‘แขกจาม’ จากผู้เกือบสิ้นชาติและเผ่าพันธุ์ สู่ผู้เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมสร้างชาติไทย

หลายคนคงเคยได้ยินชื่อของกองกำลังอาสารบในสมัยโบราณซึ่งเรียกกันว่า “กองอาสาแขกจาม” อันเป็นกองกำลังชาวต่างชาติที่มีความสามารถในการรบอย่างเก่งกาจทั้งทางบกทางน้ำ กระทั่งพระมหากษัตริย์ไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงรัตนโกสินทร์ต่างไว้วางพระทัยอย่างมากต่อกองกำลังรบของชนชาตินี้ และเมื่อเกิดศึกสงครามกับอริราชศัตรูคราใด มักจะต้องปรากฏ “กองอาสาแขกจาม” ในรายชื่อของกำลังพลทหารหาญอยู่เสมอ

แขกจาม” หรือ “ชาวจาม” (Urang Champa – อูรังจามปา) เป็นที่รู้จักของชาวสยามผ่านงานเขียนหรืองานจิตรกรรมตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงรัตนโกสินทร์ เช่น ในพระราชพงศาวดารหรือในโคลงภาพคน 32 ภาษาของจารึกวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ซึ่งมีโคลงและภาพส่วนหนึ่งที่กล่าวถึง “แขกจาม” ไว้ (ประพันธ์โดยขุนธนสิทธิ์ ในสมัยรัชกาลที่ 3) อย่างไรก็ดี แขกจามที่ชาวสยามในสมัยรัชกาลที่ 3 รู้จักนั้น คือแขกจามที่รับเอาอาดัต (Adat) หรือธรรมเนียมวัฒนธรรมมาจากชวา-มลายู

เนื่องจากในจารึกวัดพระเชตุพนฯ มีการวาดภาพจิตรกรรมพร้อมโคลงกลอนที่บรรยายอย่างสวยงามว่าพวกแขกจามนั้น “โพกผ้าเช็ดหน้า” (ผ้าบิด) “นุ่งผ้าถุง” (นุ่งโสร่ง) และ “เหน็บกริช” (มีดสั้นอย่างชวา-มลายู) ซึ่งจะเห็นได้ว่า ลักษณะภายนอกของแขกจามในสยามแต่งกายคล้ายทางชวา-มลายูอย่างไม่มีผิดเพี้ยน หากแต่ว่ามีหน้าตาและสีผิวคล้ายคลึงกับชาวเขมร

อย่างไรก็ดี ก่อนที่ชาวจามจะสูญสิ้นอาณาจักรของตัวเองนั้น ชนชาติจามยุคก่อนที่จะนับถือศาสนาอิสลามในสมัยโบราณ เป็นชนชาติที่มีประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ไม่แพ้อาณาจักรขอมหรือฟูนันเลย นักประวัติศาสตร์และสังคมวิทยาหลายท่าน จัดให้ชาวจามเป็นชนชาติโบราณในดินแดนเอเชียตะวันออกไม่กี่ชนชาติที่ชำนาญในการเดินเรือ แม้ว่าจะตั้งถิ่นอาศัยอยู่ในแผ่นดินใหญ่ โดยอาณาจักรของชาวจามมีอาณาเขตตั้งแต่ เมือง Dong Hoi ถึง Phan Thiet (บริเวณตอนกลางและใต้ของเวียดนามในปัจจุบัน) และบางครั้งชาวจามก็ได้แพร่อิทธิพลมาถึงแถบแม่น้ำโขงของเขมรอีกด้วย

ในสมัยโบราณชาวจามได้ล่องเรือท่องไปทั่วทั้งน่านน้ำจีนตอนใต้ เข้ามายังสยาม ข้ามไปสุมาตรา บอร์เนียว และอาจท่องทะเลไปไกลถึงเกาะมินดาเนาทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ด้วย

ชาวจามพูดภาษาในตระกูลออสโตรนีเซียน (Austronesian) อันเป็นภาษาที่ใกล้เคียงกับภาษาชวา-มลายู กล่าวกันว่าภาษาจามเป็นภาษาแรกๆ ในแถบนี้ที่ได้รับการจารึกเป็นลายลักษณ์อักษร จากการประยุกต์อักษรพราหมีและปัลลวะจากอินเดียในช่วง คริสต์ศตวรรษที่ 6

ในด้านศาสนาและความเชื่อ ชาวจามถือว่าเป็นพวกแรกๆ ในแถบเอเชียตะวันออกที่นับถือศาสนาฮินดูลัทธิที่เน้นพระศิวะเป็นใหญ่ (ไศวนิกาย) แต่ก็พบบ้างที่บางวิหารมีการบูชาพระวิษณุ และต่อมาเมื่อศาสนาพุทธได้แพร่เข้ามาในดินแดนแถบนี้ ชาวจามบางส่วนยังมีการนับถือพุทธศาสนาเจือปนเข้าไปด้วย

จากข้อมูลในเอกสารจีนโบราณ ชาวจามฮินดูยุคแรกมักเป็นชาติที่มีการรบพุ่งกับเพื่อนบ้านบ่อยครั้ง โดยลักษณะของกองทัพจามนั้น พลเดินเท้าจะถือโล่และมีคันธนูพร้อมลูกศรอาบยาพิษเป็นอาวุธ พรั่งพร้อมด้วยกองทัพช้างที่น่าเกรงขาม ส่วนพลทหารทั่วไปจะสวมเสื้อเกราะที่ทำจากหวาย และม้าได้ถูกนำมาใช้ในกองทัพจามฮินดูในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 12 แต่อย่างไรก็ตามทัพช้างของกษัตริย์จามก็ยังถือว่าเป็นกองทัพที่แข็งแกร่งที่สุดอยู่ดี

