‘ปรีดี พนมยงค์’ กับชีวิต แนวคิด และผลงานในมุมที่คนไทยอาจไม่เคยรู้จัก : ตอนที่ 1

นายปรีดี พนมยงค์ เกิดที่เรือนแพหน้าวัดพนมยงค์ อำเภอกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2443 เป็นบุตรของนายเสียง ซึ่งเป็นนายทุนที่ดินรายใหญ่ และนางลูกจันทร์ บุตรสาวของเจ้าภาษีนายอากร

นายเสียง และ นางลูกจันทร์ มีบุตรธิดา 6 คน กับบุตรภรรยาน้อย 2 คน ในจำนวนนี้ ปรีดีฯ เป็นบุตรคนที่สอง และมีน้องชาย 2 คน ซึ่งต่อมาได้เข้ามามีบทบาทสำคัญทางการเมือง คนแรกคือ นายหลุย พนมยงค์ เป็นน้องคนถัดจากนายปรีดีฯ ส่วนอีกคนหนึ่งคือ หลวงอรรถกิตติกำจร (กลึง พนมยงค์) ซึ่งเป็นน้องชายที่เกิดจากภรรยาน้อย

ชีวิตในวัยเด็กของปรีดี พนมยงค์ เติบโตในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พื้นเพเดิมอยู่แถวๆ วัดพนมยงค์ แต่นายเสียงได้ไปลงทุนทำนาที่อำเภอท่าหลวง ก่อนที่จะขยายพื้นที่เพาะปลูกไปยังบริเวณอำเภอวังน้อย กว่า 200 ไร่ หลังจากได้ทราบข่าวว่าบริษัทขุดคลองและคูนา กำลังจะขยายคลองรังสิตมายังบริเวณนี้ จนทำให้นายเสียงถูกบริษัทเรียกเก็บค่าขุดคลองในภายหลัง แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ได้ทำให้ฐานะทางการเงินของนายเสียงกระทบกระเทือน ดังจะเห็นได้จากการส่งเสียนายปรีดีฯ ให้เข้ามาเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ และยังส่งเสียนายหลุย บุตรชายอีกคนไปเรียนที่ประเทศจีน ตั้งแต่จบมัธยมต้น ที่เมืองแต้จิ๋ว และฮ่องกง ตามลำดับ

นายปรีดีฯ เป็นคนที่เรียนหนังสือเก่ง ได้เข้าเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ก่อนออกมาช่วยบิดาดูแลกิจการทำนาข้าว ซึ่งมีอยู่หลายร้อยไร่ เป็นเวลากว่า 1 ปี แล้วจึงกลับเข้าศึกษาชั้นประกาศนียบัตร ที่โรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม โดยการสนับสนุนของพระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา (ขำ ณ ป้อมเพชร์) อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ซึ่งมีความเกี่ยวพันเป็นญาติห่างๆ ของนายปรีดีฯ

หลังจากสอบไล่ได้เนติบัณฑิตในปี พ.ศ. 2462 ตั้งแต่อายุ 19 ปี นายปรีดี พนมยงค์ ก็ได้รับทุนจากกระทรวงยุติธรรม ให้ไปศึกษาต่อในวิชากฎหมายที่ฝรั่งเศส โดยเข้าศึกษาภาษาฝรั่งเศสและความรู้ทั่วไปที่มหาวิทยาลัยก็อง (Universite de Caen) และเข้าศึกษาวิชากฎหมาย ตั้งแต่ปริญญาตรีถึงปริญญาเอก

ในระหว่างศึกษาระดับปริญญาเอกอยู่ที่ฝรั่งเศส นายปรีดีฯ ได้ก่อตั้งสมาคมนักเรียนไทยในกรุงปารีส สามัคยานุเคราะห์สมาคม และมีตำแหน่งเป็นประธานสมาคม ในช่วงนั้นเองที่นายปรีดีฯ เริ่มถูกจับตาดูความเคลื่อนไหวจาก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤษฎากร ราชทูตสยามประจำปารีส เนื่องจากขัดคำสั่งพระองค์ที่ห้ามส่งตัวแทนสมาคมนักเรียนไปยังสหราชอาณาจักรในปี พ.ศ. 2469 โดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤษฎากร ได้ไปจ้างสำนักงานกฎหมาย ให้ติดตามสืบความเคลื่อนไหวจนได้หลักฐานเอาผิด และทำเรื่องกราบบังคมทูลฯ ขอให้ในหลวงรัชกาลที่ 7 เรียกตัวนายปรีดีฯ กลับสยามทันที

แต่ก่อนที่นายปรีดีฯ จะถูกเรียกตัวกลับ นายเสียงผู้เป็นบิดาได้ถวายฎีกาขอผ่อนผัน และมีการติดต่อให้ผู้ใหญ่ในกระทรวงยุติธรรมช่วยกันอีกแรง ทำให้เจ้าพระยาพิชัยในฐานะญาติ ยินยอมเอาตัวเองเป็นประกันขอให้ปรีดีฯ สำเร็จการศึกษาเสียก่อนจึงค่อยเรียกตัวกลับ จนทำให้ในหลวงรัชกาลที่ 7 พระราชทานอภัยโทษ โดยทรงมีพระราชดำริว่า ไม่ทรงถือว่าปรีดีฯ เป็นภัยคุกคามต่อราชบัลลังก์ หากแต่มีการกระทำที่อวดดีแบบคนหนุ่ม และให้ยุบสมาคมนักเรียนไทยในปารีส โดยนายปรีดีฯ ยังคงได้ศึกษาต่อจนจบปริญญาเอก

นายปรีดีฯ สำเร็จการในปี พ.ศ. 2469 และนับว่าเป็นคนไทยคนแรก ที่ได้ปริญญาเอกทางกฎหมาย จากฝรั่งเศส ในรอบ 4 ปี หลังจากที่พระสารสาสน์ประพันธ์ (ชื้น จารุวัสตร์) ได้สำเร็จการศึกษาในระดับชั้นปริญญาเอกทางกฎหมาย จากฝรั่งเศส ในปี พ.ศ. 2465

นายปรีดีฯ กลับเข้ามารับราชการ ในปี พ.ศ. 2470 ที่กระทรวงยุติธรรม โดยได้รับตำแหน่งเป็นผู้ช่วยเลขานุการกรมร่างกฎหมาย และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ว่า “หลวงประดิษฐ์มนูธรรม” นอกจากงานที่กรมร่างกฎหมายแล้ว ปรีดีฯ ยังเป็นอาจารย์ผู้สอนที่โรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม อีกด้วย

กระทั่งสยามเข้าสู่เหตุการณ์ปฏิวัติ พ.ศ. 2475 นายปรีดี พนมยงค์ ได้เข้าร่วมกับคณะราษฎร เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไปเป็นระบอบรัฐธรรมนูญ โดยมี พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) เป็นผู้นำ และพันเอก พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) เป็นมันสมองของคณะราษฎร

นายปรีดีฯ ในฐานะนักกฎหมาย ได้รับมอบหมายให้คิดร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อทูลเกล้าฯ ให้ในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงพระราชวินิจฉัย แต่แล้วกลับมีการเขียนรัฐธรรมนูญในลักษณะที่ใช้กันในระบอบสาธารณรัฐ คือมีการบรรจุให้มีคณะกรรมการชุดหนึ่งมีอำนาจควบคุมการบริหารประเทศ ซ้อนทับกับคณะเสนาบดีสภา (คณะรัฐมนตรี) อีกชั้นหนึ่ง เฉกเช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญของพรรคบอลเชวิค ที่ใช้ในประเทศสหภาพโซเวียตในขณะนั้น

นอกจากนี้นายปรีดีฯ ยังได้จัดทำประกาศคณะราษฎรขึ้นมาเองโดยลำพัง ซึ่งมีเนื้อหาถ้อยคำปรักปรำดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ จนเป็นเหตุให้คณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองขอเข้าเฝ้าฯ เพื่อขอพระราชทานอภัยโทษในเวลาต่อมา

หลังจากมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร ในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 นายปรีดี พนมยงค์ ได้นำเสนอ “ร่างเค้าโครงการทางเศรษฐกิจ” ซึ่งมีหลักการสำคัญอยู่ที่การทำให้คนทุกคนเป็นลูกจ้างของรัฐ และให้รัฐถือครองที่ดินแทนเอกชน ในลักษณะเดียวกันกับระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ ที่สตาลินกำลังดำเนินการอยู่ในสหภาพโซเวียตในเวลานั้น ซึ่งเรื่องนี้ ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการและนักโซเวียตนิยม ก็เคยวิพากษ์วิจารณ์ผ่านหนังสือ “ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง” ในทำนองว่า สิ่งที่ปรีดีฯ นำเสนอถือว่าค่อนข้างไปไกลกว่าที่เลนินหรือสตาลินทำเสียอีก

ร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจของนายปรีดีฯ ได้นำไปสู่ความขัดแย้งในรัฐสภา และรุนแรงถึงขั้นสมาชิกสภาผู้แทน โดยเฉพาะผู้ที่คณะราษฎรแต่งตั้งขึ้นมา ได้นำอาวุธปืนเข้าไปในที่ประชุมสภาและมีท่าทีคุกคามสมาชิกสภาคนอื่นๆ จนต้องปิดการประชุมสภา เพื่อรอการเลือกตั้ง ที่จะมีขึ้นในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2476

ในช่วงนั้นนายปรีดีฯ ได้รับเงินทุนจากรัฐบาลให้ไปศึกษาเพิ่มเติมที่ฝรั่งเศส และในขณะเดียวกันสถานการณ์ในประเทศก็กลับพลิกผันอีกครั้ง เมื่อพันเอก หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ) ได้นำกำลังเข้าทำรัฐประหาร บังคับให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2476 แล้วให้พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทน

พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ได้ดำเนินการให้นายปรีดีฯ กลับเข้ามาในประเทศอีกครั้ง หลังจากยกเลิกการปิดประชุมสภา โดยให้มีการจัดการเลือกตั้งในเดือนตุลาคมตามเดิม และในช่วงเวลานั้นเอง ได้เกิดเหตุการณ์ “กบฏบวรเดช” โดยคณะนายทหารซึ่งถูกรัฐประหารเมื่อเดือนมิถุนายน นำโดยพันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม ได้เชิญ พลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช นำกำลังทหารจากจังหวัดต่างๆ บุกเข้าประชิดกรุงเทพฯ จนเกิดเหตุการณ์นองเลือดขึ้นที่ทุ่งบางเขน และสุดท้ายฝ่ายกบฏบวรเดชก็พ่ายแพ้ต่อกองกำลังฝ่ายรัฐบาล ซึ่งได้นำกำลังทหารเข้าปราบกบฏและจัดการเลือกตั้งไปด้วยในเวลานั้น ทำให้ผลการเลือกตั้งชนะถล่มทลาย

นายปรีดีฯ ได้เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในปี พ.ศ. 2476 หลังจากที่ถูกดำเนินการสอบสวนว่าเป็นคอมมิวนิสต์หรือไม่ โดยคำถามที่นายปรีดีฯ ถูกซักถาม ได้ผ่านการคัดกรองจากนายปรีดีฯ แล้ว ทำให้ผลการสอบสวนออกมาว่า นายปรีดีฯ ไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์

กระทรวงมหาดไทยในสมัยของนายปรีดีฯ ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ด้วยการเปลี่ยนตัวผู้ว่าราชการจังหวัดทีเดียวค่อนประเทศ และเปลี่ยนฐานะจากผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นข้าหลวงจังหวัด โดยมีจุดประสงค์เพื่อรวบอำนาจในส่วนภูมิภาคเข้ามาอยู่กับส่วนกลางมากยิ่งขึ้น ทำให้การกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่นในเวลานั้นเติบโตอย่างเชื่องช้า จากนโยบายการรวบอำนาจของกระทรวงมหาดไทยนั่นเอง

