ย้อนรอย ‘อันดามันเดือด’ วิกฤตไฟใต้ในสมัยรัชกาลที่ 2

ในพื้นที่ทางปักษ์ใต้ของประเทศไทยในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย หรือรัชกาลที่ 2 นับได้ว่าเป็นพื้นที่ที่สุ่มเสี่ยงมากที่สุด เหตุเพราะตั้งแต่ช่วงรัชกาลที่ 1 เป็นต้นมา ตั้งแต่คอคอดกระลงมาจนถึงดินแดนปัตตานี (ปตานี) การทำสงครามเพื่อป้องกันพระราชอาณาเขตนั้นเป็นไปอย่างเข้มข้น

นับตั้งแต่สงครามกับพม่าในสงคราม 9 ทัพที่เมืองนครศรีธรรมราชได้แพ้ยับเยิน สงครามกับกบฏเต็งกูลามิดเด็นและกบฏดาโต๊ะปะกาหลั่น (ระตูท่าหน้า) ที่ปัตตานีซึ่งลุกลามมาจนถึงเมืองสงขลา หรือกระทั่งเหตุการณ์โจรสลัดมินนังกาเบาจากเมืองเซี๊ยะปล้นเมืองสงขลา ทั้ง 4 เหตุการณ์สำคัญเหล่านี้ล้วนมีปักษ์ใต้เป็นสมรภูมิอันสำคัญ ผลจากการมีสงครามอย่างถี่ยิบจากรัชกาลก่อน ทำให้การปกครองในพื้นที่ภาคใต้ในสมัยรัชกาลที่ 2 นั้นต้องกระทำไปอย่างเข้มงวดและพึงระแวงระวังศัตรูที่พร้อมโจมจู่เข้ามาจากทั่วทุกทิศทั้ง 2 ฝั่งคาบสมุทร ไม่ว่าจะทั้ง พม่า เวียดนาม ปัตตานี จนกระทั่งเกาะสุมาตราในอินโดนีเซียปัจจุบัน

ด้วยสภาพแวดล้อมที่เปราะบางเช่นนี้ ทำให้กรุงเทพฯ ต้องทวีความสนใจต่อภาคใต้เป็นอย่างยิ่ง เมืองนครศรีธรรมราชและเมืองสงขลาจึงเป็นเมืองใหญ่ที่สำคัญที่สุดในการรักษาความสงบเรียบร้อยของคาบสมุทรฯ จะเห็นได้ว่าในช่วงรัชกาลที่ 1-3 ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นในนครและสงขลา ล้วนส่งผลกระทบโดยตรงต่อสภาวะความมั่นคงของบรรดาเมืองต่าง ๆ ทางใต้

ดังนั้น เพื่อเป็นการกระจายอำนาจและการตัดสินใจต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ให้ทันท่วงที แม้จะมีการบังคับบัญชาและสอดส่องดูแลโดยตรงผ่านราชสำนักสยามที่กรุงเทพฯ แต่การปกครองพื้นที่ทางใต้ทั้งฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทยทางราชสำนักสยามได้แบ่งสันปันส่วนอำนาจโดยมอบอำนาจการตัดสินใจให้แก่เมืองนครศรีธรรมราชในการปกครองฝั่งอันดามัน ซึ่งได้แก่ เมืองนคร ตรัง กระบี่ เรื่อยมาจนถึงภูเก็ตและไทรบุรี ส่วนทางด้านตะวันออกฝั่งอ่าวไทยนั้น เมืองสงขลามีหน้าที่โดยตรงต่อการปกครอง 7 หัวเมืองปัตตานี นั่นก็คือ ตานี หนองจิก ยะหริ่ง รามัน ยะลา ระแงะ สายบุรี และสตูล (ต่อมาโอนสตูลไปขึ้นกับนครศรีธรรมราช) หากเมืองภายใต้สังกัดเมืองใดเกิดกำเริบเสิบสานคิดอ่านเป็นกบฏ ก็ให้เป็นหน้าที่ของเมืองที่รับผิดชอบนั้น ๆ ในการจัดการให้สงบราบคาบ หากรับมือไม่ไหวแล้วจริง ๆ ทางกรุงเทพฯ จึงจะยกทัพมาช่วย

