ชาร์ล-อองรี-ซ็องซง ซูเปอร์สตาร์แห่งยุคปฏิวัติ ผู้กลายเป็นดาราจากการประหารชีวิตผู้คน!

หากพูดถึงบุคคลที่มีชื่อเสียงจากเหตุการณ์การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. 1789 คนปัจจุบันส่วนใหญ่จะนึกถึงแกนนำสำคัญในการขับเคลื่อนการปฏิวัติ อาทิ แม๊กซิมิเลียน โรแบสปีแยร์, ฌอร์ฌ ฌัก ด็องตง หรือฝ่ายราชวงศ์อาทิ พระเจ้าหลุยส์ และพระนางมารี อองตัวเน็ต

แต่หากย้อนกลับไปในปารีสยุคสมัยนั้น คนที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักในวงกว้างของเมือง คนที่มีชื่อเสียงมากในระดับ “ซูเปอร์สตาร์” ในเวลานั้น กลับไม่ใช่บุคคลที่กล่าวมาเลยแม้แต่น้อย หากแต่เป็นหัวหน้าเพชฌฆาตแห่งกรุงปารีส ผู้มีสมญา “เมอซิเยอร์ เดอ ปารีส” (Monsieur de Paris) หรือ สุภาพบุรุษแห่งปารีส นาม “ชาร์ล-อองรี ซ็องซง” (Charles-Henri Sanson)

ชาร์ล-อองรี ซ๊องซง เกิดวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1739 ในตระกูลเพชฌฆาตหลวง “ซ๊องซง” โดยตระกูลนี้สืบทอดอาชีพเพชฌฆาตและหมอมาต่อเนื่องหลายรุ่น โดยชาร์ล-อองรี เป็นรุ่นที่ 4 และเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงที่สุดในตระกูล

ตัวเขาเอง เป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญในการผลักดันให้มีการใช้ “กิโยตีน” เพื่อการประหารชีวิต เนื่องจากตระกูลของเขานั้น สืบทอดกิจการเพชฌฆาตมาหลายชั่วอายุคน ได้รับการสั่งสอนวิชากายวิภาคมาเป็นอย่างดี เพื่อการรักษาโรค และเพื่อการประหารชีวิตนักโทษ โดยให้นักโทษมีความเจ็บปวดน้อยที่สุด

ก่อนหน้ากิโยตีนนั้น การประหารชีวิตคนจะทำในที่สาธารณะ โดยผู้ปกครองสมัยนั้น ต้องการแสดงการลงโทษ เพื่อให้ผู้คนหวาดกลัว และปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด แต่ท่าความยากของการประหารชีวิตในสมัยนั้นคือ เพชฌฆาตจำเป็นจะต้องมีความสามารถในการประหารชีวิตให้รวบรัด เพื่อมิให้นักโทษได้รับความเจ็บปวดมากจนเกินไป อันจะสร้างความไม่พึงพอใจต่อสาธารณชน จนทำให้เพชฌฆาตถูกรุมประชาทัณฑ์เอาเสียเอง

ชาร์ล-อองรี ซึ่งติดตามบิดาของเขาในฐานะผู้ช่วยเพชฌฆาตมาตั้งแต่ยังเล็ก มีประสบการณ์การประหารชีวิตคนมาอย่างโชกโชน เมื่อเขาได้รู้ว่าโจเซฟ อิกนีส กิโยตีนเสนอวิธีการประหารชีวิตรูปแบบใหม่ที่เรียบง่าย รวดเร็ว และไม่ทรมานเขาเสนอตัวเข้าร่วมในการวิจัยและพัฒนาเครื่องประหารชีวิตชนิดใหม่นี้ และนำเสนอต่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ซึ่งทรงพระราชทานคำแนะนำให้ออกแบบใบมีดให้ลาดเอียง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเฉือนคอ

อาจจะเป็นเหมือนโชคชะตา ที่ในเวลาต่อมา พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทรงถูกประหารชีวิตด้วยเครื่องจักรสังหารชนิดใหม่นี้ และเพชฌฆาตผู้ลงมือประหารพระองค์นั้น คือ ชาร์ล-อองรีผู้นี้นั่นเอง

