โต้ ‘เรื่องเจียม’ ด้วย ‘เรื่องจริง’ ประเด็นกล่าวหารัชกาลที่ 10 ทรงต้องเสียภาษีมรดกเยอรมัน และเป็นหนี้คลัง 3,000 ล้านยูโรนั้น ‘ไม่เป็นความจริง’

โดยทั่วไปแล้วการเก็บภาษีมรดกของประเทศต่างๆ มีรูปแบบที่แตกต่างกัน ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 3 รูปแบบ คือ

  1. ภาษีกองมรดก (Estate Tax) จะมีการเรียกเก็บจากกองมรดกของผู้ตาย ก่อนที่ทรัพย์สินในกองมรดกจะตกทอดไปยังผู้รับมรดก
  2. ภาษีการรับมรดก (Inheritance Tax) จะมีการเรียกเก็บจากผู้ที่รับมรดก แม้ว่าผู้ตายจะเสียชีวิตไปนานแล้วแต่ถ้ายังไม่มีการแบ่งมรดกแล้วตกทอดไปยังผู้รับมรดก ภาระภาษีก็จะยังไม่เกิด
  3. ภาษีการให้ (Gift Tax) สำหรับภาษีการให้นี้ มีขึ้นเพื่อป้องกันการเลี่ยงภาษีมรดกโดยอาศัยช่องโหว่ของกฎหมาย ด้วยการผ่องถ่ายทรัพย์สินไปยังผู้มีสิทธิในกองมรดก ก่อนที่เจ้ามรดกจะถึงแก่ความตาย ดังนั้นถึงแม้ว่าจะโอนทรัพย์สินก่อนตาย ก็อาจถูกเรียกภาษีการให้ได้เช่นกัน

สำหรับประเทศเยอรมนี มีรูปแบบเป็นภาษีการรับมรดกและภาษีการให้ (Erbschaftsteuer- und Schenkungsteuergesetz (ErbStG), English: Inheritance tax and gift tax law) โดยไม่มีการเรียกเก็บภาษีจากกองมรดก เพราะการเก็บภาษีจากกองมรดกเป็นวิธีการที่ยุ่งยากซับซ้อน และเป็นภาระอย่างมากสำหรับเจ้าหน้าที่ประเมิน

ในหลวง ร.10 เข้าเงื่อนไขที่จะต้องเสียภาษีในเยอรมนีหรือไม่ ?

ตามกฎหมายภาษี Abgabenordnung (The Fiscal Code) ของประเทศเยอรมนี ได้วางหลักเกณฑ์ผู้มีหน้าที่เสียภาษีไว้ นอกเหนือจากการจัดเก็บภาษีตามหลักภูมิลำเนา (Domicile) และหลักสัญชาติ (Nationality or Citizenship) แล้วนั้น นอกจากนี้ ในมาตรา 9 ของกฎหมายฉบับนี้ ได้วางหลักเกณฑ์เกี่ยวกับ Gewöhnlicher Aufenthalt (Habitual abode) ซึ่งเป็นหลักที่อยู่อาศัย โดยให้ถือว่าบุคคลที่มีพำนักอาศัยนานกว่า 6 เดือน และไม่ได้มีจุดประสงค์ในการพำนักเป็นพิเศษ หรือพำนักชั่วคราวไม่เกิน 1 ปี ให้ถือว่าเป็นผู้มีสิทธิพำนักอาศัย (Resident) ก็เป็นผู้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีด้วย

เมื่อพิจารณาจากเงื่อนไขของคุณสมบัติผู้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีอากรของประเทศเยอรมนี จะพบว่าเราต้องไปดูว่า ในหลวง ร.10 อาศัยพำนักอยู่ในประเทศเยอรมนีเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือไม่น้อยกว่า 180 วันหรือไม่

