‘อนุสาวรีย์ย่าโม’ รูปแทนเกียรติยศของคนโคราช และต่อให้คนไทยไม่เลิกกราบไหว้ ประเทศก็เจริญได้ไม่เปลี่ยนแปลง

ไม่กี่วันมานี้เราได้พบเห็นกระแสของคนบางคนที่มีการนำจดหมายจ้างนางแบบให้มาเป็นแบบหล่อปั้นอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี และกล่าวว่าถ้าคนไทยเลิกเชื่อ “ย่าโม” เมื่อใด ประเทศก็คงเจริญเมื่อนั้น ซึ่งสมาชิกผู้แทนราษฎรบางคนก็ยังได้ส่งต่อเรื่องราวดังกล่าวเสมือนว่าจดหมายจ้างนางแบบนั้นคือการทลายการมีอยู่ของ “ย่าโม” ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจที่แม้แต่นักประวัติศาสตร์บางคนที่อยู่ที่ฝรั่งเศสก็มิได้แสดงความรู้ความสามารถทางประวัติศาสตร์ทักท้วงแต่อย่างใด

การสร้างอนุสาวรีย์นั้นเริ่มไหลเข้ามาในประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 แล้ว ต่อมาหลังการปฏิวัติ พ.ศ. 2475 การสร้างอนุสาวรีย์จะมาจากความต้องการของประชาชนเป็นเบื้องต้น ก่อนที่จะถูกขอความเห็นชอบจากรัฐบาล โดยที่รัฐบาลไม่ใช่ผู้ที่วางนโยบายในการปลุกเร้าลัทธิชาตินิยมหรือเน้นการสร้างอนุสาวรีย์แต่อย่างใดอย่างที่มีผู้วิเคราะห์ไว้ ดังนั้น จึงไม่แปลกหากเราจะเห็นภาคประชาชนหรือภาคเอกชนรวมตัวกันผลักดันการสร้างอนุสาวรีย์ขึ้น ในการสร้างอนุสาวรีย์ของท้าวสุรนารีนี้ก็เช่นกันที่มาจากการผลักดันของภาคประชาชน

ย้อนกลับไปในช่วงการเกิดกบฏบวรเดชเมื่อ พ.ศ. 2475 หลังจากที่เหตุการณ์ได้จบลงไปแล้ว จังหวัดนครราชสีมาเนื่องจากได้เป็นฐานกำลังหลักของฝ่ายกบฏ ทำให้มีข้าราชการฝ่ายปกครอง ทหาร และประชาชนจำนวนมากได้ถูกจับกุมในข้อหาให้ความร่วมมือกับกบฏ ในสถานการณ์เช่นนี้ทำให้ส่งผลต่อขวัญกำลังใจของชาวนครราชสีมาอย่างมาก รัฐบาลคณะราษฎรในขณะนั้นไม่ต้องการให้การเมืองเกิดความตึงเครียดไปมากกว่านี้ จึงได้ยกเหตุผลเรื่องความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขึ้นมา เพื่อให้ชาวนครราชสีมาพ้นจากข้อกบฏว่าถูกพระองค์เจ้าบวรเดชหลอกให้ไปรบกับทหารรัฐบาลเพื่อปกป้องพระมหากษัตริย์ นอกจากนั้นพระยาพหลพลพยุหเสนายังได้จัดให้มีการขุดศพทหารนครราชสีมาเพื่อทำพิธีอย่างสมเกียรติอีกด้วย รวมไปถึงการจัดพิธีขวัญเมืองและมหรสพอย่างยิ่งใหญ่

