รู้หรือไม่ว่า? ‘ปรัชญากรีกโบราณ’ อยู่รอดถึงวันนี้ได้เพราะ ‘อาหรับ’

บทความโดย ไกอุส

เมื่อกล่าวถึงปรัชญากรีกโบราณ เช่น แนวคิดของโสเครตีส เพลโต และอริสโตเติ้ล หลายคนมักจะเห็นว่าเป็นเรื่องไกลตัวเป็นอย่างมาก อีกทั้งเป็นเรื่องเหลือเชื่อที่โลกตะวันออกเช่นเอเชียเรา จะมีความเกี่ยวข้องหรือรู้จักกับแนวคิดยุโรปสมัยเก่าแก่นี้ได้ ความคิดดังกล่าวอาจมีพื้นฐานมาจากการอ่านหรือศึกษาไม่ครบถ้วนเพียงพอ เพราะถ้าหากเรา ‘ตามรอย’ ปรัชญากรีกโบราณตามเส้นทางแห่งการแสวงหาภูมิรู้และปัญญาของมนุษยชาติให้ดี โลกอิสลามในยุคกลางนี่แหละ ที่อาจเรียกได้ว่าคือ ‘คลังปัญญาของมนุษยชาติ’ เลยก็ว่าได้

ดังที่หลักฐานปรากฏว่า ณ หอสมุดแห่งปัญญากรุงแบกแดก (ประเทศอิรักในปัจจุบัน) เมื่อหลายร้อยปีก่อนนั้น คือแหล่งแห่งขุมทรัพย์ทางปัญญาที่โลกอาหรับใช้ในการรวบรวมองค์ความรู้ของกรีกโบราณและถ่ายทอดหรือผสมเข้ากับปรัชญาของศาสนาอิสลามที่ขณะนั้นกำลังรุ่งเรืองขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะสายเพลโตนิค (Platonic) หรือ สายอริสโตเติ้ล (Aristotelian) แต่ในยุโรป ณ เวลาเดียวกันนั้นกลับตกอยู่ภายใต้การปกครองของคริสตจักร ซึ่งได้สั่งห้ามมิให้มีการศึกษาปรัชญากรีกโบราณที่ถูกตีตราว่าเป็นแนวคิด ‘นอกรีต’ และขัดแย้งคำสอนในพระคัมภีร์ไบเบิ้ล เป็นผลให้คำสอนและตำราของกรีกโบราณหลายชิ้นได้ถูกสั่งเผาทำลายจนเกือบหมดสิ้น (ไม่แปลกที่งานบางชิ้นรอดมาได้เพราะผ่านการแปลและเก็บไว้ในโลกอิสลาม) ทำให้ยุโรปยุคกลางถูกขนานนามว่า ‘ยุคมืด’ ดังที่ทราบกันดี และด้วยการหันเหจากองค์ความรู้ด้านอื่นนอกจากเทววิทยานี้ โลกตะวันตกต้องรอกระทั่งถึงช่วงคริสตวรรษที่ 12 ที่การศึกษาปรัชญากรีกจึงเริ่มถูกรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ทีละเล็กละน้อยจากศาสนจักร และเกิดการรับต้นฉบับปรัชญาโบราณมาศึกษาใหม่ผ่านโลกอิสลามอีกทอดหนึ่ง

ทั้งนี้ อิทธิพลของปรัชญากรีกโบราณได้ส่งผลต่อแนวคิดทางปรัชญาและเทววิทยาของนักคิดอิสลามหลายคน เช่น อัลฟาราบี (Al-Farabi) อะเวอรออิส (Averroes) และอวิสเซนน่า (Avicenna) โลกอิสลามได้มีการแปลงานของนักปรัชญากรีกโบราณเป็นภาษาอาหรับมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปรัชญาว่าด้วยธรรมชาติ ตรรกะศาสตร์ อภิปรัชญา ดาราศาสตร์ รวมถึงแนวคิดด้านการเมืองการปกครอง และดูเหมือนว่างานของเพลโตและอริสโตเติ้ลน่าจะมีความสำคัญที่สุดในบรรดานักปรัชญาชาวกรีกโบราณในสายตาของโลกอิสลาม

อัลฟาราบี

อัลฟาราบี (บ้างสะกด อัลฟาเราะบี) มีชีวิตอยู่ในช่วง ค.ศ. 870-950 เป็นผู้หนึ่งที่รับอิทธิพลปรัชญากรีกโบราณผ่านงานเขียนของเพลโตและอริสโตเติ้ลมาอย่างเต็มที่ เขาเห็นตรงกับปรัชญากรีกที่ว่าสังคมมีความจำเป็นต่อมนุษย์ การที่มนุษย์จะบรรลุถึงความสุขได้ก็ต้องมีสถานะดำรงอยู่ในสังคมเท่านั้น แนวคิดดังกล่าวมิพักต้องสงสัยว่ามีเค้ามาจากเพลโตและอริสโตเติ้ลเป็นแน่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักที่ว่ามนุษย์จะเป็นมนุษย์ที่ใช้ตรรกะเหตุผล (logos) ได้อย่างสมบูรณ์นั้นเขาจะต้องอาศัยอยู่ในสังคมร่วมกับเพื่อนมนุษย์คนอื่น ๆ และการพูดคุยถกเถียงนั่นเองจะทำให้มนุษย์ได้รู้จักพัฒนาการใช้ตรรกะเหตุผลได้ดีขึ้น ทำให้เกิดปัญญา นี่คือกลิ่นอายของปรัชญากรีกอย่างชัดเจน ทั้งเรื่อง logos (ตรรกะเหตุผล) และ telos (การบรรลุจุดหมาย)

