‘อยุธยา ยุทธการ’ เกมอำนาจเมืองท่าขุมทองโลก ตอนที่ 5

บทความโดย นายปฎิพล อภิญญาณกุล

ในตอนที่แล้วได้กล่าวถึงเหตุการณ์สำคัญในสมัยของสมเด็จพระนารายณ์ นั่นคือ การเตรียมก่อกบฏโดยพระไตรภูวนาทิตยวงศ์ น้องชายต่างมารดาของสมเด็จพระนารายณ์

ครั้นต่อมา รุ่งเช้าสมเด็จพระนารายณ์เสด็จไปยังพระนครหลวง ทรงม้าต้นพระที่นั่งราชพาหะ ให้พระอินทราชาทรงม้าตัวหนึ่ง (พระอินทราชา เป็นอนุชาของพระไตรภูวนาทิตยวงศ์ ด้วยมีพระมารดาคนเดียวกัน) ให้พระไตรภูวนาทิตยวงศ์ทรงม้าตัวหนึ่ง พวกเสนาบดีมนตรีขุนนาง เสด็จตามหน้าหลังซ้ายขวา 

สมเด็จพระนารายณ์ขี่ม้าออกไปกลางทุ่งกว้างหน้าพระตำหนักพระนคร ประหนึ่งเหมือนรีรออะไรบางอย่าง และประหนึ่งเหมือนพร้อมจะรับมือกับเหตุการณ์เปลี่ยนแปลง

ในทางยุทธศาสตร์ ที่โล่งกว้าง ๆ เท่ากับการเปิดโอกาส เหมาะสำหรับการรุกหรือบุกเข้าชิงชัยได้ในทุกมุม ไม่มีทางให้ถอยหนี ในทางกลับกัน ที่โล่งกว้าง ๆ ก็เท่ากับปิดการถอยของตนเอง ไม่ให้มีช่องได้แอบซ่อน ถ้าการรุกรบนั้นไม่ประสบความสำเร็จ

พระไตรภูวนาทิตยวงศ์ ที่ทรงม้าตามเสด็จอยู่ด้านหลังก็ไม่มีปฎิกิริยาอันใด ข้ารับใช้ของพระไตรภูวนาทิตยวงศ์ที่ตามมาก็ไม่ได้เคลื่อนไหวอะไร ? พื้นที่อาจจะเหมาะแก่การรุก แต่ไม่เหมาะแก่การถอย .. ทุกอย่างคงต้องเลื่อนและรอไปอีกครั้ง

แต่ไม่มีครั้งที่ 3 อีกแล้ว !!

ในคืนนั้นมีการค้างแรมในพระราชวังพระนครหลวง มีคนเห็นพระไตรภูวนาทิตยวงศ์เข้าไปในห้องเพื่อพักผ่อน แล้วพระไตรภูวนาทิตยวงศ์ได้ให้คนไปเรียกพระองค์ทองเข้ามา (พระองค์ทอง เป็นน้องชายอีกคนหนึ่งของพระไตรภูวนาทิตยวงศ์) แล้วให้พระองค์ทองนำเอาพระแสงหอก ออกไปซ่อน

ดึกดื่นคืนค่ำ พระไตรภูวนาทิตยวงศ์อาจจะกลัวถูกจับตาดูจึงไม่ได้เคลื่อนไหวอะไร แต่ผู้ที่เคลื่อนไหวแทนก็คือพระองค์ทอง .. ค่ำคืนนั้น ก็มีเงาคนที่คอยเฝ้าสังเกต หลบไปรายงานกับสมเด็จพระนารายณ์

เช้าวันรุ่งขึ้น พระไตรภูวนาทิตยวงศ์ พระองค์ทอง พระอินทราชา สามพี่น้อง ก็มาเข้าเฝ้าพร้อมกัน เหล่าข้าหลวงเสนาบดีต่างก็มาพร้อมเพียงเช่นเดียวกัน – แล้วสมเด็จพระนารายณ์จึงตรัสถามว่า เราจะกลับลงไปยังวังหน้า พวกท่านคิดว่าจะไปทางสถลมารคดี หรือไปทางชลมารคดี ถ้าไปทางชลมารคก็มีเรือพร้อม ไปทางสถลมารคก็มีช้างม้าพร้อมเช่นกัน

