จาก ‘ปฏิวัติซินไฮ่’ ถึง ‘เทียนอันเหมิน’ รวมประเด็นสำคัญระหว่างการกลายพันธุ์ของราชันมังกร

ภายหลังจากการปฏิวัติเพื่อล้มล้างระบอบจักรวรรดิหรือการปฏิวัติซินไฮ่ (Xinhai Revolution) โดย ดร. ซุน ยัดเซ็น (Sun Yat-sen) พรรคการเมืองที่มีบทบาทในประเทศจีน คือ พรรคชาตินิยมหรือพรรคก๊กมินตั๋ง (Chinese Nationalist Party-Kuomintang) นำโดย เจียง ไคเชก (Chiang Kai-shek) ซึ่งเป็นพรรคที่เป็นคณะปฏิวัติของจีนเมื่อปี ค.ศ. 1911 และเป็นพรรคของ ดร.ซุน ยัดเซ็น มีหลักไตรราษฎร์เป็นหลักของการปกครอง (The Three People’s Principles) โดยมีใจความสำคัญคือ

  1. การโค่นล้มรัฐบาลแมนจูเรียและจัดตั้งรัฐบาลของประชาชนจีน
  2. การจัดตั้งรัฐบาลตามระบอบสาธารณรัฐ
  3. การจัดสรรที่ดินให้แก่ประชาชน

ส่วนพรรคที่สองคือพรรคคอมมิวนิสต์ (Communist Party of China-CPC) นำโดย เหมา เจ๋อตง ซึ่งจะเข้ามามีบทบาทในการปกครองต่อจากพรรคชาตินิยมในช่วงเวลาต่อมา ทั้งนี้ในอดีตเจียงและเหมาต่างเคยเป็นเพื่อนร่วมการปฏิวัติล้มล้างระบบการปกครองเดิมในการปฏิวัติครั้งที่หนึ่ง แต่ทั้งสองมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่ต่างกัน กล่าวคือเจียงต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศจีนสู่ระบอบประชาธิปไตยแต่ เหมา เจ๋อตง ต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศจีนสู่การปกครองแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ซึ่งแนวคิดนี้ได้รับอิทธิพลและการสนับสนุนจากโซเวียต ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างสองฝ่ายจนเกิดสงครามกลางเมืองในที่สุดโดยทั้งสองฝ่ายจะถูกแบ่งออกเป็นสองฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายขวา (พรรคชาตินิยม) และฝ่ายซ้าย (พรรคคอมมิวนิสต์)

อาจกล่าวได้ว่าภายหลังการปฏิวัติการเมืองของจีนก็ยังต้องการผู้ปกครองที่มีอำนาจแต่เพียงผู้เดียวเหมือนกับในสมัยจักรวรรดิ จากตรงนี้จึงเป็นสาเหตุให้เกิดการแย่งชิงอำนาจระหว่างพรรคชาตินิยมและพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่จีนกำลังรวมประเทศและต่อต้านภัยคุกคามจากประเทศภายนอกไปพร้อม ๆ กัน โดยพรรคที่ปกครองจีนในช่วงแรกก็คือพรรคชาตินิยม ในช่วงปี ค.ศ. 1928-1948 ที่มุ่งสร้างประชาธิปไตยในประเทศจีน แต่ในช่วงนี้การปกครองแบบประชาธิปไตยก็ยังไม่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง กล่าวคือในขณะนั้นการเมืองของจีนไม่มีรัฐสภาไม่มีรัฐธรรมนูญรวมไปถึงการที่ทหารเข้ามามีบทบาทในการปกครอง อาจกล่าวได้ว่ามีพรรคการเมืองเพื่อเป็นการฝึกปกครองตนเองเท่านั้น ทำให้การปฏิวัติครั้งนี้ไม่ประสบความสำเร็จ ประกอบกับในขณะนั้นจีนก็เจอปัญหาสงครามกับญี่ปุ่น ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์ใช้โอกาสตรงนี้ในการพยายามแย่งชิงอำนาจจากพรรคชาตินิยม ซึ่งพรรคคอมมิวนิสต์ก็สามารถทำได้สำเร็จ โดยมี เหมา เจ๋อตง เป็นประธานของรัฐบาลกลางแห่งประชาชน (Central People’s Government) และได้ทำการสถาปนาจีนจากสาธารณรัฐจีนสู่สาธารณรัฐประชาชนจีนที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน (Tiananmen) ในวันที่ 1 ตุลาคม ปี 1949

การปฏิวัติครั้งที่สองของจีนในปี ค.ศ. 1949 เกิดขึ้นหลังจากสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลงเมื่อปี ค.ศ. 1945 โดยเป็นผลกระทบสืบเนื่องมาจากการที่การปฏิวัติครั้งแรกไม่ประสบผลสำเร็จ ทำให้ประเทศมีความเสื่อมโทรมทั้งระบบเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชน การปฏิวัติในครั้งนี้จึงเป็นการปฏิวัติที่เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบประชาธิปไตยมาสู่ระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ที่มีเหตุการณ์แบบถอนรากถอนโคน ทำให้ระบบโครงสร้างทางการเมืองของจีนภายหลังจากการปฏิวัติครั้งที่ 2 นั้นเป็นแบบเผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพ (Dictatorship of the Proletariat) ที่มีความคล้ายคลึงกับสหภาพโซเวียตซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวจีนได้อยู่ในช่วงที่ต้องจัดการกิจการภายในประเทศ เพื่อให้ตรงกับวัตถุประสงค์ที่ต้องการจะสร้างสังคมใหม่ภายในประเทศ โดยมีเหตุการณ์สำคัญคือ สงครามเกาหลี ปี ค.ศ. 1950-1953 ซึ่งในขณะนั้นจีนให้การสนับสนุนเกาหลีเหนือในการทำสงครามกับเกาหลีใต้ซึ่งมีฝ่ายพันธมิตรที่นำโดยสหรัฐอเมริกา (United States of America) ในการวิเคราะห์อาจกล่าวได้ว่าการที่จีนได้ให้ความช่วยเหลือแก่เกาหลีเหนือนั้นเป็นอีกกระบวนการของการก้าวเข้าสู่สังคมคอมมิวนิสต์ของจีน โดยจะเห็นได้จากการที่จีนให้การสนับสนุนเป้าหมายของเกาหลีเหนือที่ต้องการจะทำลายระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยของเกาหลีใต้รวมไปถึงการให้ความช่วยเหลือทางด้านทหารและเศรษฐกิจ

ที่มา :

[1] อภิชญา ไตรทาน และคณะ, “ลัทธิไตรราษฎร์” จีนสมัยใหม
[2] นิวัฒน์ ดวงสูงเนิน, “ปฏิวัติจีน 1911”
[3] จันทร์ฉาย ภัคอธิคม, ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกสมัยใหม่, พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, ม.ป.ป.), ภายใต้ “ปัจจัยการเมือง”
[4] ดำรงค์ ฐานดี, “จีน: ประวัติศาสตร์การเมืองและเศรษฐกิจ” ศูนย์เกาหลีศึกษา มหาวิทยาลัยรามคำแหง