‘หนังสือแสดงกิจจานุกิจ’ หนังสือวิทยาศาสตร์สมัยรัชกาลที่ 4 ที่กล้าตั้งคำถามถึงการมีอยู่ของ ‘พระเจ้า’ จนฝรั่งต้องแปล

การเปลี่ยนแปลงในสังคมสยามอย่างสำคัญที่สุดสามารถย้อนกลับไปได้ถึงในสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว อันเป็นรัชสมัยที่วิทยาการของตะวันตกได้แพร่หลายเข้ามา และนำความคิดใหม่ๆ มาสู่สังคมสยาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับเปลี่ยนความคิดของชนชั้นนำสยามในการมองโลกและการปกครอง [1] และการแสดงออกของความคิดที่เปลี่ยนไปก็ปรากฏอีกด้วย เช่น โดยปกติแล้วจิตรกรรมผนังวัดนั้นมักจะมีแต่เทวดาปรากฏ แต่ในช่วงรัชกาลที่ 3 นี้เราจะพบว่า “คนธรรมดา” กลับไปปรากฏขึ้นบนฝาผนังจิตรกรรมวัดเคียงคู่กับเทวดาเสียแล้ว[2]

ในกระแสธารใหม่ๆ ที่สยามต้องเผชิญนี้ ประเด็นหนึ่งคือเรื่องของ “วิทยาศาสตร์” อันเป็นวิทยาการสมัยใหม่ที่สามารถอธิบายปรากฏการณ์ธรรมชาติและการทำงานอื่นๆ อย่างเป็นระบบได้ดีกว่าความเชื่อเดิมๆ ของมนุษย์ วิทยาศาสตร์จึงได้สั่นคลอนโลกนี้ทั้งใบและศรัทธาเดิมๆ ของผู้คนอย่างไม่ต้องสงสัย ดังนั้นความก้าวหน้าในทางวิทยาศาสตร์จึงได้ผลักดันการล่าอาณานิคมไปด้วย [3] ประเทศเล็กๆ ทั้งหลายจึงต้องรับมือกับภัยที่กำลังคุกคามเข้ามา ที่ไม่ใช่เพียงเรื่องทรัพยากร แต่ยังเป็นเรื่องการปะทะกันทางภูมิปัญญาเดิมที่ท้องถิ่นคุ้นเคย กับภูมิปัญญาใหม่ของวิทยาศาสตร์ที่กำลังเข้ามา

สยามเองก็ตกอยู่ในสมรภูมิทางภูมิปัญญานี้ด้วย สยามนั้นมี “จักรวาลวิทยา” หรือวิธีในการเข้าใจโลกทั้งโลกที่เราต้องเผชิญอยู่ทุกวัน และโลกที่เหนือขึ้นไปคือโลกที่มีเหล่าเทวดาผ่านไตรภูมิกถา ซึ่งเป็นแนวคิดที่มีอิทธิพลต่อสังคมสยามที่นับถือพุทธมาอย่างยาวนาน [4] ไตรภูมิกภาเป็นคัมภีร์ที่อธิบายปรากฏการณ์ธรรมชาติต่างๆ รอบตัวมนุษย์ และกล่าวถึงการปฏิบัติตนในฐานะพุทธศาสนิกชนไปพร้อมกัน ซึ่งมีความละเอียดอย่างมาก ไปจนถึงระบุขนาด ตำแหน่ง และรูปลักษณ์ไว้อย่างชัดเจน เช่น การกล่าวถึงเขาพระสุเมรุที่สูง 84,000 โยชน์ หนา 84,000 โยชน์ และล้อมรอบไปด้วยดาวและแม่น้ำต่างๆ การอธิบายของไตรภูมิกถานั้น เน้นที่ความเป็นระเบียบและการเชื่อมโยงกันของสิ่งต่างๆ อย่างเป็นระบบ ฐานคิดนี้จึงกลายเป็นสิ่งรองรับในการรับมือกับวิทยาศาสตร์ที่จะถาโถมเข้ามาในอนาคต

วิทยาศาสตร์เริ่มเข้ามาในสยามกับกลุ่มมิชชันนารีที่เผยแพร่ศาสนาคริสต์ โดยวิธีการของพวกเขาคือการช่วยเหลือชาวบ้าน โดยเฉพาะทางด้านการแพทย์และสุขภาพ ที่การรักษาโรคแบบใหม่ๆ โดยวิธีแบบเดิมๆ ของสยามใช้ไม่ได้ เช่น การลอกต้อ การปลูกฝี ซึ่งประสบความสำเร็จมากจนชาวบ้านยกย่องว่าเป็นหมอเทวดา และยังมีโอกาสได้พูดคุยกับชนชั้นสูงที่อ่านออกเขียนได้ ทำให้ชนชั้นสูงได้เข้าใจวิทยาศาสตร์มากขึ้นด้วย

หนึ่งในผู้ที่ให้ความสนใจกับวิทยาศาสตร์เป็นอย่างมากคือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงสนพระทัยตั้งแต่พระองค์ผนวชแล้วโดยเห็นจากหลักฐานหลายชิ้น เช่น ตารางคำนวณสุริยปราคา แผนที่ต่างๆ และการชื่นชมหนังสือ The Almanac and Astronomy ของ Jesse Caswell ซึ่งขัดกับความเชื่อในไตรภูมิกถาเป็นอย่างมาก [5] จนถึงขั้นถกเถียงกับขุนนางผู้ใหญ่ด้วย พระองค์จึงมีความเชื่อในทางพุทธศาสนาใหม่ที่ต่างจากพุทธแบบเดิม และสามารถปรับเข้ากับวิทยาศาสตร์ได้ดีกว่าจนได้รับการกล่าวขานว่าเป็นฝ่ายก้าวหน้าของสยาม

