ปรากฏการณ์ระดับครูเพลง ‘โปรดเถิดดวงใจ’ ลำนำเอกแห่งยุคสมัย จาก ทูล ทองใจ ที่ต้องใส่ไว้ใน ‘ธี่หยด’

บทความโดย ไกอุส

ถึงวันนี้ ทุกคนคงรู้จักภาพยนต์รายได้ร้อยล้านเรื่องใหม่อย่าง ธี่หยด ภาพยนตร์สยองขวัญสัญชาติไทยเรื่องใหม่ อันมีเค้าโครงมาจากเรื่องเล่าน่าสะพรึงของครอบครัวหนึ่งในจังหวัดกาญจนบุรีเมื่อประมาณ 50 ปีก่อน ที่ออกฉายและได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ซึ่งแม้หนังเรื่องนี้จะเป็นหนังผีที่มีฉากหลังเป็นชนบทห่างไกล หากแต่ทางทีมงานได้ใส่ใจรายละเอียดหลายอย่างได้อย่างน่าชมเชย หนึ่งในนั้นคือการเลือกใช้เพลงเก่า ๆ อย่าง ‘โปรดเถิดดวงใจ’ ของศิลปิน‘ทูล ทองใจ เจ้าของฉายา เจ้าชายรัตติกาล มาประกอบภาพยนตร์

ก่อน เจ้าชายรัตติกาลจะแจ้งเกิดในวงการ

ทูล ทองใจ เดิมชื่อว่า น้อย ทองใจ เป็นชาวจังหวัดสมุทรสงคราม อาชีพเก่าเคยเป็นทหารแต่ต่อมาได้ลาออกมาร้องเพลงจนกระทั่งได้ครูเบญจมินทร์ (ตุ้มทอง โชคชนะ) มาเป็นผู้ดูแลและแต่งเพลงให้ร้อง ทูล ทองใจ เริ่มมีชื่อเสียง เพราะเพลง โปรดเถิดดวงใจ ที่เป็นเสียงร้องและเวอร์ชั่นเดียวกันกับในภาพยนต์ ‘ธี่หยด’ ดังเป็นพลุแตกในช่วงปี 2500 จึงไม่ผิดที่จะกล่าวว่า ‘โปรดเถิดดวงใจ’ คือเพลงที่แจ้งเกิดแก่ทูล ทองใจ นั่นเอง นอกจากครูเบญจมินทร์แล้ว ทูลยังได้ครูไพบูลย์ บุตรขัน ร่วมแต่งเพลงให้ขับร้องด้วย อาทิ ‘เดือนต่ำดาวตก’ ‘รังรักในจินตนาการ’ เป็นต้น

ยุคที่ชนบทของไทยตกอยู่ภายใต้เสียงขับกล่อมของ ทูล ทองใจ

การเลือกเพลงของทูล ทองใจ มาประกอบภาพยนตร์นั้น นับว่าเป็นการตัดสินใจอันชาญฉลาด เพราะทำให้กลิ่นอายแห่งยุคสมัยมีความสมจริงยิ่งกว่าจริง ทำให้คนดูเชื่อว่าฉากทัศน์ในภาพยนตร์นี้คือช่วงเวลาแห่งของชนบทไทยเมื่อกว่า 50 ปีก่อนที่โลกชนบทยามเช้ามืดและค่ำคืนล้วนแว่วไปด้วยบทเพลงที่ขับร้องโดยทูล ทองใจ เพลงของทูลคือส่วนผสมที่เข้ากันได้อย่างพอดิบพอดีระหว่างน้ำเสียงเอื่อย ๆ แต่กลับเสียงใสคมชัด ผสมไปกับลูกเอื้อนแบบลูกทุ่งรุ่นเก่า ซึ่งเคล้ากันได้ดีกับบรรยากาศยามรุ่งสางเห็นกลุ่มหมอกอยู่รำไรหรือยามพลบค่ำที่เสียงหรีดหริ่งเรไรแว่วสำเนียงในราวป่า (ขออนุญาตใช้สำนวนเช่นนี้นะครับ เพราะห้ามไว้ไม่อยู่)ประสบการณ์เช่นนี้หากใครเป็นลูกชาวนา ชาวไร่/ชาวสวน หรือลูกชาวป่าย่อมหวนรำลึกได้อย่างแม่นยำ (อย่างเช่นผู้เขียน) แม้จะล่วงวัยมานานแล้ว แต่พลันเมื่อใดได้สดับฟังเสียงของทูลแล่นเข้ามาในโสตประสาท ความทรงจำเก่า ๆ เกี่ยวกับวัยเด็กในชนบทก็กลับลอยฟุ้งประหนึ่งว่าเพิ่งผ่านมาไม่นานนี้เอง