ไม่เพียงแค่พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 เท่านั้นที่ถูกประหารโดยชาร์ล-อองรี บุคคลสำคัญ ๆ ในเหตุการณ์ปฏิวัติฝรั่งเศสเกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น “ฌัก-เรอเน เอแบร์” เจ้าของหนังสือพิมพ์ลัทธิหัวรุนแรง, “ฌอร์ฌ ฌัก ด็องตง” หัวหอกผู้โค่นล้มระบอบกษัตริย์ฝรั่งเศส, “กามีย์ เดมูแล็ง” นักการเมืองคนสำคัญของกลุ่มจาโคแบง และรวมไปถึง แม๊กซิมิเลียน โรแบสปิแยร์ นักการเมืองหัวรุนแรง ผู้นำพาฝรั่งเศสเข้าสู่ยุคสมัยแห่งความสะพรั่นพรึง (Reign of Terror) อีกด้วย

แต่ทั้งหมดที่กล่าวมานั้น มิใช่สาเหตุที่ทำให้เขาเป็น “ซูเปอร์สตาร์” แห่งปารีส สาเหตุจริง ๆ เป็นเพราะว่า จำนวนนักโทษประหารที่ผ่านมือเขานั้น มีมากถึง 3,000 คน ทำให้เขาเป็นมือเพชฌฆาตที่มือโชกเลือดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์



ก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศส ตระกูลซ๊องซง ถึงแม้จะได้รับบรรดาศักดิ์ และมีรายได้จากการประกอบอาชีพเพชฌฆาตเป็นล่ำเป็นสัน แต่ถูกสังคมรังเกียจจากการประกอบอาชีพ “ฆ่าคนตามกฎหมาย” เมื่อคนของตระกูลเดินทางในที่สาธารณะ ผู้คนจะแหวกทางหลบด้วยความเกลียดกลัว เมื่อเข้าโบสถ์ พวกเขาจะได้รับที่นั่งต่างหาก เนื่องจากผู้คนรังเกียจที่จะนั่งบนที่นั่งเดียวกับเหล่าเพชฌฆาต อีกทั้งยังถูกห้ามมิให้พักอาศัยในตัวเมืองปารีส

อีกทั้งชีวิตในวัยเยาว์ของชาร์ล-อองรี เขายังถูกเพื่อน ๆ ในโรงเรียนรุมรังเกียจจนเขาไม่สามารถเรียนร่วมชั้นกับเด็กทั่วไปได้

อย่างไรก็ตาม ภายใต้บรรยากาศแห่งความบ้าคลั่ง และหวาดระแวงของยุคสมัยแห่งความสะพรั่นพรึง ที่ทุกคนได้แต่ระแวงว่าจะถูกตำรวจลับของ “คณะกรรมาธิการความปลอดภัยสาธารณะ” (Committee of Public Safety; Comité de Salut Public) ภายใต้การนำของโรแบสปิแยร์จับกุมไปประหารด้วยข้อหา “ศัตรูของประชาชน” นั้น ทำให้ชาวปารีสเสียสติ และคลั่งไคล้การประหารชีวิตด้วยกิโยตีน

ในสมัยนั้น กำหนดการประหารชีวิตจะถูกประกาศลงหนังสือพิมพ์ และฝูงชนชาวปารีสจะแห่แหนกันมายังลานกิโยตีนเพื่อชมการประหารชีวิตนักโทษ โดยกลุ่มขาประจำที่มีชื่อเสียงคือกลุ่มสตรี “ทริกเกอทัว” (Tricoteuse) ซึ่งมักจะมาจับจองพื้นที่ข้างลานกิโยตีนเพื่อรับชมการประหารไปพร้อม ๆ กับการถักผ้า หรือเต้นรำไปมาในระหว่างการประหาร

ภายใต้ความบ้าคลั่งเช่นนี้เอง ที่ทำให้ ชาร์ล-อองรี ซ๊องซง กลายเป็นซูเปอร์สตาร์ ได้รับการยกย่องให้เป็น “คมมีดแห่งชาติ” ไปพร้อมกับชื่อเสียงของกิโยตีนไปโดยปริยาย อีกทั้งยังมีบางกลุ่มที่แต่งกายเลียนแบบเขา ราวกับว่าเขาเป็นผู้นำแฟชั่นแห่งยุคก็ไม่ปาน

คงจะมีเพียงยุคสมัยแห่งความบ้าคลั่งและสับสนเช่นนี้เท่านั้น ที่มือเพชฌฆาตจะได้รับการยกย่องระดับซูเปอร์สตาร์



สำหรับตัวชาร์ล-อองรีนั้น ตัวเขามิได้สนับสนุนการล้มล้างสถาบัน เพียงแต่ทำหน้าที่มือเพชฌฆาตของตนเองตามหน้าที่ และเมื่อเขาได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ลงมีดประหารพระเจ้าหลุยส์ ในครั้งแรกนั้น เขาลังเลที่จะทำหน้าที่นี้ แต่สุดท้ายเขาก็รับหน้าที่นี้ ด้วยเกรงว่าการปฏิเสธจะนำมาซึ่งอันตรายต่อตัวเขาเอง และครอบครัว

