ข้อสันนิษฐานใหม่จากประวัติศาสตร์ ฤๅชาวอยุธยาจะรู้จัก ‘ฮิกายัตปัตตานี’

บทความโดย : จีรวุฒิ (อุไรรัตน์) บุญรัศมี

หากอยากรู้เรื่องราวหรือต้องการศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของอาณาจักรปัตตานี (ปตานี) “ฮิกายัตปัตตานี” (Hikayat Patani) ถือได้ว่าเป็นเอกสารชั้นต้นชิ้นสำคัญที่สุดที่จะช่วยให้เราเข้าใจเรื่องราวต่างๆ ตั้งแต่ยุคเริ่มก่อตั้งอาณาจักรไปจนถึงยุคก่อนสุลต่านมูฮัมหมัดในช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา โดยมีการบรรยายในลักษณะเดียวกันกับพระราชพงศาวดารของราชสำนักไทย กล่าวคือ การเน้นเล่าเรื่องตามลำดับของกษัตริย์ (รายา-สุลต่าน) รวมไปถึงเหตุการณ์สำคัญทางการเมือง การค้า การสงคราม หรือเรื่องอภินิหารอัศจรรย์อันเกิดจากบุญญาธิการของกษัตริย์

อีกทั้งหากอยากรู้ว่าในช่วงเวลานั้นราชสำนักปัตตานีคิดต่อสยามและประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ อย่างไร หรือแม้กระทั่งว่ามีแนวปฏิบัติยอมรับอำนาจต่อสยามอย่างไร ก็ไม่ควรพลาดที่จะอ่านฮิกายัตปัตตานีอีกเช่นกัน เพราะเอกสารชิ้นนี้คือการสะท้อนมุมมองของราชสำนักปัตตานีที่มีต่อสิ่งต่างๆ โดยใช้ตนเองเป็นศูนย์กลาง แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือการที่ราชสำนักปัตตานีมักกล่าวถึงสยามอยู่บ่อยครั้ง และออกจะมากกว่าเมืองมลายูอื่น ๆ อาทิ ปาหัง มะละกา กลันตัน ด้วย ซึ่งเมืองเหล่านั้นถูกกล่าวถึงแค่ในบางช่วงเวลาเท่านั้นเอง [1]

ในขณะที่เอกสารความทรงจำของราชสำนักไทยในสมัยอยุธยาที่เกี่ยวกับปัตตานี เช่น พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาของราชสำนัก ทั้งฉบับสั้น (ฉบับย่อ) และฉบับยาว (ฉบับพิสดาร) กลับมีการกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างสยาม-ปัตตานีเอาไว้เพียงแค่ครั้งเดียวเท่านั้นในพงศาวดารทั้งฉบับ ซึ่งต่างจากฮิกายัตปัตตานีที่กล่าวถึงสยามเอาไว้ในเกือบทุกรัชสมัยของผู้ปกครอง

แม้ว่าพระราชพงศาวดารจะกล่าวถึงปัตตานีไว้เพียงแค่ครั้งเดียว หากแต่ในช่วงปลายกรุงศรีอยุธยากลับพบว่ามีการเพิ่มเติมรายละเอียดในเหตุการณ์เดียวกันนั้นมากกว่าเดิม จนทำให้ผู้เขียนอดคิดไม่ได้ว่าชาวกรุงศรีฯ อาจจะเคยอ่านหรือรับรู้ข้อความในฮิกายัตปัตตานีมาบ้างหรือไม่

ปัตตานีในพงศาวดารอยุธยา

ปัตตานีถูกเอ่ยถึงในพระราชพงศาวดารหลายฉบับ โดยในพระราชพงศาวดารอยุธยาฉบับหลวงประเสริฐซึ่งสันนิษฐานว่าเขียนจบในรัชกาลของสมเด็จพระนารายณ์ [2] และเชื่อกันว่าเป็นพระราชพงศาวดารฉบับย่อที่มีความเก่าแก่และแม่นยำที่สุด เพราะปราศจากจากชำระเนื้อความและไม่มีการปรับปรุงเขียนใหม่ต่อเติม ทำให้พระราชพงศาวดารฉบับนี้ยังคงไว้ซึ่งสำนวนและข้อมูลที่เป็นมุมมองของคนสมัยอยุธยาจริง ๆ