จากความรู้สึกชอกช้ำที่ถูกตราว่าเป็นเมืองกบฏนั้น ได้กลายเป็นที่มาของความคิดในการสร้างอนุสาวรีย์เพื่อเป็นเครื่องยืนยันความภักดีของชาวนครราชสีมาต่อรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำให้มีการขอบริจาคเงินจากข้าราชการ พ่อค้า และประชาชนเพื่อใช้ในการบำเพ็ญกุศลรวมไปถึงนำเงินที่เหลือไปจัดทำอนุสาวรีย์ แต่การสร้างอนุสาวรีย์แก่ทหารที่เสียชีวิตในเหตุการณ์กบฏไม่น่าจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล เพราะรัฐบาลเองมีความคิดที่จะสร้างอนุสาวรีย์ให้อยู่แล้ว แต่นั่นก็เกิดหลังจากนั้นอีกสามปี ต่างจากความรู้สึกของชาวนครราชสีมาที่ต้องการการเยียวยาอย่างเร่งด่วน ด้วยเหตุนี้ พระเริงรุกปัจจามิตร ผู้บังคับการจังหวัดนครราชสีมา และพระยากำธรพายัพทิศ ผู้ว่าราชการและสมุหเทศาภิบาล มณฑลนนครราชสีมา ได้เปลี่ยนความคิดมาสร้างอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีแทนเป็นการเร่งด่วนให้เสร็จภายในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2477 การขออนุญาตจัดสร้างอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีซึ่งเกี่ยวข้องกับการเมืองระดับท้องถิ่นและระดับประเทศอย่างลึกซึ้ง เป็นสิ่งที่ทำให้รัฐบาลยอมรับได้ เพราะดูเผินๆ แล้วการจัดสร้างไม่ได้เป็นการเชิดชูเกียรติทหารนครราชสีมาที่เสียชีวิตโดยตรง

ประเด็นตัวตนของท้าวสุรนารีนั้นมีปรากฏอยู่สั้นๆ ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ และ อานามสยามยุทธ ของ ก.ศ.ร. กุหลาบ แต่อย่างไรก็ดี บทบาทของท้าวสุรนารีนั้นมีความชัดเจนคือ เป็นสื่อกลางระหว่างผู้วางแผนการและครัวนครราชสีมา รวมถึงการเป็นแม่กองในการปฏิบัติการต่างๆ อีกด้วย และมีแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่ระบุว่าสามีของท่านได้สร้างเจดีย์บรรจุอัฐิไว้ที่วัดศาลาลอย ต่อมามีผู้ค้นพบและได้ย้ายไปตั้งที่วัดพระนารายณ์มหาราชเมื่อ พ.ศ. 2442 ดังนั้นแล้ว ข้อมูลเรื่องท้าวสุรนารีนั้นแม้จะมีอยู่อย่างจำกัดเท่าที่พบในปัจจุบัน แต่การเล่าเรื่องนั้นก็ได้ถูกส่งต่อมาและมีบทนิพนธ์ต่างๆ เกิดขึ้นตามมาเช่นกัน

การสร้างอนุสาวรีย์นอกจากจะเป็นการยกย่องท้าวสุรนารีแล้ว ยังเป็นการทำให้เกียรติยศของชาวนครราชสีมากลับคืนมาผ่านวีรกรรมของท้าวสุรนารีในทางอ้อม เพราะการต่อต้านผู้คุมครัวลาวและการปลดปล่อยครัวนครราชสีมา ได้ถูกให้ความหมายถึงการช่วยราชการสงครามกับพระเจ้าอยู่หัวเช่นกัน เสมือนหนึ่งท้าวสุรนารีได้กลับมาช่วยลูกหลานในภาวะวิกฤตหลังกบฏบวรเดช ต่อมา พระยากำธรพายัพทิศ ได้ส่งหนังสือถึงอธิบดีกรมศิลปากรโดยพระยากำธรได้ติดต่อผ่าน พระสาโรจน์รัตนนิมมานก์ ขอให้กรมได้ดำเนินการปั้นหล่อนุสาวรีย์คุณหญิงโมในราคา 1,000 บาท โดยพระเทวภินิมมิต นายช่างเอก สังกัดกองสถาปัตยกรรม กรมศิลปการซึ่งมีพื้นเพจากนครราชสีมาเป็นตัวแทนในการปรึกษาหารือ ซึ่งมีแบบอยู่และได้ขอความคิดเห็น ซึ่งสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้แนะนำว่าทรงเห็นอาจารย์ศิลป์ พีระศรี กำลังปั้นรูปผู้หญิงถือดาบอยู่แล้วน่าจะเหมาะกว่าแบบเดิม เพราะจะติดว่าไม่มีใครเคยเห็นว่าท้าวสุรนารีมีรูปร่างอย่างไร และมีการจ้างนางแบบต่างๆ มานั่นเอง