ความหวั่นไหวในครั้งนี้นี่เอง ที่ทำให้มีการตีความในภายหลังว่า ความจริงแล้วตัวเขาเองอาจจะมีความจงรักภักดีต่อสถาบัน แต่จำใจต้องทำเพื่อปกป้องครอบครัวของเขาเอง

ถึงแม้ยุคสมัยแห่งความพรั่นสะพรึงจะจบลงภายหลังจากที่ชาร์ล-อองรีลงมีดประหารโรแบสปิแยร์ ยุติการสังหารหมู่ประชาชนภายใต้นามของกฎหมายลง แต่เขายังคงทำหน้าที่มือเพชฌฆาตต่อจนเกษียณอายุใน ค.ศ. 1795 เมื่ออายุ 56 ปี ส่งต่อหน้าที่หัวหน้าเพชฌฆาตให้แก่ “อองรี ซ๊องซง” ลูกชายของเขา แต่ถึงเขาจะวางมือไปแล้ว เขาก็ยังคงเป็นซูเปอร์สตาร์ดาวเด่นของสังคมต่อไป อีกทั้งยังมีโอกาสได้เข้าเฝ้าพระเจ้านโปเลียนอีกด้วย

มีเรื่องเล่าว่า พระเจ้านโปเลียนตรัสถามเขาว่า “หลังจากที่ประหารชีวิตคนไปมากมาย ท่านยังหลับได้อยู่หรือ ?” ซึ่งเขาทูลตอบว่า “หากจักรพรรดิ, กษัตริย์ และเผด็จการยังหลับสนิทได้ ทำไมเพชฌฆาตจะหลับไม่ได้”

แต่ถึงจะตอบแบบนั้น แต่ในความเป็นจริง วาระสุดท้ายของเขา เขามีอาการทางจิต และเจ็บป่วยจนเสียชีวิตในวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1806 สิริอายุ 67 ปีที่บ้านของเขาในปารีสเอง

เรื่องราวชีวิตของเขา ปรากฏในนวนิยาย และภาพยนตร์หลายเรื่อง อีกทั้งยังปรากฏตัวในวีดีโอเกม “เฟต แกรนด์ ออเดอร์” (Fate/Grand Order) และ “แอสซาซินครีดส์ ยูนิตี้” (Assasin Creed’s Unity) อีกด้วย



เรื่องราวชีวิตของชาร์ล-อองรี ซ๊องซง เป็นอีกหนึ่งในภาพสะท้อนที่เกิดขึ้นจากยุคสมัยแห่งความพรั่นสะพรึง อันเป็นผลมาจากการแก่งแย่งอำนาจกันเองของกลุ่มการเมืองภายหลังการโค่นล้มสถาบัน และการใช้อำนาจรัฐเพื่อการกดขี่ สังหารประชาชนผู้เห็นต่าง ของเผด็จการในนามประชาธิปไตย

เอ็ดมุนด์ เบิร์ก (1729 – 1797) นักเขียน นักปรัชญา และนักการเมืองร่วมสมัยปฏิวัติฝรั่งเศส ได้ทำนายล่วงหน้าถึงความวิบัติของการปฏิวัติฝรั่งเศส และเหตุการณ์วุ่นวายและการนองเลือดของฝรั่งเศสใน “Reflections on the Revolution in France (1790)” วิภาคถึงการปฏิวัติฝรั่งเศสเอาไว้ว่า ชาวฝรั่งเศสพยายามสร้างสิ่งที่ตนเรียกว่าเสรีภาพด้วยการทำลายล้าง ชาวฝรั่งเศสมุ่งหน้าไปตามความใฝ่ฝันอันเพ้อพกของผู้คนที่อุปโลกน์สร้างตนเองให้เป็นนักปราชญ์ ซึ่งความผิดพลาดเหล่านี้ นำมาซึ่งสภาวะไร้ระเบียบ (อนาธิปไตย) ซึ่งปกครองโดยฝูงชนผู้ตะกละตะกลาม

สังคมไทยควรจะเรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีตของการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. 1789 ว่าการโค่นล้มสถาบัน ไม่ได้นำมาซึ่งการแก้ไขปัญหาใด ๆ ทั้งสิ้น หากแต่จะนำมาซึ่งความวิบัติ ปั่นป่วน และเผด็จการที่ชั่วร้ายยิ่งกว่าเดิมต่างหาก

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า