อาณาจักรจามมีการทำสงครามอยู่บ่อยครั้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับทางขอม ซึ่งชาวจามมักได้รับชัยชนะและรักษาอาณาจักรของตนไว้ได้ทุกครั้ง ทว่านับตั้งแต่ ค.ศ. 1170 เป็นต้นมา อาณาจักรจามเริ่มอ่อนแอลงเรื่อยๆ และเริ่มทำศึกสงครามแพ้ทางขอม แต่ศัตรูของชาวจามก็ไม่ได้มีแค่ขอมเท่านั้น เพราะในช่วงเวลานั้นทางเวียดนามก็กำลังแพร่อิทธิพลลงมาเรื่อยๆ กระทั่งเริ่มเข้ายึดครองดินแดนของจาม ทำให้ชาวจามต้องละทิ้งเมืองอินทรปุระ (Indrapura) อันเป็นเมืองหลวงเก่าแก่แห่งแรกของจาม (ตั้งอยู่บริเวณตอนกลางของเวียดนาม) แล้วหลบหนีไปตั้งเมืองหลวงใหม่ทางตอนใต้ที่เมืองวิชายะ (Vijaya) ใน ค.ศ. 1306 (บริเวณใกล้ชายแดนกัมพูชา)

ต่อมาชาวจามได้รวบรวมกำลังเพื่อกอบกู้ดินแดนคืนมาในปี ค.ศ. 1471 แต่ก็ต้องพ่ายแพ้ต่อกองกำลังของเวียดนามอย่างยับเยิน อย่างไรก็ดี ชาวจามยังคงรักษาขนบธรรมเนียมของตนอย่างหนักแน่น แม้ว่าสุดท้ายจะถูกเวียดนามรุกรานและทำลายจนสูญสิ้นความเป็นราชอาณาจักรอย่างถาวร ในปี ค.ศ.1832 (ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 3)

สำหรับการนับถือศาสนาอิสลามของชาวจามนั้น คาดการณ์กันว่าเริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 6 และเริ่มแพร่กระจายอย่างกว้างขวางในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16-17 ว่ากันว่าจามอาจเป็นชนชาติแรกๆ ที่นำเอาศาสนาอิสลามไปเผยแพร่ยังชวา (อินโดนีเซีย) เนื่องจาก 1 ใน 9 ของวาลี ซองโงะห์ (Wali Songo – 9 นักบุญผู้เผยแพร่ศาสนาอิสลามในตำนานของชวา) ที่ชื่อว่า สูนัน อัมเปล (Sunan Ampel) ตามประวัติแล้วมีพ่อเป็นชาวเปอร์เซียและแม่เป็นเจ้าหญิงของอาณาจักรจามปา

และในช่วงนี้เองมีหลักฐานว่าแขกจาม (มุสลิมจาม) ได้ร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่ในทัพของราชสำนักมลายูยะโฮร์เพื่อต่อต้านการล่าอาณานิคมของสเปนและโปรตุเกสด้วย และภายหลังการล่มสลายของเมืองหลวงของพวกเขา (เมือง Panduranga) แขกจามส่วนใหญ่ได้อพยพไปยังเขมร บางส่วนได้อพยพไปยังกลันตันแหลมมลายู และเชื่อว่ามีบางส่วนได้อพยพมายังสยาม (อยุธยา) อีกด้วย

การอพยพของแขกจามเข้าสู่สยามไม่ได้มีเพียงแค่กลุ่มที่อพยพหนีภัยศึกสงครามมาเท่านั้น แต่ยังมีการไหล่บ่าของแขกจามที่สมัครใจมาอยู่เองด้วยการค้าขาย แล้วมาตั้งบ้านเรือนถาวรในสยามอีกเป็นจำนวนมาก

ซึ่งจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ พระมหากษัตริย์สยามตั้งแต่อดีตต่างทรงสนับสนุนและไม่เคยกีดกันความเจริญก้าวหน้าทางราชการของบรรดาแขกจามในสยามเลย โดยหลักฐานที่ชัดเจนที่สุดก็คือ ตำแหน่งแห่งที่ทางราชการสูงๆ เฉกเช่นตำแหน่งพระยาราชบังสัน (ต่อมาคือแม่ทัพเรือในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนกลาง) และบรรดานายทหารในกองทัพเรือ ที่ส่วนมากเป็นคนไทยในตระกูลมุสลิมจาม (แขกจาม) แทบทั้งสิ้น

จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ แม้แขกจามจะกลายเป็นชนชาติที่ไร้ดินแดนจากผลพวงของสงคราม และเป็นชาวต่างชาติต่างภาษา แต่เมื่อพวกเขาได้เดินทางหนีร้อนมาพึ่งเย็นในราชอาณาจักรสยาม แขกจามเหล่านี้ได้ให้ความเคารพและถวายงานต่อพระเจ้าแผ่นดินแห่งสยามด้วยความจงรักภักดีมาโดยตลอด จึงเป็นสิ่งสมควรที่พวกเขาจะได้รับการปกป้องและเทิดทูน ให้เป็นชาติพันธุ์หนึ่งที่มีความสำคัญต่อการสร้างชาติไทยมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

อ้างอิง :

[1] วินัย พงศรีเพียร (บรรณาธิการ). 230 ปีศรีรัตนโกสินทร์ : มรดกความทรงจำกรุงเทพมหานคร. (กรุงเทพ) 2556.
[2] Phillip Bowring. Empire of The Wind : the global roles of Asia’s great archipelago. (London : I.B.Tuaris) 2019.

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า