พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงเป็น ‘ฟ้าหลังฝนของคนไทย’ ในห้วงเวลาแห่งความทุกข์ยากของบ้านเมือง

ในระบอบการปกครองของประเทศไทย แม้เราจะได้เคลื่อนตัวเข้าสู่การปกครองในระบอบใหม่หรือระบอบประชาธิปไตยมาอย่างเนิ่นนานแล้ว เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าความลุ่มๆ ดอนๆ และความไม่แน่นอนหรือแน่ใจในระบอบประชาธิปไตยยังคงมี และเราจะต้องทำมันให้ดีขึ้น แต่องค์ประกอบหนึ่งภายในระบอบการปกครองใหม่ของไทยที่สืบทอดมาด้วยอย่าง ‘พระมหากษัตริย์’ นั้น ได้กลายเป็นตัวแทนแห่งความมั่นคงและความแน่นอน เพราะในขณะที่การเมืองอาจจะมีปัญหามากมายพันประการ หรือการเข้ามาแล้วก็ออกไปของตำแหน่งบริหารและนิติบัญญัติ แต่พระมหากษัตริย์จะทรงสถิตตราบเท่าที่พระองค์จะทำได้ พระมหากษัตริย์จึงกลายเป็นที่ยึดเหนี่ยวและประวัติศาสตร์ทั้งปวงของชาตินั้นๆ

ความรู้สึกดังกล่าวนี้มิได้เพิ่งเกิดมาไม่นาน แต่ได้เกิดขึ้นมาแล้วตั้งแต่ในอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติและสวรรคตไป ภายในช่วงเวลาเหล่านี้จึงเปรียบเสมือนช่องโหว่ในเชิงสังคมซึ่งสามารถอธิบายได้ด้วยสังคมวิทยาในประเด็นของอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนที่ยึดเราเข้าไว้ด้วยกันกลายเป็นโครงสร้างทางสังคมอีกแบบหนึ่ง [1] ความรู้สึกของชาวสยามในช่วงเวลาดังกล่าวเราสามารถเห็นได้ตามหนังสือพิมพ์ในขณะนั้น เมื่อพิจารณาว่าเกิดการแก่งแย่งอำนาจและบางครั้งถึงขั้นเอากันตาย และในช่วงสภาวะสงครามยุติใหม่ๆ ได้ก่อให้เกิดการคิดถึงสิ่งที่ชาวสยามคุ้นเคยอย่างยาวนาน แต่ได้หายไป คือ พระมหากษัตริย์

ในขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ทรงกำลังศึกษาอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ และกำลังเตรียมพระองค์กลับมาเพื่อปฏิบัติพระองค์ในฐานะพระมหากษัตริย์ ถึงกระนั้นการเสด็จเยี่ยมเยือนของพระองค์ก็ได้สร้างความชุ่มฉ่ำใจให้แก่พสกนิกรอย่างมาก โดยเฉพาะหลังเวลาสงครามซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างดูเหี่ยวแห้งลงไป พระองค์จึงเปรียบเสมือนฟ้าหลังฝนที่มาได้ทันเวลาพอดี

การเสด็จนิวัตพระนครในฐานะประมุขของชาติครั้งแรกของพระองค์เมื่อ พ.ศ. 2481-2482 ได้ยังความปีติแก่ชาวไทยเป็นอย่างยิ่ง ในครั้งนั้นพระองค์ได้ประทับอยู่ในไทยเป็นเวลาสองเดือน และได้พระราชทานพระราขดำรัสความตอนหนึ่งว่า “ข้าพเจ้ารู้สึกยินดีที่ได้เดินทางกลับสู่ประเทศอันเป็นที่รักของข้าพเจ้า และในอันที่จะได้เห็นบรรดาประชาราษฎร์ของข้าพเจ้าเอง ข้าพเจ้าหวังว่าบรรดาประชาราษฎร์ของข้าพเจ้าคงอยู่เย็นเป็นสุขสบายดีทั่วกัน” ในการเสด็จครั้งแรกของพระองค์ พระองค์ได้บำเพ็ญพระราชกรณียกิจหลายประการ และก่อนที่พระองค์จะเสด็จกลับไปยังสวิตเซอร์แลนด์ พระองค์ได้ให้สัญญาแก่ปวงชนชาวไทยไว้ว่า “ข้าพเจ้าจะตั้งใจเรียนจนสําเร็จ เพื่อจะได้มาสนองคุณชาติที่รักของเรา ในการที่ข้าพเจ้าจะลาท่านไปนี้ ข้าพเจ้าขออวยพรให้ท่านทั้งหลายมีความสุขความเจริญทั่วกัน”

หลังจากที่สงครามมหาเอเชียบูรพาจบลง พระองค์ได้เสด็จนิวัตพระนครเป็นครั้งที่สองเมื่อ พ.ศ. 2488-2489 ในครั้งนี้พระองค์บรรลุนิติภาวะและสามารถบริหารราชการแผ่นดินได้เองแล้ว ซึ่งนับเป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับพระมหากษัตริย์หนุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นช่วงที่สงครามได้สร้างความหดหู่ไว้อย่างมากมาย ยังรวมไปถึงปัญหาพื้นฐานต่างๆ ที่ไทยต้องเผชิญในขณะนั้น เช่น ปัญหาด้านสาธารณสุข ปัญหาเรื่องคนจีน พระราชกรณียกิจของพระองค์จึงเป็นความพยายามในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ โดยเฉพาะการเสด็จเยือนสำเพ็งและสามารถประสานรอยแตกร้าวระหว่างคนไทยและคนจีนสำเร็จ อันเป็นปัญหาซึ่งเป็นมรดกมาจากสมัยจอมพล ป. [2] ซึ่งได้ทำให้พระองค์ทรงเป็นห่วงคนไทยมากยิ่งขึ้นไปอีก

กำลังสำคัญของไทยในขณะนั้นคือนิสิตนักศึกษา ด้วยเหตุนี้ในการนิวัตพระนครครั้งที่สองนี้ พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินมายังจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและพระราชทานพระบรมราโชวาทแด่อาจารย์ นิสิต และบุคลากร ดังนั้นเราจึงเข้าใจได้ในพระราชดำรัสของพระองค์ที่พระราชทานเมื่อครั้งพระราชทานปริญญาบัตรได้ว่า “การศึกษาของมหาวิทยาลัยนี้ ได้ถูกกระทบกระเทือนเนื่องจากภัยทางสงคราม ถึงกับทําให้การศึกษาต้องหยุดชะงักไปชั่วคราว แต่ก็เป็นที่น่ายินดีที่นิสิตของมหาวิทยาลัยนี้ ต่างพากันอาสาช่วยปฏิบัติราชการอันเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติในยามสงครามอย่างดียิ่ง นับว่าเป็นผู้ที่ได้กระทําหน้าที่เป็นพลเมืองดีของชาติที่สมเกียรติ หวังว่าเมื่อสงครามได้ผ่านพ้นไปแล้วเช่นนี้ ทางมหาวิทยาลัยคงจะได้เร่งรัดการศึกษาให้เจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นต่อไปภายหน้า…ขอความเจริญรุ่งเรืองจงมีแต่ท่านผู้สําเร็จการศึกษา ซึ่งจะออกไปประกอบกิจการสนองคุณประเทศชาติกับนิสิตผู้ที่ยังศึกษาอยู่ตลอดจนเจ้าหน้าที่ทั้งหลายโดยทั่วกัน”

