‘การถวายฎีกา’ จารีตปฏิบัติในการบำบัดทุกข์แก่ราษฎร ที่สืบเนื่องมาแต่โบราณถึงปัจจุบัน

การถวายฎีกา” เป็นรูปแบบการเคลื่อนไหวทางการปกครองที่สำคัญสำหรับราษฎรนับตั้งแต่สมัยราชอาณาจักรอยุธยาเป็นต้นมา การถวายฎีกาเป็นรูปแบบที่ทั้งพระมหากษัตริย์ เจ้านาย ขุนนาง ไพร่ ต่างยอมรับซึ่งกันและกันว่า เป็นช่องทางการเคลื่อนไหวที่ชอบธรรมอย่างหนึ่ง

ในส่วนของไพร่เอง หากมีความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสอันไม่อาจพึ่งมูลนายระดับล่างๆ ของตนได้ ก็มีสิทธิถวายฎีกาต่อองค์พระมหากษัตริย์ได้ และการถวายฎีกาเพื่อขอความยุติธรรมจากไพร่นี้เอง ได้มีผลให้ในหลวงรัชกาลที่ 1 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการตรวจสอบชำระกฎหมายใหม่ ซึ่งเรียกว่าการจัดทำประมวลกฎหมายตราสามดวง

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 พระองค์ทรงโปรดให้ราษฎรถวายฎีกามาก ทำให้ในสมัยนั้นราษฎรสามารถถวายฎีกาได้ทุกเมื่อ และหากตรวจดูแล้วพบว่าฎีกามีมูลความจริง พระองค์จะพระราชทานความช่วยเหลือ อีกทั้งยังทรงมีพระราโชบายให้รางวัลเป็นเงินคนละหนึ่งถึงสองสลึงอีกด้วย

ในสมัยรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 การถวายฎีกาได้ขยายเขตออกไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคกลางและในเขตที่อำนาจรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้แผ่ไปถึง ซึ่งปรากฏว่า ในรัชสมัยปลายรัชกาลที่ 5 ต่อกับต้นรัชสมัยของรัชกาลที่ 6 ได้มีการถวายฎีกากันเป็นจำนวนมาก ตัวอย่างเช่น การถวายฎีกาโดยชาวนาจากเขตทุ่งคลองรังสิต ด้วยสาเหตุจากการทำนาที่ไม่ได้ผล ที่ดินที่เคยอุดมสมบูรณ์เปลี่ยนแปลงไปกลายเป็นดินเค็ม และผู้ให้เช่าที่ดินเรียกเก็บค่าเช่าโดยไม่มีการผ่อนผัน

ในช่วงที่มีการถวายฎีกาเป็นจำนวนมากนี้เอง บางครั้งมีการถวายฎีกาอย่างไม่ถูกต้องเรียบร้อย เช่น ไม่ได้ลงชื่อและที่อยู่เป็นจำนวนมาก เจ้าหน้าที่จึงได้จัดให้เป็นบัตรสนเท่ห์มากกว่าจัดเป็นหนังสือฎีกา ด้วยปัญหาเหล่านี้ ในหลวงรัชกาลที่ 6 จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตรา “พระราชกฤษฎีกาวางระเบียบการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา” และตั้ง “กรรมการศาลฎีกา” ขึ้นมาในปี พ.ศ. 2457 เพื่อเป็นการแบ่งเบาพระราชภารกิจในการอ่านและตรวจฎีกาที่ราษฎรได้ถวายกันเข้ามาเป็นจำนวนมาก

พระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าว ระบุว่า การฎีกาเป็นเรื่องของข้าแผ่นดินทุกชั้นที่จะสื่อสารกับพระมหากษัตริย์ ในฐานะที่พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในตำแหน่งแห่งกุลบิดรของชาวไทย และนับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ไม่ได้ลดหย่อนลงแต่ประการใด แต่เนื่องด้วยมีพระราชภาระเป็นอันมาก จึงกำหนดลักษณะของฎีกาที่สมควรรับว่าจะต้องเป็นฎีกาเฉพาะที่ถูกต้องเหมาะสม ตามประเภทดังนี้

