มอง 14 ตุลาผ่านมิติใหม่ เมื่อจอมพลถนอม ต้องล่มสลายเพราะ ‘สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ’

เหตุการณ์ 14 ตุลาคมที่เราทราบกันดีว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดการปะทะกันระหว่างนิสิตนักศึกษากับภาครัฐ จนในที่สุดนำไปสู่การล่มสลายของรัฐบอลจอมพลถนอม กิตติขจร หรือระบอบ ณรงค์-ถนอม-ประภาส ที่ถูกกล่าวขานกันว่ามีความพยายามจะผูกขาดอำนาจไว้กระจุกแต่เพียงสามคนนี้ผ่านกลไกราชการต่างๆ

การล่มสลายของจอมพลถนอมหลังเหตุการณ์ 14 ตุลานั้น ได้ถูกศึกษาในหลายมิติโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ปรากฏอยู่ในงาน “และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ” ของประจักษ์ ก้องกีรติ [1]หรืองานอื่นๆ ที่ลงไปเก็บในรายละเอียดของเหตุการณ์ [2] หรือการพยายามจับประเด็นรวบยอดและนำเสนอความสำคัญของเหตุการณ์ต่อการเมืองไทย [3] ดังนั้นจึงน่าจะพอเห็นความหลากหลายของนัยทางการเมืองของเหตุการณ์ 14 ตุลา หรืออีกแง่หนึ่งต้นเหตุของการเกิด 14 ตุลานั้นมีอยู่ค่อนข้างมากและทับซ้อนกัน ดังนั้นเหตุการณ์ 14 ตุลาถึงแม้จะเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่จบไปแล้ว แต่ต้นตอและความเป็นไปนั้นยังมีอยู่ไม่จบง่ายๆ

เมื่อเป็นดังนั้นแล้วการมอง 14 ตุลาจากกรอบใหม่ๆ จึงน่าจะทำให้เกิดความสดใหม่และความเข้าใจใหม่ต่อเหตุการณ์ได้ โดยไม่นานมานี้ได้มีการมองเหตุการณ์ 14 ตุลาใหม่ผ่านกรอบของป่าไม้หรือการมีสิ่งแวดล้อมเป็นตัวดำเนินเรื่อง หรือการที่ทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ ซึ่งถูกใช้โดยเฉพาะอย่างยิ่งป่าไม้มาตั้งแต่ยุคพัฒนาในสมัยของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นั้นได้กลายเป็นหนึ่งในเหตุปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้รัฐบาลจอมพลถนอมล่มสลายลง

ในช่วงสงครามเย็น [4] ยุคของจอมพลสฤษดิ์นั้นสหรัฐฯ ได้เข้ามาสนับสนุนไทยในหลายด้านโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นในการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ในขณะนั้นได้มีคำกล่าวในการพัฒนาประเทศไทยว่า งานสำคัญของเราในระยะปฏิวัตินี้คืองานพัฒนา ได้แก่ งานพัฒนาการเศรษฐกิจ การศึกษา การปกครอง และทุกสิ่งทุกอย่าง การพัฒนาของจอมพลสฤษดิ์จึงได้เปิดในด้านเศรษฐกิจอย่างเต็มที่และรวมอำนาจไว้ที่ศูนย์กลางเพื่อสกัดกั้นอิทธิพลของคอมมิวนิสต์ ซึ่งในตอนนี้เองที่ได้มีการเร่งใช้ทรัพยากรป่าไม้อย่างมหาศาลเพื่อพัฒนา ซึ่งการพัฒนาอย่างมโหฬารนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่ามาพร้อมกับผลกระทบเช่นกัน [5]

จอมพลสฤษดิ์ได้เชื้อเชิญคณะผู้เชี่ยวชาญจากธนาคารโลกให้เข้ามาร่วมร่างแผนการพัฒนาเศรษฐกิจไทยใหม่แบบยกเครื่องโดยมีเป้าหมายหลักคือการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างเข้มข้นเพื่อเพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กับการสร้างทางหลวงโดยมีเหตุผลเชิงยุทธศาสตร์ในการพัฒนาที่ใช้ป้องกันคอมมิวนิสต์ เช่น การลำเลียงยุทโธปกรณ์ต่างๆ หรือการส่งเสบียง รวมไปถึงการส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าไปบุกเบิกพื้นที่ป่าใหม่ๆ เพื่อทำเกษตรกรรม เพราะช่วงนั้นเศรษฐกิจกำลังเฟื่องฟูทำให้การเกษตรของไทยเฟื่องฟูตามไปด้วย

หลังจากที่จอมพลสฤษดิ์ได้เสียชีวิตลง พื้นที่ในป่าก็ยิ่งกลายเป็นสนามต่อสู้อย่างเต็มตัวมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยได้ซุกซ่อนตัวอยู่ในป่า ภาครัฐจึงเข้าไปถางป่าเพื่อตั้งกองกำลังมากขึ้นซึ่งทำให้เกิดกรณีพิพาทกับชาวบ้านมากขึ้นด้วย นอกจากนี้ยังมีการอนุมัติการสร้างเขื่อนการสร้างเหมืองแร่ต่างๆ รวมไปถึงพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่ถูกสนับสนุนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทำให้ป่าไม้สูญเสียไปมากขึ้น