พระราชพงศาวดารฉบับนี้กล่าวถึงปัตตานีเอาไว้ในเหตุการณ์เมื่อครั้งสุลต่านมูซัฟฟาร์ ชาห์ แห่งปัตตานี ได้ยกทัพมาช่วยอยุธยารบกับทัพของพระเจ้าบุเรงนองแห่งเมืองหงสาวดีในสงครามช้างเผือก (ซึ่งตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ) แต่ท้ายที่สุด สุลต่านปัตตานีกลับกลายเป็นกบฏและยึดพระราชวังหลวงไว้ระยะเวลาหนึ่ง ก่อนจะถูกชาวเมืองกรุงศรีอยุธยาต่อต้านจนต้องพ่ายหนีไปในที่สุด ดังความว่า

“…ครั้งนั้นพญาศรีสุรต่านพญาตานีมาช่วยการศึก พญาตานีนั้นเป็นขบถ แลคุมชาวตานีทั้งปวงเข้าในพระราชวัง ครั้นแลเข้าในพระราชวังได้ เอาช้างเผือกมาขี่อยู่ ณ ท้องสนาม แล้วจึงลงช้างออกไป ณ ทางตะแลงแกง แลชาวพระนครเอาพวนขึงไว้ต่อรบด้วยชาวตานี ๆ นั้นตายมาก แลพญาตานีนั้นลงสำเภาหนีไปรอด…” [3]

แต่ในพระราชพงศาวดารอยุธยาฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) ซึ่งเป็นพระราชพงศาวดารอยุธยาอีกสำนวนหนึ่ง ที่คาดว่าได้รับการชำระ/ปรับปรุงในช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา สมัยราชวงศ์บ้านพลูหลวง ได้กล่าวถึงเหตุการณ์เดียวกันนี้โดยมีรายละเอียดเพิ่มเติมที่แตกต่างกันไปว่า

“…ขณะนั้นพญาตานีศรีสุริยต่าน ยกทัพเรือยาหยับสองร้อยลำเข้ามาช่วยราชการสงคราม ถึงทอดอยู่หน้าวัดกุฎบางกะจะ รุ่งขึ้นยกเข้ามาทอดอยู่ประตูไชย พญาตานีศรีสุริยต่านได้ทีกลับเป็นกบฏก็ยกเข้าในพระราชวัง สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชเจ้าไม่รู้ เสด็จลงเรือพระที่นั่งศรีสักหลาดหนีไปเกาะมหาพราหมณ์ แลเสนาบดีมนตรีมุขพร้อมกันเข้าในพระราชวัง สะพัดไล่ชาวตานีแตกฉานลงเรือรุดหนีไป ฝ่ายมุขมนตรีทั้งปวงก็ออกไปเชิญเสด็จสมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราช พระเจ้าช้างเผือก เสด็จเข้าสู่พระราชนิเวศมหาสถาน…” [4]

เหตุการณ์เดียวกันนี้ยังปรากฏพบข้อความคล้ายกันอยู่ในพระราชพงศาวดารอยุธยาฉบับจันทนุมาศ (เจิม) ซึ่งได้รับการชำระในช่วงธนบุรีจนถึงรัชกาลที่ 1 อีกทั้งยังเป็นที่น่าสังเกตว่าข้อความในพระราชพงศาวดารฉบับจาดและฉบับเจิมนั้นมีความใกล้เคียงกันมาก กล่าวคือ มีการกล่าวเพิ่มเติมเรื่องจำนวนของกองเรือรบสุลต่านปัตตานีว่ามีถึง 200 ลำ แต่ในพระราชพงศาวดารอยุธยาฉบับหลวงประเสริฐกลับไม่มีข้อความดังกล่าวเลย