ผู้ใหญ่บ้านกับ เทคนิคล่อชาวบ้านด้วย ทูล ทองใจ

นอกจากจะเป็นศิลปินที่ชาวบ้านนิยมขอร้องให้ดีเจเปิดให้ฟังในทุกวันค่ำเช้าแล้ว เพลงของทูล ทองใจ ยังถูกนำไปใช้ในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ในชนบทอีกด้วย ผู้เขียนจำได้ดีหากว่าเมื่อใดทางผู้ใหญ่บ้านหรือผู้นำชุมชนมีข่าวประกาศใด ๆ ทางเสียงตามสายของชุมชน ณ ลำโพงหรือหอกระจายข่าวของหมู่บ้านเพลงของทูล ทองใจ (และอีกหลาย ๆ ศิลปินระดับตำนาน เช่น สุรพล สมบัติเจริญ วงจันทร์ ไพโรจน์) มักถูกเปิดเพื่อเรียกความสนใจสาธุชนให้สดับฟังก่อนที่พวกเขาจะลงรายละเอียดว่ามีข่าวหรือประกาศอันใดจะแจ้ง ด้วยเหตุนี้ โลกชนบทสมัยหลายสิบปีก่อนรวมถึงอีกหลาย ๆ แห่งที่ยังยึดธรรมเนียมนี้มาจนถึงปัจจุบัน ต่างแยกไม่ขาดกับเสียงร้องของทูล ทองใจ เพลงดัง ๆ อย่าง ‘โปรดเถิดดวงใจ’ ‘ปรารถนา’ ‘ในฝัน’ ‘ไพรระกำ’ ‘มนต์เมืองเหนือ’ หรือ ‘เดือนต่ำดาวตก’ เพียงแต่ทำนองอินโทรแว่วขึ้นเมื่อใดแม้เพียงสั้น ๆ ชาวบ้านก็ทราบโดยดุษฎีว่าเพลงนี้คือเพลงอะไร พูดในภาษาสมัยใหม่คือ ‘โดนตก’ ตั้งแต่ทำนองขึ้นต้น

เพลงที่มีอะไร ๆ มากกว่าเพียงเสียงร้องและทำนอง

หนึ่งในลูกเล่นสำคัญของเพลงที่ขับร้องโดยทูล ทองใจ นั่นก็คือ บทรัก’ ‘ความอีโรติค ในทำนอง ‘เรื่องอย่างว่า’ ที่ถูกซุกซ่อนไว้อย่างแนบเนียนภายใต้ภาษาอันสละสลวยดุจเทพเนรมิตผูกร้อยขึ้น เพลงของทูลจำนวนหนึ่งมักแฝงไปด้วย ฉาก 18+’ หรือในทำนองแนว ๆ รักๆ ใคร่ ๆ อันสุดแสนร้อนเร่า ยกตัวอย่างเช่น เพลง จูบมัดจำ ในท่อนที่ว่า สุดจะสรรค์ เนินถันเจ้างามขาวผ่อง ซึ่งว่ากันว่าแก้มาจากต้นฉบับเดิมที่ว่า สุดกระสัน เนินถันเจ้างามขาวผ่อง  ซึ่ง ‘เนินถัน’ก็คือ ‘เต้า’ นั่นเอง แต่ที่พีคจริง ๆ คือท่อนสุดท้ายที่ว่า พี่ต้องลาก่อนฟ้าสว่าง น้องนวลแนบนางเฝ้าจูบสองปราง เพื่อฝากสัมพันธ์ แต่คืนนี้ พี่ไปอย่าได้ไหวหวั่น คืนใหม่เราค่อยพบกัน เพื่อสร้างวิมานฉิมพลีที่คอย ถ้าแปลไทยเป็นไทยอย่างง่าย ๆ ก็คือหนุ่มเจ้า ‘แอบปืนบ้านเข้ามาพลอดรัก’ กับหญิงสาวถึงชานเรือนเขานั่นเอง ซึ่งสาวเจ้าก็มีใจเข้าด้วยแต่คงเป็น ‘บทรัก’ ที่หลบ ๆ ซ่อน ๆ และสามารถตีความได้ 2 กรณี หนึ่งพ่อแม่สาวเจ้าคงยังไม่ได้ ‘อนุมัติ’ ส่วนอีกประเด็นนั่งก็คือ ‘การลอบเล่นชู้’ อันนี้สุดแล้วแต่ผู้ฟังจะตีความหรือจินตนาการกันเอาเองเพราะเนื้อเพลงก็เปิดช่องให้คิดได้ทั้งนั้น

นอกจากนี้ เพลง ‘คืนนั้นสวรรค์ล่ม’ ที่อยากชักชวนผู้อ่านลองตามกันไปฟังกันเองว่าโลกสวรรค์ที่เทวดาพาพระเอกหนุ่มไปชมนั้น ความหมายแฝงของคำว่า ‘บึงใหญ่สระอโนดาตงาม’ ‘ไทรน้อยห้อยกิ่ง’ ‘บัวน้อยอร่าม’  ตามฉากที่บรรยายก่อน ‘สวรรค์ล่ม’ นี้ หมายความว่ากระไร ยิ่งพอท้ายเพลงพระเอกถึงกับต้องตื่นมาพบว่าหนาวสั่นแถมเนื้อตัวเปียกไปหมด เหล่านี้คงเอามาประกอบการตีความนัยของฉากข้างต้นได้ไม่ยาก ว่าเพลงที่บรรยายประหนึ่งว่ากำลังพาเราไปเที่ยงเมืองสวรรค์และพาไปชมสระอโนดาตและดอกบัวนั้น จริง ๆ มันคือฉากของเหตุการณ์อะไร !

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า