‘หลวงเดชสหกรณ์’ บุตรเสนาบดีอัจฉริยะ ผู้วางรากฐานแผนพัฒนาชาติ

การพัฒนาเศรษฐกิจนั้นเป็นการดำเนินงานที่มิได้ทำอย่างล่องลอย แต่ต้องมีนโยบายหรือมาตรการออกมาโดยชัดเจนว่าจะเน้นที่ส่วนใดหรือจะมอบสิทธิเศษให้แก่ธุรกิจกลุ่มไหนในการพัฒนาซึ่งเป็นปกติของการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งทุกประเทศต่างก็มีแผนเช่นนี้ทั้งสิ้นโดยอาจจะมีทั้งแผนเล็กและแผนใหญ่ประกอบกันไปเพื่อวางลู่แนวทางในการพัฒนาเอาไว้อย่างสอดคล้องกัน

ไทยเองก็มีแผนพัฒนาเช่นนี้ด้วย ในปัจจุบันเราคงคุ้นเคยกับชื่อของแผนการพัฒนาอย่างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หรือแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติซึ่งในปัจจุบันเป็นฉบับที่ 13 แล้ว การมีแผนเช่นนี้อาจนับเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของการมีระบบราชการที่มีความสามารถพอในการทำความเข้าใจและดำเนินงานได้ แม้เราจะรู้กันว่าแผนพัฒนาของไทยนั้นเกิดขึ้นอย่างเด่นชัดในยุคของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ถูกเรียกว่าเป็นยุค “น้ำไหล ไฟสว่าง” นั้น แต่เรามักไม่รู้กันว่าใครเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังในการทำงานนั้นๆ บ้าง ซึ่งบุคคลสำคัญผู้หนึ่งที่อยู่เบื้องหลังการประสานงานและวางรากฐานแผนพัฒนาในยุคของจอมพลสฤษดิ์ คือ หลวงเดชสหกรณ์ (ม.ล. เดช สนิทวงศ์) บุตรชายของเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการของรัชกาลที่ 5

หลวงเดชสหกรณ์ (ม.ล. เดช สนิทวงศ์) [1] นั้นหลังจากได้ทุนรัฐบาลไปเรียนต่อในระดับมัธยมที่เยอรมนีไม่นานก็ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ขึ้น ในระยะแรกนั้นไทยยังไม่ได้รับผลกระทบอะไรเพราะวางตัวเป็นกลาง แต่หลังจากไทยเข้าร่วมประกาศสงครามกับเยอรมนีทำให้รัฐบาลเยอรมนีจับกุมหลวงเดชสหกรณ์ขังไว้อยู่ราวปีเศษ หลังจากที่สงครามสิ้นสุดลง หลวงเดชสหกรณ์ได้เข้าสมัครรับราชกาเรป็นทหารอาสาเพื่อช่วยเป็นล่ามให้กองทหารไทยที่ถูกส่งไปร่วมยึดครองดินแดนที่เยอรมนี หลังจากภารกิจเสร็จสิ้นหลวงเดชสหกรณ์จึงได้เดินทางกลับไทย เมื่อกลับมาแล้ว บิดาของท่านเห็นว่าเสียเวลาเรียนมาแล้วถึงสามปีควรจะรีบศึกษาต่อให้เสร็จ หลวงเดชสหกรณ์จึงได้ไปศึกษาต่อที่สวิตเซอร์แลนด์และได้รับปริญญาบัตรเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเบิร์นเมื่อ พ.ศ. 2463 และสำเร็จการศึกษาระดับดุษฎีบัณฑิตเมื่อ พ.ศ. 2468 ก่อนจะเดินทางไปเรียนภาษาและประวัติศาสตร์เศรษฐกิจการค้าระหว่างไทยกับอังกฤษที่อังกฤษแล้วจึงเดินทางกลับไทยเมื่อ พ.ศ. 2469

หลวงเดชสหกรณ์เริ่มรับราชการเป็นนายเวรที่กระทรวงพาณิชย์ และท่านมีความสนใจด้านเกษตรและสหกรณ์มาตั้งแต่เริ่มเพราะเห็นว่าการรวมกลุ่มของชาวนาจะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจได้ และหลวงเดชสหกรณ์เองก็ได้รับความรู้ด้านสหกรณ์จากยุโรปไม่น้อยด้วย ด้วยเหตุนี้ท่านจึงได้พยายามเผยแพร่ความรู้ แต่ท่านก็ตระหนักว่าชาวนานั้นไม่มีที่ให้กู้เงิน ท่านจึงมีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งธนาคารเพื่อการสหกรณ์ใน พ.ศ. 2486 และเป็นผู้จัดการคนแรก ซึ่งธนาคารนี้ในปัจจุบันคือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) นั่นเอง

