ช่วยคนนับล้านชีวิต ‘ศูนย์ราชการุณย์’ โดยพระนางเจ้าสิริกิติ์ ช่วยผู้อพยพกัมพูชาให้ได้มีที่พักพิง ต่อยอดอาชีพโดยไม่หวังผลตอบแทน

“สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปทุกหนทุกแห่งในท้องถิ่นทุรกันดาร ทรงบุกป่า บุกโคลน โดยมิทรงย่อท้อต่อความลำบาก โดยเฉพาะทรงห่วงใยราษฎรในเรื่องการเจ็บไข้ได้ป่วย และจะพระราชทานพระราชวโรกาสให้ราษฎรเข้าเฝ้าฯ อย่างใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท มีอยู่คราหนึ่งเมื่อหลายปีมาแล้ว พระองค์เสด็จภาคใต้ ทรงพบคนป่วยเป็นโรคเรื้อน และได้ขอพระราชทานจับพระหัตถ์ ทุกคนต่างตกใจที่เห็นพระองค์ท่านทรงยื่นพระหัตถ์ให้ผู้ป่วยคนนั้นจับ หลังจากนั้นท่านก็รับสั่งว่า ฉันจะไปปฏิเสธเขาได้อย่างไร” [1]

คำกล่าวข้างต้นนี้เป็นบันทึกของ แถมสิน รัตนพันธุ์ อดีตนักเขียนและอดีตผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมากมาย ซึ่งได้เล่าถึงการทรงงานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์เอาไว้ คำบอกเล่าของแถมสินนี้เป็นพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ อันเกี่ยวเนื่องกับศักดิ์ศรีและคุณค่ามนุษย์ที่พระองค์ได้ทำไว้อย่างมากมายในช่วงขณะที่พระองค์ยังทรงมีพระวรกายที่เอื้ออำนวยให้ทำได้ พระราชกรณียกิจอันสำคัญยิ่งนี้ในภายหลังได้รับการเทิดทูนจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ด้วยการทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญเซเรสเทิดพระเกียรติ ในฐานะผู้ทรงอุทิศเพื่อการพัฒนาสตรีและประชาชนในชนบท โดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง

พระราชกรณียกิจทางด้านมนุษยชนนี้มีอยู่มากมาย และอาจกล่าวได้ว่า พระองค์ได้ทรงดำเนินการอย่างกว้างขวาง อันเป็นการสอดคล้องกับการที่ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ยอมรับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนเมื่อ พ.ศ. 2491 และอาจกล่าวได้ว่า พระองค์เป็นตัวอย่างอันเป็นรูปธรรมของการปกป้องสิทธิมนุษยชน ในขณะที่รัฐบาลไทยจะต้องแก้ไขปัญหาความมั่นคงจนบางครั้งความมั่นคงนั้นอยู่เหนือประเด็นสิทธิมนุษยชน

เนื่องในโอกาสวันแม่แห่งชาติ 12 สิงหาคมนี้ อันเป็นวันสำคัญที่สมควรระลึกแด่พระองค์ด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง ฤา จึงจะพาผู้อ่านทุกท่านย้อนกลับไปยังสมัยที่ประเทศไทยต้องประสบกับปัญหาและความมืดแปดด้าน แต่ยังมีแสงสว่างแห่งความหวังเข้ามา ผ่านพระราชกรณียกิจด้านสิทธิมนุษยชนอันจะตอกย้ำเราเสมอว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่เคยทอดทิ้งประชาชนแม้แต่วินาทีเดียว

การทรงงานด้านสิทธิมนุษยชนของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ นั้นมีอยู่มาก เช่น พระราชกรณียกิจอันเกี่ยวข้องกับสภากาชาดไทย หรือศิลปาชีพกับการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน แต่พระราชกรณียกิจอย่างหนึ่งที่มีความสำคัญต่อชีวิตอย่างมากที่สุดก็คือ เมื่อเกิดเหตุการณ์สงครามกลางเมืองของกัมพูชากับเขมรแดงเมื่อ พ.ศ. 2522 [2] ส่งผลให้เกิดการอพยพของชาวกัมพูชาจำนวนมากสู่ชายแดนไทย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สภากาชาดไทยร่วมมือกับสภากาชาดสากลในการช่วยเหลือผู้อพยพโดยการจัดตั้ง “ศูนย์ราชการุณย์” บ้านเขาล้าน จังหวัดตราด และพระราชทานครูสอนวิชาชีพแก่ผู้อพยพเพิ่มเติมอีกด้วย โดยทรงมีพระราชปณิธานอย่างแน่วแน่ว่าจะช่วยเหลือประชาชนโดยไม่เลือกเชื้อชาติหรือศาสนาใดๆ ทั้งสิ้น

