เมื่อในหลวงทรงต้องเสียภาษีอากร แต่สามารถพระราชทานการช่วยเหลือสู่สังคมอย่างสะดวกยิ่งขึ้นจาก พ.ร.บ.ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ 2561

พ.ร.บ. ที่เกี่ยวข้องกับการจัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ได้เกิดขึ้นหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดย พ.ร.บ. จัดระเบียบฯ ที่ออกมาในครั้งแรกคือฉบับ พ.ศ. 2479 (น่าสังเกตว่าออกมาหลังการสละราชสมบัติ และหลังจากนั้นก็มีการฟ้องยึดทรัพย์)

พ.ร.บ. ฉบับ 2560 ในฉบับนี้ได้แก้ไขข้อขัดข้องจากกฎหมายเก่า นั่นคือ ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดินและทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่เป็นเครื่องอุปโภคบริโภคให้อยู่ในความดูแลของสำนักพระราชวัง ส่วนนอกจากนี้ให้อยู่ในการดูแลของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ การบริหารงานได้แยกออกเป็นสองหน่วยทำให้ไม่เกิดการรวมศูนย์

ดังนั้น พ.ร.บ. ฉบับนี้จึงได้ระบุในมาตรา 6 เพิ่มเติมขึ้นมา โดยรวบให้การจัดการอยู่ในการดูแลของสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และการดูแลให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัยได้

พ.ร.บ. ฉบับนี้เป็นฉบับแรกที่ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดินได้ตัดออกไป นั่นก็เพราะว่าได้ถูกทำให้อยู่ในทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ตามความในมาตรา 10 แต่การจัดการดูแลและสถานภาพต่างๆ ยังเหมือนเดิม นอกจากนี้ ส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น จะไปทับซ้อนกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1304 ซึ่งมีการระบุไว้อยู่แล้ว

และเนื่องจากสำนักพระราชวังมีหน่วยงานอยู่มาก เพื่อให้เกิดเอกภาพ ทรัพย์สินส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติแผ่นดินจึงถูกย้ายให้มาอยู่ในการดูแลของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ซึ่งมีหน้าที่โดยตรง

ต่อมาในฉบับ พ.ศ. 2561 ได้มีการทำให้เกิดความชัดเจนไปอีกขั้น กล่าวคือ “ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์” แบ่งเป็นสองขา ขาแรกคือ “ทรัพย์สินในพระองค์” ซึ่งส่วนนี้คือทรัพย์สินที่ทรงมีก่อนขึ้นครองราชย์ ทรัพย์สินที่รัฐทูลเกล้าฯ ถวาย และทรัพย์สินที่ได้มาไม่ว่าทางใดเวลาใดอันเป็นการส่วนพระองค์ รวมไปถึงดอกผลจากทรัพย์สินที่ว่าด้วย

ส่วน “ทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์” คือทรัพย์สินพระมหากษัตริย์นอกจากทรัพย์สินในพระองค์ นั่นหมายความว่า ทรัพย์สินเฉพาะพระองค์ และทรัพย์สินที่ได้มาจากการเป็นพระมหากษัตริย์ ได้ถูกแยกออกจากกัน ซึ่งทำให้การเสียภาษีเป็นไปอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

นอกจากนี้ การจัดการให้ทรัพย์สินเป็นไปตามพระราชอัธยาศัยนั้น เราก็เห็นแล้วว่าได้สร้างประโยชน์มากมายเพียงใด เช่น การพระราชทานเงินกว่า 2 พันล้านบาทให้แก่โรงพยาบาล 27 แห่ง เป็นต้น

โดยสรุปแล้ว “อะไรที่เคยเป็นมาก็ยังคงเป็นไป” เพียงแต่มีการจัดการบริหารใหม่ให้มีเอกภาพขึ้นเท่านั้น จึงถือได้ว่าพระองค์ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด ดังปฐมบรมราชโองการทุกประการ