‘อาณาจักรจามปา’ ความรุ่งเรืองขั้นสุดที่ล่มสลาย และถูกไล่ร่นจากเวียดนามถึงกลันตัน

ความสัมพันธ์ระหว่างจามและกลันตัน

ชาวจาม’ คือชนกลุ่มหนึ่งที่มีถิ่นกำเนิดและอาศัยอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาเป็นระยะเวลานานแล้วซึ่งชนกลุ่มนี้มีทั้งที่นับถือฮินดูและที่แปลงมานับถืออิสลามในภายหลัง ปัจจุบันนี้ พวกเขากลายเป็นชนกลุ่มน้อยไร้ซึ่งดินแดนและเขตการปกครองตนเองเหตุเพราะตั้งแต่ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา ชาวจามได้พ่ายแพ้ต่อการทำสงครามแย่งชิงดินแดนกับอาณาจักรเวียดนามและกัมพูชาจนกระทั่งส่งผลให้ต้องล่าถอยและร่นราชธานีลงมาเรื่อย ๆ จนสูญสิ้นราชอาณาจักรและกลายมาเป็นชนกลุ่มน้อยในไทย เวียดนาม กัมพูชา และลาวในท้ายที่สุด

แม้จุดจบของอาณาจักรจามปาจะเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ พวกเขาไม่อาจหวนคืนไปสู่ความรุ่งเรื่องในอดีตได้แล้ว อย่างไรก็ดี ในระหว่างสงครามระหว่างจาม-เวียดนาม อันเป็นสงครามครั้งใหญ่ที่สุดกินระยะเวลากว่า 200 ปี ฝั่งจามซึ่งในเวลานั้นได้เปลี่ยนจากฮินดูไปนับถืออิสลามแล้วได้สร้างพันธมิตรเครือข่ายที่เป็นมุสลิมด้วยกันเองเพื่อต่อต้านอำนาจของพวกเวียดนามที่รุกคืบเข้ามาเรื่อย ๆ และพันธมิตรที่แทบจะไม่น่าเชื่อก็คือ ‘ชาวกลันตัน’ ซึ่งมีฐานที่มั่นไกลโพ้น ณ คาบสมุทรมลายูเลยทีเดียว

แม้เอกสารของมะละกา คือ Sejarah Melayu จะระบุถึงขุนนางชาวจามที่รับราชการอยู่ในราชสำนักมะละกามาตั้งแต่ช่วงคริสต์ศตวรรษ 15 อย่างไรก็ดี นอกจากนั้น มีหลักฐานบันทึกว่ากษัตริย์แห่งจามก็เคยได้ส่งกองทหารจามมาช่วยสุลต่านแห่งยะโฮร์รบกับโปรตุเกสที่ป้อมเมืองมะละกา เป็นที่ชัดเจนว่าบทบาทของชาวจามในคาบสมุทรมลายูน่าจะเริ่มเป็นที่เด่นชัดขึ้นในห้วงเวลานี้ เนื่องจากตรงกับช่วงที่เวียดนามได้เข้าตีเมืองวิไชยาของชาวจามในราว ค.ศ. 1471 ซึ่งอาจส่งผลให้เริ่มมีชนชั้นสูงชาวจามบางคนหลบหนีมายังคาบสมุทรมลายูซึ่งโดยมากเป็นรัฐมุสลิม แม้ไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่าช่วงที่ชนชั้นสูงจามลี้ภัยมายังมะละกาพวกเขาได้เปลี่ยนจากฮินดูมานับถืออิสลามแล้วหรือไม่ เพราะมีหลักฐานว่าศาสนาอิสลามได้เผยแพร่ในดินแดนจามมาเป็นเวลานานมากแล้ว

อย่างไรก็ดี นักวิชาการลงความเห็นร่วมกันว่าอย่างน้อย ๆ ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 ชาวจามที่ถอยร่นจากภัยเวียดนามมาถึงกัมปงจาม ในอาณาจักรกัมพูชา ได้เปลี่ยนมานับถืออิสลามกันโดยมากแล้ว