ที่มาของการจัดตั้งศูนย์นี้มีอยู่ว่า ปัญญา ฤกษ์อุไร ผู้ว่าราชการจังหวัดตราดในขณะนั้นได้มีหนังสือติดต่อขอความช่วยเหลือมายังสภากาชาดไทย และเลขาธิการสภากาชาดไทยได้ส่งต่อให้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ในขณะนั้นได้มีผู้อพยพจากกัมพูชากว่า 4 หมื่นคน บางคนได้อดตายไปแล้ว และทางจังหวัดได้ช่วยเหลืออย่างเต็มที่แล้วแต่ก็ไม่สามารถให้การดูแลได้เพียงพอ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ในฐานะสภานายิกาสภากาชาดไทยได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรด้วยพระองค์เองเมื่อ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2522 เมื่อพบเห็นสภาพที่ย่ำแย่อย่างยิ่งของผู้อพยพ พระองค์จึงพระราชทานความช่วยเหลือทันที ทั้งพยาบาลสนาม และอาสาสมัครไปช่วยเหลือจัดหาอาหารและยาบรรเทาความเจ็บไข้

ผู้ที่อพยพมาเหล่านี้ล้วนมีทั้งผู้สูงอายุ หนุ่มสาว และเด็ก พระองค์ทรงตระหนักว่าเมื่อมีประเทศที่สามมารับต่อไปแล้ว คนเหล่านี้จะต้องประกอบอาชีพได้ พระองค์จึงได้จัดตั้งโรงฝึกอาชีพขึ้น รวมทั้งสอนหนังสือทั้งภาษาไทย อังกฤษ และเขมร และยังสอนการปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ เพราะว่าระยะเวลาการอพยพลี้ภัยอาจจะใช้เวลานานจึงต้องเลี้ยงตนไปก่อน ต่อมาผู้อพยพชาวกัมพูชาบางคนได้ลี้ภัยไปยังประเทศต่างๆ เช่น ฝรั่งเศส ก็ได้ไปเปิดร้านอาหารและกล่าวด้วยความภูมิใจว่า อาหารหลายอย่างเป็นที่นิยม ซึ่งตนได้เรียนรู้ระหว่างอยู่ที่ค่ายอพยพในไทย

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ยังติดตามการดำเนินงานของสภากาชาดไทยอย่างใกล้ชิด และเมื่อสถานการณ์ของกัมพูชาสงบลงและผู้อพยพได้เดินทางตามเจตนารมณ์แล้ว การดำเนินงานต่างๆ ก็ได้ปิดตัวลงเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2529 ซึ่งการดูแลผู้อพยพนี้กินระยะเวลากว่า 7 ปี โดยที่ไทยไม่ได้หวังสิ่งใดตอบแทนใดๆ เลย

ต่อมาเมื่อ 29 มีนาคม พ.ศ. 2533 ศูนย์ศึกษาการอพยพ องค์การสหประชาชาติได้ขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล The Center of Migration Studies Immigration and Refugee Policy Award ประจำปี ค.ศ. 1990 เพื่อเทิดพระเกียรติจากการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ลี้ภัยจำนวนนับล้านคน พระมหากรุณาธิคุณในครั้งนี้ ท่านผู้หญิงสุประภาดา เกษมสันต์ อดีตราชเลขานุการของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ได้เปิดเผยเมื่อ พ.ศ. 2529 ว่า “ทรงหวังว่าประเทศไทย และประชาชนชาวไทยที่ทรงรักและทรงห่วงจะไม่มีวันต้องตกระกำลำบาก และมีเหตุการณ์อย่างที่เขมรประสบเป็นอันขาด สิ่งใดที่คนไทยทำให้แก่ผู้อพยพ จงเป็นผลบุญแก่ประเทศไทยและประชาชนชาวไทย คุ้มครองมิให้ต้องประสบภัยอย่างเดียวกันตลอดไป”