พระยาจักรีกราบทูลขึ้นว่า อันทางสถลมารคนั้น ถนนหนทางมีแต่โคลนและหลุมนัก ขอให้เสด็จโดยทางชลมารคจะดีกว่า สมเด็จพระนารายณ์จึงเห็นชอบด้วย พระยาจักรีได้กราบทูลอีกว่า มีโจทก์ได้เอาพระแสงไปฝังไว้ คงเพื่อการบางอย่างในการเสด็จกลับ ขอพระราชทานอนุญาตให้ขุดเอามาบัดนี้ – สมเด็จพระนารายณ์ตรัสว่าเอาเถิด

จากนั้นเจ้าหน้าที่พนักงานซึ่งได้มีการเตรียมการอยู่พร้อม จึงพากันตรงเข้าจับกุมพระไตรภูวนาทิตยวงศ์ พระอินทราชา พระองค์ทอง ในข้อหาเตรียมก่อการกบฏ แต่สำหรับพระอินทราชานั้นสมเด็จพระนารายณ์ พิจารณาทรงยกโทษให้ เพราะมิได้เข้าด้วยกับพระไตรภูนาทิตยวงศ์

เมื่อทุกอย่างเสร็จสิ้น สมเด็จพระนารายณ์ก็เสด็จลงเรือพระที่นั่ง มีเรือเสนาบดีมนตรีมุขหลายลำ ก็เข้าเป็นกระบวนโดยเสด็จตามทั้งซ้ายขวาหน้าหลัง กลับไปยังวังหน้า หรือพระราชวังบวรสถานมงคล ที่ประทับของพระองค์

นับจากนั้น สถานะความเป็นพระมหากษัตริย์ของสมเด็จพระนารายณ์มีความมั่นคงยิ่งขึ้น แต่ขุนนางเก่ง ๆ ที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามถูกจับ ประหารหรือปลด หรือไล่ให้ไปเป็นไพร่เป็นทาส  ขุนนางสยามเก่าแก่ที่จะไว้ใจได้จึงมีน้อยลง 

นับว่ายังโชคดีที่สมเด็จพระนารายณ์ยังมีขุนนางหนุ่มเก่ง ๆ เข้ามาช่วยราชการ  พวกเขาเป็นทั้งขุนนางและเป็นทั้งเพื่อนกันมาตั้งแต่เด็ก แถมยังเป็นลูกของแม่นมที่เลี้ยงพระองค์มาด้วย นั้นคือ นายเหล็ก นายปาน นายทองคำ

นายเหล็ก ต่อมาก็คือ เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก)
นายปาน ต่อมาก็คือ เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน)
นายทองคำ ต่อมาก็คือ สมเด็จพระเพทราชา

เรื่องราวของบุคคลทั้งสาม ค่อยเขียนเล่าในคราวหลัง … เมื่อเรื่องราวดำเนินเรื่องไปถึง

หลังเสด็จสิ้นกบฏพระอนุชา กรุงศรีอยุธยาก็เว้นว่างจากเรื่องยุ่ง ๆ ไป 4 ปี จึงมุ่งแต่ทำการค้ากับต่างชาติเพื่อหารายได้เข้าพระคลัง ในขณะนั้นชาวดัตช์หรือชาวฮอลันดาได้กลายเป็นชนชาติที่มุ่งทำการค้าอย่างจริง ๆ 

ชนชาติโปรตุเกส ทำการค้าไปผนวกกับการเผยแพร่ศาสนาไป อีกทั้งได้เดินทางมาถึงดินแดนในแถบนี้ก่อนใคร จึงได้เปรียบทางการค้ากว่าทุกชาติ 

ฮอลันดา เดินทางมาถึงช้ากว่าโปรตุเกส แต่มุ่งทำการค้าอย่างเดียวโดยไม่คิดเผยแพร่ศาสนา เริ่มต้นก็เข้าไปทำสงครามยึดเอาเมืองต่าง ๆ ที่เกาะชวา เกาะสุมาตรา จากนั้นก็ตั้งสถานีการค้าขึ้นหลายแห่ง เริ่มที่เมืองบันทัม เมืองแอมบอยนา ติมอร์ และมากัสซาร์ ที่ต่างอยู่รอบ ๆ บริเวณอินโดนีเซีย  