การสร้างอนุสาวรีย์ให้ผู้ที่ไม่มีใครเคยเห็นตัวจริงมาก่อนนั้น จะต้องศึกษาข้อมูลต่างๆ ก่อน โดยอาจารย์ศิลป์ได้ทดลองออกแบบไว้หลายแบบ และได้รับข้อมูลจาก พระเทวภินิมมิต ซึ่งเป็นผู้ที่เรียนหนังสืออยู่ที่วัดกลางช่วง พ.ศ. 2440 ที่มีการย้ายอัฐิมาพอดีทำให้ท่านเป็นผู้ที่รับทราบเรื่องราวดีที่สุดคนหนึ่ง และท่านยังเป็นผู้ช่วยสืบหากู่น้อยบรรจุอัฐิท้าวสุรนารีอีกด้วย อาจารย์ศิลป์ต่อมาจึงได้สร้างรูปอนุสาวรีย์ขึ้นมาโดยใช้ทฤษฎีทางศิลปะ และจากการปั้นนั้นจะเห็นได้ว่า เป็นภาพคุณหญิงโมที่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์แล้ว และใส่อาภรณ์ตามเครื่องแต่งกายสตรีสูงศักดิ์ในราชสำนักสยาม ต่อมาจึงได้มีพิธีเปิดอนุสาวรีย์อย่างยิ่งใหญ่เมื่อ พ.ศ. 2478

มีผู้วิเคราะห์ไว้ในหนังสือ “การเมืองในอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี” ไว้หลายประเด็นที่สำคัญ แต่อย่างไรก็ดีบางส่วนมีการตีความอย่างผิดเพี้ยน โดนประเด็นที่สำคัญคือการที่ผู้วิเคราะห์ได้เสนอว่า การปั้นรูปท้าวสุรนารีให้หันหน้ามายังกรุงเทพฯ สื่อถึงการสยบยอมต่ออำนาจของกรุงเทพฯ อย่างไรก็ดีการตีความเช่นนี้ไม่น่าเป็นไปได้ เนื่องจากอาจารย์ศิลป์ผู้ออกแบบเป็นฝรั่งที่เข้ามาช่วงปลายรัชกาลที่ 6 และไม่น่ามีเหตุผลอะไรที่อาจารย์จะต้องใส่ความคิดซับซ้อนหลายอย่างซึ่งผูกโยงประวัติศาสตร์ที่มากกว่าที่ชาวต่างชาติจะเข้าใจได้ และรัฐบาลเองไม่ได้สนับสนุนการก่อสร้าง รวมไปถึงเจ้าของโครงการซึ่งคือประชาชนชาวนครราชสีมาก็ไม่ได้แสดงความต้องการว่าอยากได้แบบไหน และระยะเวลาการสร้างอนุสาวรีย์ที่สั้นมาก ทำให้อาจารย์ศิลป์เป็นคนตัดสินใจว่าจะสร้างผลงานออกมาตามที่เห็นสมควร

ประเด็นจดหมายจ้างจึงมิได้หักล้างตัวตนของย่าโมแต่อย่างใด และการศรัทธาย่าโมนั้นก็ไมได้ทำให้ประเทศล่มจม แต่สิ่งที่ทำให้ประเทศล่มจมน่าจะเป็นคนที่มีปัญญาแต่ไม่รู้จักใช้เสียมากกว่า

อ้างอิง :

[1] เนื้อหาสรุปมาจาก กฤษณา หงษ์อุเทน, “อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี: มรดกทางการเมืองของคณะราษฎร,” วารสารศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย Vol. 9 No. 2 (กรกฎาคม – ธันวาคม 2022): 214-232.

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า