ในระหว่างนั้นเอง นายปรีดีฯ ได้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง โดยไปยุบมาจากคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อจัดตั้งโรงเรียนผลิตนักการเมืองเข้ามาเป็นกำลังให้กับขบวนการทางการเมือง ทำให้ในปีแรกของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง มีข้าราชการมาสมัครเรียนหลายพันคน แต่ต่อมารัฐบาลได้มีการกำหนดให้การเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษา ต้องสำเร็จการศึกษาชั้นเตรียมอุดมเสียก่อน เป็นเหตุให้เกิดการยุติการเรียนการสอนในระดับชั้นมัธยมปลายทั่วประเทศ เพื่อให้มีโรงเรียนเตรียมอุดมเฉพาะที่ธรรมศาสตร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเท่านั้น

ต่อมาในปี พ.ศ. 2478 นายปรีดีฯ ได้เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ เนื่องจากประมวลกฎหมายต่างๆ ซึ่งยกร่างสำเร็จตั้งแต่ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง คงยังคั่งค้างไม่ทันได้ประกาศใช้ เพราะนักร่างกฎหมายถูกดึงมาทำงานเกี่ยวกับการเมือง จนการจัดทำประมวลกฎหมายล่าช้าไปจากเดิม และมาสำเร็จในปี พ.ศ. 2478 ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ตรงกำหนดในสนธิสัญญาทางพระราชไมตรี ว่าด้วยข้อตกลงของการยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตและเงื่อนไขด้านศุลกากร ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความยุ่งยากในการตีความ จึงจำเป็นต้องมีการเจรจาทำสนธิสัญญากันใหม่ ทำให้นายปรีดีฯ ต้องเดินทางไปทำข้อตกลงกับประเทศต่างๆ ตามเงื่อนไขเดิมที่ประเทศสยามเคยทำข้อตกลงไว้แล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2469 เป็นการสืบสานพระราชภารกิจของในหลวงรัชกาลที่ 6 ซึ่งทรงเป็นผู้ทำให้สยามได้เอกราชทางการศาลคืนมา

นอกจากนี้ ในช่วงเวลาที่ในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงสละราชสมบัติ และในหลวงรัชกาลที่ 8 ทรงขึ้นครองราชย์เป็นยุวกษัตริย์ และเสด็จฯ กลับไปศึกษาต่อที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ นายปรีดีฯ ได้แต่งตั้งให้หลวงอรรถกิตติกำจร (กลึง พนมยงค์) ไปเป็นทูตที่สวิสเซอร์แลนด์ เพื่อติดตามในหลวงอย่างใกล้ชิดอีกด้วย

ต่อมาในปี พ.ศ. 2481 หลังจากเจรจาสนธิสัญญาฉบับใหม่กับนานาประเทศแล้ว นายปรีดีฯ ได้เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในขณะเดียวกันก็ได้มีการผลักดันโครงการเศรษฐกิจตามเค้าโครงการเศรษฐกิจเดิม แต่เปลี่ยนจากระบบคอมมิวนิสต์ มาเป็นระบบผูกขาดโดยรัฐ ด้วยการสร้างรัฐวิสาหกิจต่างๆ มากมายเข้ามาผูกขาดธุรกิจต่างๆ ผ่านเครือข่ายทางการเมือง

และในจังหวะนี้เอง นายหลุย พนมยงค์ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เข้ามารับตำแหน่งในกระทรวงศึกษาธิการ และรับหน้าที่กวดขันโรงเรียนสอนภาษาจีน ก็ลาออกจากราชการ และหันมาทำธุรกิจ โดยเข้ามาประกอบธุรกิจธนาคารและประกันภัย เช่น ธนาคารเอเชียเพื่ออุตสาหกรรม ธนาคารแห่งกรุงศรีอยุธยา บริษัท ไทยเศรษฐกิจประกันภัย จำกัด นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้ว่า ธุรกิจธนาคารหลายแห่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับนายปรีดีฯ หรือกลุ่มการเมืองของนายปรีดีฯ เช่น ธนาคารนครหลวงแห่งประเทศไทย และธนาคารกสิกรไทย