ซึ่งจากกระทู้ถามของพรรคกรีนส์และพรรคฝ่ายซ้ายในรัฐสภาเยอรมัน ถึงสิทธิในการพำนักอาศัยอยู่ในเยอรมนีของพระมหากษัตริย์ไทยตามกฎหมายการพำนักของเยอรมนี รัฐบาลเยอรมนีได้ตอบกระทู้ถามนี้ว่า “ขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร กฎหมายการพำนักและข้อบังคับการเดินทางเข้าประเทศที่เกี่ยวข้องมีผลบังคับใช้กับพระองค์ แต่ตามมาตรา 1 ย่อหน้า 2 ข้อ 2 ของกฎหมายการพำนัก กฎหมายการพำนักไม่สามารถนำมาบังคับใช้ได้กับองค์พระมหากษัตริย์ไทยในฐานะประมุขแห่งรัฐได้”

ความหมายของการตอบกระทู้ถามของรัฐบาลเยอรมัน ก็คือ ในขณะที่ ในหลวง ร.10 ยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระองค์ไม่มีพระสถานะเป็นประมุขของรัฐ ดังนั้น จะต้องปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการตรวจคนเข้าเมือง กล่าวคือ ระเบียบพิธีว่าด้วยการตรวจลงตรา (Visa) รวมถึงต้องทรงมีหนังสือเดินทางระหว่างประเทศ (Passport)

แต่เมื่อ ในหลวง ร.10 มีพระสถานะเป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรไทย ทรงเป็นประมุขของรัฐ ดังนั้นจึงทรงได้รับเอกสิทธิ์และความคุ้มกันตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่ว่า par in parem non habet imperium (ในระหว่างรัฐอธิปไตยด้วยกัน รัฐไม่สามารถใช้อำนาจอธิปไตยเหนือกว่าอีกรัฐหนึ่งได้) ซึ่งในประเด็นนี้ แม้ไม่มีอนุสัญญาระหว่างประเทศได้กำหนดหลักเกณฑ์การให้เอกสิทธิ์และความคุ้มกันแก่ประมุขของรัฐเหมือนอย่างการให้เอกสิทธิ์และความคุ้มกันทางทูตตามอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางทูต ค.ศ. 1961 แต่ทว่า Sir Arthur Watts หัวหน้าที่ปรึกษากฎหมายประจำสำนักงานต่างประเทศ (FCDO) ได้ให้ความเห็นว่า อาจใช้วิธีเทียบเคียง (anaology) หรืออาจใช้เหตุผลแบบ “ยิ่งต้องเป็นเช่นนั้น” (a fortiori) สำหรับการอธิบายเอกสิทธิ์และความคุ้มกันของประมุขแห่งรัฐกับเอกอัครราชทูตได้

เพราะเนื่องจากว่า ขนาดเอกอัครราชทูตซึ่งเป็นผู้แทนทางทูตที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนของรัฐผู้ส่ง ยังมีเอกสิทธิ์และความคุ้มกันตามอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางทูต ค.ศ. 1961 ดังนั้นประมุขของรัฐ (Head of State) หรือประมุขของรัฐบาล (Head of Government) หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (Ministry of Foreign Affairs) ซึ่งเป็นผู้มอบหมายให้ตัวแทนทางทูตออกไปปฏิบัติภารกิจทางการทูตในต่างแดน จึงย่อมมีสิทธิที่ไม่น้อยกว่า ผู้แทนทางทูต (Diplomatic Agents)

ในหลวง ร.10 ไม่เข้าเงื่อนไขคุณสมบัติผู้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีในเยอรมนี เพราะไม่สามารถบ่งชี้ได้ว่าทรงประทับในเยอรมนีระยะเวลาแน่นอนเพียงไร

ในฐานะประมุขของรัฐ จึงเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ ในหลวง ร.10 ได้รับเอกสิทธิ์และความคุ้มกันทางทูต เช่นเดียวกับตัวแทนทางทูต จึงส่งผลให้พระองค์ไม่ต้องทรงผ่านพิธีตรวจคนเข้าเมือง ว่าด้วยการตรวจลงตรา (Visa) และรวมถึงไม่ทรงต้องถือหนังสือเดินทางระหว่างประเทศ (Passport) จึงส่งผลให้การเสด็จพระราชดำเนินเข้าประเทศเยอรมนี รัฐบาลเยอรมันไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการเดินทางเข้าเมือง จึงไม่สามารถระบุได้ว่าพระองค์ประทับอยู่ในประเทศเยอรมนีไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือ ไม่น้อยกว่า 180 วัน ต่อปีหรือไม่

ซึ่งประเด็นดังกล่าวข้างต้นเปรียบเทียบได้กับการที่เยอรมนีเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่เชงเกน (Schengen Area) ที่รัฐเข้าร่วมประชาคม 26 ประเทศ ได้ตกลงร่วมกันอย่างเป็นทางการเพื่อยกเลิกการใช้หนังสือเดินทางและการควบคุมบริเวณพรมแดนทุกประเภท โดยมีนโยบายการตรวจลงตรา (วีซ่า) ร่วมกันสำหรับการเดินทางระหว่างรัฐภาคี นับแต่ ค.ศ. 1985 ทำให้การเคลื่อนย้ายประชากรของรัฐสมาชิกไม่จำเป็นต้องใช้หนังสือเดินทางและไม่ต้องมีวีซ่า

ดังนั้นต่อให้ในหลวง ร.10 จะเสด็จพระราชดำเนินไปยังประเทศอื่นต่อ ก็ไม่จำเป็นต้องผ่านพิธีตรวจลงตรา (Visa) และการที่ไม่ต้องอาศัยหนังสือเดินทางระหว่างประเทศ (Passport) การเข้าเมืองจึงไม่มีการทำหลักฐานเป็นรายลักษณ์อักษร หน่วยงานท้องถิ่นของเยอรมนีจึงไม่มีหลักฐานที่จะระบุได้ว่าทรงเข้าเงื่อนไขการเสียภาษีมรดกหรือไม่

ในหลวง ร.10 ไม่ทรงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีในเยอรมนี เพราะได้รับเอกสิทธิ์และความคุ้มกันทางทูตในฐานะประมุขของรัฐ ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ

และต่อให้ ในหลวง ร.10 เข้าเงื่อนไข ที่จะต้องเสียภาษีมรดก ก็ยังทรงได้รับเอกสิทธิ์และความคุ้มกันทางทูตในฐานะพระประมุขของรัฐ ซึ่งอาศัยวิธีเทียบเคียง (anaology) และให้เหตุผลแบบ “ยิ่งต้องเป็นเช่นนั้น” (a fortiori) ทำให้ทรงได้รับการยกเว้นภาษีอากร ตามอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางทูต ค.ศ. 1961 ซึ่งเคยมีกรณีตัวอย่างในทางปฏิวัติระหว่างประเทศ ที่ศาลโลกเคยตัดสินคดี Arrest Warant ที่เบลเยียมจะออกหมายจับรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ศาลโลกตัดสินว่าทำไม่ได้ เพราะรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงของทูต ดังนั้นจึงยิ่งต้องได้รับเอกสิทธิ์และความคุ้มกันทางทูตเช่นเดียวกับผู้แทนทางทูต

ในหลวง ร.10 ทรงได้รับการยกเว้นภาษี ตามอนุสัญญาภาษีซ้อน ระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน

แม้ว่าในหลวง ร.10 จะทรงได้รับเอกสิทธิ์และความคุ้มกันทางทูตในฐานะประมุขของรัฐ โดยไม่ทรงมีภาระที่จะต้องเสียภาษีในเยอรมนีแล้ว กรณีหากว่าทรงมีความประสงค์ที่จะเสียภาษีมรดก รัฐบาลท้องถิ่นของเยอรมนีก็ไม่มีหลักฐานการเข้าเมืองอยู่ดี ซึ่งไม่สามารถพิสูจน์ตามกฎหมายได้ว่าทรงอยู่อาศัยในประเทศเยอรมนีจนเข้าคุณสมบัติผู้มีหน้าที่เสียภาษีหรือไม่

และถ้าหากสมมุติไปอีกว่า ในหลวง ร.10 มีพระประสงค์จะจ่ายภาษีมรดก และทรงนำหนังสือเดินทาง (ทรงไม่มีหนังสือเดินทาง เพราะประมุขของรัฐไม่ต้องใช้) มายืนยันการเข้าเมืองมาแสดงต่อรัฐบาลท้องถิ่นในแคว้นบาวาเรีย เพื่อแสดงให้เห็นว่าทรงมีคุณสมบัติเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากร รัฐบาลท้องถิ่นแคว้นบาวาเรียก็ไม่สามารถเรียกเก็บภาษีมรดกจากในหลวง ร.10 ได้อยู่ดี

เพราะพระราชมรดกที่ ในหลวง ร.10 จะทรงได้รับ เป็นทรัพย์สินที่อยู่ต่างประเทศ กล่าวคือ เป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ของในหลวง ร.9 ซึ่งอยู่ในประเทศไทยทั้งสิ้น และระหว่างประเทศไทยกับเยอรมนี มีการทำความตกลงระหว่างกันเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน ค.ศ. 1967

ซึ่ง ข้อตกลงที่ 23 (1) ได้กำหนดให้ “คนชาติของรัฐผู้ทำสัญญาหนึ่งจะต้องไม่ถูกบังคับในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งให้เสียภาษีอากรใดๆ หรือให้ปฏิบัติตามข้อประสงค์ใดๆ เกี่ยวกับการนั้น ซึ่งเป็นการนอกเหนือไปจากหรือเป็นภาระหนักกว่าการเก็บภาษีอากรและข้อประสงค์ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคนชาติของอีกรัฐหนึ่งนั้นถูกหรืออาจถูกบังคับให้เสีย หรือให้ปฏิบัติตามในพฤติการณ์เดียวกัน”

หมายความว่า คนไทยหรือคนเยอรมันก็ตาม หากเสียภาษีในประเทศไทยหรือในเยอรมนีไปแล้ว จะไม่ถูกเก็บภาษีซ้ำอีกครั้งหนึ่งตามกฎหมายของอีกประเทศ ซึ่งข้อตกลงที่ 23 (4) ได้กำหนดเอาไว้ว่าความหมายของภาษีอากรนั้น ในข้อนี้ คำว่า “ภาษีอากร” หมายถึงภาษีอากรทุกชนิดทุกลักษณะ

ดังนั้น หากมีการเก็บภาษีมรดกในประเทศไทยแล้ว ก็ไม่ต้องเสียภาษีมรดกในประเทศเยอรมนี

หากเป็นกรณีที่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมรดกในเยอรมนี แล้วการรับมรดกเกิดในประเทศไทย

คนไทยต่อให้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมรดกในเยอรมนี แต่อนุสัญญาความตกลงระหว่างกันเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน ค.ศ. 1967 หากสมมุติไปว่าไม่มีอนุสัญญาภาษีซ้อน แล้วเกิดมีคนไทยจะต้องเสียภาษีมรดกในเยอรมนี รัฐบาลท้องถิ่นของเยอรมนีก็ไม่อาจจะมีสภาพเรียกประเมินภาษีได้ เพราะรัฐบาลท้องถิ่นเยอรมนีไม่มีทางทราบได้เลยว่าทรัพย์มรดกมีปริมาณและมูลค่าเท่าไหร่ เมื่อหน่วยจัดเก็บประเมินภาษีไม่ได้ จึงไม่อาจเรียกเก็บภาษีได้ ถึงแม้ว่าตามกฎหมายของประเทศเยอรมนี สำหรับภาษีการรับมรดกจะครอบคลุมไปถึงทรัพย์สินที่เกิดจากการรับมรดกทั้งในประเทศหรือการรับมรดกในต่างประเทศก็ตาม

หากรัฐบาลเยอรมนีจะเก็บมรดกซึ่งเป็นทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ ต้องทำอย่างประเทศอเมริกา ที่ออกกฎหมาย Foreign Account Tax Compliance Act หรือ FATCA ซึ่มีวัตถุประสงค์ไม่ให้คนอเมริกันเลี่ยงภาษีด้วยวิธีไปเปิดบัญชีธนาคารนอกอเมริกา ดังนั้นรัฐบาลอเมริกาจึงกำหนดให้สถาบันการเงินนอกสหรัฐอเมริกาต้องรายงานข้อมูลธุรกรรมการเงินและข้อมูลบัญชีของคนอเมริกันไปยังสรรพากรของสหรัฐอเมริกา (Internal Revenue Service : IRS)

อันที่จริงแล้วสถาบันการเงินของประเทศอื่นๆ ทั่วโลกจะไม่ยินยอมรายงานข้อมูลธุรกรรมการเงินและข้อมูลบัญชีของคนอเมริกันไปยังสรรพากรของสหรัฐอเมริกาก็ได้ แต่เนื่องจากทุกประเทศทั่วโลกมีการทำธุรกรรมทางการเงินกับสหรัฐอเมริกาในระดับสูง ดังนั้นถ้าไม่ให้ความยินยอมให้ความร่วมมือกับ IRS กฎหมายฉบับดังกล่าวกำหนดให้ IRS เรียกเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่าย จากสถาบันการเงินนั้นๆ ที่ทำธุรกรรมในอเมริกาได้ในอัตรา 30% นอกจากนี้รัฐบาลอเมริกาอาจปฏิเสธการทำธุรกรรมกับสถาบันการเงินต่างชาติที่ไม่ให้ความร่วมมือเลยก็ได้

ดังนั้นสถาบันการเงินทุกประเทศทั่วโลก จึงยอมทำตาม FATCA เพราะสถาบันการเงินส่วนใหญ่ของโลกมีธรุกรรมกับประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ว่าถ้าประเทศอื่นจะใช้มาตรการเดียวกันนี้เหมือนอย่างอเมริกา เพื่อให้องค์กรหรือหน่วยงานในต่างแดนเปิดเผยทรัพย์สินบุคคล ก็จะสามารถบังคับให้เปิดเผยได้เฉพาะคนในบังคับสัญชาติตนเท่านั้น นอกจากนี้องค์กรหรือหน่วยงานในต่างแดนอาจไม่ให้ความร่วมมือด้วย เพราะประเทศต่างๆ ไม่มีข้อต่อรองที่สูงเหมือนอย่างอเมริกา และแม้กระทั่งรัฐบาลอเมริกาเองก็ใช้มาตรการนี้ได้เพียงกับสถาบันการเงิน แต่รัฐบาลอเมริกาเองก็ไม่มีอำนาจที่จะให้องค์กรหรือหน่วยงานในต่างแดนนอกภาคการเงินเปิดเผยทรัพย์สินของคนในชาติตนได้

ดังนั้น การเรียกเก็บภาษีในทรัพย์สินที่อยู่ต่างประเทศ จึงเป็นอะไรที่ยากมาก เพราะหน่วยงานจัดเก็บไม่สามารถที่จะไปบังคับเอาข้อมูลมาแสดงได้ ดังนั้นเมื่อประเมินภาษีไม่ได้ก็ไม่สามารถเรียกเก็บภาษีได้นั่นเอง

อ้างอิง :

[1] อนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางทูต ค.ศ. 1961
[2] ความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน ค.ศ. 1967
[3] Foreign Account Tax Compliance Act 2009
[4] ดนุพล จาตุรนต์พงศา และ Danupol Jaturonpongsa. ปัญหาการหลีกเลี่ยงภาษีการรับมรดก และภาษีเงินได้จากการรับให้. [ม.ป.ท.]: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์; 2558.
[5] ฤทัย พูลสวัสดิ์. ภาษีมรดก. [ม.ป.ท.]: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์; 2545.
[6] สุธิดา ถนอมจิตร และ Sutida Tanomjit. ภาษีมรดกและภาษีการให้ กรณีศึกษาเปรียบเทียบระหว่างประเทศไทยกับประเทศสหรัฐอเมริกา. [ม.ป.ท.]: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์; 2554.

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได