เส้นทางชีวิต สันติบาลอำมหิต ‘เฉียบ ชัยสงค์’ ผู้สะท้อนความเหี้ยมของคณะราษฎร ต่อผู้เห็นต่างผ่านปฏิบัติการ ‘เก๋งดำ’

หนึ่งในมดงานสำคัญที่ทำหน้าที่รักษาอำนาจของคณะราษฎรให้คงอยู่นั้น ก็คือ เฉียบ ชัยสงค์ หรือ เฉียบ อัมพุนันทน์ แม้ว่าจะไม่ได้มีบทบาทในฐานะบุคคลสำคัญที่ร่วมก่อการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 แต่ก็เริ่มสะสมบทบาทของตนเองมาเรื่อย ๆ ในฐานะสันติบาลในช่วงสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในวาระแรก ก่อนที่จะผงาดและมีบทบาทสำคัญขึ้นมาในช่วงที่กลุ่มอำนาจของปรีดี พนมยงค์ เข้ามามีอำนาจทางการเมืองหลังจากการสิ้นสุดอำนาจของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในวาระแรก

ประวัติส่วนตัวของเฉียบ ชัยสงค์ เริ่มจากการสำเร็จการศึกษาโรงเรียนนายร้อยทหารบกสายตำรวจ และได้เข้ารับราชการเป็นนายร้อยตำรวจตรี รองสารวัตรในกองตำรวจภูธร จากนั้นก็ย้ายมาเป็นรองสารวัตรในกองกำกับการตำรวจสันติบาล กอง 2 ซึ่งถือเป็นกองหัวใจของงานสันติบาล ปี พ.ศ.2485 เป็นสารวัตร แผนก 4 กองตำรวจสันติบาล กอง 2, ปี พ.ศ.2486 ได้เข้าร่วมเป็นเสรีไทย ถูกส่งไปดำรงตำแหน่งรองผู้กำกับการตำรวจภูธร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อปฏิบัติงานเสรีไทยที่นั่น, ปี พ.ศ.2488 ย้ายกลับมาเป็นสารวัตร กองตำรวจสันติบาล กอง 2 เช่นเดิม จนกระทั่งถูกให้ออกจากราชการหลังจากการรัฐประหารในปี พ.ศ.2490 โดยกลุ่มนายทหารซอยราชครู

ซึ่งในฐานะสันติบาลของเฉียบ ชัยสงค์ ตั้งแต่ช่วงสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม วาระแรก และช่วงสมัยปรีดี พนมยงค์ – หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เฉียบ ชัยสงค์ก็ได้ฝากฝังถึงความอำมหิตที่มีอยู่ต่อศัตรูทางการเมืองของคณะราษฎรมานับไม่ถ้วน และในหนังสือของเฉียบ ชัยสงค์ ที่ชื่อว่า “มหาวิทยาลัยของข้าพเจ้า” ซึ่งตีพิมพ์ใน พ.ศ.2500 ก็ได้เน้นย้ำถึงความมุ่งหมายของเฉียบ ชัยสงค์ ที่ต้องการบดขยี้ผู้เห็นต่างทางการเมืองและมีการกล่าววาจาโอ้อวดตนเองว่า “เป็นนายตำรวจสันติบาลผู้เคยรวบ ‘พวกศักดินา’ เป็นอาจิณเท่านั้นเอง” ซึ่งเป็นการตอกย้ำถึงพฤติกรรมที่เฉียบ ชัยสงค์ พร้อมทำทุกอย่างเพื่อรักษาอุดมการณ์คณะราษฎรไว้

หนึ่งในนั้นคือ “เหตุการณ์เก๋งดำ” ที่เกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลปรีดี พนมยงค์ – หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ที่เฉียบ ชัยสงค์ ได้ทำหน้าที่เป็นหนึ่งในคนขับรถเก๋งสีดำเพื่อทำการลอบยิงบุคคลที่เห็นต่างทางการเมือง ซึ่งมีทั้งนักหนังสือพิมพ์ นักการเมืองฝ่ายค้าน และอื่น ๆ ในบริบทที่สังคมสมัยนั้นได้กังขารัฐบาลปรีดี พนมยงค์ – หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ในเรื่องการสืบสวนสอบสวนกรณีการสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ที่มีความล่าช้าและการแทรกแซงของรัฐบาลในสมัยนั้นเพื่อบิดเบือนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น