คำถามคือ ผู้เขียนพระราชพงศาวดารอยุธยาช่วงปลาย ‘ทราบ’ ข้อมูลเรื่องกองเรือรบมาจากที่ไหน ? เพราะเหตุการณ์สุลต่านปัตตานีเป็นกบฏนั้นเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาที่ห่างจากสมัยอยุธยาตอนปลายมาก ดังนั้น ความเป็นไปได้นอกจากเป็นเรื่องที่เล่าสืบต่อกันมา นั่นคือตัวบท (text) ที่เป็นลายลักษณ์อักษรที่อาจปรากฏอยู่นอกสังคมอยุธยาที่ชาวกรุงเก่ามารับรู้ ค้นพบหรือรับทราบข้อมูลดังกล่าวในภายหลัง และได้นำมาเพิ่มเติมรายละเอียดเข้าไปในช่วงการชำระพงศาวดาร

อยุธยาในฮิกายัตปัตตานี

ในขณะที่ฝั่งปัตตานีได้บันทึกเหตุการณ์นี้ไว้อย่างละเอียด กระทั่งว่าผู้ใด/ใคร ทำอะไร เวลาไหน และเพื่ออะไร โดยในฮิกายัตระบุว่ากองทัพสุลต่านปัตตานีจัดทัพเรือมาถึง 1,100 คน แบ่งเป็นชายซึ่งเป็นทหาร 1,000 คน และหญิงอีก 100 คน สำหรับจัดเตรียมเสบียงหุงหาอาหาร โดยสุลต่านได้ยึดวังหลวงของอยุธยาเอาไว้ถึง 2 วัน ก่อนที่จะถูกสยามขับไล่จนต้องหนีไป โดยสุลต่านมูซัฟฟาร์ชาห์ให้พระอนุชานำหน้าพระองค์ไปก่อน [5]

เหตุการณ์ครั้งนี้ถือว่าเป็นความขัดแย้งครั้งแรกระหว่างอยุธยาและปัตตานี ซึ่งทั้งพระราชพงศาวดารอยุธยาและฮิกายัตปัตตานีต่างเขียนตรงกันว่าปัตตานีเป็น ‘ฝ่ายเริ่มก่อน’ เหตุผลในการตัดสินใจทรยศอยุธยานี้ไม่ปรากฏในเอกสารของฝ่ายใด แม้ว่าฝ่ายปัตตานีจะระบุว่ากษัตริย์อยุธยาทรงไว้พระทัยและต้อนรับสุลต่านปัตตานีเป็นอย่างดี อย่างไรก็ดี ความขัดแย้งครั้งนี้จบลงที่ฝ่ายปัตตานีบันทึกว่า สุลต่านมูซัฟฟาร์ชาห์เสด็จกลับไปไม่ถึงปัตตานี โดยได้สิ้นพระชนม์ที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยาของสยาม และแม้แต่พระศพก็มิอาจถูกนำกลับไปฝังที่แผ่นดินเกิด ส่วนพระราชอนุชาได้ขึ้นมาเป็นสุลต่านปัตตานีพระองค์ต่อมา

จำนวนเรือรบปัตตานีในพระราชพงศาวดารโผล่มาจากไหน ?

เรื่องข้อมูลเกี่ยวกับกำลังพลของปัตตานีนี้ คาดกันว่าคงจะมีการบันทึกเอาไว้ในฮิกายัตปัตตานี หรือได้รับการชำระในช่วงปลายกรุงศรีอยุธา เช่นเดียวกับพระราชพงศาวดารอยุธยาฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) เพราะในฮิกายัตมีการกล่าวถึงยุควิบัติของปัตตานีที่ไร้สุลต่านปกครอง บ้านเมืองเต็มไปด้วยโจรผู้ร้ายเพราะเจ้าทะเลาะกันเอง และจบลงด้วยการสิ้นพระชนม์ของสุลต่านอาลงยุนุส ตรงกันกับช่วงที่อยุธยาอยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์บ้านพลูหลวง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเพทราชา ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์นี้ได้ทำสงครามชนะปัตตานีมาตั้งแต่ช่วง พ.ศ.2233-2234 [6]

ด้วยเหตุนี้ ทำให้การหาข้อมูลเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างอยุธยากับปัตตานีในช่วงเวลานั้นไม่ใช่เรื่องยาก เพราะตามประวัติศาสตร์ระบุว่าภายหลังการเปลี่ยนรัชสมัยจากราชวงศ์ศรีวังสาปัตตานี อยุธยาเข้าแทรกแซงปัตตานีมากขึ้นผ่านตัวแทนจากไชยา สงขลา และพัทลุง ดังนั้นการรับรู้ข้อมูลจากฮิกายัตปัตตานีหรือบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับการศึกสงครามในอดีตผ่านปากคำของชาวปัตตานีจึงไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจแต่อย่างใด ว่ากันว่าแม้แต่วรรณกรรมอิเหนาของชวา ชาวกรุงเก่าเองก็ได้รับถ่ายทอดมาจากชาวปัตตานีอีกด้วย

หากวิเคราะห์เนื้อความที่เกี่ยวกับกองเรือแล้ว ฮิกายัตปัตตานีกล่าวถึงเพียงแค่จำนวนของไพร่พลโดยไม่ได้กล่าวถึงจำนวนเรือ ในขณะที่ทางอยุธยากลับเน้นไปที่จำนวนของเรือที่สุลต่านยกมามากกว่าจะกล่าวถึงจำนวนไพร่พลให้ชัดเจน แต่อย่างไรก็ดี ข้อมูลทั้งสองส่วนนี้ก็มีความสัมพันธ์กัน กล่าวคือ คำว่า “เรือยาหยับ” นี้ ชัดเจนว่าไม่ใช่คำไทยแต่เป็นคำมลายู โดยเรือยาหยับ คือเรือลาดตระเวนชายฝั่งที่ต้องใช้ทั้งแรงฝีพายและใบเรือเป็นจำนวนมาก ดังนั้น หากนำจำนวนไพร่พลปัตตานีประมาณกว่าพันคนมาหารกับจำนวนเรือ 200 ลำ (อาจจะมากหรือน้อยกว่านั้น) เฉลี่ยแล้วเรือลำหนึ่งจุคนได้ประมาณ 5-6 คน ซึ่งก็สมเหตุสมผลกันดีกับจำนวนของไพร่พลและเรือที่ต่างฝ่ายต่างเน้นข้อมูลกันคนละอย่าง

เหตุนี้ ผู้เขียนจึงสันนิษฐานว่าผู้บันทึก/ชำระพระราชพงศาวดารอยุธยาในช่วงตอนปลาย น่าจะได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการศึกครั้งนั้นมาจากปากของชาวปัตตานีเอง ถ้าไม่ใช่จากการบอกเล่าก็ย่อมต้องผ่านการรับรู้มาจากฮิกายัตปัตตานีเป็นแน่ มิฉะนั้น เขาจะสามารถทราบถึงรายละเอียดเกี่ยวกับจำนวนเรือที่มีความสอดคล้องกันกับกำลังพลที่แต่เดิมนั้นมีปรากฏอยู่แค่ในเฉพาะฮิกายัตปัตตานีได้อย่างไร ?

ดังนั้น ความรู้ความเข้าใจของราชสำนักอยุธยาที่มีต่อปัตตานี น่าจะไม่ได้เป็นเพียงแค่การรับรู้แบบผิวเผิน ผู้เขียนเชื่อว่าอยุธยาน่าจะมีความรู้เกี่ยวกับปัตตานี รวมไปถึงหัวเมืองมลายูอื่น ๆ มากพอสมควร อย่างน้อยนี่ก็เป็นหลักฐานหนึ่งที่พอจะยืนยันได้ว่า ราชสำนักอยุธยาหาได้ปราศจากความรู้ความสนใจที่มีต่อประวัติศาสตร์ของเมืองประเทศราชไม่

อ้างอิง :

[1] โปรดดู A. Tueeuw. and D.K. Wyatt. Hikayat Patani : The Story of Patani.
[2] ศานติ ภักดีคำ. ประวัติศาสตร์อยุธยาจากพระราชพงศาวดาร. หน้า 154-155.
[3] ศานติ ภักดีคำ. ประวัติศาสตร์อยุธยาจากพระราชพงศาวดาร. หน้า 191-192.
[4] พงศาวดารอยุธยาฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด).
[5] A. Tueeuw. and D.K. Wyatt. Hikayat Patani : The Story of Patani. Pp. 158-161.
[6] กรมศิลปากร. จดหมายเหตุโหร ใน ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 8. (พระนคร : กรมศิลปากร). 2507. หน้า 5.

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเ