เหตุการณ์ปฏิวัติและสงครามกลางเมืองในสยาม จากภาพฝันบอกอนาคตของ ‘สอ เสถบุตร’

หลายคนคงจะรู้จัก สอ เสถบุตร กันดีอยู่แล้ว ว่าท่านเป็นหนึ่งในนักหนังสือพิมพ์หัวก้าวหน้าและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองในสมัยแรกแย้มประชาธิปไตย ผู้ให้กำเนิด “พจนานุกรมฉบับ สอ เสถบุตร” ซึ่งถือเป็นตำราคู่กายที่นักเรียนสมัยก่อนต้องมี

แต่น้อยคนที่จะทราบว่า เบื้องหลังของนักหนังสือพิมพ์ผู้ได้ชื่อว่าเป็น “บิดาแห่งพจนานุกรมอังกฤษ-ไทย” นี้ ก่อนการปฏิวัติ พ.ศ. 2475 สอ เสถบุตร เคยมีชีวิตรุ่งโรจน์จนถึงขั้นได้เป็น หลวงมหาสิทธิโวหาร เจ้ากรมเลขาธิการองคมนตรี อันเป็นหน่วยงานเกรด A ในเวลานั้น และเป็นหน่วยงานที่มีความใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์มาก

ตามประวัติแล้ว ก่อนหน้านั้น สอ เสถบุตร เคยได้รับทุนคิง (ทุนเล่าเรียนหลวง) ในสมัยรัชกาลที่ 6 ไปร่ำเรียนจนสำเร็จวิชาด้านวิศวกรรมศาสตร์จากประเทศอังกฤษ โดยจบเกียรตินิยมทางธรณีวิทยาและวิศวกรรมเหมืองแร่ จากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ ด้วยอายุเพียงแค่ 22 ปี

ต่อมา สอ เสถบุตร กลับมาบรรจุรับราชการในกรมบัญชีกลาง รวมทั้งเริ่มเขียนบทความลงตามหน้าหนังสือพิมพ์ ซึ่งต่อมาผลงานบทความของเขาเป็นที่ “ต้องตา” จนได้รับพระมหากรุณาธิคุณ ให้โอนย้ายมารับราชการยังกรมราชเลขาธิการในพระองค์ และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หลวงมหาสิทธิโวหาร จนกระทั่งได้เป็นถึงปลัดกรมองคมนตรีในขณะที่อายุยังน้อยๆ

ในเวลานั้นใครๆ ก็คาดกันว่า สอ เสถบุตร คงจะได้กินตำแหน่งเป็นถึง “คุณพระ” หรือ “พระยา” ในเร็ววันอย่างแน่นอน หากแต่เคราะห์ซ้ำกรรมซัด ในขณะที่ชีวิตของ สอ เสถบุตร กำลังรุ่งโรจน์ถึงขีดสุด พลันก็เกิดเหตุการณ์ปฏิวัติ พ.ศ. 2475 ขึ้น ทำให้กรมราชเลขาธิการในพระองค์ต้องถูกยุบเพราะไม่มีความจำเป็นต่อระบอบการปกครองแบบใหม่อีกต่อไป

จากนั้นชีวิตของ สอ เสถบุตร ก็ยิ่งพลิกผันพังทลายลง เมื่อเกิดเหตุการณ์กบฏบวรเดช ในปี พ.ศ. 2476 และ สอ เสถบุตร ถูกจับกุมด้วยข้อหาสมคบคิดทำใบปลิวโจมตีคณะราษฎร สนับสนุนฝ่ายกบฏบวรเดช ร่วมกับเพื่อนๆ กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ จนกระทั่งถูกคุมขังที่บางขวางและคุกนรกเกาะเต่าอยู่เป็นเวลานาน จนกลายเป็นที่มาของการสร้างผลงานพจนานุกรมในคุกอันลือลั่น

โดยที่ พัชรพิมพ์ เสถบุตร บุตรสาวที่เกิดจากภรรยาคนที่ 2 ของเขา ได้บรรยายบรรยากาศอันผันผวนในชีวิตของ สอ เสถบุตร ไว้ว่า …

… หลังจากนั้นภาพอันสดใสและอนาคตอันรุ่งโรจน์ก็พลันดับวูบลง เมื่อเขาถูกจับในข้อหากบฎร่วมกับพระองค์เจ้าบวรเดชฯ และถูกศาลพิเศษพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต พร้อมกับถอดยศและบรรดาศักดิ์เสียสิ้น เมื่อเขาอายุได้เพียง 29 ปีเศษ เขาต้องกลายเป็นนักโทษการเมือง ผู้ถูกคุมขังในคุกบางขวางและถูกปล่อยเกาะเป็นเวลาถึง 11 ปี อย่างก็ตาม ในระหว่างที่ถูกคุมขังอยู่นั้น สอ เสถบุตร มิได้ทอดอาลัยหรือปล่อยเวลาในชีวิตให้ล่วงเลยไปโดยเปล่าประโยชน์ เขาได้เขียนพจนานุกรมอังกฤษเป็นไทยขึ้นระหว่างถูกคุมขังซึ่งได้มาเป็น งานแห่งชีวิตอันนำชื่อเสียง เกียรติคุณ และรายได้มาให้ในบั้นปลาย …