ความกังวลใจของราชสำนักกรุงเทพฯ ต่อสถานการณ์ฝั่งอันดามันนั้น ก็หาได้น้อยไปกว่าฝั่งตะวันออกที่สงขลาควบคุม ที่มักเจอกบฏจากปัตตานีบ่อยครั้ง เพราะทางอันดามันซึ่งมีเมืองนครปกครองนั้น เมืองนครถือว่าเป็น เมืองเอกใหญ่กว่าหัวเมืองทั้งปวง แล้วก็เป็นที่พำนักอาศัยแก่เมืองแขก แลลูกค้าวาณิชนานาประเทศไปมาค้าขายมิได้ขาด [1]

นอกจากความเป็นไปได้ที่เมืองแขกประเทศราชอาจก่อกบฏแข็งเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมืองไทรบุรี ภัยจากโจรสลัดที่ระบาดหนักหน่วงแถบอันดามันนั้นเรื่อยมาจนถึงช่องแคบมะละกาในเวลานั้นได้ชื่อว่าเป็นภัยคุกคามที่สาหัสยิ่ง ปัจจุบันงานวิชาการสมัยใหม่ได้ชี้ให้เห็นแล้วว่า หลายครั้งที่ขบวนการโจรสลัดในแถบคาบสมุทรมลายูก็แยกไม่ออกกับการเมืองของพวกรายาหรือเจ้านายมลายูที่ปกครองบ้านเมืองในบริเวณใกล้เคียง เพราะตามหลักฐานแล้วรายาหรือเจ้านายมลายูจำนวนมากสนับสนุนการกระทำอันเป็นโจรสลัดและมองว่าการกระทำอันเป็นโจรสลัดไม่ใช่สิ่งที่ผิด นอกจากการปล้นทรัพย์สินของมีค่าแล้ว เจ้ามลายูบางคนยังมองว่าเป็นประเพณีที่ต้องกระทำการเป็นโจรสลัดเพื่อเลี้ยงดูไพร่พลในสังกัดให้เพียงพออีกด้วย [2]

ด้วยเหตุนี้ ราชสำนักกรุงเทพฯ จึงเกิดความระแวงระวังกรณีโจรสลัดและกรณีเจ้าเมืองแขกเกิดความกำเริบจนเข้ามาคุกคามดินแดนในการปกครองของสยาม เช่น ละงูและสตูล สะท้อนได้จาก “สารตราเจ้าพระยาอัครมหาเสนาบดี เรื่องเมืองตรังภูรา จ.ศ.1173”  ความว่า

“…ที่สตูล ละงู ซึ่งพระยาอภัยณุราชถวายคืนนั้น … จะละไว้ให้ว่างเปล่าอยู่มิได้ ให้พระยาศรีสมบัติจางวาง พระยาสงขลา จัดแจงหลวง ขุน หมื่น ที่มีสติปัญญา ซื่อสัตย์มั่นคงลงไปตั้งชักชวนเกลี้ยกล่อมแขกไทยมีชื่อ ให้เข้ามาตั้งบ้านเรือนทำไร่นา ปลูกยุ้งฉางรวบรวมเสบียงอาหารทำรังโรงไว้เรือรบเรือไล่ รักษาปากน้ำสตูล ละงู ไว้ให้เป็นภาคภูมิแล้วจะได้คุมเชิงเมืองไทรไว้ด้วย [2]

ดังนั้น การเร่งเติมคนเข้าเมืองไม่ว่าจะทั้งคนมลายูหรือคนสยามเข้าไปในพื้นที่เมืองที่ยังว่างเปล่าซึ่งในกรณีนี้คือสตูล เพื่อป้องกันหรือคุมเชิงการคุมคามจากเมืองไทรบุรีที่แม้สุลต่านจะยอมอยู่ภายใต้สยามแล้ว แต่ก็ยังนับว่ายังวางใจไม่ได้ แนวทางนี้จึงเป็นนโยบายสำคัญอีกนโยบายหนึ่ง น่าสังเกตด้วยว่าราชสำนักสยามมิได้แบ่งแยกราษฎรที่เป็นมลายู (แขก) หรือสยาม (ไทย) ออกจากกัน  พิจารณาจากคำว่า แขกไทยมีชื่อ ที่ทางกรุงเทพฯ ให้ทางเมืองสงขลาไปสรรหามาตั้งบ้านเรือน แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าไม่ว่าใครหากมีใจภักดีต่อสยามก็ล้วนแล้วเป็นพสกนิกรของพระมหากษัตริย์สยามแทบทั้งสิ้น

