รู้จัก ‘หินแห่งโชคชะตา’ หินของยาโคบจากพระคัมภีร์ ใต้บัลลังก์กษัตริย์อังกฤษ

ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าชาลส์ ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักรที่จัดขึ้นเมื่อวานนี้ (6 พ.ค. 66) พระเจ้าชาลส์ที่ 3 จะทรงประทับนั่งบน “บัลลังก์เซนต์เอ็ดเวิร์ด” (St Edward’s Chair) ซึ่งมีอีกชื่อว่า “บัลลังก์ราชาภิเษก” (The Coronation Chair)

ใต้บัลลังก์มีช่องบรรจุ “หินแห่งโชคชะตา” (Stone of Destiny)  หรือ “หินแห่งสคูน” (Stone of Scone) หินทรายสีแดงก้อนยาว ขนาดกว้าง 42 ซม. ยาว 66 ซม. สูง 26.7 ซม. น้ำหนัก 152 กก.

หินก้อนนี้ แต่เดิมทีถูกใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของกษัตริย์แห่งสกอตแลนด์มาก่อน กระทั่งพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 แห่งอังกฤษรุกรานสกอตแลนด์ใน ค.ศ. 1296  ฝ่ายอังกฤษได้พบหินองค์นี้ในวิหารสคูน และยึดไป หินแห่งโชคชะตาจึงถูกใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกกษัตริย์แห่งอังกฤษ เพื่อเป็นการอ้างสิทธิในการปกครองสกอตแลนด์นับแต่นั้นเป็นต้นมา

เนื่องด้วยในสมัยก่อน ไม่มีการจดบันทึกพงศาวดารที่แน่ชัด ที่มาของหินแห่งโชคชะตาจึงมีลักษณะของตำนาน และทฤษฎีเสียมากกว่า โดยตำนานหนึ่งเล่าว่า เฟอร์กัส เมเจอร์ (Fergus Mór: ภาษาไอร์แลนด์กษัตริย์องค์แรกของสกอตแลนด์ ทรงนำหินองค์นี้มาจากไอร์แลนด์ เพื่อใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระองค์ที่อาร์ไกด์ (Argyll) ในช่วง ค.ศ. 489 -501

อีกตำนานอ้างถึงพระคัมภีร์เจเนซิส (เจเนซิส 28:10–22) ระบุว่าหินองค์นี้เป็น “หินของยาโคบ”  (Stone of Jacob) ซึ่งยาโคบนำมาจากเบธเอล (Bethel) ก่อนที่จะถูกนำไปยังไอร์แลนด์โบราณโดยผู้เผยพระวจนะเยเรมีย์

อย่างไรก็ดี นักธรณีวิทยาได้มีการตรวจสอบหินแห่งโชคชะตา และพบว่าหินก่อนนี้มาจากพื้นที่สคูน ซึ่งเป็นที่ตั้งของวิหารสคูน
นอกจากนี้ ยังมีทฤษฎีสมคบคิดอีกทฤษฎีหนึ่ง อ้างว่า หินที่พระเจ้าเอ็ดเวอร์ดที่ 1 ได้ไปนั้น “ไม่ใช่ของจริง” แต่หินแห่งโชคชะตาองค์จริงถูกคณะบาทหลวงแห่งวิหารสคูนนำไปซ่อนเอาไว้ บ้างก็ว่าซ่อนไว้ที่แม่น้ำเทย์ (River Tay) บ้างก็ว่าซ่อนไว้ที่เนินเขาดันชิเนน (Dunsinane Hill)

ไม่ว่าตำนานหรือทฤษฎีจะว่าอย่างไรก็ตาม หินแห่งโชคชะตาองค์นี้ ถูกย้ายจากวิหารสคูน ใน ค.ศ. 1296 โดยพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 และถูกเก็บรักษาไว้ที่มหาวิหารเวสต์มินิสเตอร์นับแต่นั้นมา

ในหน้าประวัติศาสตร์ นับตั้งแต่การุกรานสกอตแลนด์ ชาวสกอตแลนด์ทำสงครามต่อต้านอังกฤษมาโดยตลอด ซึ่งนักประวัติศาสตร์เรียกสงครามนี้ว่า “สงครามประกาศอิสรภาพของสกอตแลนด์ครั้งที่ 1” (First War of Scottish Independence) จนกระทั่งพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 (พระราชนัดดาของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1) ทรงยินยอมลงพระนามในสนธิสัญญาสงบศึกกับพระเจ้าโรเบิร์ตที่ 1 แห่งสกอตแลนด์ ใน ค.ศ. 1328

ในสนธิสัญญาระบุให้อังกฤษคืนหินแห่งโชคชะตาให้แก่สกอตแลนด์ แต่เกิดการจลาจลขัดขวางการเคลื่อนย้ายหินแห่งโชคชะตา ทำให้หินองค์นี้จึงยังอยู่ในมหาวิหารเวสต์มินิสเตอร์ต่อมาอีกกว่า 600 ปี

