดใจตัวเอง (Self Determination) ที่ประเทศไทยและนานาชาติให้การรับรองและเคารพสิทธิ์อย่างแข็งขันมาโดยตลอด

สำหรับ ‘งบแฝง’ อื่น ๆ อันไม่ใช่งบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่เกี่ยวข้องกับ ‘งบประมาณด้านพหุวัฒนธรรม/อัตลักษณ์ท้องถิ่น’ ที่เข้ามาดำเนินโครงการ/กิจกรรมในพื้นที่ยะลา เช่น โครงการถนนสายวัฒนธรรม วิถีไทย วิถีถิ่น จังหวัดยะลา ปี 2560 (งบประมาณ 3,633,000 บาท), นิรมิตรยาลอ ประเพณีแม่กอเหนี่ยวเทิดไท้องค์ราชัน จังหวัดยะลา ปี 2561 (งบประมาณ 490,000 บาท) ซึ่งโครงการข้างต้น จัดโดย สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดยะลา(ที่มา : แผนปฏิบัติการและแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดยะลา) โครงการส่งเสริมกิจกรรมด้านศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมจังหวัดยะลา ปี 2567 (งบประมาณ 7,520,000 บาท) ซึ่งเป็นงบของสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดยะลา (ที่มา : แผนปฏิบัติราชการประจำปีจังหวัดยะลา ปีงบประมาณ พ.ศ.2567) เป็นต้น และดังที่กล่าวไว้แล้ว ‘งบแฝง’ ที่ส่งเสริมอัตลักษณ์และพหุวัฒนธรรมในลักษณะนี้ ยังปรากฎอยู่ในแผนปฏิบัติราชการหรือโครงการของหน่วยงานราชการอีกหลายหน่วย อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ ศอ.บต. หรือกระทั่งหน่วยงานทางการศึกษาในพื้นที่ที่ขับเคลื่อนงานด้านวัฒนธรรมที่รับงบประมาณจากรัฐบาล ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สามารถตามไปสืบค้นหาในอนาคตได้

สรุป

ความเชื่อที่ว่า ‘รัฐไทยกดขี่อัตลักษณ์ชาวมลายูในพื้นที่ชายแดนใต้’ ซึ่งเป็นวาทกรรมของฝ่ายขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่กำลังสาดเทใส่รัฐไทยในปัจจุบัน เมื่อได้รับการสำรวจตรวจสอบด้วยข้อมูลอันเป็นจริงและเป็นภววิสัยแล้ว พบว่าเป็นข้อมูลอันเป็นเท็จทั้งสิ้น เพียงแต่อาศัยข้อมูลด้านงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ซึ่งใกล้ชิดกับประชาชนและมีลักษณะกระจายอำนาจมากที่สุด มาตรวจสอบข้อมูลด้านงบประมาณดู ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘งบประมาณด้านพหุวัฒนธรรม/อัตลักษณ์ท้องถิ่น’ ที่จัดสรรและสนับสนุนผ่านรัฐไทย งบประมาณที่มาจากภาษีของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ ได้รับการถ่ายโอนมาสนับสนุนและส่งเสริมอัตลักษณ์และพหุวัฒนธรรมในพื้นที่ชายแดนใต้ ซึ่งหากเทียบศักยภาพในการจัดเก็บรายได้แล้ว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่เพียงลำพังย่อมไม่สามรถมีงบประมาณมากมายขนาดนี้ได้หากปราศจากการจัดสรรมาจากส่วนกลาง

นอกจากนี้ ผู้เขียนยังเชื่อว่าการกระจายงบในรูปแบบนี้ยังเป็นดุจเดียวกันกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพื้นที่อื่น ๆ ทั่วทั้งประเทศ หาใช่แต่เพียงยะลาหรือจังหวัดชายแดนใต้เพียงอย่างเดียว ยกตัวอย่างเช่น เทศบาลเมืองลพบุรี ซึ่งโดดเด่นในด้านการจัดงานเชิดชูอัตลักษ์ความเป็นลพบุรีอย่างยิ่งใหญ่ เช่น วันแผ่นดินสมเด็จพระพระนารายณ์มหาราชและวันลอยกระทง โดยในปี 2567 ได้ตั้งงบประมาณ ‘แผนงานการศาสนา วัฒนธรรม และนันทนาการ’ ไว้จำนวน4,580,000 บาท (ที่มา : เทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีเทศบาลเมืองลพบุรี พ.ศ.2567 ) ซึ่งน้อยกว่าเทศบาลนครยะลาในปีเดียวกันเสียอีก (เทศบาลนครยะลาตั้งงบส่วนนี้ไว้ 11,275,000 บาท) ซึ่งงบของเทศบาลนครยะลาในปี 2567 นี้ ไล่เลี่ยกับงบประมาณของเทศบาลนครสงขลาในส่วนของ ‘แผนงานการศาสนา วัฒนธรรม และนันทนาการ’ โดยตั้งไว้ 12,000,480 บาท (ที่มา : เทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีเทศบาลนครสงขลา พ.ศ.2567) จึงเท่ากับว่างบของเทศบาลนครยะลากับเทศบาลนครสงขลาอยู่ในระดับเดียวกัน ดังนั้น การกล่าวหาว่ารัฐไทยอคติและเลือกปฏิบัติต่อชาวไทยเชื้อสายมลายูโดยต้องการทำลายอัตลักษณ์ท้องถิ่นจึงเป็นการกล่าวเท็จ ในเมื่อเทศบาลนครยะลาและสงขลาต่างก็ได้รับการจัดสรรงบประมาณเท่าเทียมกัน

ดังนั้น อัตลักษณ์และพหุวัฒนธรรมของชนกลุ่มต่าง ๆ ในไทย นอกจากไม่ได้รับการกดทับ/กดปราบให้แสดงออกจากรัฐดั่งคำสมอ้างของฝ่ายขบวนการและแนวร่วมแบ่งแยกดินแดนแล้ว หากแต่เป็นรัฐไทยเองที่สนับสนุนการแสดงออกเรื่องอัตลักษณ์และพหุวัฒนธรรมเชิงสร้างสรรค์อย่างแข็งขันอีกด้วย

ที่มา :

[1] ข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี องค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา พ.ศ.2567
[2] ข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี องค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา พ.ศ.2564-2566
[3] เทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี เทศบาลนครยะลา พ.ศ.2565-2567
[4] เทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี เทศบาลตำบลบันนังสตา (2565 และ 2567) , ข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี องค์การบริหารส่วนตำบลบันนังสาเรง (2565) และ ข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี องค์การบริหารส่วนตำบลกาลูปัง (2566)

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า