ผลจากการที่ป่าไม้ถูกทำลายลงอย่างรวดเร็วในสมัยพัฒนานี้ทำให้เกิดปัญหาฝนฟ้าอากาศไม่ถูกต้องตามฤดูกาล และยังประสบกับภัยพิบัติต่างๆ อีกมากจนมีการเรียกร้องให้ทำ “ฝนเทียม” อยู่ตลอด และพลังการพัฒนาที่ต่อเนื่องอย่างเข้มข้นหลายปีนั้น ได้ทำให้เขตเมืองต้องมีปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ แหล่งน้ำเน่าเสีย และปัญหาการปล่อยของเสียลงแม่น้ำของโรงงานต่างๆ ทำให้ส่งผลกระทบต่อชีวิตหลายด้าน

ปัญหาสิ่งแวดล้อมนี้ทำให้นักศึกษาได้เคลื่อนไหวต่อกรณีสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษนี้ โดยมีการจัดตั้งกลุ่มชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรขึ้นมา ต่อมาเมื่อเกิดเหตุการณ์ล่าสัตว์ที่ทุ่งใหญ่และการร่วงตกของเฮลิคอปเตอร์ที่เข้าไปใช้ล่าสัตว์ กระทั่งพบว่ามีการลำเลียงซากสัตว์ป่าจากพื้นที่ป่าสงวน จึงได้เป็นชนวนให้แก่นักศึกษาอย่างสำคัญ (หมายความว่าประเด็นเรื่องสัตว์ตายนี้มีประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นพิษมารองรับก่อนหน้าแล้ว ประเด็นนี้จึงกลายเป็นจุดสำคัญ)

ด้วยเหตุนี้เองนิสิตนักศึกษาจึงได้ออกมาเรียกร้องผ่านหนังสือ “บันทึกลับทุ่งใหญ่” และทำให้นักศึกษาที่รามคำแห่งถูกขีดชื่อออก กลายเป็นชนวนใหญ่ที่นำไปสู่การล่มสลายของจอมพลถนอมในที่สุดในเวลาต่อมาหลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม

จะเห็นได้ว่าการพัฒนาของจอมพลสฤษดิ์นั้นได้ทำให้ประเทศพัฒนาในทางเศรษฐกิจอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ได้ปลูกจิตสำนึกของคนในการเชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นในเวลาต่อมาด้วย เพราะการพัฒนาได้ทำให้เกิดการสูญเสียทรัพยากรไปมากและก่อให้เกิดมลพิษรวมถึงภัยธรรมชาติ นิสิตนักศึกษาที่ไม่พอใจจึงออกมาเรียกร้อง การพบซากสัตว์จากทุ่งใหญ่จึงได้ไปกระตุกให้เกิดการเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษาครั้งใหญ่ เราจึงอาจจะสรุปได้ (ส่วนหนึ่งแต่สำคัญ) ว่า จอมพลถนอมล้มเพราะวิกฤตสิ่งแวดล้อม!

อ้างอิง :

[1] ประจักษ์ ก้องกีรติ, และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ: การเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน 14 ตุลา, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: ฟ้าเดียวกัน, 2556).
[2] เช่นงาน 14 ตุลาคม วันมหาปิติ (วารสาร อ.ม.ธ. ฉบับพิเศษ 14 ตุลาคม วันมหาปิติ) (นนทบุรี: ศรีปัญญา, ม.ป.ป.).
[3] เช่นงานของ ชาญวิทย์ รักษ์กุลชน, การมีส่วนร่วมทางการเมืองต่อการพัฒนาประชาธิปไตยของนักศึกษา (กรณีศึกษาเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516) (กรุงเทพฯ: สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ, 2558) [เอกสารอัดสำเนา].
[4] สรุปข้อมูลจาก ชนกพร ชูติกมลธรรม, “ผู้กระทำการ อำนาจ และความเป็นประวัติศาสตร์ในมนุษยสมัย: กรณีศึกษาเรื่องป่าไม้ในสมัยพัฒนาการ (พ.ศ. 2502-2516),” ใน Anthropocene: บทวิพากษ์มนุษย์และวิกฤตสิ่งแวดล้อมในยุคสมัย, บรรณาธิการโดย เก่งกิจ กิติเรียงลาภ (กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2564), หน้า 256-274. แต่หากส่วนใดเป็นตวามคิดเห็นนอกเหนือจากข้อมูลในนี้จะใส่วงเล็บกำกับเอาไว้
[5] ดูความพยายามในการศึกษาประเด็นนี้เพิ่มเติมและปัญหาที่สังคมไทยมีอยู่ในขณะนั้น เช่น ทิพยรัตน์ วานิชชา, “การปรับปรุงท้องถิ่นทุรกันดารโดยรัฐบาลสมัย จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ (พ.ศ. 2501 – 2506),” วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2521.

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า