ผลงานที่โดดเด่นอีกอย่างในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของนายปรีดีฯ คือ การดำเนินการยื่นฟ้องศาลแพ่ง “เพื่อยึดทรัพย์ในหลวงรัชกาลที่ 7” โดยหลักฐานที่ยื่นฟ้องมีเพียงกระดาษ 2 แผ่น ทำให้ศาลยกฟ้องถึง 2 ครั้ง ด้วยเหตุนี้เอง พระสุทธิอรรถนฤมนต์ (สุธ เลขยานนท์) อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง ผู้สั่งยกฟ้องทั้งสองครั้ง จึงได้ถูกสั่งย้ายไปเป็นผู้พิพากษาที่ศาลฎีกา และถูกปลดออกจากราชการในเวลาต่อมาฐานรับราชการนาน ทั้งๆ ที่เพิ่งอายุได้สี่สิบกว่าปีเท่านั้น

ในที่สุดวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2484 ศาลแพ่งก็ได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 242/2482 คดีหมายเลขแดงที่ 404/2484 ให้โจทก์คือกระทรวงการคลังชนะคดี และจำเลยคือในหลวงรัชกาลที่ 7 ซึ่งขณะนั้นพระองค์เสด็จสวรรคตไปแล้ว ต้องคืนเงินจำนวน 6 ล้านบาทเศษให้กับกระทรวงการคลัง

ผลจากการตัดสินในครั้งนั้น ทำให้รัฐบาลเข้ายึดวังศุโขทัย และริบทรัพย์สินอื่นๆ ของในหลวงรัชกาลที่ 7 เพื่อนำไปขายทอดตลาด แต่เมื่อตีมูลค่าของทรัพย์สมบัติทั้งหมดปรากฏว่ามีราคาเพียง 3 ล้านบาทเศษเท่านั้น ไม่ได้มากมายเหมือนที่รัฐบาลคาดการณ์เอาไว้

แต่สุดท้ายการขายทอดตลาดก็ไม่ได้เกิดขึ้น เพราะในปี พ.ศ. 2485 กระทรวงสาธารณสุขได้ขอเช่าวังศุโขทัยจากกระทรวงการคลังในอัตรา 5,000 บาท ต่อเดือน เพื่อใช้เป็นที่ทำการ จนกระทั่งสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี เสด็จกลับประเทศไทยอย่างเป็นทางการ และได้เสด็จมาประทับที่วังศุโขทัยอีกครั้งในปี พ.ศ. 2511

ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวกว่า 4 ทศวรรษในชีวิตของปรีดี พนมยงค์ ผู้เป็นมันสมองของคณะราษฎร ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นไต่เต้าจนกระทั่งขึ้นมาโลดแล่นบนเส้นทางการเมือง ซึ่งมีทั้งผลงานและแนวคิดในบางแง่มุมที่หลายคนอาจไม่เคยได้รับรู้มาก่อน

ในตอนต่อไป จะเป็นการเปิดเผยเรื่องราวชีวิตของปรีดี พนมยงค์ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กับการก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำขบวนการเสรีไทย รวมไปถึงการแทรกแซงและแย่งชิงอำนาจกันเองของกลุ่มคณะราษฎร และการลี้ภัยครั้งสุดท้ายหลังเหตุการณ์กบฏวังหลวง ที่ทำให้ปรีดี พนมยงค์ ต้องเดินทางออกนอกประเทศและไม่ได้กลับแผ่นดินเกิดอีกเลยจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต

‘ปรีดี พนมยงค์’ กับชีวิต แนวคิด และผลงานในมุมที่คนไทยอาจไม่เคยรู้จัก : ตอนที่ 2

อ้างอิง :

[1] ชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์” (พิมพ์ครั้งที่ 2, 2535)
[2] สกุลพนมยงค์ (ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ จัดพิมพ์เป็นที่ระลึกที่ระลึกเนื่องในวันปรีดี พนมยงค์ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2530)
[3] ประสบการณ์และความเห็นบางประการของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์. กรุงเทพฯ: โครงการ “ปรีดี พนมยงค์ กับสังคมไทย”, 2526
[4] ปรีดี พนมยงค์ : ครบรอบชาตกาล ตำนาน “บุคคลสำคัญของโลก”

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า