เทียบช่วงเวลาให้ดูง่ายขึ้นก็คือ ฮอลันดาได้เข้ามายึดเอาเมืองรอบ ๆ อินโดนีเซีย เป็นเมืองท่า ตั้งแต่ในช่วงรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทำสงครามยึดเมืองท่าเรื่อยมาอย่างต่อเนื่อง เมื่อยึดเมืองหนึ่งได้ก็ตั้งบริษัทขึ้นแห่งหนึ่ง พอยึดเมืองต่อไปก็ตั้งเป็นบริษัทอีกชื่อหนึ่ง

ต่อมาจึงรวบรวมเอาบริษัทการค้าต่าง ๆ ที่ได้ตั้งขึ้นในเมืองท่าหลายแห่งนั้น เข้ามารวมกันเป็นชื่อเดียวกัน คือ “บริษัทอินเดียตะวันออกแห่งฮอลันดา (Verenigde Oost-Indische Compagnie = ภาษาดัตช์ หรือชื่อย่อว่า VOC – หรือในภาษาอังกฤษคือ Dutch East India Company) – ซึ่งคนสยามเรียกกันในชื่อว่า “วิลันดา”

ชาววิลันดาหรือชาวฮอลันดา เข้ามาติดต่อกับอยุธยาในปลายสมัยสมเด็จพระนเรศวร แต่ในเวลานั้นคนสยามรู้จักเพียงแต่โปรตุเกส ทำการค้าแต่กลุ่มโปรตุเกส – พอถึงสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถจึงได้ติดต่อค้าขายกับฮอลันดากันอย่างเป็นจริงเป็นจัง

การค้าที่เริ่มต้นกับสยาม ฮอลันดาสู้โปรตุเกสไม่ได้ เพราะโปรตุเกสเข้ามาก่อน รู้จักสินค้าว่าจะหาอะไร ส่งไปไหน ติดต่อใคร อย่างไร – แต่ไม่นานนักฮอลันดาก็หาช่องว่างทางการตลาดได้ถูก คือได้ญี่ปุ่นเป็นตลาดสร้างรายได้ ด้วยการเอาหนังกวาง ฝาง จากอยุธยาไปส่งขายที่นั้น กลายเป็นสินค้าที่คนญี่ปุ่นชื่นชอบ

ญี่ปุ่นไม่ค้าขายกับชาติตะวันตกไม่ว่าจะชาติไหน ๆ .. ดูเหมือนจะปิดกั้นตัวเองไม่ให้ชาติฝรั่งเข้ามา เพราะล้วนแต่แอบแฝงด้วยการเผยแพร่ศาสนาทั้งสิ้น แต่ญี่ปุ่นเปิดทำการค้ากับฮอลันดา เนื่องด้วยฮอลันดาทำการค้าอย่างเดียว ไม่มีหมอสอนศาสนาเข้ามาตั้งโบสถ์ใด ๆ

สถานีการค้าของฮอลันดาที่อยู่ในกรุงศรีอยุธยาเจริญรุ่งเรืองมากในสมัยของ นายเยเรเมียส ฟาน ฟลีต ที่ได้เข้ามาทำงานตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง และเขาได้เขียนบันทึกเหตุการณ์ที่พบเห็นไว้เป็นเอกสาร ซึ่งต่อมาเราเรียกกันว่า “จดหมายเหตุวันวลิต” อันมีเรื่องราวของสยามไว้ถึง 3 เล่ม

เยเรเมียส ฟาน ฟลีต  หรือวันวลิต เดินทางออกจากสยามประมาณ พ.ศ. 2185 เป็นช่วงเวลาก่อนสมเด็จพระนารายณ์ขึ้นครองราชย์ 14 ปี  

จากนั้นเอกสารเก่าแก่ของสยามที่เกิดขึ้นต่อมาก็คือ .. “พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐนิติ” 

[พงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ : มาจากที่ – พระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษมณ์) ครั้งที่ยังเป็นหลวงประเสริฐอักษรนิติ ได้พบต้นฉบับสมุดไทยเล่มหนึ่ง ที่บ้านราษฎรในจังหวัดเพชรบุรี หญิงชรากำลังจะนำไปเผา เมื่อเปิดดูเห็นเป็นบันทึกที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงมีรับสั่งให้ขุนนางเสนาบดีหรือผู้ที่ทำหน้าด้านอักษร เขียนเรียบเรียงบันทึกเหตุการณ์ขึ้น]

….

