‘สถาบันพระมหากษัตริย์’ คืออัตลักษณ์ของชาติ ในบริบทการเมืองโลกปัจจุบัน

ปัจจุบันในประเทศไทย มีคนกลุ่มหนึ่งพยายามกล่าวและตัดสินกันว่า สถาบันพระมหากษัตริย์เป็น “สิ่งที่ล้าหลังไม่เหมาะแก่กาลสมัย” เพราะโลกทุกวันนี้หมุนไปด้วยระบอบประชาธิปไตย สถาบันพระมหากษัตริย์จึงเป็นตัวแทนของความไม่เท่าเทียม เป็นสิ่งตกค้างจากสังคมสมัยโบราณ

หนักเข้าก็เลยเถิดไปถึงการกล่าวหา ดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์ และสร้างชุดความคิดเกลียดชังมุ่งทำลายสถาบันฯ ให้เกิดขึ้น จนกลายเป็นช่องว่างให้กลุ่มผู้ไม่หวังดีเข้ามาครอบงำและใช้โอกาสนี้เป็นบันไดไต่ไปสู่การเปลี่ยนแปลงประเทศ

ซึ่งหากมองดูให้ดี สถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย คือตัวแทนของประเพณีการปกครองที่สืบเนื่องมาแต่อดีตกาล และปรับตัวเองเรื่อยมา จนกลายเป็นรากฐานให้ประเทศชาติดำรงอยู่อย่างมีอัตลักษณ์ตามบริบทการเมืองโลกในปัจจุบัน ดังเช่นอารยประเทศอย่าง อังกฤษ ที่เป็นต้นแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

หากมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์นับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นต้นมา บทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์และบรรดาพระราชวงศ์ต่าง ๆ ทั่วโลกจะค่อย ๆ ลดน้อยลงไป แต่ปัจจุบันก็ยังเหลืออีกหลาย ๆ ประเทศที่ยังคงมีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญ และประเทศที่ถือเป็นแบบอย่างชัดเจนที่สุดคือ อังกฤษ ซึ่งหมายรวมถึงสหราชอาณาจักร (Britain) ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และบรรดาประเทศต่าง ๆ ในเครือจักรภพอังกฤษด้วย (Commonwealth)

ในประเทศอังกฤษนั้น ถือกันว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นรูปแบบการปกครองที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศ (Monarchy is the oldest form of government in the United Kingdom) ซึ่งพระมหากษัตริย์หรือสมเด็จพระราชินีนาถ จะเป็นทั้งองค์พระประมุขและองค์รัฏฐาธิปัตย์แห่งรัฐ (The Sovereign is Head of State) โดยมีรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้ตราหรือออกกฎหมายต่าง ๆ โดยอาศัยนามของพระองค์

หลักการนี้เป็นเช่นเดียวกับประเทศไทย ที่รัฐสภาจะเป็นผู้เห็นชอบและลงมติกฎหมายต่าง ๆ ไม่ใช่พระมหากษัตริย์เป็นผู้กระทำขึ้นเอง ตัวอย่างเช่น พระราชบัญญัติ แม้ว่ากฎหมายรูปแบบนี้จะมีคำว่า “พระราช” ปรากฏอยู่หน้าคำว่า “บัญญัติ” แต่ก็ไม่มีความเกี่ยวข้องกับพระประสงค์ส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแต่อย่างใด รัฐสภาจะเป็นผู้ใช้อำนาจแทนพระองค์ ตามแนวคิดที่วิวัฒน์และสืบทอดมาจากประเทศอังกฤษเมื่อหลายร้อยปีก่อน

จากการที่สถาบันพระมหากษัตริย์ทั้งของไทยและอังกฤษ ต่างยึดหลักการไม่มีบทบาทในทางการเมือง หรืออำนาจในการบริหารประเทศ นั่นคือพระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมือง โดยที่อำนาจการบริหารบ้านเมืองจะเป็นของรัฐบาลและคณะรัฐมนตรี

ดังนั้นจึงอธิบายได้ว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ในฐานะรัฏฐาธิปัตย์จะทรงมีบทบาทเปรียบเสมือน “หัวใจหลักของประเทศ” กล่าวคือ ทรงเป็นเสมือนตัวแทนที่มีชีวิตจิตใจของประเทศชาติ ที่ทุก ๆ คนสามารถนึกถึงได้ทันที

ต่างจากตัวแทนที่เป็นนามธรรมของประเทศที่ปกครองในระบอบสาธารณรัฐ ซึ่งจะอยู่ในรูปแบบของคำว่า “เสรีภาพ” หรือ “เสมอภาค” โดยสองคำนี้มีความหมายที่กว้าง ทำให้ผู้คนในประเทศตีความไปได้ต่าง ๆ นานา ดังเช่นที่ปรากฏอยู่ในประเทศฝรั่งเศสและอเมริกาในปัจจุบัน

ในประเทศอังกฤษ สถาบันพระมหากษัตริย์ถือเป็นตัวแทนของประเพณีการปกครองที่สืบเนื่องมาตลอดกว่า 1,000 ปี ซึ่งไล่เลี่ยกับของประเทศไทย ที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์สืบเนื่องมากว่า 700 ปี ตั้งแต่สมัยสุโขทัย

ประการสำคัญ สถาบันพระมหากษัตริย์ในปัจจุบันยังถือว่าเป็นอัตลักษณ์ ความเป็นหนึ่งเดียวกัน และความภาคภูมิใจของคนในชาติ อีกทั้งยังสร้างความรู้สึกแห่งความเป็นปึกแผ่นที่ร้อยเรียงสืบเนื่องมาอย่างยาวนาน อันเป็นรากฐานสำคัญของความเป็นชาติ

จึงกล่าวได้ว่า การที่ประเทศใด ๆ ยังมีสถาบันพระมหากษัตริย์สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน ถือได้ว่าเป็นมรดกอันล้ำค่าของประเทศ และการทำลายมรดกของประเทศ ก็เท่ากับการทำลายรากเหง้า ทำลายอัตลักษณ์ และการดำรงสืบเนื่องมาอย่างยาวนานของประเทศนั้น ๆ อีกด้วย

ที่มา :

The role of the Monarchy