นอกจากรัชกาลที่ 4 แล้วยังมีชาวสยามอื่นๆ ที่เข้าถึงวิทยาศาสตร์ได้ผ่านหนังสือพิมพ์บางกอกรีคอร์เดอร์ ซึ่งหมอบรัดเลย์เป็นบรรณาธิการ เขานำเสนอข่าวทั่วโลกในหนังสือพิมพ์นี้และเผยแพร่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วย ทำให้ชาวสยามที่อ่านออกเขียนได้เข้าใจวิทยาศาสตร์มากขึ้น และบางครั้งเนื้อหาได้สั่นคลอนความคิดเดิมๆ ไป เช่น ความรู้เกี่ยวกับเรื่องฟ้าผ่าที่เข้าใจได้และป้องกันได้ หนังสือพิมพ์นี้ได้กลายเป็นที่โปรดปรานของชนชั้นสูงจนรัชกาลที่ 4 สั่งให้หมอบรัดเลย์เก็บรวบรวมและถวายให้พระองค์ใช้อ้างอิง นอกจากนี้ Samuel Reynolds House อาจารย์ของรัชกาลที่ 4 ทรงเคยบรรยายห้องประทับของพระองค์ว่ามีตารางเดินเรือ พจนานุกรม คัมภีร์ไบเบิ้ล และแผนภาพสุริยคราสอีกด้วย

แต่ทั้งนี้การปรับตัวของความรู้พื้นถิ่นนั้นเป็นเรื่องปกติ กล่าวคือสิ่งใดที่อยู่มานานจะลบล้างให้หายไปเลยนั้นเป็นไปได้ยาก เราจึงเห็นการผสมผสานระหว่างสิ่งเดิมกับสิ่งใหม่เข้าด้วยกัน และบางครั้งถึงกับท้าทายกลับไปยังความรู้ใหม่ เช่น หนังสือแสดงกิจจานุกิจของเจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) ซึ่งเป็นหนังสือวิทยาศาสตร์เล่มแรกของสยาม แต่ก็ให้ความรู้เกี่ยวกับพุทธศาสนาไปด้วยซึ่งทำได้ดีมากจนได้รับแปลเป็นภาษาอังกฤษ คือ The Modern Buddhist ซึ่งมีจุดประสงค์ในการโต้กลับความคิดที่เข้ามากล่าวว่าพุทธเป็นศาสนาที่ล้าหลัง ด้วยการตั้งคำถามกลับไปถึงการมีอยู่ของพระเจ้าอย่างเป็นเหตุเป็นผล เช่น ทำไมต้องสร้างเรือโนอาห์ในวันน้ำท่วมโลกว่าสร้างอย่างไร ใช้เงินเท่าใด และทำไมพระเจ้าจึงไม่เนรมิตรให้เลย และยังได้อธิบายเหตุการณ์ต่างๆ ของพระพุทธเจ้าโดยใช้ตรรกะอีกด้วย ซึ่งทำให้พุทธสามารถเข้ากับวิทยาศาสตร์ได้ และยังไปถึงขั้นว่าพุทธมีความเป็นวิทยาศาสตร์ยิ่งกว่าศาสนาอื่น

การตอบโต้เช่นนี้ทำให้สยามสามารถทันสมัยโดยที่ไม่ทิ้งรากเดิมไป นอกจากนี้ยังปรากฏอีกว่าในประชุมนิพนธ์ของกรมหลวงพิชิตปรีชากร อธิบดีศาลฎีกาคนแรก ได้อธิบายความหมายของ“ยุติธรรม” โดยใช้หลักของพุทธเข้าไปผสมกับหลักอรรถประโยชน์นิยม ซึ่งเป็นของนักปรัชญาJeremy Bentham ซึ่งแพร่เข้ามาในสยามผ่านจอน เบาว์ริ่ง ดังนั้นสยามจึงเดินหน้าอย่างเกรียงไกร เผชิญหน้ากับสิ่งใหม่และสิ่งที่ไม่รู้จักผ่านสิ่งที่รู้อยู่แต่เดิมได้อย่างเฉิดฉาย การปะทะกันทางภูมิปัญญาของสิ่งเก่าและสิ่งใหม่จึงไม่ได้ทำให้สยามต้องแตกสลายเหมือนที่อื่น และเป็นเพียงแห่งเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เจ้าอาณานิคมทำอะไรไม่ได้เลย

อ้างอิง :

[1] อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์, การเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ของชนชั้นผู้นำไทย ตั้งแต่รัชกาลที่ 4 ถึงพุทธศักราช 2475 (กรุงเทพฯ: สมมติ, 2565).
[2] สันติ เล็กสุขุม, จิตรกรรมไทยสมัยรัชกาลที่ 3: ความคิดเปลี่ยนการแสดงออกก็เปลี่ยนตาม (กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, 2548).
[3] “Colonialism and science” Literature report submitted to the School of Physics and Astronomy, College of Science and Engineering, University of Glasgow.
[4] เรียบเรียงจาก ขลิดา จูงพันธ์, เรื่องเล่าของวิทยาศาสตร์: ประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์ การคิดเชิงวิทยาศาสตร์ และการสื่อสารวิทยาศาสตร์กับสังคมไทย (กรุงเทพฯ และปทุมธานี: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2566), บทที่ 5.
[5] รายละเอียดใน William L. Bradley, “Prince Mongkut and Jesse Caswell,” The Journal of Siam Society Vol. LIV Part 1 (1966): 29-41.

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า