แล้วเหตุใด คำว่า “เก๋งดำ” จึงเป็นศัพท์สแลงในสมัยนั้น ก็เพราะว่า ในสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง จำนวนรถยนต์ในไทยไม่ได้มีมากเท่าปัจจุบันและมีกลุ่มคนเพียงน้อยนิดที่มีรถยนต์ใช้ซึ่งมักเป็นผู้อำนาจ ผู้มีอิทธิพลและผู้มีฐานะทางการเงินในสังคม ซึ่งมักมีสายสัมพันธ์กับกลุ่มการเมืองของคณะราษฎรทั้งสายพลเรือนและสายทหารโดยส่วนใหญ่ ดังนั้น การใช้รถเก๋งในการจัดการศัตรูทางการเมืองจึงเป็นการบ่งบอกไปในตัวว่า เป็นตัวแทนผู้มีอำนาจของรัฐบาลคณะราษฎรอยู่แล้ว ส่วนเรื่องสีรถยนต์ที่เป็นสีดำ ก็อาจกล่าวได้ว่า เป็นรสนิยมส่วนตัวในเรื่องสีรถยนต์ของผู้มีอำนาจในขณะนั้น

แต่ไม่ได้หมายความว่า เฉียบ ชัยสงค์ จะมีสายสัมพันธ์ดีกับสมาชิกคณะราษฎรหรือบุคคลในแวดล้อมของคณะราษฎรทุกคน เพราะก่อนที่จะเกิดการรัฐประหารในปี พ.ศ.2490 เฉียบ ชัยสงค์ ในฐานะนายตำรวจสันติบาลได้มีการสืบข้อมูลพบว่า มีแนวโน้มที่จะเกิดรัฐประหารโดยกลุ่มนายทหารสายราชครู และได้มีการแจ้งกล่าวกับนายกรัฐมนตรี พล.ร.ต. ถวัลย์ ธํารงนาวาสวัสดิ์ เพื่อเตรียมจับกุมผู้ต้องหาในคดีกบฏ แต่กลับไม่ได้รับการตอบสนองมากนัก และยังเคยถูก พล.อ.อดุล อดุลเดชจรัส ตำหนิรุนแรงผ่านปรีดี พนมยงค์ จากพฤติกรรมการสืบข่าวทหารของเฉียบ ชัยสงค์ เอง

ต่อมาจึงเกิดการรัฐประหารในปี พ.ศ.2490 โดยกลุ่มนายทหารซอยราชครู ภายใต้การนำของ พล.ท. ผิน ชุณหะวัณ และมีการเปลี่ยนผ่านอำนาจจากคณะราษฎรสายพลเรือนที่มีอำนาจตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงไม่นานนัก เป็นคณะราษฎรสายพลเรือนอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความขัดแย้งกับกลุ่มการเมืองปรีดี พนงยงค์ ภายใต้การนำของควง อภัยวงศ์  และคณะราษฎรสายทหารภายใต้การนำของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ตามลำดับ แม้ว่าบทบาทของจอมพล ป. พิบูลสงคราม จะไม่ได้มีมากเท่าช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงก็ตาม

หลังเหตุการณ์การรัฐประหารในปี พ.ศ.2490 ก็ทำให้กลุ่มนายทหารซอยราชครูเข้ามามีบทบาทสำคัญในทางการเมืองและถอดถอนบุคคลคณะทำงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องเกี่ยวข้องกับรัฐบาลปรีดี พนมยงค์ – หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ เฉียบ ชัยสงค์ ที่โดนถอดถอนจากตำแหน่งนายตำรวจสันติบาล และเป็นการถอดถอนออกจากตำแหน่งในลำดับแรก ๆ หลังการรัฐประหารไม่นานนัก

โดยแม้ว่าเฉียบ ชัยสงค์ จะออกนอกประเทศไทยหลังจากการรัฐประหารในปี พ.ศ.2490 ได้ไม่มากนัก จากความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างกลุ่มการเมืองของฝ่ายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะสายพลเรือน และกลุ่มการเมืองของฝ่ายจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในฐานะสายทหาร แต่ก็ได้กลับมาประเทศไทยในปี พ.ศ.2499 และนำเสนออุดมการณ์สังคมนิยมผ่านการก่อตั้งพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายชื่อว่า “พรรคศรีอารยเมตไตรย” ที่มีรูปแบบคล้ายพรรคแรงงานกระแสหลักในสมัยนั้น

และการหยิบ “ศรีอารยเมตไตรย” มาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วก่อนหน้านี้จากสมุดปกเหลืองหรือแผนพัฒนาเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์ ในช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ใหม่ๆ โดยมีความหมายถึงการสร้างความเท่าเทียมในสังคม ไม่มีความแร้นแค้นอีกต่อไป ตามความเชื่อ “ศรีอารยเมตไตรย” ซึ่งเป็นยุคสมัยที่มีความสุขสบาย ไม่ทุกข์ยาก แต่ก็ถูกโจมตีจากสังคมส่วนหนึ่งในสมัยนั้นว่า มีแนวทางไปทางคอมมิวนิสต์และเป็นการนำความเชื่อทางศาสนาพุทธมาใช้เพื่อเสริมสร้างความน่าเชื่อถือให้กับความเชื่อทางการเมืองของตนเอง

นอกจากนี้แนวทางการเมืองของพรรคศรีอารยเมตไตรยของเฉียบ ชัยสงค์ ยังมีความเป็นสังคมนิยมจากการใช้ภาพลักษณ์แรงงานในการสร้างภาพลักษณ์ของพรรคการเมืองผ่านเครื่องแบบกรรมกรของพรรคศรีอารยเมตไตรย และยังมีการนำเสนอนโยบายทางการเมืองที่ออกไปทางสังคมนิยมอีกด้วย

ในที่สุด เฉียบ ชัยสงค์ สันติบาลผู้เป็นแขนเป็นขาให้กับคณะราษฎรในช่วงเรืองอำนาจก็ได้โดนกักขังในช่วงหลังการรัฐประหาร พ.ศ.2500 ที่เป็นการยุติอำนาจอิทธิพลของคณะราษฎรอย่างสมบูรณ์ ภายใต้การนำของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ด้วยข้อหากระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์ ในปี พ.ศ.2501 และเป็นการปิดฉากเส้นทางชีวิตของเฉียบ ชัยสงค์ โดยสิ้นเชิง

สุดท้ายนี้ พฤติกรรมของเฉียบ ชัยสงค์ ที่ได้ฝากรอยเท้าให้กับประวัติศาสตร์การเมืองไทย ก็ได้สะท้อนถึงความโหดเหี้ยมของคณะราษฎรที่ได้ด้อยค่าและบ่อนทำลายผู้ที่เห็นต่างทางการเมืองเพียงเพื่อสนองอุดมการณ์และรักษาอำนาจไว้เท่านั้น และเมื่อมีการเปลี่ยนถ่ายอำนาจที่เป็นการยุติอิทธิพลของคณะราษฎรอย่างเด็ดขาด ก็ย่อมหมายถึงการยุติอำนาจของคนแวดล้อมของคณะราษฎรเช่นกัน และได้กลายเป็นเครื่องเตือนใจถึงผลที่ตามมาจากการใช้ความรุนแรงทางการเมืองต่อผู้อื่นเมื่อยามเรืองอำนาจและการถูกเอาคืนอย่างรุนแรงเมื่อมีการเปลี่ยนถ่ายอำนาจทางการเมืองอย่างเด็ดขาด ซึ่งได้กลายเป็นบทเรียนสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ยังคงดำรงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า