แม้เหตุการณ์อันแสนหดหู่ที่ทำเอาชีวิตของ สอ เสถบุตร ต้องย่อยยับลงจะเกิดขึ้นในช่วงเหตุการณ์กบฏบวรเดช พ.ศ. 2476 อันเป็นช่วงความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลคณะราษฎรกับฝ่าย “คณะกู้บ้านกู้เมือง” แต่เค้าลางแห่งช่วงชีวิตอันแสนมืดมนนี้ได้เคยส่งสัญญาณ “เตือน” กับ สอ เสถบุตร แล้ว ตั้งแต่ช่วงที่เขายังเป็นนักเรียนในประเทศอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ. 2466 หรือ 10 ปี ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์สงครามกลางเมืองขึ้นจริงๆ ดังข้อความในจดหมายที่เขามีไปถึง “สมาน อิศรภักดี” ผู้เป็น “อดีตคนคุย” ก่อนที่เขาจะเดินทางไปศึกษายังประเทศอังกฤษ โดยจดหมายฉบับดังกล่าว มีข้อความดังนี้ …

จังหวัดไบรตัน ประเทศอังกฤษ
วันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2466

สมานที่รัก

วันนี้ฉันตื่นขึ้นแต่เช้าตรู่ผิดธรรมดา และพยายามจะให้หลับเท่าไหร่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ เหตุที่ตื่นแต่เช้าตรู่ก็คือ เมื่อใกล้รุ่งสางนี้เอง ฉันฝันแปลก คือฉันฝันไปว่าฉันเรียนจบได้ปริญญาแล้วกลับเมืองไทย ฉันเห็นภาพตัวเองแต่งตัวโอ่อ่าหรูหรานุ่งผ้าม่วง ใส่ถึงน่องรองเท้า ติดเหรียญตรา นั่งหมอบเฝ้าอยู่แทบพระบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่แปลกที่ไม่ใช่พระบาทสมเด็จพระมุงกฎเกล้าฯ

แล้วอีกภาพหนึ่งที่ฉันเห็นก็คือ ภาพคล้ายกับบ้านเมืองเรากำลังเกิดจลาจล เหมือนปฏิวัติฝรั่งเศส และฉันไปเล่นการเมืองกับเขาด้วย ฉันเห็นภาพตัวเองยืนอยู่บนม้าเตี้ยๆ กำลังพูดกับประชาชนที่มายืนออฟังกันอยู่แน่นขนัด แล้วทันใดนั้นก็มีตำรวจสองคนแหวกฝูงคนตรงมาจะจับฉัน ฉันแทรกกลุ่มคนออกไปได้แล้ววิ่งหนี แต่ตำรวจก็ยังวิ่งไล่จับไม่ลดละ ฉันหนี หนีไปจนสะดุดล้มลง แล้วก็ตกใจตื่น ตื่นขึ้นมาแล้วใจก็ยังเต้น ตัวสั่นไม่หายเลย ฉันอดคิดไม่ได้ว่าชีวิตอนาคตของฉันและบ้านเมืองเราจะเป็นอย่างไร ฉันรู้สึกคล้ายๆ กับว่ามันจะเป็นลางสังหรณ์ ฉันทราบมาว่าพวกนักเรียนไทยในฝรั่งเศสเขาชุมนุมกันเสมอ นัยว่าจะมีการคบคิดที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นดีมอคเครซี (Democracy – ประชาธิปไตย) แต่พวกนี้ออกจะหัวรุนแรงมาก ฉันเกรงไปว่ามันจะไม่ใช่ดีมอคเครซีน่ะซิ …

จากเนื้อความในจดหมายนี้จะเห็นได้ว่า สอ เสถบุตร ได้ฝันคาดการณ์ไว้ถูกต้องเพียงใด ทั้งเรื่องที่ตนจะได้รับการแต่งตั้งเป็นขุนนางระดับสูง (ปลัดกรมองคมนตรี) ในรัชสมัยที่ไม่ใช่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือกระทั่งฝันบอกเหตุไปยังเหตุการณ์ปฏิวัติ พ.ศ. 2475 รวมถึงเหตุการณ์กบฏบวรเดช ที่มีการสู้รบกันด้วยอาวุธจนเกิดการบาดเจ็บล้มตาย

เรื่องราวภาพฝันบอกเหตุของ สอ เสถบุตร นี้อาจฟังดูชวนพิศวง แต่อย่างไรก็ดี หากพิจารณาย่อหน้าสุดท้ายของจดหมายที่คัดมาให้อ่านข้างต้น ก็คงจะเป็นคำตอบได้ว่า เหตุ (การณ์) ใดที่ทำให้ สอ เสถบุตร ต้องนำกลับไปคิด แล้วเก็บไปฝันถึง ยุคทมิฬที่จะเกิดขึ้นกับเขาและประเทศไทยอีกในอีก 10 ปีต่อมา หากไม่ใช่การชุมนุมของนักเรียนไทยในฝรั่งเศส ที่ต่อมาได้กลายเป็นแกนนำคณะราษฎรผู้ก่อการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง

อ้างอิง :

[1] พิมพวัลคุ์ เสถบุตร. ลิขิตชีวิต สอ เสถบุตร : การต่อสู้และผลงานพจนานุกรมอันยิ่งใหญ่ในคุก. (กรุงเทพ : 2548) นานมีบุ๊กส์พับลิเคชั่นส์

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า