‘อยุธยา ยุทธการ’ เกมอำนาจเมืองท่าขุมทองโลก ตอนที่ 2

บทความโดย นายปฎิพล อภิญญาณกุล

เจ้าพระยาสุริยวงศ์ ให้เหตุผลในที่ประชุมเสนาว่า การที่เรากระทำเช่นนี้เพราะภัยได้มาถึงตัว .. จึ่งได้ยกเอาพระอาทิตย์วงศ์ ขึ้นเป็นพระมหากษัตรย์ ทรงมีพระนามอย่างเป็นทางการว่า “สมเด็จพระอาทิตยวงศ์”

นั่นแสดงให้เห็นถึงว่า นับจากหลังสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ เหล่าขุนนางข้าราชการต่างพากันเกาะกลุ่มกลายเป็น “กลุ่มอำนาจใหม่” ขึ้นมาคานอำนาจจากเชื้อพระวงศ์ที่เคยมีมาในอดีต ไม่ว่าจะเป็นอำนาจจากราชวงศ์อู่ทองในอดีต ราชวงศ์สุพรรณภูมิ ราชวงศ์สุโขทัย

ขุนนางราชการต่าง ๆ เหล่านั้น เพราะด้วยคุ้นเคยกับการมีอำนาจและใช้อำนาจที่ได้รับจนเจนจบ จึงเห็นช่องทาง “เสี่ยง” ที่จะดึงผลประโยชน์เข้าหาตนเอง โดยใช้วิธีการสนับสนุนกษัตริย์หรือเปลี่ยนแปลงตัวกษัตริย์ ให้เป็นไปสอดคล้องกับเส้นทางของผลประโยชน์ของตน

ความเสี่ยงที่ถ้าสำเร็จ ก็ร่ำรวยและมั่นคง และถ้าล้มเหลวก็ถูกประหารและครอบครัวถูกลดชั้นไปเป็นทาส … ความเสี่ยงเช่นนี้ ช่างยั่วยวนมาทุกสมัย

ดังนั้นในแต่ละยุคสมัย เมื่อกลุ่มขุนนางกลุ่มหนึ่งขึ้นมามีอำนาจจึงต้องหาวิธีการขจัด+กำจัด กลุ่มขุนนางราชการอีกฝ่ายที่ไม่ใช่ฝ่ายของตนให้หมดไป … ด้วยการยุแยงกับกษัตริย์ที่ตนเองสนับสนุนให้ลงโทษ เพื่อเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม หรือชี้ให้เห็นถึงเสี้ยนหนามอันอาจจะเป็นภัยกับตำแหน่งของกษัตริย์เอง

บรรยากาศความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน ทั้งฝ่ายขุนนางเก่าใหม่และฝ่ายเชื้อพระวงศ์ พระญาติ จึงเริ่มเกิดขึ้นในราชสำนักอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ทุกคนต้องคอยระวังหลัง

เมื่อสมเด็จพระอาทิตยวงศ์ ขึ้นเป็นกษัตริย์ พระองค์เป็นกษัตริย์ที่มีอายุน้อย เพียง 10 ขวบเท่านั้น … เป็นวัยที่วิ่งเล่นอยู่ตลอดเวลา ไม่สามารถจัดการกับปัญหาบ้านเมืองได้

ขณะนั้นโปรตุเกส ฮอลันดา ญี่ปุ่น ต่างก็เข้ามาทำการค้ามากมาย อยุธยาเป็นแผ่นดินที่กลายเป็นทองคำ เป็นทองคำแผ่นใหญ่ที่ตั้งอยู่บนความกระหายอยากของชนชาติต่าง ๆ

เมื่อขุนนางข้าราชการต่าง ๆ เห็นปัญหาใหญ่ที่รอการตัดสินใจ แต่กษัตริย์ผู้เยาว์มิอาจทำหน้าที่ตรงนี้ได้ … ดังนั้นใน 6 เดือนต่อมา เหล่าขุนนางต่างพากันตกลงใจมีมติถอดสมเด็จพระอาทิตยวงศ์ออกจากพระเจ้าแผ่นดิน แล้วถวายราชสมบัตินั้นให้กับ เจ้าพระยาสุริยวงศ์ ขึ้นเป็น “สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง”

(หลักฐานตามพงศาวดาร กล่าวว่า สมเด็จพระอาทิตยวงศ์อยู่ในราชสมบัติ 6 เดือน แต่หลักฐานจากจดหมายเหตุวันวลิต บอกว่าครองราชย์เพียง 38 วัน)

สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง จึงเป็นกษัตริย์ราชวงศ์ใหม่ คือ “ราชวงศ์ปราสาททอง” จากเดิมที่มีมาก่อนหน้านั้น คือราชวงศ์อู่ทอง ราชวงศ์สุพรรณภูมิ ราชวงศ์สุโขทัย

และด้วยประสบการณ์ตรงที่สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง อยู่ในแวดวงการแก่งแย่งอำนาจ รู้ลึกถึงกำลังฝ่ายขุนนางฝ่ายปกครองที่เข้ามาทดแทนอำนาจเดิมของเหล่าเชื้อราชวงศ์ พระองค์จึงรู้ว่าขุนนางชั้นสูงมีอำนาจมากและอยู่นาน ๆ ไปนั้น สามารถก่อกบฏหรือปลดเปลี่ยนกษัตริย์ได้ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อราชบัลลังก์

สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง จึงได้คิดยุทธวิธีใหม่ด้วยการปรับเปลี่ยนวิธีการ โดยจะไม่ให้ขุนนางคนใดคนหนึ่งอยู่ในตำแหน่งที่กุมอำนาจนานเกินไป  เช่น อยู่ ๆ ไป 3 เดือนเปลี่ยนบุคคลใหม่  อยู่ ๆ ไป 6 เดือนเปลี่ยนอีกบุคคลใหม่เข้ามา การสลับสับเปลี่ยนตำแหน่งขุนนางที่มีอำนาจบ่อย ๆ ทำให้ขุนนางข้าราชการต่าง ๆ ไม่สามารถสะสมกำลังหรือบารมีในหน่วยของตนได้นาน ๆ โดยเฉพาะขุนนางฝ่ายปกครอง ที่ดูแลไพร่หลวง ดูแลกองกำลังต่าง ๆ 

การสลับสับเปลี่ยนโยกย้ายเช่นนี้ แม้จะเกิดผลดีต่อกษัตริย์ ทำให้ไม่ต้องระแวงการก่อกบฏ – แต่ในอีกด้านหนึ่ง มันก็ทำให้ระบบขุนนางข้าราชการอ่อนแอลง ไม่มีกำลังใจปฏิบัติราชการ  เพราะไม่รู้จะถูกย้ายไปที่อื่นหน่วยอื่น เมื่อไร อย่างไร 

รวมถึงแต่เดิมมีเพียงตำแหน่งเสนาบดีกลาโหมตำแหน่งเดียว ที่กุมกำลังทหารทั้งหมด สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ทรงได้แยกเสนาบดีออกเป็น 2 ฝ่าย เพื่อคานอำนาจกันและกัน นั่นคือ เสนาบดีฝ่ายกลาโหม และเสนาบดีฝ่ายมหาดไทย (ยิ่งถ้าเลือกคนที่เป็นคู่ขัดแย้งกันมาคุมตำแหน่งนี้ยิ่งดี) โดยให้เสนาบดีกลาโหม ดูแลหัวเมืองทางภาคเหนือ / ให้เสนาบดีมหาดไทย ดูแลหัวเมืองทางภาคใต้

ไม่เพียงเท่านั้น สมเด็จพระเจ้าปราสาททองยังดึงอำนาจของเจ้าเมืองใหญ่ ๆ ตามหัวเมืองต่าง ๆ ให้เข้ามาอยู่ในส่วนกลาง วิธีการคือให้เจ้าเมืองเหล่านั้นเข้ามาปฏิบัติหน้าที่เข้าเฝ้าในพระราชวังทุกวัน อ้างว่าเพื่อปรึกษาหารือข้อราชการ โดยทางอยุธยาจะส่งผู้รั้งเมือง หรือตัวแทนไปอยู่รักษาเมืองแทน

การดึงให้เจ้าเมืองที่มีอำนาจเข้ามาร่วมปรึกษาหารือในอยุธยา แท้ที่จริงคือการป้องกัน การสะสมกำลังเพื่อก่อกบฏของหัวเมืองที่มีอำนาจ – ใครจะกล้าก่อกบฏ ถ้ารู้ว่าหัวตัวเองวางอยู่บนเขียงทุกวัน แม้นพ่อแม่ลูกเมียถึงจะอยู่ในเมืองของพวกตน แต่ผู้รั้งเมืองจากอยุธยา ทำทีไปปฏิบัติราชการแทน แต่ก็คือการจับจ้องดูอยู่

ในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ไม่มีสงครามใหญ่ใด ๆ จึงไม่สิ้นเปลืองงบประมาณในทางการทหาร ส่งผลให้การค้าขายแลกเปลี่ยนระหว่างชาติต่าง ๆ กับอยุธยา จึงราบรื่นรุ่งเรืองขึ้น “พระคลังการค้า” (หรือพระคลังสินค้า) ได้ถูกตั้งขึ้นมาก่อนหน้านี้ จากที่เคยเก็บเพียงจังกอบ ฤชา หรือภาษีการค้า ภาษีผ่านด่าน ภาษีตามขนาดเรือใด

บทบาทใหม่ของพระคลังการค้า คือหันมาทำการค้าเสียเอง ด้วยการผูกขาดสินค้าที่มีมูลค่าต่าง ๆ จากราษฎร ต้องขายให้กับพระคลังการค้า จากนั้นพระคลังการค้าจะขายให้กับชาติตะวันตกอื่น ๆ อีกทอดหนึ่ง

การใช้ทุนหลวง เข้าซื้อสินค้า แล้วขายเอง ทำให้เป็นการตัดช่องทางของเหล่าขุนนางข้าราชการ ที่เคยมีรายได้จากการค้านี้มาก่อน ได้สร้างความไม่พอใจขึ้นกับขุนนางที่มีผลประโยชน์

เรื่องขุนนางข้าราชการ ตุกติกหาผลประโยชน์จากอำนาจและหน้าที่ที่ตนเองทำ เป็นปกติมีมาในทุกยุคสมัย ยิ่งสมัยการค้ารุ่งเรืองนับจากมีชาติต่าง ๆ เข้ามาค้าขาย ขุนนางเหล่านี้จึงย่อมรู้จักแหล่งที่มาของสินค้าว่าจะเอามาจากไหน จากบ้านใคร จากตำบลใด แล้วนำมาค้าขายกับโปรตุเกส ฮอลันดา อันเป็นช่องทางผลประโยชน์ที่เกิดขึ้่นในเวลานั้น

และเมื่อพระคลังการค้า “ผูกขาดการค้า” เพียงคนเดียว … ผลประโยชน์ที่เคยได้ของขุนนางหลาย ๆ กลุ่ม จึงร่อยหลอไป ที่เคยได้มากก็ได้น้อย ที่ได้น้อยก็หายไป

ขณะเดียวกันในมุมของสำนักราชการอยุธยา การมีพระคลังการค้าเท่ากับเป็นการตัดกำลังสะสมของเหล่าขุนนางเหล่านั้นไปในตัว และขณะเดียวกันในมุมของชาติยุโรป ไม่ว่าจะเป็น โปรตุเกส สเปน ฮอลันดา มันคือผูกขาดสินค้าไว้เพียงผู้เดียวของอยุธยา จากที่สามารถส่งตัวแทนบริษัทออกไปซื้อหากับราษฎรได้โดยตรง หรือผ่านขุนนางให้เป็นตัวแทนจัดหาสินค้าต่าง ๆ กลับต้องหันมาค้าขายกับทางรัฐบาลกลางเท่านั้น

หนึ่งเรื่องเดียวกัน แต่ 3 มุมมอง ..

มุมมองที่ 1 เมื่อมองจากขุนนางที่มีส่วนได้เสียและเคยอาศัยช่องทางการค้าขายกันเอง ย่อมไม่พอใจในการเสียประโยชน์ การเกิดขึ้นของทุนใหญ่และผูกขาดอย่างพระคลังการค้า ทำให้พวกเขาถูกตัดช่องทางทำมาหากิน ขุนนางหลายกลุ่มคงอึดอัดกับสภาพคล่องที่ไม่คล่องเหมือนเดิม แต่จะร้องเรียนอะไรกับใครได้ ในเมื่อพระคลังการค้าเป็นสิ่งที่พระมหากษัตริย์คิดจะดำเนินการเสียเอง

