แก้เรื่องเล่าด้วยหลักฐาน สยามจงใจสร้างคุกทับ ‘เวียงแก้ว’

ถึงแม้ว่าประเทศหนึ่งๆ จะมีประวัติศาสตร์และเรื่องเล่าใหญ่ๆ ที่ผู้คนรู้จักและคุ้นเคย แต่ในระดับท้องถิ่นนั้นก็มีประวัติศาสตร์และเอกลักษณ์ของตน ซึ่งทั้งประวัติศาสตร์ในระดับชาติและในระดับท้องถิ่นนั้นต่างก็น่าศึกษาทั้งสิ้นเพราะต่างก็มีพลวัตในตัว อีกทั้งยังมีประเด็นที่สนใจมากมายและยังเป็นการบูรณาการความเข้าใจทางประวัติศาสตร์ได้ดีมากขึ้น ทั้งนี้เราทั้งชาติจึงจะได้รู้จักกันมากขึ้นนั่นเอง

การเล่าประวัติศาสตร์นั้นหากเล่าโดยข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นนั้นแม้จะมีข้อกระทบกระทั่งกันบ้าง แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่รับได้ เพราะความจริงคือสิ่งที่มิอาจบิดผันเป็นสิ่งอื่น ความจริงที่หลากหลายจึงเป็นความจริงที่ยังไม่พบข้อเท็จจริงเท่านั้น และในบางครั้งการเล่าประวัติศาสตร์ก็อาจมีความเชื่อและอุดมการณ์มาผสมอยู่จำนวนมากจนน่าเสียดายที่บางงานนั้นควรจะออกมาได้ดีกว่าที่เป็นอยู่ กระแสท้องถิ่นนิยมนั้นเป็นสิ่งที่เข้าใจได้และไม่ใช่สิ่งที่แย่ กระนั้นก็ตามการนิยมสิ่งใดมากก็สามารถก่อให้เกิดการใช้ประวัติศาสตร์โดยไม่ถูกต้องได้ (และไม่จำเป็นว่าต้องเป็นท้องถิ่นนิยมเท่านั้น) ประเด็นหนึ่งก็คือการ “สร้างคุกทับเวียงแก้ว” ของเมืองเชียงใหม่ที่มักจะมีเรื่องเล่าในทำนองว่าสยามตั้งใจสร้างคุกทับเวียงแก้วไว้และเป็นการหยามคนท้องถิ่นอย่างมาก จนนักวิชาการบางท่านเรียกคุกว่าเป็น “ขึด” ของเชียงใหม่

ในทางเหนือนั้นมี “คุ้มหลวง” ซึ่งก็คือวังหลวงหรือวังอันเป็นที่สถิตของเจ้าผู้ครองเมือง ส่วน “หอคำ” นั้นคือเรือนที่อยู่ของเจ้าผู้ครองเมืองสร้างไว้ในคุ้มหลวงอีกทีหนึ่ง หอคำนี้คือเครื่องประดับเกียรติยศ เมืองต่างๆ ในมณฑลพายัพจะมีคุ้มหลวงสำหรับเมือง ใครที่เป็นเจ้าเมืองก็จะย้ายเข้ามาอยู่ที่คุ้มหลวงกันทุกคน แต่ส่วนเหย้าเรือนในคุ้มหลวงนั้นแต่ก่อนจะสร้างเป็นไม้ ถ้าเจ้าเมืองคนไหนไม่ชอบจะอยู่ร่วมเรือนก็มักจะเอาไปปลูกถวายวัดแล้วสั่งให้สร้างเรือนใหม่ ส่วนหอคำนั้นไม่ได้มีทุกเมืองเพราะเป็นเครื่องประดับเกียรติยศพิเศษของเจ้าผู้ครองที่ได้รับเกียรติยศพิเศษสูงกว่าเจ้าผู้ครองเมืองโดยสามัญ แต่เมื่อเจ้าเมืองถึงพิราลัยก็มักรื้อหอคำไปถวายวัดตามประเพณี [1]

ธรรมเนียมการสร้างหอคำนี้ปรากฏตั้งแต่สมัยราชวงศ์มังรายครองเชียงใหม่ แต่เมื่อเชียงใหม่ตกอยู่ใต้พม่าจะมีธรรมเนียมนี้อยู่หรือไม่นั้นไม่ปรากฏหลักฐาน แต่ที่เชียงใหม่นี้จะแปลกกว่าหัวเมืองอื่นๆ คือที่พำนักของเจ้าผู้ครองนครจะเรียกว่า “เวียงแก้ว” ซึ่งสันนิษฐานว่ามาจากคำว่า “เวียงหน้าคุ้มแก้ว” แล้วกร่อนมาเหลือเพียงเวียงแก้วภายหลัง

ภายหลังจากที่เชียงใหม่ถูกกอบกู้แล้ว พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ได้ขึ้นเป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ. 2404 จึงได้สร้างหอคำประดับเกียรติยศภายในพื้นที่ “หอเทียม” ซึ่งอยู่ด้านใต้ของพื้นที่หอคำของพระเจ้ากาวิละเวียงแก้วภายในเวียงแก้วซึ่งปรากฏหลักฐานอยู่ในหอจดหมายเหตุเมืองเชียงใหม่ ครั้นพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ถึงพิราลัย เจ้าอุปราชอินทนนท์ซึ่งได้รับสถาปนาเป็นเจ้านครเชียงใหมที่ 7 (พระเจ้าอินทวิชยานนท์) ได้สร้างคุ้มหลวงแห่งใหม่ขึ้นที่ข่วงหลวงบริเวณหน้าศาลาสนามที่เป็นที่ตั้งตึกยุพราพในปัจจุบัน เวียงแก้วซึ่งเป็นที่พำนักของเจ้านครเชียงใหม่มาตั้งแต่ พ.ศ. 2339 จึงสิ้นสภาพการเป็นคุ้มหลวงนับแต่ พ.ศ. 2413 และถูกปล่อยร้างกว่า 40 ปี จนถึงสมัยเจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ได้รับสถาปนาเป็นเจ้าผู้ครองสืบจากพระเจ้าอินทวิชยานนท์เมื่อ พ.ศ. 2444 เวียงแก้วก็ยังถูกปล่อยให้เป็นที่รกร้างจนเกิดน้ำท่วมที่ว่าการมณฑลพายัพเมื่อ พ.ศ. 2448 และต้องย้ายที่ว่าการมณฑลมาเปิดทำการร่วมกับที่ว่าการเค้าสนามหลวงที่กลางเวียง ประกอบกับเจ้าอินทวโวรสสุริยวงษ์ได้ยกที่ดินฝั่งตรงข้ามที่ว่าการเค้าสนามหลวงซึ่งแผนที่นครเชียงใหม่ พ.ศ. 2436 ระบุว่าเป็น “หอพระแก้วร้าง” ให้เป็นที่ก่อสร้าง เจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ ผู้บัญชาการเรือนจำมณฑลพายัพจึงได้ปรึกษากับเจ้าอินทรวโรรสเอาที่เวียงแก้วสร้างเรือนจำสำหรับเมืองเชียงใหม่

สาเหตุที่ใช้ที่ดินตรงนี้ก็เพราะว่าใหญ่พอที่จะสร้างและไม่ต้องเวนคืนที่ดิน และอีกประการหนึ่งก็คือในตอนนั้นเป็นช่วงปฏิรูปการยุติธรรมโดยมีข้อบังคับเรือนจำให้ผู้ว่าราชการเมืองไปตรวจที่คุมขังเสมอเพื่อดูความเรียบร้อยและได้มาตรฐานตามที่มหาอำนาจขณะนั้นเรียกร้อง การสร้างไว้ใกล้กันจึงเป็นความสะดวกที่สามารถตรวจตราได้สม่ำเสมอ และต่อมาคุกของสยามก็ได้รับมาตรฐานดีมากถึงขนาดที่ว่าได้รับคำชมว่า “เรือนจำเชียงใหม่งดงามมาก จนรู้สึกน่าเสียดายที่เป็นเรือนจำ ถ้าเป็นโรงเรียนของรัฐบาลน่าจะเหมาะกว่า”

นอกจากนี้เจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ก็ไม่ได้ยกพื้นที่เวียงแก้วทั้งหมดให้เป็นที่ตั้งเรือนจำดังที่เจ้าดารารัศมีทรงเล่าประทานว่า “‘เวียงแก้ว’ เป็นเนื้อที่สี่เหลี่ยมจดถนนทุกทิศ เป็นมรดกของเจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ เจ้านครเชียงใหม่ที่ 8 เจ้าอินทวโรรสฯ ได้ยกทูลเกล้าฯ ถวายให้เป็นเรือนจำจังหวัดเชียงใหม่ในด้านทิศใต้ ส่วนทางด้านทิศเหนือ เจ้าอินทวโรรสได้จัดทำเป็นสวนสัตว์ครึ่งหนึ่งและอีกครึ่งหนึ่งได้ยกให้ข้าราชบริพาร คือ พระญาติๆ หลานเหลน และเหล่าเสนาของท่าน เช่น หมื่น ท้าว พญาทั้งหลายในสมัยนั้น” [2]

นอกจากนี้เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่นั้นเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินทั่วทั้งเชียงใหม่ คนที่ยกพื้นที่เวียงแก้วให้สร้างคุกคือเจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ส่วนหนึ่ง อีกที่เหลือนั้นทำเป็นสวนสัตว์และยกให้แก่บริวาร และพื้นที่นี้ในปัจจุบันก็ยังเป็นบ้านเรือนของประชาชนและบ้านเจ้าดวงเดือน จึงน่าสงสัยว่าส่วนที่เหลือนี้เป็น “ขึด” ด้วยหรือไม่? หรือเพียงหยิบบางส่วนมาโจมตีเท่านั้น? และการสร้างคุกที่ได้มาตรฐานนั้นก็มิได้เป็นการหยามใครแต่อย่างใด กลับกันนักโทษนั้นก็ได้รับการปฏิบัติอย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อีกด้วย

อ้างอิง :

[1] เรียบเรียงจาก วรชาติ มีชูบท, เจ้านายฝ่ายเหนือและตำนานรักมะเมียะ (กรุงเทพฯ: สร้างสรรค์บุ๊คส์, 2556), หน้า 201-221.
[2] แสงดาว ณ เชียงใหม่, พระประวัติพระราชชายา เจ้าดารารัศมี 26 สิงหาคม 2416 – 9 ธันวาคม 2476, หน้า 31.