เปิดบันทึกประวัติศาสตร์ เบื้องหลังที่แท้จริงของเหตุจลาจลในสมัยกรุงธนบุรี

สำหรับวิกฤตการรุกรานของพม่าที่ทำให้ไทยตกเป็นเมืองขึ้นในปี พ.ศ. 2310 มีสาเหตุอยู่หลายประการ จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ พบว่า ช่วงนั้นไทยขาดความสามัคคี การต่อต้านพม่าและป้องกันเมืองจึงเป็นไปอย่างทุลักทุเล จำนวนทัพหัวเมืองที่ถูกเกณฑ์มาป้องกันพระนครมีจำนวนไม่มากพอ และส่วนใหญ่ก็ไม่เต็มใจช่วย โดยมีบันทึกกล่าวถึงการตั้งรับภายในกรุงว่า “ชาวพระนครไม่รู้จักรบ ขี้ขลาด ไม่เป็นใจเดียวกัน ไม่ปลงงานเดียวกัน มีใจต่างๆ กัน ต่างพากันหนีเสีย”

การแตกความสามัคคีของกรุงศรีอยุธยานั้น มีสาเหตุสำคัญมาจากการแย่งชิงอำนาจกันเองของคนในชาติ โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้ตีความไว้ในหนังสือ “การเมืองสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี” ว่า เกิดตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนกลาง ท่ามกลางการวนเวียนสั่งสมอำนาจด้วยการสร้างเสถียรภาพทางการเมืองภายในราชสำนัก การแย่งชิงอำนาจภายหลังสงครามกลางเมือง การกำจัดกวาดล้างศัตรูและเกื้อกูลผลประโยชน์แก่ผู้สนับสนุน ได้เป็นช่องทางให้ฝ่ายเดียวกันสามารถย้อนกลับมาชิงอำนาจกันต่อไปในปลายรัชกาล แม้แต่หัวเมืองที่มีการส่งข้าราชการจากส่วนกลางไปดูแล ก็สร้างความปั่นป่วนบั่นทอนอำนาจรัฐ จนกระทั่งความผูกพันระหว่างราชธานีกับหัวเมืองอ่อนแอลง

มีหลักฐานที่ชัดเจนในพงศาวดารเรื่องการแย่งชิงอำนาจที่นำไปสู่สงครามกลางเมือง เช่น เมื่อสิ้นรัชกาลพระเจ้าบรมโกศ ก่อนการปราบดาภิเษกของเจ้าฟ้าอุทุมพร มีการกำจัดเจ้านายสำคัญถึง 3 พระองค์ และที่สุดก็ต้องถวายราชสมบัติแก่พระเจ้าเอกทัศน์เพื่อเลี่ยงสงครามกลางเมืองในเวลาต่อมา

วิกฤตบ้านเมืองที่นำไปสู่การเสียกรุงให้แก่พม่า ที่ส่งผลให้สภาพบ้านเมืองพังพินาศถึงขนาดต้องย้ายราชธานีหลังจากกอบกู้กรุงศรีอยุธยาได้ เป็นเหตุการณ์ที่เริ่มจากหลวงยกกระบัตรเมืองตาก (สิน) ซึ่งเลื่อนตำแหน่งเป็นพระยาตาก ต่อมาได้รับยศเป็น “พระยาวชิรปราการ” เจ้าเมืองกำแพงเพชร เมื่อเกิดศึกสงครามพระยาวชิรปราการได้ถูกเรียกตัวกลับมาช่วยรบที่กรุงศรีอยุธยา แต่เห็นแล้วสู้ไม่ได้ จึงรวบรวมกำลังไปตั้งมั่นที่จันทบุรี และจัดทัพเรือมายังกรุงธนบุรี โดยสามารถยึดกรุงธนบุรีได้ จากนั้นได้ยกทัพเข้าตีกรุงศรีอยุธยาที่ค่ายโพธิ์สามต้น ทำให้สุกี้แม่ทัพใหญ่ของพม่าถูกฆ่าตาย ทัพพม่าจึงพ่ายแพ้เตลิดหนีไปคนละทิศทาง

