เรื่องดีๆ ที่หลายคนยังไม่รู้ การทรงงานของ กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ที่สร้างโอกาสในชีวิตให้แก่เด็กกำพร้าชาวลาว มากว่า 30 ปี

โรงเรียนวัฒนธรรมหลัก 67 แขวงเวียงจันทน์ เดิมชื่อโรงเรียนวัฒนธรรมชนเผ่าเด็กกำพร้า (หลัก 67) ก่อตั้งเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2519 โดยรัฐบาล สปป.ลาว และองค์กรการกุศลต่างประเทศ เพื่อให้โอกาสในการศึกษาเล่าเรียนแก่เด็กกำพร้าสมัยสงคราม

โรงเรียนแห่งนี้ยังเป็นหนึ่งในโครงการในพระราชดำริของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ได้พระราชทานความช่วยเหลือในด้านต่างๆ ให้แก่เด็กนักเรียนมาโดยตลอด ทั้งด้านการเรียนการสอน สุขภาพอนามัย และการฝึกวิชาชีพ

โดยในปี พ.ศ. 2533 กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานเงิน 12 ล้านกีบ ให้กับนายนิคม ตันเต็มทรัพย์ เอกอัครราชทูตแห่งราชอาณาจักรไทยประจำ สปป.ลาว มอบให้กับอาจารย์คำแพง แก้วหนูเพ็ด เพื่อก่อสร้างอาคารเรือนนอนสำหรับเด็กนักเรียน นอกจากนี้ยังได้พระราชทานความช่วยเหลือในด้านอื่นๆ ทั้งการก่อสร้างอาคารเรียนให้เพียงพอกับปริมาณนักเรียน รวมถึงการจัดหาน้ำสำหรับบริโภคให้แก่ทางโรงเรียนอีกด้วย

อีกทั้งยังได้พระราชทานพระราชานุญาตให้ มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ดำเนินโครงการพระราชทานความช่วยเหลือแก่โรงเรียนแห่งนี้ ซึ่งกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ได้เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมและติดตามผลการดำเนินงานของโรงเรียนวัฒนธรรมหลัก 67 มาอย่างต่อเนื่อง

จากการดำเนินงานของมูลนิธิฯ ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2558 กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ จึงมีพระราชกระแสรับสั่งว่าควรให้หน่วยงานในประเทศไทย ประสานงานกับทาง สปป.ลาว เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านการเรียนการสอน และการปฏิบัติการทดลองวิทยาศาสตร์แก่โรงเรียนวัฒนธรรมหลัก 67 เพื่อให้เด็กๆ ได้รับโอกาสที่ดีในการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ และสร้างโอกาสในการศึกษาต่อไปในอนาคต

ในที่สุดจึงเกิดเป็นความร่วมมือกันของหลายหน่วยงาน นำโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการโครงการฯ ที่ได้ประสานงานกับ สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ เวียงจันทน์ รวมถึงหน่วยงานอื่น อาทิ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดําริ (กปร.) โครงการชลประทานอุดรธานี สำนักชลประทานที่ 5 สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) หน่วยงานด้านการพัฒนาการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ในประเทศไทย และโรงเรียนปทุมเทพวิทยาคาร จังหวัดหนองคาย ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีศักยภาพทางด้านการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ และตั้งอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

โดยโครงการดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือการเรียนการสอนด้านปฏิบัติการทดลองวิทยาศาสตร์ให้แก่ โรงเรียนวัฒนธรรมหลัก 67 มีระยะเวลาการดำเนินงานจำนวน 3 ปี (พ.ศ. 2559 – 2561) ซึ่งจะให้ความช่วยเหลือด้านการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ โดยเน้นการพัฒนาในด้านต่างๆ ดังนี้

  1. พัฒนาและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานปฏิบัติการทดลองวิทยาศาสตร์ ได้แก่ สถานที่ ห้องเรียน และอุปกรณ์การทดลอง
  2. พัฒนาและคัดเลือกหลักสูตรและกิจกรรมในการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ที่สอดคล้องกับหลักสูตรของ สปป.ลาว เพื่อให้นำไปปฏิบัติได้จริง
  3. พัฒนาบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์ ผ่านการอบรมเทคนิคการเรียนการสอน และกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างโรงเรียนไทยกับ สปป.ลาว

โครงการให้ความช่วยเหลือด้านการเรียนการสอน และการปฏิบัติการทดลองวิทยาศาสตร์แก่โรงเรียนวัฒนธรรมหลัก 67 ได้ดำเนินการและมีการวัดผลความก้าวหน้ามาโดยตลอด มีการก่อสร้างอาคารปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ การส่งมอบอุปกรณ์ทดลองทางวิทยาศาสตร์ และการฝึกอบรมให้ครูประจำของโรงเรียนมีองค์ความรู้ และสามารถใช้อุปกรณ์ทดลองทางวิทยาศาสตร์ในการเรียนการสอนให้แก่นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลายในโรงเรียนได้

และแม้จะครบระยะเวลาของการดำเนินงานแล้ว แต่โครงการดังกล่าวยังคงให้ความช่วยเหลือด้านการเรียนการสอนทางด้านวิทยาศาสตร์แก่โรงเรียนมาอย่างต่อเนื่อง โดยในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2563 ได้มีการส่งมอบอุปกรณ์สำหรับการทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่จำเป็นสำหรับการเรียนการสอน ให้แก่โรงเรียนวัฒนธรรมหลัก 67 แขวงเวียงจันทน์ รวมมูลค่า 100,000 บาท

ความสำเร็จของโครงการในพระราชดำริดังกล่าว นำไปสู่ความสัมพันธ์อันดีระหว่างครูอาจารย์ทั้งของไทยและ สปป.ลาว รวมทั้งเกิดการกระตุ้นให้เด็กนักเรียนมีความสนใจ และกระตือรือร้นอยากมาเรียนในวิชาวิทยาศาสตร์มากขึ้น ที่สำคัญคือ หลายโรงเรียนใน สปป.ลาว ก็ได้เดินทางมาศึกษาดูงานวิธีการจัดการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์เพื่อนำไปปรับใช้ในสถานศึกษาของตนอีกด้วย

ปัจจุบัน โรงเรียนวัฒนธรรมหลัก 67 มีครูผู้สอนจำนวน 126 คน นักเรียน 1,110 คน และนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงงาน ณ โรงเรียนแห่งนี้มาแล้วถึง 15 ครั้ง

นี่คือส่วนหนึ่งจากความสำเร็จของโครงการในพระราชดำริของ กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ได้มอบโอกาสในการศึกษาเล่าเรียนแก่เด็กๆ ใน สปป.ลาว ซึ่งเป็นหนึ่งในพระราชกรณียกิจที่แสดงให้เห็นว่า นอกจากสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยจะดูแลทุกข์สุขความเป็นอยู่ของพวกเราคนไทยมาโดยตลอดแล้ว ยังเผื่อแผ่ไปถึงพี่น้องประเทศเพื่อนบ้านด้วย ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศแล้ว ยังเป็นสิ่งที่ย้ำคำตอบชัดเจนว่า ทำไมสถาบันพระมหากษัตริย์จึงอยู่ในหัวใจของพวกเราทุกคน