นอกจากสตูลแล้ว ทางด้านเกาะลิบง (ปลิบง) ซึ่งเป็นหน้าด่านของเมืองตรัง (ตรังภูรา) กั้นเขตเมืองไทรบุรีภายใต้สังกัดของเมืองนครศรีธรรมราช ทางราชสำนักกรุงเทพฯ ก็แสดงความกังวลอย่างมากจึงมีคำสั่งให้พระยาปลิบง เจ้าเมืองเกาะลิบงซื้อปืนใหญ่หน้าเรือไว้ถึง 13 กระบอก [3] เนื่องด้วยเมืองตรังนั้น เป็นเมืองล่อแหลมอยู่ฝ่ายทะเลตะวันตกจึงจะละใจไว้มิได้ ให้พระยาศรีธรรมราชปรึกษาด้วยกรมการกะเกณฑ์ขุนหลวงหมื่นแลชาวด่านคุมเรือรบเรือไล่สรรพไปด้วยปืนใหญ่น้อยกระสุนดินประสิว เครื่องศาสตราอาวุธออกไปพิทักษ์รักษาประจำคอด่านทั้งหลายทั้งกลางวันและกลางคืน ลาดตระเวนฟังข่าวราชการหน้าด่านต่อแดนจงเนือง ๆ อย่าให้อ้ายสลัดเหล่าร้าย แลอ้ายพม่ารามัญเล็ดลอมจู่โจมเข้ามาจับเอาผู้คนไปได้เป็นอันขาดทีเดียว ถ้ามีราชการมาประการใด ให้ช่วยกันรบพุ่งต้านทานเอาชัยชนะไว้ให้จงได้ แล้วให้เร่งรีบบอกหนังสือเข้าไป ณ กรุงเทพมหานครแลหัวเมืองต่อกันโดยเร็ว…” [5]

จะเห็นได้ว่า เมืองตรังและสตูลในช่วงรัชกาลที่ 2 ได้กลายมาเป็น 2 เมืองสำคัญในฐานะเมืองหน้าด่านที่จะต้องรับแรงกระแทกก่อนใครหากมีศึกสงครามโดยเฉพาะกับเมืองไทรบุรี ซึ่งความกังวลใจในครั้งนี้ก็ได้เกิดขึ้นจริงในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่เรียกกันว่า “กบฏไทรบุรี” (เกิดขึ้นถึง 2 ครั้ง) และการตระเตรียมของเมืองนครศรีธรรมราชและสงขลาในช่วงรัชกาลที่ 2 นี้ก็หาได้เพียงพอไม่ต่อการป้องกันเมืองตรังและสตูลในช่วงที่เกิดกบฏไทรบุรี เพราะท้ายที่สุดเหล่าโจรสลัดหวันมาดหลีเชื้อสายไทรบุรี ก็ได้ตีเมืองตรังจนแตกและปกครองอยู่หลายเดือนเลยทีเดียว กระทั่งทัพสยามได้ขับไล่จนสำเร็จในเวลาต่อมา

อ้างอิง :

[1] สารตราถึงพระยานครศรีธรรมราช จ.ศ. 1173
[2] โปรดดูรายละเอียด ใน Donna J. Amoroso. Traditionalism and the ascendancy of The Malay ruling class in colonial Malaya. (Malaysia : NUS Press) 2014. และ Barbara Watson Andaya and Andaya, Leonard Y. A history of Malaysia. Springer. 2016.
[3] สารตราเจ้าพระยาอัครมหาเสนาบดี เรื่องเมืองตรังภูรา จ.ศ.1173
[4] สารตราเจ้าพระยาอัครมหาเสนาบดี เรื่องเมืองตรังภูรา จ.ศ.1173
[5] สารตราถึงพระยานครศรีธรรมราช จ.ศ. 1173

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า