ผลพวงจากสงครามทำให้กรุงศรีอยุธยาถูกทำลายมากเกินกว่าจะซ่อมแซมได้ พระยาวชิรปราการ (สิน) จึงได้ทำการอพยพผู้คนมายังกรุงธนบุรีซึ่งมีชัยภูมิที่ดีกว่า พร้อมกับตั้งตนเป็นพระมหากษัตริย์ทรงพระนามว่าพระบรมราชาที่ 4 เมื่อปี พ.ศ. 2310 แต่ประชาชนทั่วไปมักเรียกว่า “สมเด็จพระเจ้าตากสิน” หรือ “สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี”

ในส่วนของเหตุการณ์ปลายรัชสมัยกรุงธนบุรีนั้น ในขณะที่ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (รัชกาลที่ 1) ไปราชการสงคราม ได้เกิดเหตุวุ่นวายในแผ่นดิน ทำให้พระยาสรรค์กับพวกคิดกบฏชิงราชสมบัติ โดยให้สมเด็จพระเจ้าตากสินไปทรงผนวชที่วัดแจ้ง (วัดอรุณราชวราราม) และคุมพระองค์ไว้ที่พระอุโบสถหลังเก่า จากนั้นพระยาสรรค์ก็ประกาศตนเป็นพระเจ้าแผ่นดิน

ซึ่งหลักฐานเกี่ยวกับการทรงผนวชที่วัดแจ้งของสมเด็จพระเจ้าตากสิน ที่ยังมีหลงเหลืออยู่ในปัจจุบันคือ พระแท่นประทับเป็นไม้กระดานแผ่นเดียวกว้าง 17 นิ้ว ยาว 120 นิ้ว ที่ยังคงทนแข็งแรงตั้งอยู่มุมด้านในพระอุโบสถ ภายหลังทางวัดได้สร้างพระบรมรูปหล่อ พร้อมศาลสถิตดวงพระวิญญาณของพระองค์ประดิษฐานไว้ในโบสถ์หลังนี้ด้วย

ส่วนสาเหตุของความวุ่นวายอาจกล่าวได้ว่า เกิดจากบริบทในการก่อตั้งราชธานี สภาพบ้านเมืองหลังสงครามอยู่ในภาวะฉุกเฉินทั้งในด้านการศึกและเศรษฐกิจ หนทางหารายได้เป็นทุนสร้างเมืองและดึงดูดคนเข้าเมือง จึงกระทำได้เพียงแค่เปิดโอกาสให้มีการเข้าขุดทรัพย์และกวาดของมีค่าในกรุงเก่าได้อย่างอำเภอใจ โดยทรัพย์ที่ขุดพบต้องแบ่งให้ทางราชการด้วย

ด้วยสภาพการณ์ดังกล่าว ทำให้มีการเร่งรัดเงินอากรค่าขุดทรัพย์เพื่อให้ได้ครบตามจำนวน ทำให้ประชาชนผู้ขึ้นไปขุดทรัพย์เดือดร้อนจึงได้พากันก่อการกบฏ ประจวบกับความไม่พอใจพระเจ้าตากสินในหมู่ขุนนาง ทำให้ข้าราชการที่ถูกส่งไปปราบกบฏที่กรุงเก่า แทนที่จะปฏิบัติตามคำสั่ง กลับร่วมมือกับกบฏแล้วบุกเข้าปล้นตีเมืองธนบุรี

