ตำนานแห่งภูเขากุนุงยือไร และการก่อตั้งอาณาจักร ‘ไทรบุรี’

เมื่อกล่าวถึงประวัติศาสตร์ของดินแดนที่เคยตกเป็นรัฐบรรณาการของสยามในอดีต “ไทรบุรี” หรือ “เคดาห์” (Kedah) ซึ่งเป็นรัฐหนึ่งทางตอนเหนือของมาเลเซียในปัจจุบัน (North Peninsula) ถือเป็นเมืองโบราณเมืองหนึ่งที่มีประวัติศาสตร์ย้อนกลับไปหลายร้อยปี หรือบ้างก็อ้างว่าเป็นพันปี และถือเป็นเมืองสำคัญที่มีปฏิสัมพันธ์กับสยามมาเป็นเวลานาน

ทั้งนี้ “ไทรบุรี” เป็นชื่อที่คนไทยใช้เรียกเมืองแห่งนี้เท่านั้น แต่สำหรับชาวมลายูและชาวต่างประเทศกลับเรียกเมืองนี้ว่า “เคดาห์” หรือ “กือเดาะ” ซึ่งแปลว่า “จานดอกไม้” ตามที่ชาวมลายูในพื้นที่ขานนาม แต่ก็เป็นที่เข้าใจกันดีสำหรับนักวิชาการชาวมาเลย์และชาวยุโรปว่า หากต้องการจะค้นหาหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในฝั่งไทยเกี่ยวกับเมืองเคดาห์ จะต้องใช้คีย์เวิร์ดว่า “ไทรบุรี” เท่านั้น เพราะไม่มี “เคดาห์” ปรากฏอยู่ในเอกสารฝั่งไทยจนกระทั่งถึงช่วงปลายรัชสมัยของรัชกาลที่ 5

แต่ไม่ว่าจะเรียกเมืองแห่งนี้ว่า “ไทรบุรี” หรือ “เคดาห์” ก็ย่อมไม่มีความสลักสำคัญอันใด เนื่องจากรากที่แท้จริงของคำว่า “ไทรบุรี” ก็สามารถแปลความตรงตัวได้ว่า “เมืองแห่งต้นไทร” เนื่องมาจากที่ตั้งของเมืองแห่งนี้ ปรากฏภูเขาขนาดใหญ่ลูกหนึ่ง ซึ่งสามารถสังเกตเห็นได้ชัดทั้งจากบนบกและบนเรือ โดยในสมัยโบราณ ก่อนการตั้งสถานีการค้าที่ปีนังและสิงคโปร์ พ่อค้าชาวจีนและอินเดียจะใช้ประโยชน์จากการสังเกตภูเขาลูกดังกล่าวในการระบุว่าบัดนี้พวกตนได้เดินทางมาถึงยังคาบสมุทรมลายูแล้ว

ชาวมลายูขนานนามภูเขาลูกนั้นว่า “Gunung Jerai” หรือ “กุนุงยือไร” ซึ่ง กุนุง แปลว่า ภูเขา ส่วน ยือไร แปลว่า ต้นไทร อันตรงตามชื่อ “ไทรบุรี” ที่ชาวไทยใช้เรียกชื่อเมืองนี้มาตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นอย่างน้อย

“กุนุงยือไร” หรือภูเขาแห่งต้นไทร ถือเป็นภูเขาลูกหนึ่งที่มีความศักดิ์สิทธิ์มากต่อชาวไทยในบริเวณปัตตานี ชาวมลายูไทรบุรี ตลอดจนถึงชาวน้ำ (อุลักลาโวย) บริเวณหมู่เกาะทะเลอันดามันทั้งฝั่งไทยและมาเลเซีย เนื่องจากพวกเขามีความเชื่อว่า “กุนุงยือไร” คือ “เขาพระสุเมรุ” อันเป็นที่สถิตของพระศิวะในจักรวาลวิทยาของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู

ความเชื่อดังกล่าว สันนิษฐานว่ามาจากรูปลักษณ์ภายนอกของภูเขาที่มีความสูงชันมาก เป็นจุดสังเกต (Landmark) ที่สามารถมองเห็นได้จากที่ไกลๆ ตลอดจนยอดเขาที่มักมีกลุ่มเมฆปกคลุมอยู่ตลอดเวลา ทำให้ดูลึกลับและน่าเกรงขาม ผู้คนจึงเชื่อกันว่าภูเขาแห่งนี้เป็นที่สิงสถิตของพระผู้เป็นเจ้า

ความสำคัญของ “กุนุงยือไร” นอกจากชาวสยามจะใช้เรียกขานชื่อเมืองไทรบุรีแล้ว ชาวมลายูไทรบุรี (หรือเคดาห์) เองก็นำ “กุนุงยือไร” ไปเป็นฉากประกอบในพงศาวดารแห่งราชวงศ์ไทรบุรีด้วยเช่นกัน ดังที่ปรากฏเนื้อความใน ฮิกายัต มะโรง มหาวงศ์ (Hikayay Marong Mahawangsa) หรือ ตำนานแห่งกษัตริย์มะโรง มหาวังศา (ซึ่งเพิ่งเขียนขึ้นในช่วงต้นกรุงเทพฯ นี่เอง)

ดังปรากฏเนื้อความว่า “กษัตริย์มะโรง มหาวังษา (ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ไทรบุรี) ได้ทอดพระเนตรเห็นเกาะศรี (ปูเลา สะหรี) ซึ่งมาบัดนี้ได้ผสานรวมเข้ากับแผ่นดิน อันจุดที่สูงสุดเรียกว่า “กุนุงยือไร” เนื่องจากความสูงของภูเขาลูกนี้เอง”

ต่อมากษัตริย์มะโรง มหาวังษา ได้ขึ้นฝั่งและสร้างพระราชวังขึ้นในบริเวณใกล้กับ ปูเลาสิหร่าย (เกาะสิหร่าย) ซึ่งต่อมาทรงเรียกเมืองแห่งนี้ว่า “เมืองลังกาสุกะ” ซึ่งก็คือเมืองลังกาสุกะที่ปรากฎหลักฐานในเอกสารทางประวัติศาสตร์ในปัจจุบัน

โปรดสังเกตว่า ฮิกายัต มะโรง มหาวงศ์ (Hikayay Marong Mahawangsa) เป็นเอกสารภาษามลายูไม่กี่ฉบับที่กล่าวถึงเมืองลังกาสุกะ นอกจากนั้น ลังกาสุกะ ก็ได้ปรากฏในหลักฐานของจีนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และเอกสารของจีนเองก็ไม่ได้ระบุว่าลังกาสุกะตั้งอยู่ที่ใด

จึงกล่าวได้ว่า ฮิกายัต มะโรง มหาวงศ์ เป็นเอกสารของมลายูในพื้นที่เพียงชิ้นเดียวที่ระบุว่า เมืองลังกาสุกะ ตั้งอยู่ในรัฐเคดาห์หรือไทรบุรีในปัจจุบัน

นอกจากนี้ ในสมัยรัชกาลที่ 5 ทางราชการสยามได้อ่านและทำการแปล ฮิกายัต มะโรง มหาวงศ์ บางส่วนเป็นภาษาไทยเช่นกันในชื่อว่า “พงศาวดารเมืองไทรบุรี” (ตามฉบับที่มีอยู่ในศาลาลูกขุน) โดยเรียก กษัตริย์มะโรง มหาวังษา ว่า “พระองคมหาวังษา” และเรียก ลังกาสุกะ ว่า “ลังกาซูก”

ทุกวันนี้ยังปรากฏซากโบราณสถานในรูปแบบบาลายขนาดใหญ่ (หรือ พาไล ในภาษาไทย แปลว่า โถงขนาดใหญ่) ณ จันดิบาตูปาหัต (Candi Batu Pahat) หมู่บ้านบูจาง (Bujang) รัฐเคดาห์ในปัจจุบัน

อ้างอิง :

[1] “พงศาวดารเมืองไทรบุรี” (ตามฉบับที่มีอยู่ในศาลาลูกขุน)
[2] Hikayay Marong Mahawangsa (English version)
[3] The Historic and Holy Site of Gunung Jerai and Bujang Valley

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า