รัชกาลที่ 7 แก้ปัญหาโรงเรียนจีนในสยามด้วยความเข้าใจ มิใช่มุ่งกวาดล้างอย่างคณะราษฎร

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 มีการจัดตั้งโรงเรียนจีนในสยามเป็นจำนวนมาก ถือได้ว่าเป็น “ยุคทอง” ของโรงเรียนจีนเลยทีเดียว โดยเฉพาะในปี พ.ศ. 2476 มีโรงเรียนจีนในสยามถึง 271 แห่ง

แต่เนื่องด้วยปัญหาที่โรงเรียนจีนบางแห่งมีการสอนแบบชาตินิยม และโน้มเอียงไปในแนวทางเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ให้กับนักเรียนจีนในสยาม จึงจำเป็นต้องมีการกำหนดมาตรการควบคุมโรงเรียนจีนให้เหมาะสม

ในหลวงรัชกาลที่ 7 ได้ทรงตระหนักถึงปัญหานี้ และทรงใช้วิธีแก้ปัญหาแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อไม่ให้เกิดความรู้สึกต่อต้านคนจีนในสยาม จนเป็นการกระทบกระเทือนต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ซึ่งต่างจากมาตรการของคณะราษฎรในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ใช้นโยบายชาตินิยมแบบสุดขั้ว ออกมาตรการกวาดล้างโรงเรียนจีนในสยามทั้งหมด ซึ่งถือเป็นการใช้อำนาจเข้าปราบปรามโรงเรียนจีนอย่างรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์

ในสมัยรัชกาลที่ 7 ถือได้ว่าเป็นยุคเฟื่องฟูของระบบการศึกษา โดยเฉพาะโรงเรียนราษฎร์ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการจัดระบบการศึกษาสายสามัญในเวลาต่อมา ด้วยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ทรงเห็นว่า รัฐบาลจำเป็นต้องพึ่งเอกชนในการจัดการศึกษาให้แพร่หลาย ทรงยินดีและสนับสนุนให้มีการจัดตั้งโรงเรียนราษฎร์อย่างเต็มที่ ดังนั้น โรงเรียนจีนจึงมีการกระจายแพร่หลายมากที่สุดในสมัยรัชกาลที่ 7

แต่ด้วยปัญหาที่คาบเกี่ยวระหว่างเส้นแบ่งทางการศึกษาและการเมืองของโรงเรียนจีน ดังที่กล่าวมา ในหลวงรัชกาลที่ 7 จึงทรงให้ความสำคัญกับโรงเรียนจีนในสยามเป็นอย่างยิ่ง และมีพระราชปรารภให้แก้ไขพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ พ.ศ. 2461 (ซึ่งประกาศใช้ในสมัยรัชกาลที่ 6) เสียใหม่เพื่อเป็นการกำหนดมาตรการควบคุมโรงเรียนจีนให้เหมาะสม

และด้วยพระปรีชาญาณของในหลวงรัชกาลที่ 7 ที่ทรงสนพระราชหฤทัยปัญหาด้านการศึกษา ทรงมีพระราชดำริให้รัฐบาล กำหนดนโยบายเกี่ยวกับการศึกษาของคนจีนในประเทศไทยไว้เป็นพิเศษ และจะต้อง “ไม่เป็นการต่อต้านคนจีนโดยตรง” เพราะอาจจะกระทบกระเทือนต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และให้ใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือดำเนินนโยบายของรัฐบาล ให้ชาวจีนในสยามมีความรักในผืนแผ่นดินไทยมากขึ้น โดยให้ตระหนักว่าตนเองก็เป็นพลเมืองไทยเช่นกัน

ทรงตระหนักว่า การตั้งข้อรังเกียจต่อชาวจีนไม่ก่อให้เกิดผลดีแต่ประการใด พระองค์ได้อุตสาหะเสด็จเยี่ยมโรงเรียนต่าง ๆ และพระราชทานพระราชดํารัส ในคราวเสด็จเยี่ยมโรงเรียนจีน เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2470 ความตอนหนึ่งว่า

...อันที่จริงไทยกับจีนนั้นต้องนับว่าเป็นชาติที่เป็นพี่น้องกันโดยแท้...ข้าพเจ้า มิมีความประสงค์อะไรยิ่งไปกว่าจะขอให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีน เป็นไปโดยสนิทสนมอย่างที่แล้วมานี้ ให้คงอยู่เช่นนี้ตลอดไป...ในโรงเรียนของท่าน ท่านย่อมสั่งสอนให้นักเรียนรักประเทศจีนอันเป็นบ้านเกิดเมืองมารดร ข้อนี้ย่อมเป็นของธรรมดาและของควร แต่นอกจากที่จะสอนให้รักประเทศจีน ข้าพเจ้าหวังว่าท่านจะสอนให้รักเมืองไทยด้วย...

ทั้งหมดนี้ เป็นวิธีการแก้ปัญหาเกี่ยวกับโรงเรียนจีน แบบค่อยเป็นค่อยไปของในหลวงรัชกาลที่ 7 ซึ่งต่างจากคณะราษฎรในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม อย่างสิ้นเชิง ที่ได้สร้างมาตรการเข้มงวดกับโรงเรียนจีน ด้วยการออกพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ พ.ศ. 2479 ซึ่งทำให้โรงเรียนจีนหลายแห่งได้รับผลกระทบอย่างหนัก

และในช่วงปี พ.ศ. 2481 – พ.ศ. 2483 โรงเรียนจีนในสยาม 293 แห่ง ก็ได้ถูกรัฐบาลจอมพล ป. สั่งปิดทั้งหมด โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ พ.ศ. 2479 กระทั่งสยามไม่เหลือโรงเรียนราษฎร์ที่สอนภาษาจีนอยู่เลย นับเป็นการใช้อำนาจเข้าปราบปรามโรงเรียนจีนอย่างรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการกระทบกระเทือนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นอย่างมาก

จากข้อมูลทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่า รัฐบาลของคณะราษฎรได้ใช้อำนาจรัฐเข้าปราบปรามและกำจัดโรงเรียนจีนในสยามอย่างเด็ดขาด โดยไม่สนใจผลกระทบที่จะตามมา และไม่คำนึงถึงความรู้สึกของชาวจีนส่วนใหญ่ในสยามเลยแม้แต่น้อย

ต่างจากสมัยของในหลวงรัชกาลที่ 7 ที่พระองค์ทรงใช้วิธีการแก้ปัญหาที่นุ่มนวลกว่า ด้วยการมุ่งเน้นให้มีการปลูกฝังความรักชาติผ่านการเรียนการสอน อันจะเป็นรากฐานสำคัญของลูกหลานชาวจีนในกาลต่อมา และทรงให้ความสำคัญกับโรงเรียนต่าง ๆ เป็นพิเศษ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาที่จะนำไปสู่ความบาดหมาง และกระทบกระเทือนต่อความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยกับจีน

ที่มา :

ระวี สัจจโสภณ, การศึกษาเปรียบเทียบการดำเนินงานของโรงเรียนคริสต์และโรงเรียนจีนในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว, รายงานวิจัยโครงการวิจัยสถาบันพระปกเกล้า, พ.ศ. 2562

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า