โดยเอกสารร่วมสมัยของกรมหลวงนรินทร ได้บันทึกไว้ว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดเกล้าฯ ให้ พระวิชิตณรงค์ (หรือพระพิชิตณรงค์) ที่รับผูกขาดภาษี ขึ้นไปเร่งรัดเรียกเก็บภาษีราษฎรที่กรุงเก่า ราษฎรถูกเร่งรัดเรียกเก็บภาษีโดยไม่เป็นธรรม ทำให้นายบุนนาก หัวหน้าบ้านแม่ลา ชักชวนชาวบ้านเข้าเป็นพรรคพวก ยกกำลังลงมาจับพระวิชิตณรงค์และกรมการฆ่าเสียหลายนาย สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงโปรดให้ พระยาสรรค์ ไปจับกุมพวกบ้านแม่ลา แต่ในกลุ่มจลาจลครั้งนั้นมี ขุนแก้ว (น้องพระยาสรรค์ ) รวมอยู่ด้วย พระยาสรรค์จึงถูกเกลี้ยกล่อมให้เข้าเป็นพวกนายบุนนาก จากนั้นกลุ่มกบฏได้ให้พระยาสรรค์เป็นแม่ทัพ ยกไพร่พลลงมาทางเรือเพื่อเข้ายึดกรุงธนบุรี โดยอ้างเหตุผลว่าบ้านเมืองเป็นกลียุค

นอกจากนั้น อีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในปลายสมัยรัชกาลพระเจ้ากรุงธนบุรี คือ พระพิมลธรรมผู้เป็นเจ้าอาวาสวัดโพธาราม (ปัจจุบันคือวัดพระเชตุพนฯ) พร้อมด้วยสมเด็จพระสังฆราช (วัดบางหว้าใหญ่) พระพุฒาจารย์ (วัดบางหว้าน้อย) ได้ถวายพระพรพระเจ้ากรุงธนบุรี โดยไม่ยอมไหว้พระเจ้ากรุงธนบุรีด้วย ซึ่งในขณะนั้นพระองค์ทรงเชื่อว่าได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน เป็นเหตุให้พระเจ้ากรุงธนบุรีดำรัสสั่งให้นำตัวสมเด็จพระสังฆราช, พระพุฒาจารย์ และพระพิมลธรรม ไปลงทัณฑ์ ณ วัดหงส์ และให้ตีพระราชาคณะ รูปละร้อยทีรวมทั้งให้ถอดจากพระราชาคณะ

หากจะกล่าวลงลึกถึงรายละเอียดประเด็นที่ว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงพระวิกลจริตหรือไม่นั้น ควรต้องพิจารณาหลักฐานจากแหล่งต่างๆ ให้ละเอียด และด้วยความระมัดระวัง โดยเฉพาะหลักฐานของชาวต่างชาติ นั่นคือจดหมายของ เดส์ กูร์วิแอร์ ที่กล่าวว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินทรง “คุ้มดี คุ้มร้าย” ซึ่งหลักฐานชิ้นนี้ค่อนข้างมีจุดอ่อน และนักประวัติศาสตร์จำเป็นต้องรับไว้ด้วยความระมัดระวังทั้งในแง่ความหมาย และในแง่ที่เป็นเอกสารอันมีจุดมุ่งหมายทางการเมือง

หลักฐานต่างๆ ยังบอกให้ทราบด้วยว่า ในปลายรัชกาลพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงดำเนินนโยบายเกี่ยวกับการเก็บภาษีอากร ที่ทำให้เกิดความไม่พอใจแก่คนจำนวนหนึ่ง และด้วยความไม่พอใจต่อนโยบายนี้ หรือต้องการชิงราชบัลลังก์อยู่แล้ว คนเหล่านี้จึงได้อาศัยปัญหาที่เกิดจากนโยบายภาษี ชี้ให้ผู้อื่นเห็นว่าเป็นความเดือดร้อนแก่อาณาประชาราษฎร์

และมีความเป็นไปได้ว่า คนเหล่านี้ได้โฆษณาว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเสียพระจริต ซึ่งอาจเป็นการโฆษณาเพื่อหวังประโยชน์ทางการเมือง และบ่อนทำลายความนับถือของผู้คนที่มีต่อพระเจ้ากรุงธนบุรี และต่อมาสมัครพรรคพวกของคนเหล่านี้ เช่น นายเพง, นายบุนนาก และนายแก้ว (น้องพระยาสรรค์) ได้ก่อการกบฏขึ้น จนนำมาซึ่งเหตุการณ์จลาจลในกรุงธนบุรี เมื่อปลายปี พ.ศ. 2324

เมื่อข่าวกบฏแพร่กระจาย เจ้าเมืองนครราชสีมา (พระยาสุริยอภัย) ก็รีบยกทัพลงมาควบคุมสถานการณ์ในกรุงธนบุรีไว้ก่อน และเกิดการแบ่งฝ่ายของขุนนางระหว่างพวกที่ยังจงรักภักดีต่อพระเจ้ากรุงธนบุรี และพวกที่คิดกบฏก่อการจลาจล

ผลของการจลาจลรบพุ่ง ก่อนหน้าที่สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (รัชกาลที่ 1) จะยกทัพกลับมาถึงพระนคร เป็นช่วงเวลาที่ฝ่ายก่อการกบฏได้รับชัยชนะ แต่ภายหลังก็โดนปราบปราบจนได้รับความพ่ายแพ้ในที่สุด

เมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกยกทัพกลับมายังกรุงธนบุรี เมื่อวันเสาร์ เดือน 5 แรม 9 ค่ำ จัตวาศก จุลศักราช 1444 ตรงกับวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 พระยาสรรค์เกิดความเกรงกลัว จึงยอมยกพระราชสมบัติให้ โดยบรรดาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ต่างเห็นชอบที่จะอัญเชิญสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ขึ้นปราบดาภิเษกเป็นพระเจ้าอยู่หัวสืบแทน ทรงนามพระนามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก”

หากจะกล่าวโต้แย้งลงไปในประเด็นเรื่องพระสติวิปลาสของพระเจ้าตากสิน ก็มีบทวิเคราะห์ที่น่าสนใจของ “พิเศษ เจียจันทร์พงษ์” ที่อธิบายเรื่องนี้ไว้ว่า

ตลอดระยะเวลา 15 ปี แห่งการเสวยราชสมบัติที่กรุงธนบุรีนั้น สมเด็จพระเจ้าตากสินต้องทรงตรากตรำต่อการบริหารราชการแผ่นดินที่เพิ่งฟื้นตัวขึ้นมาใหม่อย่างมาก การที่ทรงมีชาติกำเนิดจากครอบครัวพ่อค้า เมื่อรับราชการก็เป็นเพียงเจ้าเมืองขนาดเล็กชายเขตแดน จะเข้ามากรุงศรีอยุธยาก็ต่อเมื่อบ้านเมืองอยู่ในสภาวะคับขันแล้ว ดังนั้น เมื่อต้องดำรงพระอิสริยยศเป็นถึงพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรสยาม คงทำความลำบากให้แก่พระองค์อยู่มิใช่น้อย

การที่ทรงพบความสำเร็จจากการรบก็ดี หรือการที่ทรงพยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจของบ้านเมือง จนราชสำนักจีนยอมรับการเป็นกษัตริย์ของพระองค์และให้มีการติดต่อค้าขายด้วยก็ดี หรือการที่ทรงเป็นพุทธมามกะปกป้องส่งเสริมพระพุทธศาสนาก็ดี เมื่อเทียบกับขัตติยะราชประเพณีต่างๆ ภายในราชสำนัก จะเห็นได้ว่า พระองค์อาจทรงจัดความสำคัญของสิ่งเหล่านี้ไว้อยู่ในลำดับหลังสุดแห่งการฟื้นฟูราชอาณาจักรสยาม ดังนั้น พฤติกรรมของพระองค์ที่มีต่อขุนนาง และอาณาประชาราษฎรจึงผิดไปจากอดีตพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ทั้งๆ ที่ภาพอันศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้นเพิ่งผ่านพ้นไปเพียงไม่นาน และยังคงอยู่ในความทรงจำของผู้คนทั่วไป สิ่งเหล่านี้ย่อมเป็นข้ออ้างทางการเมืองถึงสภาพการวิกลจริตนั่นเอง

