‘ดราม่าศิลาจารึก’ การรื้อสร้างประวัติศาสตร์ด้วย ‘อคติ’ บทเรียนแห่งความสะเพร่าและละเลย ที่ลงเอยด้วยการรื้อตัวเอง

เราน่าจะเคยได้ยินกันมาบ้างเกี่ยวกับเรื่องราวของศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงว่าเป็นศิลาที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงค้นพบ อย่างไรก็ดี ในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมานี้ได้เกิดกระแสอีกเรื่องหนึ่งขึ้นและเป็นที่กล่าวถึงพอสมควรนั่นคือการกล่าวถึงศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงว่าเป็นสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประดิษฐ์ขึ้นเองต่างหาก!

เริ่มแรกทีเดียวประวัติของศิลาจารึกหลักที่ 1 นั้นมีอยู่ว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ขณะทรงผนวชนั้นทรงค้นพบขณะเสด็จธุดงค์ในศาลเจ้าทางเหนือที่ชาวเมืองจัดให้มีการฉลองทุกปี เมื่อได้ทอดพระเนตรและเห็นเป็นโบราณวัตถุที่สำคัญจึงโปรดให้นำลงมายังพระนครพร้อมพระแท่นมนังศิลาบาตรและศิลาจารึกวัดป่ามะม่วงภาษาเขมร ซึ่งในตอนแรกนั้นรักษาไว้ที่วัดราชาธิวาสเพื่อที่พระองค์จะสามารถศึกษาเรื่องราวต่างๆ ในภายหลังได้

ผู้ที่เป็นต้นทางของการจุดกระแสการตรวจสอบความเชื่อเก่าคือนักวิชาการท่านหนึ่งที่ชื่อว่า พิริยะ ไกรฤกษ์ (อดีตอาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันท่านก็ยังคงมีผลงานออกมาเรื่อยๆ) จุดเริ่มต้นแรกๆ นั้นย้อนไปได้ถึง พ.ศ.2531 กล่าวคือในขณะนั้นอาจารย์พิริยะท่านได้แสดงปาฐกถาที่สยามสมาคม ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าการตั้งข้อสงสัยของท่านยังอยู่ในวงแคบๆ อย่างไรก็ดีต่อมาเรื่องราวก็ได้ขยายออกไปมากขึ้น โดยเฉพาะการตีพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือที่ชื่อว่า “จารึกพ่อขุนรามคำแหง: การวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์ศิลปะ” ตีพิมพ์ครั้งล่าสุดเมื่อ พ.ศ.2547 กับมติชน โดยมีผู้รวบรวมการตั้งข้อสังเกตของท่านที่ใช้ในการวิเคราะห์ว่าศิลาจารึกไม่ได้ทำขึ้นในสมัยพ่อขุนฯ ไว้ดังนี้ [1]

  1. การใช้ศัพท์ที่ไม่ปรากฏในจารึกอื่นๆ และเนื้อหาไม่สอดคล้องกับค่านิยมยุคสมัย
  2. กล่าวถึงโบราณวัตถุที่ขัดแย้งกับข้อมูลอื่นๆ
  3. การใช้ศัพท์ที่ยืมมาจากจารึกหลักอื่นๆ
  4. การใช้คำสอดคล้องกับวรรณกรรมสมัยต้นรัตนโกสินทร์หรือเอกสารที่เขียนหลัง พ.ศ.1835

ความพยายามของอาจารย์พิริยะในการตั้งสมมติฐานใหม่ขึ้นจากทั้งผลงานนี้และผลงานอื่น อาจารย์เกษรา ศรีนาคา อาจารย์ประจำสาขาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณท่านได้กล่าวว่า เป็นการชี้ว่าองค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์ศิลปะที่ผ่านมายึดโยงอยู่กับอุดมการณ์ชาตินิยม อาจารย์พิริยะจึงทำการสังคายนาองค์ความรู้ใหม่ด้วยวิธีการตรวจสอบอย่างเป็นระบบเพื่อให้สามารถภูมิใจอย่างเชื่อถือได้ [2] กล่าวอีกแง่หนึ่งอาจารย์พิริยะพยายามที่จะ “รื้อสร้าง” ความเชื่อเดิมๆ นั่นเอง