นับตั้งแต่ที่หินแห่งโชคชะตาถูกยึดไป กษัตริย์แห่งสกอตแลนด์ก็มิเคยได้ใช้หินแห่งโชคชะตาในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอีกเลย จนกระทั่ง ค.ศ. 1603 พระเจ้าเจมส์ที่ 6 แห่งสกอตแลนด์ คือกษัตริย์แห่งสกอตแลนด์พระองค์แรกที่ได้ทรงใช้หินแห่งโชคชะตาในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอีกครั้ง

แต่ในครั้งนี้ ทรงใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในฐานะกษัตริย์แห่งอังกฤษ ภายหลังการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระนางเจ้าอลิซาเบทที่ 1 ซึ่งทรงไม่มีองค์รัชทายาท ราชสำนักอังกฤษจึงสืบพงศาวลีย้อนขึ้นไปจนพบว่า พระเจ้าเจมส์ที่ 6 แห่งสกอตแลนด์คือผู้มีสิทธิในการสืบราชบัลลังก์ จากการสืบเชื้อสายจากพระเจ้าเฮนรี่ที่ 7 ผ่านทางพระราชบิดาของพระองค์

พระองค์จึงทรงเสวยราชสมบัติขึ้นเป็นพระเจ้าเจมส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์สจ๊วต (House of Stuart) และสกอตแลนด์กับอังกฤษได้อยู่ภายใต้กษัตริย์พระองค์เดียวกันมานับแต่นั้นเป็นต้นมา จวบจนปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี ใน ค.ศ. 1914 กลุ่มนักกิจกรรมเพื่อเรียกร้องสิทธิสตรี “ซัฟฟราเจ็ตต์” (Suffragette) ก่อเหตุวินาศกรรม วางระเบิดข้างบัลลังก์ราชาภิเษกและหินแห่งโชคชะตา แต่ในเวลานั้นไม่มีรายงานความเสียหาย

กระทั่งใน ค.ศ. 1950 กลุ่มชาตินิยมสกอตแลนด์ ได้บุกเข้าไปขโมยหินแห่งโชคชะตาจากมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์และพบว่าหินแห่งโชคชะตาหักครึ่ง บ้างก็ว่าพวกเขาทำในหล่นพื้นในระหว่างการเคลื่อนย้าย บ้างก็ว่ามันเสียหายมาตั้งแต่เหตุการณ์ก่อการร้ายโดยกลุ่มซัฟฟราเจ็ตต์

กลุ่มชาตินิยมดังกล่าวประสบความสำเร็จในการขโมยหินแห่งโชคชะตากลับสู่สกอตแลนด์ ซึ่งนับได้ว่าเป็นครั้งแรกที่หินองค์นี้ได้กลับคืนสู่แผ่นดินสกอตแลนด์ และจ้างช่างหินให้ซ่อมหินองค์นี้ให้กลับเป็นชิ้นเดียวกันเหมือนเดิม

กระทั่งในปีถัดมา ทางการอังกฤษได้ค้นพบหินแห่งโชคชะตาที่วิหารอาร์บร์อท (Arbroath Abbey) และนำกลับคืนสู่มหาวิหารเวสต์มินิสเตอร์ใน ค.ศ. 1952

หินแห่งโชคชะตาถูกย้ายออกจากมหาวิหารเวสต์มินิสเตอร์อีกครั้ง เนื่องจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อป้องกันความเสียหายจากการทิ้งระเบิดทางอากาศของกองทัพนาซีเยอรมนี ในยุทธการแห่งบริเตน (Battle of Britain) ที่ซ่อนหิน ถูกเก็บเป็นความลับสุดยอดเพื่อป้องกันการจารกรรมโดยฝ่ายนาซี

จากกระแสเรียกร้องการฟื้นฟูประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมสกอตแลนด์ในช่วงปลายปี 90 ในที่สุดรัฐบาลสหราชอาณาจักรได้ประกาศคืนหินแห่งโชคชะตากลับสู่สกอตแลนด์ในวันที่ 3 กรกฎาคม ค.ศ.1996 (พ.ศ. 2539) พิธีส่งมอบอย่างเป็นทางการถูกจัดขึ้นในวันที่ 30 พฤศจิกายน ซึ่งตรงกับวันเซนต์แอนดรูว์ (St. Andrew Day) โดยมีเจ้าชายแอนดรูว์ ดยุกแห่งยอร์ก เป็นผู้แทนพระองค์สมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบทที่ 2 ปัจจุบัน หินแห่งโชคชะตาถูกตั้งไว้เคียงข้างมงกุฎแห่งสกอตแลนด์ ในพระราชวังเอดินเบอระ

เพื่อการประกอบพระราชพิธีพบบราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักรในครั้งนี้ หินแห่งโชคชะตาได้ถูกอัญเชิญกลับสู่มหาวิหารเวสต์มินิสเตอร์อีกครั้ง เพื่อใช้ในพระราชพิธี และจะถูกส่งกลับคืนสู่สกอตแลนด์ดังเดิมภายหลังพระราชพิธีเสร็จสิ้น