ยังมีเรื่องเล่าจากบุคคลที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ทรงเคยช่วยเหลือไว้อีกด้วย คือ ร้อยโทดนัย คมคาย นายทหารกองทัพบกของสหรัฐอเมริกา ได้เข้าเฝ้าเมื่อ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2555 และกราบบังคมทูลถึงความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณต่อตนทั้งที่ร้อยโทดนัยไม่ใช่ชาวไทย โดยพระองค์พระราชทานทุนให้ไปเรียนที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ทรงแตะไหล่พร้อมรับสั่งว่า “ฉันจำได้ ตอนนั้นเขายังเล็กๆ อยู่เลย ปลื้มใจจริงๆ”

ร้อยโทดนัยซึ่งสามารถพูดไทยได้ชัดเจนได้ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ไทยรัฐว่า ในช่วงที่เกิดสงครามนั้นตนมีอายุ 3 ขวบ แต่ยังจำได้ดีว่าได้เดินทางโดยเท้ากับแม่หนีจากพนมเปญออกมา โดยเดินไปเรื่อยๆ ไม่มีจุดหมายนับเดือน ซึ่งเคยพลัดหลงกับแม่ไปพักหนึ่งแล้ว จนมาบังเอิญพบกันอีกในป่าก่อนที่จะเข้าสู่ชายแดนไทย ขณะที่เดินอยู่ที่ชายแดนนั้น ตนและแม่เกิดอาการเมาเห็ดเจียนตายและสลบไป แต่บังเอิญมีคนรู้จักมาพบและช่วยแบกจนเข้ามาถึงชายแดนไทยสำเร็จ และได้รับการดูแลรักษาจากทหารไทย ก่อนที่จะย้ายไปพักที่ศูนย์อพยพที่เขาล้าน ได้รู้ว่าจะมีคนมาเยี่ยมเพราะมีรถยนต์และเฮลิคอปเตอร์ โดยร้อยโทดนัยเข้าใจว่าเป็นคนรวยมีน้ำใจมาเยี่ยม แต่ไม่เคยคิดว่าแท้จริงแล้วเป็นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ที่มา เพราะที่ค่ายนั้นไม่น่าดู มีคนป่วยจำนวนมากและอาจมีอันตรายจากระเบิดที่อาจยิงเข้ามาได้ เมื่อพระองค์เสด็จมาเยี่ยมอย่างใกล้ชิดโดยไม่รังเกียจ พระองค์ยังพระราชทานทุนให้ร้อยโทดนัยได้เรียนหนังสือที่สุรินทร์ก่อนที่จะไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา

ร้อยโทดนัยได้กล่าวสรุปว่า “ชีวิตที่มีอยู่ทุกวันนี้ บอกได้เลยว่าเป็นเพราะพระองค์ท่าน ผมได้เล่าให้ลูกฟังตลอด แม้จะผ่านมากว่า 30 ปีแล้ว ผมยังจดจำได้ตลอด ไม่มีคำพูดใดที่เกินคำว่าขอบคุณที่พระองค์ท่านทรงช่วยชีวิตผมและแม่ อยากให้พระองค์ท่านทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน ผมจะทำตามรอยพระองค์ในการช่วยเหลือมนุษย์ทั้งปวง ไม่ว่าจะสัญชาติไหน ผมจะทำดีเจริญรอยตามพระองค์ท่าน”

นอกจากกรณีกัมพูชาแล้ว ยังมีอีกหลายครั้งที่พระองค์ทรงช่วยเหลือโดยไม่รังเกียจ และเป็นที่ประจักษ์ ดังนั้นเพื่อระลึกและอุทิศแด่พระองค์ จึงเห็นสมควรที่จะระบุถึงรางวัลที่ทรงได้รับทูลเกล้าฯ ถวายทั้งหมด ดังนี้