ความพยายามของอาจารย์พิริยะในการ “รื้อสร้าง” นั้นนับว่าน่านับถือ อย่างไรก็ดีสิ่งที่อาจารย์ทำกลับมีข้อผิดพลาดและเกิดจุดที่ทำให้โต้แย้งได้มากมาย ตัวอย่างเช่น การที่อาจารย์พิริยะเสนอว่า การใช้กระดิ่งร้องทุกข์มีแต่พ่อขุนฯ และรัชกาลที่ 4 ทรงกระทำ ไม่มีกษัตริย์ที่ไหนอีก อาจารย์ประเสริฐ ณ นคร ผู้ได้รับการยกย่องในวงวิชาการว่าเป็นปรมาจารย์ด้านไทยศึกษาและอดีตนายกราชบัณฑิตยสถาน ได้วิจารณ์ (ทั้งประเด็นนี้และประเด็นอื่น) ว่าความจริงแล้ววิธีการตีกระดิ่งนี้มีกษัตริย์จากหลายอาณาจักรในอดีตเคยใช้ เช่น กษัตริย์แคชเมียร์ หรือกรณี “สถาบก” และ “ปราสาท” ซึ่งอาจารย์พิริยะเห็นว่าไม่มีในจารึกสุโขทัยอื่น ประเด็นดังกล่าวนี้อาจารย์ประเสริฐได้แย้งว่ามีหลักฐานปรากฎอยู่ เช่น จารึกหลักที่ 37 ในคำแรก และจารึกหลักที่ 62 ในคำหลัง [3] นอกจากนี้หากใช้การทดสอบการหาอายุของศิลาจารึกกับศิลาจารึกอื่นๆ ที่ทำด้วยหินชนิดเดียวกันโดยใช้กล้อง Scanning Electron Microscope นั้นพบว่ามีการใช้หินทรายแป้งที่ใช้ในการทำศิลาจารึกสมัยสุโขทัย แต่ไม่พบศิลาจารึกที่ทำด้วยหินแป้งในสมัยรัตนโกสินทร์ นอกจากนี้พบว่าการแกะสลักตัวอักษรบนศิลาจารึกยังทำในช่วงเวลาเดียวกันหรือใกล้เคียงกับการสกัดก้อนหินออกมาเป็นแท่งแล้วขัดให้เรียบ ไม่ใช่การแกะสลักขึ้นใหม่ในระยะหลัง ดังนั้นหากมีการสงสัยว่ามีการพบแท่งหินแล้วนำมาจารึกใหม่ทีหลังจึงตัดทิ้งไปได้ และหินที่ใช้ทำศิลาหลักที่ 1 นั้นนำมาจากแหล่งหินในบริเวณสุโขทัยหรือใกล้เคียง และอาจจะเป็นหินจากแหล่งเดียวกันกับที่ใช้ทำจารึกที่ 45 หลักที่ 3 และพระแท่นมนังศิลาบาตรอีกด้วย ดังนั้น ศิลาจารึกจึงสร้างในยุคสุโขทัยแน่นอนแม้อาจจะไม่ยืนยันได้ว่าสร้างในยุคพ่อขุนฯ ก็ตาม [4] หากมีผู้สงสัยว่าทำไมจึงไม่ใช้ Carbon-14 ตรวจสอบนั้นก็ต้องตอบว่าการตรวจสอบแบบ Carbon-14 ไม่สามารถตรวจสอบได้กับทุกสิ่งโดยเฉพาะก้อนหิน เพราะวิธีการนี้ตรวจสอบได้เฉพาะกับสิ่งที่มีอายุน้อยว่า 5 หมื่นปี แต่หินโดยส่วนมากมีอายุมากกว่านั้น [5] อย่างไรก็ดีการถกเถียงเกี่ยวกับจารึกนั้นควรมีต่อไป

Behan Mccullagh อาจารย์สาขาปรัชญาจาก La Trobe University ในออสเตรเลีย เคยเสนอไว้ใน Bias in Historical Description, Interpretation, and Explanation ว่าในงานเขียนประวัติศาสตร์นั้นมีอคติอยู่สี่ประการ อย่างแรกคือการตีความผิด อย่างที่สองคือการละเลยหลักฐานหรือข้อมูลอื่นจนทำให้ขอเสนอไม่สมดุล อย่างที่สามคือการอธิบายอดีตอย่างละเลยหลักฐานในปัจจุบัน และสี่คือการอธิบายสาเหตุของเหตุการณ์ในอดีตโดยที่ละเลยสาเหตุสำคัญอื่นๆ ทำให้เข้าใจอดีตอย่างผิดพลาด

การเขียนประวัติศาสตร์นั้นจึงต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งไม่ให้ตกหลุมไปอยู่ในสี่ข้อใดดังกล่าว การ “รื้อสร้าง” นั้นมีประโยชน์อย่างแน่นอน แต่การรื้อนั้นต้องใช้ข้อเท็จจริงที่ดีกว่าในการรื้อ เปรียบเสมือนการรื้อสะพานไม้และแทนที่ด้วยสะพานปูน แต่หากเป็นการรื้ออย่างไม่รอบคอบเพียงพอ เช่น การรื้อสะพานไม้ออกไปโดยไม่มีอะไรมาทดแทน เพราะเห็นแต่ว่าสะพานไม้นั้นเก่าและควรต้องรื้อเพียงอย่างเดียวย่อมทำให้เกิดปัญหาขึ้นมากมาย สุดท้ายสิ่งที่ตัวเองต้องการจะรื้อจึงได้กลับมารื้อตนเองไปแทนเสียนั่นเอง

อ้างอิง :

[1] ประมวลข้อถกเถียงเกี่ยวกับศิลาจารึกหลักที่ 1 (ตอนจบ)
[2] เกษรา ศรีนาคา, “พิริยะ ไกรฤกษ์ ตัวตนความคิด: มองผ่านประวัติศาสตร์นิพนธ์,” วารสารวิจิตรศิลป์ ปีที่ 11 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มิถุนายน 2563) หน้า 179-180.
[3] ประมวลข้อมูลเกี่ยวกับจารึกพ่อขุนรามคำแหง (กรุงเทพฯ: สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2547), หน้า 170.
[4] อโณทัย อาตมา, วิพากษ์คดี ‘ศิลาจารึกพ่อขุนรามฯ’ บ้างก็ว่าปลอม – บ้างก็ว่าจริง (กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ, 2547), หน้า 354-359.
[5] Robert M. Hazen, “How Old is Earth, and How Do We Know?,” Evolution: Education and Outreach Vol. 3 (2010): 198–205. และ How do geologists use carbon dating to find the age of rocks?

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า