นอกจากนี้ นายดับเบิลยู เอ อาร์ วูด (W.A.R. Wood) กงสุลอังกฤษประจำประเทศไทย ยังได้กล่าวถึงสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีในหนังสือ History of Siam หน้า 253-254 ในปี ค.ศ.1924 หรือ พ.ศ. 2467 ทำนองว่า …

“พระองค์ทรงเชื่อว่าคนเราสามารถเปลี่ยนแปลงโชคชะตาได้ ด้วยการลงมือทำในสิ่งที่คนอื่นคิดว่าทำไม่ได้ ความศรัทธาในตัวเองเช่นนี้ ส่งผลให้พระองค์ทรงประสบความสำเร็จในภาระกิจที่ดูแล้วไม่อาจมีความเป็นไปได้ จนเกิดเป็นผลสำเร็จขึ้นมา พระองค์ทรงเป็นมหาบุรุษเฉกเช่นเดียวกับจักรพรรดินโปเลียน”

สำหรับประเด็นต่างๆ ในบทความนี้ ทีมงานฤา ขอเน้นย้ำว่า ไม่ได้มีเจตนาลบหลู่ดูหมิ่นพระเกียรติยศใดๆ ของพระเจ้าตากสินเลย เพราะไม่ว่าจะพิจารณาในแง่มุมไหน พระราชกรณียกิจของพระองค์ที่ได้ทรงทำไว้ ได้ส่งผลสำคัญทำให้บ้านเมืองของเราเป็นปึกแผ่นมาจนถึงทุกวันนี้

เราเพียงแต่ต้องการนำเสนอข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ แล้วนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์ร้อยเรียงเพื่อให้คนรุ่นหลังได้เข้าใจว่า ณ เวลานั้น เกิดอะไรขึ้นกับบ้านเมืองกันแน่ และจะได้นำประวัติศาสตร์ที่ถูกต้องมาพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เพื่อวางแผนอนาคตกันต่อ

สุดท้าย ประเด็นสำคัญที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้เลย ก็คือ “การพิจารณาประวัติศาสตร์จากชุดความคิดของปัจจุบัน เป็นเรื่องที่ผิด” เราไม่สามารถนำชุดความคิด ระบอบการปกครอง สภาพสังคม ของปี พ.ศ. 2565 กลับไปตัดสินเหตุการณ์สมัย พ.ศ. 2325 ได้ เพราะบริบท ความคิด สภาพสังคม วัฒนธรรม และเหตุปัจจัยทุกสิ่งทุกอย่างนั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

การศึกษาประวัติศาสตร์อย่างถูกต้อง จึงเป็นการมองประวัติศาสตร์เพื่อนำมาพิจารณาปัจจุบัน ไม่ใช่นำปัจจุบันไปตัดสินประวัติศาสตร์

ที่มา :

[1] สมเด็จพระวนรัตน์, สังคีติยวงศ์ พงศาวดารเรื่องสังคายนาพระธรรมวินัย
[2] พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), ประชุมพงศาวดาร เล่ม 39
[3] ว.อำพรรณ, วัดโพธิ์ มรดกความทรงจำแห่งโลก
[4] อรณี แน่นหนา, วัดประจำรัชกาล
[5] นรินทรเทวี, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวง, จดหมายเหตุความทรงจำกรมหลวงนรินทรเทวี (พ.ศ. 2310-2381) และพระราชวิจารณ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
[6] นิธิ เอี่ยวศรีวงศ์, การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี
[7] พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 2 กองวรรณคดีประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร.

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r