สยามต้องมีอิสรภาพเต็ม! ปลดโซ่สัญญา ‘โจรปล้นชาติ’ ผ่านแผนการทูตอันเฉียบคมของ รัชกาลที่ 6

บทความโดย จิตรากร ตันโห

ในช่วงยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์เราจะเห็นความเคลื่อนไหวที่อันตรายและน่าหวาดหวั่นจากกลุ่มประเทศมหาอำนาจตะวันตกที่คืบคลานเข้ามายังภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ด้วยแนวคิดของการล่าอาณานิคมซึ่งหลายรัฐในละแวกนี้ต้องตกอยู่ใต้การควบคุมอย่างเข้มงวด เช่น สงครามฝิ่นระหว่างจีนกับอังกฤษที่ทำให้จีนต้องลงนามในสัญญานานกิงที่ทำให้อังกฤษได้ประโยชน์ในด้านต่างๆ และภายหลังก่อให้เกิดกระแสชาตินิยมของจีนขึ้นมา [1] การสังเกตการณ์โดยพระมหากษัตริย์ที่กรุงรัตนโกสินทร์จึงได้เห็นความเปลี่ยนแปลงต่างๆ เหล่านี้และคิดคำนวณอย่างมีเหตุผล นั่นจึงเป็นเหตุผลให้สนธิสัญญาเบาว์ริงได้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2398 นั่นเอง

หลังจากสัญญาฉบับนี้แล้ว สยามได้ทำสัญญากับอีกหลายประเทศถัดมา แต่โดยเนื้อหาของสนธิสัญญาเบาว์ริงนั้นมีอยู่ห้าประเด็นซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ คือ การอนุญาตให้คนในบังคับอังกฤษอยู่ใต้การควบคุมของกงสุลอังกฤษ, คนในบังคับอังกฤษสามารถค้าขายอย่างเสรีในเมืองท่าทุกแห่งของสยามและพำนักอย่างถาวรได้ ซื้อหรือเช่าอสังหาริมทรัพย์ได้ในสี่ไมล์หรือไม่เกินกำลังแจวเรือยี่สิบสี่ชั่วโมงจากพระนคร, กำหนดอัตราภาษีใหม่โดยภาษีนำเข้านั้นจำกัดไว้ที่ร้อยละ 3 ยกเว้นฝิ่นที่ไม่ต้องเสียภาษีแต่ต้องขายให้เจ้าภาษี และเงินทองข้าวของเครื่องใช้ของพ่อค้าก็ไม่ต้องเสียภาษีเช่นกัน, พ่อค้าอังกฤษสามารถซื้อของกับเอกชนได้โดยตรงโดยไม่มีผู้ใดขัดขวาง และรัฐบาลสยามขอสงวนสิทธิ์การส่งออกข้าว เกลือ และปลาหากขาดแคลนในประเทศ

การพยายามแก้ไขข้อสัญญานี้ปรากฏออกมาเป็นการแก้ไขกฎหมายและระเบียบบริหารราชการต่างๆ ให้ออกมาได้ตามที่ถูกเรียกร้องเอาไว้ซึ่งดำเนินมาตั้งแต่รัชสมัยรัชกาลที่ 5 ต่อมาเมื่อเข้าสู่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวอันเป็นช่วงที่มีสงครามโลกนั้น พระองค์ได้ตระหนักแล้วว่ากลุ่มประเทศที่นำโดยเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการีนั้นน่าจะไม่ชนะสงครามนี้ได้ และสหรัฐอเมริกาก็ได้เข้าร่วมอย่างเต็มตัว พระองค์จึงตัดสินใจในการเข้าร่วมสงครามครั้งนี้ด้วยและมีพระราชดำรัสว่า การที่จะทำสงครามนั้น ควรจะกระทำโดยไม่เรียกร้องเอาประโยชน์ทันควันหรือล่วงหน้าอย่างหนึ่งอย่างใดเลย, ทั้งควรจะกระทำการช่วยเหลือโดยเต็มกำลังตามแต่จะทำได้ เพื่อจะแสดงให้รัฐบาลและชนชาติสัมพันธมิตรแลเห็นน้ำใจรัฐบาลและชนชาวสยาม. จึ่งได้มีพระราชประกาศิตประกาศสงคราม ณ วันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๐[2] นั่นหมายความว่าการเข้าร่วมครั้งนี้ผลประโยชน์นั้นเป็นประเด็นรอง และไม่มีสิ่งใดยืนยันได้เลยว่าสงครามนี้จะไม่มีการพลิกผันอีก แต่พระองค์ก็ตัดสินใจเข้าร่วมสงคราม