  1. ฎีกาประเภทขอพระราชทานพระมหากรุณาลดหย่อนผ่อนโทษ ซึ่งศาลหลวงใดๆ ตั้งแต่ศาลฎีกาลงไปได้วางบทไว้แล้วตามพระราชกำหนดกฎหมาย
  2. ฎีกาประเภทขอพระราชทานพระมหากรุณา และรับพระราชทานพระราชานุเคราะห์ในกิจส่วนตัว เพื่อปลดเปลื้องทุกข์อันจะหาหนทางปลดเปลื้องโดยอาการอื่นไม่ได้ นอกจากขอพระราชทานพระมหากรุณาโดยตรง
  3. ฎีกาประเภทกล่าวโทษเจ้าหน้าที่และพนักงานผู้ใช้อำนาจนอกเหนือที่สมควรแก่หน้าที่ราชการซึ่งตนปฏิบัติอยู่ หรือใช้อำนาจนั้นโดยอาการอันรุนแรงเกินเหตุ จนทำให้ข้าแผ่นดินได้รับความเดือดร้อน
  4. ฎีกาประเภากล่าวโทษเจ้าหน้าที่ผู้ประพฤติทุจริตในหน้าที่ มีการใช้อำนาจทางราชการเพื่อกดขี่ข่มเหงหรือฉ้อราษฎร์บังหลวง เป็นต้น

ในประการสำคัญ ฎีกาที่ทูลเกล้าถวายต้องลงนามและสถานที่อยู่จริง มิฉะนั้นจะต้องจัดเป็นบัตรสนเท่ห์ซึ่งไม่มีการรับพิจารณาเป็นอันขาด และการทูลเกล้าถวายฎีกา ผู้ถวายจะต้องยื่นในสถานที่ที่กำหนด หรือจะยื่นต่อสำนักราชเลขานุการ หรือยื่นโดยไปรษณีย์ก็ได้ นอกจากนี้ ผู้กระทำผิดระเบียบจะถูกตักเตือนห้ามปราม และการถวายฎีกาเท็จถือว่ามีความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา ซึ่งจะต้องมีการสอบสวนลงโทษกันต่อไป

เมื่อพิจารณาตามลักษณะวิวัฒนาการของการถวายฎีกา จะเห็นได้ว่า การถวายฎีกา เป็นสถาบันทางการเมืองการปกครองแบบจารีตสถาบันหนึ่ง ซึ่งเกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจและพระราชนิยมของพระมหากษัตริย์โดยตรง สำหรับฝ่ายราษฎรเอง ก็ถือเป็นหน้าที่สำคัญที่จะต้องคิดใคร่ครวญให้รอบคอบ ว่าการถวายฎีกาของตนนั้นเป็นเรื่องที่เดือดร้อนอย่างแสนสาหัสหรือไม่ และการถวายฎีกาก็ต้องทำให้ถูกต้องตามระเบียบของราชการด้วย

จารีตการถวายฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีการปฏิบัติสืบเนื่องมาถึงทุกวันนี้ โดยในรัชสมัยปัจจุบัน การรับเรื่องฎีกาจากราษฎร ถือเป็นอำนาจหน้าที่ตามความในพระราชกฤษฎีกาจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ โดยมีคู่มือกระบวนงานฎีกาขอพระราชทานพระมหากรุณา และหนังสือด่วนที่สุดที่ มท0205.3/ว7276 ลงวันที่ 11 ธันวาคม 2561 เรื่องแนวทางการปฏิบัติเรื่องฎีกาขอพระราชทานความเป็นธรรม และฎีกาขอพระราชทานความช่วยเหลือ โดยมีสำนักงานองคมนตรีร่วมกับ สำนักงานปลัดกระทรวง สำนักตรวจราชการและเรื่องราวร้องทุกข์ กระทรวงมหาดไทย ดูแลการรับเรื่องฎีกาจากประชาชนให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

ที่มา :

[1] ประชุมประกาศรัชกาลที่ 4 พ.ศ.2394-2404
[2] คู่มือกระบวนงานฎีกาขอพระราชทานพระมหากรุณา
[3] หนังสือด่วนที่สุดที่ มท0205.3/ว7276 ลงวันที่ 11 ธันวาคม 2561