นอกจากนี้ อัลฟาราบียังได้ผสมผสานแนวคิดกรีกเข้ากับปรัชญาอิสลามได้อย่างกลมกลืนอย่างมาก ไม่ว่าจะทั้งการจัดความสัมพันธ์ระหว่างรูปแบบการปกครองที่ดีที่สุด เช่น แนวคิดกษัตริย์นักปราชญ์ หรือการนำเอาคัมภีร์อัลกุรอานมาผสมกับแนวคิดของเพลโต (ที่ปรากฏอยู่ใน The Law) จนออกมาเป็นแนวคิดว่าด้วยบัญญัติศักดิ์สิทธิ์ตามปรัชญาอิสลาม กล่าวได้ว่า อัลฟาราบีผู้นี้เองที่เป็นต้นธารที่ทำให้ปรัชญากรีกโบราณแพร่ขยายมาจนถึงโลกอิสลาม และเป็นเสมือนแรงบันดาลใจให้นักคิดกรีกสายอิสลามรุ่นต่อมา เช่น อะเวอรออิส และอวิสเซนน่าได้จำเริญรอยตาม

อะเวอรออิส

อะเวอรออิสมีชีวิตอยู่ในช่วง ค.ศ.1126-1198 เขาเป็นนักคิดยุคหลังอัลฟาราบี แต่ชื่อที่สะกดข้างต้นกลับเป็นชื่อที่ทางยุโรปออกเสียงเท่านั้น เพราะหากจะกล่าวอย่างเคร่งครัด อะเวอรออิสเป็นเสียงที่เพี้ยนมาจาก ‘ibn Rushd’ อันเป็นชื่ออาหรับที่ถูกต้องแท้จริงของเขา ทั้งนี้ ผลงานอันโดดเด่นของอะเวอรออิสที่เกี่ยวข้องกับปรัชญากรีกโบราณ คืองานเขียนว่าด้วยความเห็นต่อ ‘อุตมรัฐ’  (Republic) ของเพลโต ซึ่งอะเวอรออิสได้ประยุกต์หลักการอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างจิตของมนุษย์กับลักษณะการปกครองของรัฐ (psyche-polis/polis- psyche) ด้วยทฤษฎีสี ซึ่งทำให้ผู้ที่สนใจแนวคิดของเพลโตต่อความสัมพันธ์ระหว่างจิตและรัฐดังกล่าว สามารถทำความเข้าใจและศึกษาตำราที่เขียนอย่างสลับซับซ้อนให้เกิดความเข้าใจอันง่ายดายขึ้นมาก

ดังที่กล่าวมานี้ โลกอิสลามเองนี่แหละที่เป็นเสมือนคลังความรู้ในตลอดเวลาที่ยุโรปกำลังดำดิ่งสู่ยุคมืดทางปัญญา และผลจากการกลับมาศึกษาปรัชญากรีกโบราณของชาวยุโรปในยุคกลาง (หลัง) ผ่านวัตถุดิบเก่าแก่ที่ถูกเก็บรักษาไว้ในโลกอิสลามตะวันออกอีกทอดหนึ่ง ทำให้ท้ายที่สุด ยุโรปก็ได้เข้าสู่ยุคสมัยใหม่ (ผ่านจตุสมดมภ์ทางปรัชญาเก่าแก่) ในเวลาไม่นานนัก

อ้างอิง :

[1] ลีโอ สเตร๊าส์ และ โจเซ็ฟ คร็อปซีย์ (บรรณาธิการ) แปลโดย สมบัติ จันทรวงศ์. ประวัติปรัชญาการเมือง เล่มที่ 1. (กรุงเทพ : คบไฟ, 2552).
[2] มูฮัมหมัดอัลยาส หญ้าสปรัง. ความคิดทางการเมืองอิสลาม : กำเนิด พัฒนาการ และข้อถกเถียงในปัจจุบัน. (ปัตตานี : ปาตานีฟอรั่ม, 2565).
[3] ไชยันต์ ไชยพร. ธรรมชาติมนุษย์-การเมือง : ไตรลักษณะจิต-ไตรลักษณะรัฐ. (เอกสารประกอบการสอนอัดสำเนา)
[4] Jonathan Lyons. The House of wisdom : How the Arabs transformed Western civilization. (UK : Bloomsbury, 2009)
[5] Robert Irwin. For lust of knowing : The Orientalism and their enemies. (UK : Penguin Books, 2006).

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า