ฮอลันดาสามารถหากำไรจากการซื้อหนังกวางกรุงศรีอยุธยา แล้วส่งไปขายกับญี่ปุ่นอยู่ฝ่ายเดียว ในเวลานั้นผู้ดูแลกรมท่าขวา (ซึ่งเป็นกรมที่หารายได้เข้าพระคลังของกรุงศรีอยุธยา) มีนายอับดุล ราซัค เป็นหัวหน้ากลุ่มชาวอิหร่าน 

นายอับดุล ราซัค เป็นกลุ่มมุสลิมในสังกัดของสมเด็จพระนารายณ์ ได้รับยศเป็น “ออกญาพิชิต” เมื่อคราวช่วยเหลือสมเด็จพระนารายณ์ นำกองกำลังทหารอาสาเปอร์เซียบุกชิงบัลลังก์ในงานพิธีตะเซยัต 

ด้วยความเป็นคนที่เคยต่อสู้ร่วมกันมา อีกทั้งมีกลุ่มชาวเปอร์เซียเป็นแรงหนุน ที่สำคัญกว่าก็คือแขกชาวเปอร์เซียมีความเชี่ยวชาญในการทำการค้า และมีความสามารถในการเดินเรือได้ดี นายอับดุล ราซัค หรือออกญาพิชิตจึงได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบ “กรมท่าขวา” เพื่อหารายได้เข้าท้องพระคลัง

 (* หน่วยงานที่ดูแลการค้าในสมัยอยุธยา จะมีกรมอยู่ 2 กรม คือ กรมท่าขวากับกรมท่าซ้าย

 – กรมท่าขวา ดูแลการค้าที่อยู่ทางทะเลด้านขวา ซึ่งเป็นเอเซียใต้ ประกอบด้วยประเทศอินเดีย เปอร์เซีย อาหรับ ศรีลังกา จนมาถึงคาบสมุทรมลายู และหมู่เกาะอินโดนีเซีย ส่วนใหญ่จะใช้ภาษาอาหรับ กับมลายู ผู้ดูแลกรมนี้จึงเหมาะสมกับชนชาติชาวเปอร์เซีย

– กรมท่าซ้าย  ดูแลการค้าที่อยู่ฝั่งทะเลด้านซ้าย หรือทางทิศตะวันออก ประกอบด้วยประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลี หมู่เกาะริวกิว รวมถึงอาณานิคมที่ชาวฮอลันดายึดครองอยู่ในบริเวณอินโดนีเซีย ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ภาษาจีนในการสื่อสาร)

ออกญาพิชิต มองเห็นกำไรจากค้าหนังกวางกับญี่ปุ่นที่เป็นตลาดกำลังมาแรง จึงพยายามเข้าไปมีผลประโยชน์ทำการค้าด้วย ทั้ง ๆ ที่สินค้าหนังกวาง บริษัท VOC ของฮอลันดาได้ทำ “สัญญาผูกขาด” จัดหาแต่เพียงผู้เดียวมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง

สมเด็จพระนารายณ์ไม่ได้รู้เรื่องรายละเอียดในการค้า ด้วยเพราะได้มอบหมายให้เสนาบดีที่เกี่ยวข้องดำเนินการ เป็นเวลาเดียวกันในขณะนั้น ทางกรุงศรีอยุธยาได้รับจดหมายจากเมืองเชียงใหม่ให้ไปช่วยโดยด่วน เนื้อความจดหมายบอกว่า จีนฮ่อจะลงมาตีเมืองเชียงใหม่

พ.ศ. 2203 – กองทัพกรุงศรีอยุธยาจึงเดินทัพขึ้นไปภาคเหนือ เพื่อหวังจะช่วยเชียงใหม่ .. ส่วนปัญหาความวุ่นวายทางการค้าในส่วนของราชสำนักอยุธยากับฮอลันดา สมเด็จพระนารายณ์คงไม่ทราบและคิดว่ามันเป็นปกติ – แต่เหตุการณ์มันไม่ใช่อย่างที่พระองค์คาดคิด

พักฉากเรื่อง ความขัดแย้งทางการค้าของฮอลันดากับของพระคลังการค้าไว้ก่อน .. เดี๋ยวค่อยกลับมาใหม่

ตอนนี้ตัดฉากมาที่ สงครามช่วยเชียงใหม่จากจีนฮ่อ ตามที่มีจดหมายข่าวแจ้งมากันก่อน

….

เมืองเชียงใหม่อยู่ในอำนาจของพม่า ตั้งแต่ พ.ศ. 2101 เรื่อยมา มีเพียงในในสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่พระองค์ได้ยกทัพขึ้นไปปลดเชียงใหม่ให้เป็นอิสระจากพม่า พอหลังรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรเพียงได้ไม่กี่ปี เชียงใหม่ก็ตกไปอยู่ในอำนาจของพม่าอีกเช่นเดิม 

 (* เชียงใหม่ตกอยู่ในอำนาจของพม่า มาตั้งแต่ พ.ศ. 2101 จนถึงรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในปี พ.ศ. 2317  พระเจ้าตากสินทรงได้เสด็จขึ้นไปตีพม่าให้พ้นจากเชียงใหม่ จากการยึดครองมาถึง 216 ปี เมืองเชียงใหม่จึงเป็นอิสระอย่างแท้จริง)  

เมื่อพระยาแสนหลวงเจ้าเมืองเชียงใหม่ ส่งข่าวเร็วมาบอกให้อยุธยาขึ้นไปช่วย เนื่องด้วยอาจจะถูก “จีนฮ่อ” มาล้อมตีเอาเมือง สมเด็จพระนารายณ์ทรงเห็นว่า พม่าที่เป็นเมืองราชาธิราชของเชียงใหม่ในเวลานั้นคงไม่มีปัญญาช่วยเหลือ เป็นเพราะคงขัดแย้งเรื่องแย่งอำนาจกันอยู่ภายในก็ได้

ดังนั้นสมเด็จพระนารายณ์เห็นเป็นโอกาสดี ที่กรุงศรีอยุธยาจะได้แผ่อำนาจขึ้นไปทางเหนืออีกครั้ง และดึงเอาเชียงใหม่ออกมาเป็นอิสระ โดยเข้ารวมเป็นประเทศราชของกรุงศรีอยุธยา 

4 ปีนับจากเริ่มครองราชย์  นี้คือศึกแรกที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงทำศึกสงครามเพื่อหวังขยายอำนาจของอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา

โปรดติดตามต่อ ในตอนที่ 6

ติดตามอ่าน ‘อยุธยา ยุทธการ’ เกมอำนาจเมืองท่าขุมทองโลก ครบทุกตอนได้ที่นี่

อ้างอิง :

[1] พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา. ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ
[2] พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา. ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)
[3] พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา. ฉบับ วลิต
[4] ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 79 จดหมายเหตุวันวลิต – หอสมุดแห่งชาตินครศรีธรรมราช 
[5] สำนักงานวิจัยแห่งชาติ (ว.ช) ภูมิรัฐศาสตร์กับความมั่นคงของประเทศไทย
[6] กรมศิลปากร. เอกสารของฮอลันดา สมัยอยุธยา
[7] กรมศิลปากร. ประชุมพงศาวดาร เล่ม 27 , เล่ม 34 , เล่ม 42
[8] กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. พงศาวดารไทยรบพม่า
[9] มิวเซียมไทยแลนด์. (Museum Thailand) อยุธยาในบันทึกของสเปน
[10] นิธิ เอียวศรีวงศ์. การเมืองไทยในสมัยพระนารายณ์
[11] ลำจุล ฮวบเจริญ. เกร็ดพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา
[12] สถาปัตย์ เชื้อมงคล. สยามประกาศสงครามกับอังกฤษ 
[13] อานนท์ จิตรประภาส. การค้าและการเมืองในสมเด็จพระนารายณ์
[14] ศิลปวัฒนธรรม. ฉากแรกสัมพันธ์อยุธยา-โปรตุเกส การรับทูตตะวันตกครั้งแรกในอยุธยา
[15] นันทา สุตกุล. (แปล) เอกสารฮอลันดาสมัยกรุงศรีอยุธยา
[16] ภาณุดา วงศ์พรหม. พลิกแผ่นดิน จากใต้เงาปีกมหาอำนาจสู่อิสรภาพของประเทศในเอเซีย
[17] วชิรญาณ. จดหมายเหตุฟอร์บัง

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r