มุมมองที่ 2 เมื่อมองจากส่วนกลางพระคลังการค้า การผูกขาดนั้นย่อมยินดีในผลประโยชน์ เพราะจากการเกิดสงครามต่าง ๆ ในสมัยที่ผ่านมา ทำให้เสียค่าใช้จ่ายมากมาย อันจะเก็บภาษีจากราษฎรอย่างเดียวก็ไม่ได้มากนัก เมื่อการค้าคึกคักมีความต้องการสินค้าจากชาติต่าง ๆ เข้ามา  ราษฎรตามเมืองต่าง ๆ ย่อมต้องออกไปหาสินค้าเหล่านั้นมาตอบสนองความต้องการของตลาด ย่อมทำให้เศรษฐกิจซื้อขายแลกเปลี่ยนในประเทศเพิ่มขึ้น ท้องพระคลังหลวงจึงมั่นคง

มุมมองที่ 3 เมื่อมองจากชาติต่าง ๆ ที่เข้ามาค้าขาย การเก็บภาษีซ้ำซ้อนก็เป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับ ไหนภาษีด่าน ภาษีการค้า ครั้นมาพบกับการผูกขาดสินค้าของพระคลังการค้า ที่ห้ามชนชาติต่าง ๆ ซื้อขายกับราษฎรโดยตรง ต้องซื้อจากรัฐบาลกลางเท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่ารัฐบาลกลางย่อมบวกกำไรไว้จำนวนหนึ่ง และถือเป็นต้นทุนเพิ่มขึ้นสำหรับผู้ซื้อ

การค้าเสรีที่ชาวต่างชาติต้องการ คือการได้เข้าไปซื้อหากับราษฎร ต่อรองกับราษฎร โดยไม่ต้องให้รัฐบาลกลางยุ่งเกี่ยว … นั้นคือการค้าเสรีที่ชาวต่างชาติต้องการนับจากอดีตถึงปัจจุบัน

สินค้าที่พระคลังการค้าผูกขาด ราษฎรต้องขายให้รัฐ แล้วรัฐจะขายให้ผู้ซื้อที่เป็นชาวต่างประเทศ ล้วนแต่เป็นสินค้าที่มีมูลค่าในฝั่งตะวันตกทั้งสิ้น อาทิ งาช้าง เขากวาง หนังกวาง ไม้กฤษณา ไม้จันทร์ ไม้หอม ถ้วยชาม ผ้าแดง รังนก ดีบุก พริกไทย – หรือเรียกรวม ๆ ว่า เครื่องเทศและของป่า

พระคลังการค้าหรือพระคลังสินค้า น่าจะเริ่มต้นในยุคพระเจ้าทรงธรรม แต่กิจการยังเล็ก ค่อย ๆ ขยับเติบโตมาในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง มารุ่งเรืองขีดสุดร่ำรวยเงินทองเงินเต็มท้องพระคลัง จนถนนบนแผ่นดินสยามแทบจะปูด้วยทองคำ คือยุคสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ยุคที่ชาวต่างชาติพากันลงเรือเพื่อมา “ขุดทอง” ทั่วทั้งแผ่นดินสยาม (ขุดทองในที่นี้ เปรียบแทนความหมายของการหาเครื่องเทศและของป่า)

ในขณะเดียวกัน ทหารอาสาซึ่งเป็นชาวต่างชาติ ก็ได้ปรากฏให้เห็นขึ้นมาอย่างชัดเจน บนแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ..

สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ทรงไม่เชื่อใจต่อกำลังทหารของคนไทย พระองค์ทรงทราบดีถึงการก่อกบฏ ทรยศ จนถึงการลอบปลงพระชนม์ ต่างเกิดจากฝีมือกองกำลังคนไทย ภายใต้อำนาจขุนนางคนใดคนหนึ่ง เพราะพระองค์เองก็ได้ทรงกระทำมันมาก่อน

ในแผ่นดินก่อนหน้านี้ คือแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถ และแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ได้มีกองอาสาญี่ปุ่นเข้ามาเป็นทหาร  เพียงแต่มีจำนวนไม่มาก และไม่มีบทบาทเด่นอะไรนัก

พอครั้งถึงแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง กองอาสาทหารญี่ปุ่นก็ยังคงมีอยู่ แต่ได้เพิ่มเติมด้วยการรับสมัครกองอาสาเพิ่มเข้ามา ประกอบด้วยกองอาสาจากโปรตุเกส มลายู มุสลิม จนถึงชาวอิหร่าน

การมีทหารกองอาสาต่างชาติ ได้ทำให้เกิดเป็นระบบการว่าจ้างจ่ายเงินให้เป็นทหารประจำขึ้นมา อันดีกว่าการมีทหารจากชาวสยามอยุธยาเอง เพราะทหารอยุธยาจะมาจากพวกไพร่หลวง ขณะเดียวกันไพร่หลวงจะมีกฎหมายกำหนดให้เข้าเดือนออกเดือน ทำให้ขาดประสิทธิภาพในทำงานต่อเนื่อง

และที่สำคัญ ไพร่หลวงหรือทหารในกรมกอง จะต้องขึ้นอยู่กับขุนนางในตำแหน่งต่าง ๆ แต่กองทหารอาสา จะขึ้นอยู่กับพระมหากษัตริย์เท่านั้น  เท่ากับกษัตริย์มีกำลังทหารในมือของตัวเอง

การมีกองอาสาชาวต่างชาติบนแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา มีทั้งผลบวกและผลลบปรากฏเรื่องราวต่าง ๆ หลากหลายก็เมื่อถึงยุคสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

บทความอันยาวนี้ ใจความหลักจะมุ่งเน้นเหตุการณ์การค้าและการต่อสู้ในยุคสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่ก็มิอาจเกริ่นไล่เรียงความให้เห็นความเป็นไปเป็นมาตั้งแต่ต้น ของการที่ชนชาติต่าง ๆ เข้ามาในแผ่นดินสยาม เข้ามาพร้อม ๆ กับเหตุการณ์การเมืองภายในอยุธยา ที่มีการเปลี่ยนแปลงราชวงศ์ตามไปด้วย

ในโอกาสอันงดงาม ก็ย่อมมีอุปสรรคบางอย่างแอบซ่อนอยู่ในโอกาสที่งดงามนั้น ฉันใด เส้นทางที่ราบรื่น ก็ใช้ว่าจะราบเรียบเสมอไปโดยไม่มีหลุมเล็ก ๆ หรือหินเล็ก ๆ เกะกะขวางทาง ก็ฉันนั้น

เส้นทางการค้าของอยุธยาและโอกาสอันงดงามของโปรตุเกส ฮอลันดา อังกฤษ ฝรั่งเศส ก็ดุจเช่นกัน

เมื่อสิ้นแผ่นดินอันสงบของ สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง อยุธยาก็เข้าสู่ช่วงสับสนทางอำนาจอีกครั้งหนึ่ง

โปรดติดตามในตอนที่ 3

ติดตามอ่าน ‘อยุธยา ยุทธการ’ เกมอำนาจเมืองท่าขุมทองโลก ครบทุกตอนได้ที่นี่

อ้างอิง :

[1] พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา. ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์
[2] พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา. ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)
[3] พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา. ฉบับ วลิต
[4] ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 79 จดหมายเหตุวันวลิต – หอสมุดแห่งชาตินครศรีธรรมราช 
[5] สำนักงานวิจัยแห่งชาติ (ว.ช) ภูมิรัฐศาสตร์กับความมั่นคงของประเทศไทย
[6] กรมศิลปากร. เอกสารของฮอลันดา สมัยอยุธยา
[7] กรมศิลปากร. ประชุมพงศาวดาร เล่ม 27 , เล่ม 34 , เล่ม 42
[8] กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. พงศาวดารไทยรบพม่า
[9] จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ย้อนรอยสายไหม
[10] มิวเซียมไทยแลนด์. (Museum Thailand) อยุธยาในบันทึกของสเปน
[11] นิธิ เอียวศรีวงศ์. การเมืองไทยในสมัยพระนารายณ์
[12] ลำจุล ฮวบเจริญ. เกร็ดพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา
[13] สถาปัตย์ เชื้อมงคล. สยามประกาศสงครามกับอังกฤษ 
[14] อานนท์ จิตรประภาส. การค้าและการเมืองในสมเด็จพระนารายณ์
[15] ศิลปวัฒนธรรม. ฉากแรกสัมพันธ์อยุธยา-โปรตุเกส การรับทูตตะวันตกครั้งแรกในอยุธยา
[16] นันทา สุตกุล. (แปล) เอกสารฮอลันดาสมัยกรุงศรีอยุธยา
[17] ภาณุดา วงศ์พรหม. พลิกแผ่นดิน จากใต้เงาปีกมหาอำนาจสู่อิสรภาพของประเทศในเอเซีย
[18] วชิรญาณ. จดหมายเหตุฟอร์บัง

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r