ความผูกพันระหว่างพระองค์และนิสิตจุฬาลงกรณ์ได้เกิดขึ้นและได้มีบทกลอนอันสวยงามว่า

ครั้น ๒๐ เมษายน พิธีถกลกิจการ
งานฉลองปริญญา ผอง “จุฬา” บัณฑิต
โสภิตพิทยาพัฒน์ ร่วมกันจัดแจงการ
งานละครสมโภช ณ ยามวิโรจน์ราษตรี
ธ ก็ปรานีประพาศ ประทานวโรกาสเสด็จชม
อภิรมย์ราชฤทัย สมตั้งใจนิสสิต
ที่ประดิษฐ์แสดงถวาย แลเมื่อรายสังคีต
อันประณีตบรรเลง ประมวลเพลงศิลปะ
โดยพระเจนดุริยางค์ ดําริวางรูปงาน
ก็พระราชทานเกียรตินิยม เสด็จชมเชยสดับ
ทรงประทับเป็นประธาน ณ สถานที่ชุมนุม
หอประชุม “จุฬา” นับเป็นวาระท้าย
อนาถนึกระลึกคล้าย เคลิบเคลิ้มคราฝัน”

หนึ่งในพระราชปรารภครั้งสุดท้ายของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลหลังการเสด็จเยือนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พระองค์ได้เสด็จดำเนินพระราชทานปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ และทอดพระเนตรกิจการของคณะแพทย์และศิริราชพยาบาล ด้วยความใส่พระราชหฤทัยในสุขภาวะของประชาชนหลังสงครามและประสบกับการขาดแคลนแพทย์อย่างมาก พระองค์จึงได้ปรารภต่อรัฐบาลขณะนั้นว่า “ให้มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ผลิตแพทย์เพิ่มมากขึ้น ให้เพียงพอที่จะช่วยเหลือประชาชน” ซึ่งต่อมาจะได้ก่อกำเนิดคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่จะเป็นอีกหนึ่งกำลังให้กับประเทศชาติ  [3]

หลังจากที่พระองค์สวรรคต คณาจารย์และนิสิตจุฬาลงกรณ์จำนวนมากได้เดินทางไปสักการะพระบรมศพ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเพื่อเป็นกำลังพระราชหฤทัย และบรรดานิสิตยังได้หมุนเวียนกันไปเฝ้าพระบรมศพจนถึงวาระถวายพระเพลิงพระบรมศพ ต่อมาในวันที่ 11 สิงหาคม 2489 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้ประกาศเฉลิมพระปรมาภิไธยสมเด็จพระองค์เป็น พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล อดุลยเดชวิมลรามาธิบดี จักรีนฤบดินทรสยามินทราธิราช พระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทย หลังจากนั้นบรรดานิสิตจุฬาฯ ก็ยังคงนึกถึงพระองค์มิเสื่อมหายโดยได้เข้ากราบถวายบังคมและแต่งชุดนิสิตไว้ทุกข์เป็นเวลาสามปีติดต่อกันในวันที่ 9 มิถุนายนปี 2490, 2491 และ 2492 ซึ่งในวันที่ 9 มิถุนายนทุกปีนั้น บรรดานิสิตจะหยุดเรียนกันครึ่งวันเพราะนิสิตกว่าสองพันคนจะเข้าร่วมถวายสักการะในวันสำคัญนี้

แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ของพระองค์ แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่มีความหมายอย่างยิ่งแก่คนไทยทั้งประเทศ พระองค์ทรงเป็นดังพระพรหมช่วยอำนวยความชุ่มฉ่ำและเป็นดั่งฟ้าหลังฝนของคนไทย เมื่อพระองค์สวรรคตไป พระมหากษัตริย์อีกพระองค์ก็ได้เสด็จครองราชย์ต่อมา และสัญญาที่ในหลวงอานันท์ทรงสัญญาไว้กับประชาชน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชก็ได้ทรงสืบสานต่อมาตลอดรัชสมัยของพระองค์

อ้างอิง :

[1] อ่านเพิ่มเติมใน Eduardo Bericat, “The sociology of emotions: Four decades of progress,” Current Sociology Vol. 64 Issue 3 (2016): pp. 491–513.
[2] ดูรายละเอียดใน สุภางค์ จันทวานิช, บรรณาธิการ, สำเพ็ง: ประวัติศาสตร์ชุมชนชาวจีนในกรุงเทพฯ (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2559).
[3] วิศิษฏ์ ฐิตวัฒน์, “ประวัติศัลยศาสตร์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์,” Journal of Medical BioScience Vol. 2 Issue 2 (2020): 100.

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า