ความจริงจากจารึกประวัติศาสตร์ รัฐธรรมนูญฉบับแรกเป็นการตกลงร่วมกันระหว่างรัชกาลที่ 7 และคณะราษฎร

คำว่า “อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ” กับ “อำนาจอธิปไตย” สองคำนี้อาจกล่าวได้ว่ามีนัยที่คล้ายกัน แต่หากพิจารณาโดยความหมายแล้วจะพบว่าแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง โดยอำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นที่ยอมรับกันโดยหลักการว่าเป็นอำนาจของ ‘ประชาชน’ ดังเช่นที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญของไทยทุกฉบับ แต่ประชาชนจะใช้อำนาจนี้ ‘โดยตรง’ มิได้ หากต้องใช้ผ่านสถาบันหลักทางการเมือง นั่นคือ รัฐสภา รัฐบาล และศาล สรุปได้ว่า จริงอยู่ที่ว่าอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน แต่ประชาชนก็ต้องหวังพึ่งสถาบันทางการเมืองในการบริหารจัดการอำนาจเหล่านี้แทนตน

ในขณะที่รัฐธรรมนูญ (Constitution) คือ กฎหมายสูงสุดที่กฎหมายฉบับใดๆ ไม่สามารถขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญได้ ดังนั้น รัฐธรรมนูญจึงถือเป็น ‘แก่นแกน’ หรือหัวใจของการปกครอง เพราะเป็นสิ่งที่กำหนดหรือเป็นกฎเกณฑ์จัดวางระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันทางการเมืองในสังคม เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายบริหาร (รัฐบาล) กับ ฝ่ายนิติบัญญัติ (รัฐสภา) ดังนั้นประเทศที่ไร้รัฐธรรมนูญก็เปรียบได้กับประเทศที่ไร้ขื่อแป เพราะจะไม่สามารถตัดสินได้เลยว่าการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งของฝ่ายการเมืองหรือฝ่ายบริหารนั้น มีความชอบธรรมตามหลักการบริหารแห่งรัฐหรือไม่

หากมองย้อนมาสู่สิ่งที่เรียกว่า ‘อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ’ หรือเรียกอีกอย่างว่าแหล่งที่มาของกำเนิดรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ เพราะขึ้นอยู่กับพัฒนาการแห่งรัฐและประสบการณ์ทางการเมืองที่รัฐนั้นๆ ต้องเผชิญจนกว่าจะได้รัฐธรรมนูญขึ้นมา ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่ารัฐธรรมนูญ คือ ‘ผล’ ของปรากฏการณ์หรือลำดับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของประเทศนั้นๆ นั่นเอง

หลวงประเจิดอักษรลักษณ์ (สมโภช อัศวนนท์) อดีตข้าราชการไทยและอาจารย์สอนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญคนแรกๆ ของประเทศไทย ได้กล่าวเอาไว้ถึงที่มาของรัฐธรรมนูญทั่วโลกว่ามีทั้งสิ้น 3 แบบ ได้แก่

1.รัฐธรรมนูญที่พระมหากษัตริย์ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทาน

2.รัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นโดยทางสัญญา

  1. รัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นโดยสภาผู้แทนราษฎรประชุมปรึกษาบัญญัติขึ้น

‘รัฐธรรมนูญที่พระมหากษัตริย์ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทาน’ ฝั่งอังกฤษเรียกว่า ‘Charter’ ส่วนทางฝรั่งเศสเรียกว่า ‘La Constitution Octroyee’ เป็นรัฐธรรมนูญที่พระมหากษัตริย์ทรงพระราชทานลงมาเอง เพราะทรงอยากให้ประชาชนได้ปกครองตนเอง

รัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นโดยทางสัญญา’ หรือ ‘Pact’ เกิดจากการที่พระมหากษัตริย์กับตัวแทนของประชาชน ‘ตกลงร่วมกัน’ ในเนื้อหาสารัตถะของรัฐธรรมนูญ กล่าวในอีกแง่ รัฐธรรมนูญนี้จะเกิดขึ้นในการเมืองแบบ Constitutional Monarchy หรือ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นั่นเอง