ด้วยพระปรีชาญาณที่ทรงคาดการณ์ไว้อย่างแม่นยำ ผลสงครามนั้นเป็นไปตามที่คาดไว้ กลุ่มประเทศที่ชนะจึงได้เชื้อเชิญให้สยามส่งอัครราชทูตพิเศษไปเข้าที่ประชุม 2 คนเท่ากับประเทศยุโรปที่ได้ชื่อว่าทำสงคราม เช่น กรีซ โปรตุเกส [3] จึงทรงมอบหมายให้พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากร อัครราชทูตสยามกรุงปารีส และหม่อมเจ้าไตรทศประพันธ์ เทวกุล ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตกรุงเบอร์ลินเมื่อก่อนประกาศสงครามเป็นผู้แทนรัฐบาลเข้าประชุมที่ชุมนุมสันสมาคม ณ กรุงปารีส และมีรับสั่งว่า เพื่อกรุงสยามจะได้มีอิสรภาพเต็มเสมอเหมือนกับชาติอื่นทั้งปวง, โดยคิดอ่านขอให้มหาประเทศยอมทำสัญญาใหม่ ซึ่งจะใช้เป็นแบบสำหรับทำกับชาติอื่นทั่วไป. การอันนี้เป็นการสำคัญยิ่งนัก… จงระวังอย่าให้เขาเกิดมีความระอาหรือความบาดหมางขึ้นซึ่งอาจเป็นเหตุให้เสียประโยชน์ของเราได้ นั่นหมายความว่าพระองค์นอกจากมองเห็นหนทางใหม่ของสยามแล้ว พระองค์ยังคำนึงถึงประเทศอื่นที่สามารถมีอิสรภาพเช่นสยามได้โดยมีสยาม เป็นแบบสำหรับทำกับชาติอื่นทั่วไป อีกด้วย

เมื่อได้รับมอบหมายเช่นนั้น อัครราชทูตผู้แทนทั้งสองจึงได้หาหนทางร่วมกันในการดำเนินภารกิจไม่ให้เกิดความระอาหรือความบาดหมางขึ้นด้วยการแทนที่จะยกเรื่องสัญญาในที่ประชุมใหญ่เพราะไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องการทำสงครามโดยเฉพาะ (นั่นหมายความว่าการดำเนินงานครั้งนี้จึงนับเป็นการ “พนัน” ได้ชนิดหนึ่งว่าจะแก้ได้ การเข้าร่วมสงครามและผลประโยชน์ที่จะได้จึงไม่แน่นอนอย่างที่หลายคนเชื่อ) จึงดำเนินการโดยติดต่อกับทูตพิเศษโดยตรงแทน รวมไปถึงเรื่องการตัดสัญญาลบล้างนั้นก็ดำเนินผ่านทูตพิเศษโดยตรงมิได้นำขึ้นในที่ประชุมใหญ่เลย และผลจากการที่อัครราชทูตสยามดำเนินในวิธีที่ ไม่ได้รบกวนจู้จี้เหมือนประเทศอื่น, ซึ่งวุ่นร้องขอจะเอาประโยชน์ต่างๆ โดยไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้สยามได้รับผลประโยชน์อย่างยิ่งกลับมาในเรื่องการแก้ไขสนธิสัญญาในหลากหลายประเด็นโดยที่ไม่พบกับอุปสรรคใดๆ เลย

ต่อมาสยามได้ดำเนินการแก้ไขสนธิสัญญากับสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศแรก และแม้สหรัฐฯ จะตกลงทำสัญญาใหม่แต่ก็ยังมีเงื่อนไขการบังคับใช้ประมวลกฎหมายฉบับใหม่อยู่เช่นกันก่อนที่สัญญาเดิมจะสิ้นสุดลง การดำเนินการจึงดำเนินต่อมากับประเทศอื่นๆ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่มาสำเร็จจนเกือบจะสมบูรณ์ในรัชสมัยรัชกาลที่ 7 ดังที่รัชกาลที่ 7 ทรงกล่าวสรรเสริญพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวไว้ว่า การเจรจาแก้สัญญานั้นหาได้สำเร็จหมดทุกประเทศในรัชสมัยของพระองค์ไม่ แต่ก็ได้จัดทำไปเป็นส่วนมากแล้ว ถึงสัญญาที่ทำต่อมาภายหลังก็ดำเนินไปตามพระบรมราโชบายของพระองค์ท่านนั้นเอง แต่หากเสด็จสวรรคตเสียก่อนมิได้ลงพระบรมนามาภิธัยทุกฉบับ ผลสำเร็จที่สุดจึ่งมาตกในรัชสมัยของข้าพเจ้าข้าพเจ้ามีส่วนน้อยในการที่ประเทศสยามได้สู่อิสรภาพถึงเพียงนี้ แต่หากเป็นเพราะบุญกุศลการจึ่งได้เป็นผลสำเร็จในรัชสมัยของข้าพเจ้า

ดังนั้นแล้วความสำเร็จแห่งความเท่าเทียมจึงเริ่มในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก่อนจะมาสำเร็จในรัชกาลที่ 7 อย่างเต็มไม้เต็มมือมากขึ้น และรัฐบาลหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองก็เพียงได้บุญจากรัชสมัยก่อนหน้าเท่านั้น ด้วยเหตุนี้เราจึงอาจจะกล่าวได้ว่าพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ผู้ถูกลืม

อ้างอิง :

[1] Dong Wang, China’s Unequal Treaties: Narrating National History (Lanham: Lexington Books, 2008).
[2] วรชาติ มีชูบท, สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า (กรุงเทพฯ: สร้างสรรค์บุ๊คส์, 2557), หน้า 407.
[3] เรียบเรียงจาก วรชาติ มีชูบท, สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า, หน้า 402-429.

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า