  1. มหาวิทยาลัย Centro Escolar University จากฟิลิปปินส์ ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ทางมนุษยธรรม เมื่อ พ.ศ. 2506
  2. องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญเซเรสองค์ เทิดพระเกียรติ ในฐานะทรงอุทิศพระองค์เพื่อพัฒนาสตรีและประชาชนในชนบท ทรงยกฐานะของสตรีให้มีระดับสูงขึ้นโดยไม่มีที่รักที่ชัง เมื่อ พ.ศ. 2522
  3. มหาวิทยาลัยทัฟฟ์ สหรัฐอเมริกา ทูลเกล้าฯ ถวายถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขามนุษยศาสตร์ในฐานะที่พระองค์เป็นตัวอย่างในการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยเมื่อ พ.ศ. 2523
  4. สหพันธ์พิทักษ์เด็กแห่งนครนิวยอร์ก ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลบุคคลดีเด่นด้านพิทักษ์เด็กเมื่อ พ.ศ. 2524
  5. สมาคมเอเชีย ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลด้านมนุษยธรรม ในฐานะที่ทรงยกฐานะของสตรีให้สูงขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2528
  6. สมาชิกภาพกิตติมศักดิ์ของราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งกรุงลอนดอนได้ขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวายสมาชิกภาพกิตติมศักดิ์แด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ เมื่อ พ.ศ. 2531 เพื่อสดุดีพระมหากรุณาธิคุณต่อวงการแพทย์ไทย
  7. ศูนย์ศึกษาการอพยพ องค์การสหประชาชาติทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลความช่วยเหลือแก่ผู้ลี้ภัยประจำปี ค.ศ. 1990 เมื่อ พ.ศ. 2533
  8. กลุ่มผู้สนับสนุนพิพิธภัณฑ์เด็กแห่งกรุงวอชิงตัน ดี.ซี ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลด้านมนุษยธรรมระหว่างประเทศประจำปี ค.ศ. 1991 เมื่อ พ.ศ. 2534
  9. องค์การพิทักษ์เด็ก ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญเชิดชูพระเกียรติ เทิดพระเกียรติที่ทรงอุทิศพระองค์ดูแลทุกข์สุขของเด็กๆ ในทวีปเอเชีย เมื่อ พ.ศ. 2534
  10. UNESCO ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทองโบโรพุทโธในฐานะที่พระองค์ทรงอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน เมื่อ พ.ศ. 2535
  11. กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลเกียรติคุณพิเศษซึ่งรางวัลนี้เคยมอบให้แก่องค์การกาชาดสากล แต่ไม่เคยมอบแก่บุคคลมาก่อน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ เป็นพระองค์แรกที่ได้รางวัลนี้ โดยมีคำสดุดีว่า “ในช่วงเวลา 42 ปี นับแต่ที่ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระบรมราชินีแห่งราชอาณาจักรไทย เด็กและแม่นับล้านๆ คน ได้รับประโยชน์จากบริการขั้นพื้นฐานต่างๆ อาทิ บริการสาธารณสุข การศึกษา และการส่งเสริมอาชีพโดยผ่านการดำเนินงานของมูลนิธิหรือโครงการทั้งหลายภายใต้พระบรมราชินูปถัมภ์ รวมทั้งที่เป็นผลมาจากกระแสพระราชเสาวนีย์ และพระราชดำริต่างๆ ด้วย” เมื่อ พ.ศ. 2535
  12. กองทุนการพัฒนาเพื่อสตรีแห่งสหประชาติ ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลแห่งความเป็นเลิศที่ทรงมุ่งมั่นสนับสนุนบทบาทสตรีในการพัฒนาประเทศ เมื่อ พ.ศ. 2535
  13. มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลสตรีแห่งปี ค.ศ. 1993 เมื่อ พ.ศ. 2536
  14. มูลนิธิชาร์ลส์ เอ ลินเบิร์ก และแอนด์มอร์โรว์ ลินเบิร์ก ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล 1995 Lindbergh Award ในฐานะที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อมวลมนุษย์และสิ่งแวดล้อมอย่างยาวนานเมื่อ พ.ศ. 2538
  15. มหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์ สหรัฐอเมริกาทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขามนุษยธรรม เมื่อ พ.ศ. 2538

ทั้ง 15 รางวัลและพระราชกรณียกิจตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาเคียงข้างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 นั้น เป็นบทพิสูจน์ได้อย่างดีและหนักแน่นที่สุดว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็จะไม่มีอะไรพรากประชาชนไปจากพระองค์ได้ และไม่มีวันที่สถาบันพระมหากษัตริย์จะทอดทิ้งประชาชนแม้แต่วินาทีเดียว

อ้างอิง :

[1] เรียบเรียงจาก ทศพนธ์ นรทัศน์, “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถกับการทรงงานด้านสิทธิมนุษยชน,” King Prajadhipok’s Institute Journal Vol. 10 No. 2 (May 2012 – August 2012): 5-28.
[2] ศึกษารายละเอียดใน Spencer C. Tucker, The Encyclopedia of the Vietnam War: A Political, Social, and Military History, 2nd Edition (California: ABC-CLIO, 2011).

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ ค