รัฐธรรมนูญเกิดขึ้นโดยสภาผู้แทนราษฎรประชุมปรึกษาบัญญัติขึ้น’ หรือ ‘Convention’ เป็นรัฐธรรมนูญที่เกิดจากการที่ตัวแทนของประชาชนมาชุมนุมกันเพื่อออกกฎหมาย โดยที่พระมหากษัตริย์ทรงมิได้มีส่วนร่วม กล่าวอีกนัยหนึ่งคือเป็นเจตจำนงของประชาชน ‘ส่วนใหญ่’ ไม่เกี่ยวกับทางวัง

ดังนั้น ตามความเห็นของหลวงประเจิดอักษรลักษณ์เมื่อปี พ.ศ.2477 รัฐธรรมนูญของสยามฉบับแรก คือ ‘พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองสยาม 27 มิถุนายน 2475’ ถือเป็นรัฐธรรมนูญในรูปแบบ ‘รัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นโดยทางสัญญา’ หรือ ‘Pact’ เพราะเป็นการ ‘ตกลงร่วมกัน’ ระหว่างในหลวงรัชกาลที่ 7 กับฝ่ายคณะราษฎร

อย่างไรก็ดี ควรต้องบันทึกเอาไว้ด้วยว่า เดิมทีนั้นคณะราษฎรไม่ได้ต้องการที่จะให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นการตกลงร่วมกันระหว่างพระมหากษัตริย์กับพวกเขาแต่อย่างใด เพราะปรีดี พนมยงค์ ซึ่งผู้เป็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ‘แต่เพียงผู้เดียว’ ไม่ได้ต้องการให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญใดๆ อีกในอนาคต กล่าวอีกนัย คือ เขาต้องการให้อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็น ‘Convention’ คือ ไม่ให้มีอำนาจของพระมหากษัตริย์เข้ามาตกลง หรือมีส่วนร่วมในการกำเนิดรัฐธรรมนูญนั่นเอง

แต่เหตุการณ์สำคัญที่ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย รวมถึงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้รับการแก้ไขให้เป็นสัญญาหรือ ‘Pact’  คือ การที่ในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงเติมคำว่า ‘ชั่วคราว’สั้นๆ ต่อท้ายชื่อรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ทำให้สามารถตีความทางรัฐศาสตร์ได้ว่าเป็นการ‘ต่อรอง’ ระหว่างพระมหากษัตริย์กับคณะราษฎร โดยทรงเห็นว่าให้เป็นรัฐธรรมนูญชั่วคราวไปพลางๆ ก่อน เพื่อจะสามารถแก้ไขได้ใหม่ในภายหลัง

ดังที่กล่าวไปแล้วว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนขึ้นโดยปรีดีแต่เพียงผู้เดียว แม้โดยนัยจะถือว่าเขาเป็นตัวแทนของคณะราษฎร แต่ในความเป็นจริงแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับนี้กลับกลายเป็นผลผลิตของ ‘บุคคลเพียงผู้เดียว’ หาใช่การประชุมหารือร่วมกันของตัวแทนประชาชนคนไทยแต่อย่างใด แม้จะจัดเป็น ‘รัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นโดยสภาผู้แทนราษฎรประชุมปรึกษาบัญญัติขึ้น’ หรือ ‘Convention’ ก็พูดได้ไม่เต็มปากนัก เพราะไม่ได้มีตัวแทนของประชาชนคนอื่นเข้ามามีส่วนร่วมร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้แต่อย่างใด

แม้ภายหลังข้อเท็จจริงจะปรากฏว่า กว่าไทยจะมีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรได้ ก็ต้องรอไปจนถึงเดือนธันวาคม 2475 อย่างไรเสีย หลวงประเจิดอักษรลักษณ์ได้ยืนยันว่าเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (10 ธันวาคม 2475) นั้น มิได้แตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวแต่อย่างใด หากแต่ความสำคัญอยู่ที่ว่าอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญทางการเมืองการปกครองของไทยนั้น ถือเป็นการตกลงร่วมกันระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับตัวแทนของประชาชน หาใช่เป็นของประชาชนแต่เพียงฝ่ายเดียวอย่างที่สอนกันมาผิดๆ แต่อย่างใด

อ้างอิง :

[1] พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองสยาม ฉบับชั่วคราว 27 มิถุนายน 2475. 
[2] หลวงประเจิดอักษรลักษณ์. กฎหมายรัฐธรรมนูญ คำสอนชั้นปริญญาตรี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง พุทธศักราช 2477.

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า