หลวงเดชสหกรณ์มีความก้าวหน้าตามลำดับและรับหน้าที่สำคัญหลายตำแหน่ง เช่น รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ (พ.ศ. 2486 – 2487 และ 2490 – 2491) หรือผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (พ.ศ. 2492 -2495) ผลงานสำคัญของท่านคือการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยเริ่มจากการได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการในสภาเศรษฐกิจช่วงของจอมพล ป. พิบูลสงคราม และท่านได้รับตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการกับต่างประเทศซึ่งมีภารกิจคือประสานงานความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและวิชาการจากสหรัฐอเมริกา

ในการช่วยเหลือนี้นั้นมีปัญหาอยู่อย่างหนึ่งคือการจะขอความช่วยเหลือใดๆ จะต้องผ่านการศึกษาอย่างถี่ถ้วนก่อน แต่สภาเศรษฐกิจขณะนั้นขาดผู้มีคุณวุฒิอย่างมาก ท่านจึงเสนอให้รัฐบาลจัดตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิโดยเฉพาะ อันนำไปสู่การตั้งคณะกรรมการดำเนินการทำผังเศรษฐกิจของประเทศเมื่อ พ.ศ. 2496 โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และตัวท่านเองเป็นรองประธาน ต่อมาหลวงเดชสหกรณ์เสนอให้คณะกรรมการให้ความสำคัญกับการจัดทำแผนแม่บทซึ่งต้องเริ่มจากการพิจารณากลั่นกรองงบลงทุนของรัฐบาลก่อน จากนั้นจึงวางผังเศรษฐกิจ การเสนอเช่นนี้ของท่านจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

หลวงเดชสหกรณ์ต่อมาได้เสนอให้รัฐบาลไปขอความช่วยเหลือจากธนาคารโลกให้ส่งผู้เชี่ยวชาญมาสำรวจเศรษฐกิจไทยซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการกู้เงิน ซึ่งธนาคารโลกได้ส่ง Paul T. Ellsworth จากมหาวิทยาลัยซินซินเนติและเคยเป็นนักวิเคราะห์อาวุโสของกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ โดยเข้ามาในช่วง พ.ศ. 2500 – 2501 หลังจากทำการสำรวจก็ได้มีการจัดทำรายงานที่ชื่อว่า A Public Development Program for Thailand ขึ้น ซึ่งเป็นเอกสารที่ไทยจะใช้พัฒนาเศรษฐกิจต่อมาเพราะได้มีการจัดตั้งสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติขึ้นตามการแนะนำของธนาคารโลก และหลวงเดชสหกรณ์ได้รับเลือกเป็นประธานติดกันถึง 13 ปี หรือท่านมีส่วนในการจัดทำแผนพัฒนาตั้งแต่ฉบับที่ 1 จนถึงฉบับที่ 3 เลยทีเดียว

ผลจากแผนพัฒนานี้ทำให้ไทยได้พัฒนาแทบจะทุกด้าน และเศรษฐกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง หลวงเดชสหกรณ์ยังดำรงตำแหน่งสำคัญต่างๆ เพื่อดำเนินงานทางสังคมอีกหลายประการ เช่น นายกสมาคมเศรษฐศาสตร์แห่งประเทศไทย นายกสมาคมวัฒนธรรมไทย-เยอรมัน และได้รับเชิญให้เป็นประธานกรรมการและกรรมการบริหารของบริษัทเอกชนหลายแห่ง นอกจากนี้หลวงเดชสหกรณ์ยังได้ใช้ความรู้สนองพระเดชพระคุณรัชกาลที่ 9 ด้วยการบริหารโครงการในพระราชประสงค์หลายโครงการ เช่น โครงการสหกรณ์โคนม ต่อมาหลวงเดชสหกรณ์ได้เป็นประธานองคมนตรีเมื่อ พ.ศ. 2518 และเสียชีวิตในปีเดียวกันขณะมีอายุได้ 77 ปี ชีวิตของท่านจึงเรียกได้ว่าทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติมากมายโดยมิได้พักเหนื่อยเลย

อ้างอิง :

[1] เรียบเรียงจาก กรมศิลปากร, ลูกเจ้าพระยาในกระแสการเปลี่ยนแปลง (กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2565), หน้า 141-151.

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า