ดังตัวอย่างเช่น เปาะหรุ่ม (Po Rome) ชนชั้นสูงชาวจาม (ต่อมาได้เป็นกษัตริย์จามแห่ง Panduranga) ที่ลี้ภัยมาอยู่ ณ กลันตันในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 เป็นที่ชัดเจนว่าต่อมาเขาได้นับถืออิสลามอย่างแน่นอน และสำหรับชาวจามแล้วกลันตันถือว่าเป็น ‘ระเบียงแห่งมักกะฮ์’ ที่พวกเขาจะต้องเดินทางผ่านเพื่อขึ้นเรือไปจาริกแสวงบุญตามบทบัญญัติแห่งศาสนาอิสลาม การที่เปาะหรุ่มและผู้ติดตามพำนักอยู่ในกลันตันเป็นเวลานานนี้เองที่เป็นการหล่อหลอมให้พวกเขาซึมซับเอาวัฒนธรรมแบบมลายูคาบสมุทรไปโดยปริยาย

ทั้งนี้ การซึมซับวัฒนธรรมมลายูสำหรับชาวจามก็ไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไรนัก เพราะภาษาจามนั้นมีพื้นฐานคล้ายภาษามลายูมาก การพูดภาษาใกล้เคียงกันและนับถือศาสนาเดียวกันจึงเป็นเสมือนหนึ่งใน ‘พันธะ’ ที่ยึดกุมให้ความสัมพันธ์ระหว่างจาม-กลันตันแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และเมื่อต่อมาเปาะหรุ่มได้ขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งจามแล้วอิทธิพลของกลันตันในราชสำนักพระองค์น่าจะสูงขึ้นเป็นเงาตามตัวอีกด้วย

และในด้านของเอกสารฝั่งกลันตัน ‘Babad Kelantan’ ได้บันทึกว่าในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 เจ้าชายจามพระองค์หนึ่งนามว่า นิค มุสตาฟา (Nik Mustafa) ได้เสด็จลี้ภัยมายังกลันตัน และได้พำนักอยู่ที่นี่ห้วงเวลาหนึ่งจนกระทั่งเสด็จกลับไปยังดินแดนจามและได้รับการสถาปนาเป็น‘สุลต่าน อับดุล ฮามิด’ แม้ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าเปาะหรุ่มกับนิค มุสตาฟา เป็นบุคคลคนเดียวกันหรือไม่ แต่จากหลักฐานค่อนข้างเป็นที่มั่นใจว่าช่วงที่นิคองค์นี้อาศัยอยู่ในกลันตันนั้นตรงกับช่วงเปาะหรุ่มลี้ภัยพอดี

นอกจากกรณีของเปาะหรุ่มและนิค มุสตาฟาแล้ว เจ้าชาวจามอีกคนที่น่าเชื่อว่าจะเป็นมุสลิมคือ เปาะเซาอุด (Po Saut) ซึ่งต่อมาได้ฉลองพระนามแบบมลายูอย่างชัดเจนว่า ‘ปาดูกา ศรี สุลต่าน’ (Paduka Seri Sultan) ก็เป็นที่ชัดเจนว่าพระองค์นับถืออิสลามและได้รับอิทธิพลมาจากมลายู ว่ากันว่าสุลต่านจามพระองค์นี้เป็นบุตรของเปาะหรุ่มผู้ที่เคยพำนักอยู่ในกลันตันด้วย

ปัจจุบันร่องรอยของจามในกลันตันยังสามารถพิจารณาได้จากการที่สถานที่หลายแห่งยังตั้งชื่อเกี่ยวข้องกับชาวจามซึ่งมักมี ‘จาม’ Chepa เกี่ยวข้อง อาทิ กัมปงจาม ผ้าไหมจาม ทรงผมแบบจาม นอกจากนี้ว่ากันว่าเจ้าองค์หนึ่งอันเป็นปฐมราชวงศ์กลันตันในปัจจุบันคือ สุลต่าน หลง ยุนุส (Long Yunus) ก็มีเชื้อสายจามอีกด้วย

อ้างอิง :

[1] Vietnam-Champa Relations and the Malay-Islam Regional Network in the 17th–19th Centuries
[2] The Raja Praong Ritual: A Memory of the Sea in Cham- Malay Relations
[3] Danny WONG Tze Ken. Historical Relations between the Chams and the Malays: Sustaining Common Identity, Culture and Ethnicity through Two Millennia of Relations. (2008).

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า