การปฏิรูปสยามของรัชกาลที่ 5 ที่ล้ำหน้ากว่ากระแส Modernization ในยุโรป

กระแส Modernization ในช่วงศตวรรษที่ 19 อาจจะมีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน หรือสถานที่สาธารณะอย่างเช่น การสร้างทางรถไฟ ถนน ไฟฟ้า ประปา การวางผังเมือง การสร้างโรงเรียน โรงพยาบาล ฯลฯ แต่ถึงจะไม่มีกระแสดังกล่าว การพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน หรือสถานที่สาธารณะ ก็เกิดขึ้นในพื้นที่ส่วนอื่น ๆ ของโลกตลอดทุกยุคสมัยอยู่แล้ว จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เช่น

  • ท่อส่งน้ำโรมัน (Pont du Gard) ซึ่งนักประวัติศาสตร์คาดว่า ถูกสร้างขึ้นราวคริสต์ศตวรรษที่ 1 ในสมัยโรมัน
  • เมืองโบราณโมเฮนโจ-ดาโร ถูกสร้างขึ้นในศตวรรษที่ 26 ก่อนคริสตกาล ซึ่งเป็นเมืองโบราณที่ใหญ่ที่สุดในอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุโบราณ หรือที่รู้จักกันในชื่อ อารยธรรมฮารัปปา ความพิเศษของเมืองโบราณโมเฮนโจ-ดาโร คือ ระบบวิศวกรรมโยธาและการผังเมืองที่ซับซ้อน
  • เส้นทางราชมรรคา สันนิษฐานกันว่า สร้างในสมัยพระเจ้ายโศวรมันที่ 1 ช่วงปลายศตวรรษที่ 8 เป็นการสร้างระบบโครงข่ายถนนระหว่างเมือง ของจักรวรรดิเขมรโบราณ 5 เส้นทาง และไม่ใช่เป็นการสร้างแค่ถนนเท่านั้น แต่ยังมีสิ่งก่อสร้างที่เรียกว่า อโรคยาศาลาและธรรมศาลาอีกด้วย อโรคยาศาลา คือ สถานพยาบาลสาธารณะ และธรรมศาลาหรือบ้านมีไฟ คือ อาคารเรือนพักหรือป้อมตรวจการระหว่างถนน
  • เมืองพระนคร ซึ่งเป็นเมืองหลวงแห่งที่สองของจักรวรรดิเขมร จากร่องรอยที่ปรากฏ นักวิชาการได้สันนิษฐานกันว่า น่าจะเป็นเมืองที่มีการจัดวางผังเมืองและระบบชลประทานที่มีความซับซ้อนสูง

จะเห็นได้ว่า การพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน หรือสถานที่สาธารณะ เกิดขึ้นมานานแล้วทุกยุคทุกสมัย เพียงแต่ในศตวรรษที่ 19 ได้เกิดกระแส Modernization ขึ้นมา ภายใต้แนวความคิด “White Man’s Burden” หรือ “ภาระของคนขาว” โดยแนวคิดนี้เป็นมุมมองของชาวยุโรปที่มองว่า คนเชื้อชาติอื่นที่ผิวสีต่างจากตนนั้นมีฐานะที่ด้อยกว่า

ซึ่งแนวคิดแบบนี้ก่อให้เกิดลัทธิจักรวรรดินิยม ที่ชาติมหาอำนาจในยุโรปแข่งกันขยายอิทธิพลเข้าไปรุกรานประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก เพื่อดูดกลืนทรัพยากรไปหล่อเลี้ยงศูนย์กลางจักรวรรดิในยุโรป พร้อมๆ กับสร้างวาทกรรม “ภาระของคนขาว” ขึ้นมา เพื่อสร้างความชอบธรรมในการเข้าไปกดขี่ชนพื้นเมืองที่ตนเข้าไปปกครอง และถึงแม้ว่าชาติมหาอำนาจจะมีการพัฒนาสาธารณูปโภคในดินแดนอาณานิคม แต่การพัฒนาสาธารณูปโภคทั้งหลาย มีเป้าหมายหลักคือ การอำนวยความสะดวกให้กับการขูดรีดทรัพยากร และก็เพื่อผ่อนคลายแรงกดดันของชนพื้นเมืองไปในตัว

ต่างจากในหลวง ร.5 เพราะพระองค์พัฒนาประเทศเนื่องจากทรงเป็นพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นหน้าที่ของกษัตริย์ตามคติของโลกตะวันออกอยู่แล้ว นั่นคือการบำบัดทุกข์บำรุงสุขประชาชน จริงอยู่ที่แรงกดดันจากลัทธิล่าอาณานิคมจะเข้ามาเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้น มาจากเจตจำนงตามพระราชดำริ ที่เป็น royal duty

การปฏิรูปประเทศของในหลวง ร.5 บางอย่างก็เป็นสิ่งที่แปลกใหม่ และเป็นประเด็นล้ำยุคกว่าในยุโรปเสียด้วยซ้ำ ยกตัวอย่างเช่น สิทธิทางการเมือง สยามได้เริ่มให้สตรีมีสิทธิในการลงคะแนนเลือกตั้ง ตั้งแต่ พ.ศ. 2440 (ค.ศ. 1897) แล้ว โดยประเทศแรกของโลกที่ยอมให้สตรีมีสิทธิในการเลือกตั้ง คือ นิวซีแลนด์ ในปี ค.ศ. 1893 สำหรับในสยามถึงแม้ว่าจะเป็นการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นก็ตาม แต่ก็เพราะกฎหมายฉบับนี้นี่แหละ ที่ทำให้ต่อมาประเทศไทยไม่มีการจำกัดสิทธิการลงคะแนนเลือกตั้งสำหรับสตรีในทุกระดับเลย

สำหรับนโยบายความเท่าเทียม ก็ต้องมาดูที่การเลิกทาสของในหลวง ร.5 ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาติยุโรปตื่นเต้นกันมาก เพราะทรงทำการเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยไม่สร้างผลกระทบทางสังคมหรือการเมืองเลยแม้แต่น้อย และทรงกระทำโดยปราศจากข้อเรียกร้องไม่ว่าจากฝ่ายใด เรียกได้ว่าเป็นพระราชประสงค์ของพระองค์อย่างแท้จริง

และสิ่งที่ควรจะพูดถึงเป็นอย่างมากคือ การเลิกไพร่ เพราะ “ระบบไพร่” คือระบบการปกครองแบบโบราณที่สร้างการกดขี่เสียยิ่งกว่าระบบทาส ถ้าเราเป็นทาส เราอาจจะไถ่ตัวเป็นไทยได้ แต่การเป็นไพร่จะเป็นไปชั่วลูกชั่วหลาน และไม่สามารถเปลี่ยนแปลงฐานะทางสังคมให้ก้าวสู่การเป็นชนชั้นสูงได้เลย

จริง ๆ แล้วการเลิกไพร่ ไม่ใช่เพิ่งมาเริ่มในสมัย ร.5 เพราะก่อนหน้านี้ก็ได้มีการผ่อนคลายระบบไพร่แล้ว ตั้งแต่สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ระบบเข้าเดือนออกเดือนก็ถูกเปลี่ยนแปลงมาเรื่อยๆ จากเดิมที่ไพร่ต้องมาทำงานให้มูลนายเดือนเว้นเดือน ก็เปลี่ยนมาเป็นทำงานให้มูลนายหนึ่งเดือนเว้นสามเดือน และต่อมาก็ได้มีการปลดเปลื้องให้สามารถจ่ายเงินค่าราชการแทนการเข้าเวรทำงานให้มูลนายได้ จนในที่สุดในสมัย ร.5 ก็มีการเลิกระบบไพร่อย่างจริงจัง กระทั่งทุกคนสามารถเปลี่ยนแปลงฐานะทางสังคมได้อย่างเสรี

ในด้านการศึกษา ในหลวง ร.5 ไม่เพียงเป็นผู้ริเริ่มให้ประชาชนได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึงเท่านั้น ในช่วงแรกที่ทรงจัดตั้งโรงเรียน ประชาชนไม่นิยมส่งลูกมาเรียนเพราะกลัวถูกเกณฑ์เป็นทหาร จนพระองค์ทรงประกาศชี้แจงอย่างละเอียด พร้อมๆ กับทรงให้สิทธิแก่นักเรียนมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมทุนการศึกษา การให้สิทธิในด้านภาษี การยกเว้นการเกณฑ์ไพร่ เกณฑ์ทหาร เพื่อจูงใจให้ประชาชนส่งลูกหลานมาเข้าเรียน

หรือพระบรมวงศานุวงศ์คนอื่นๆ ก็ทรงออกแรงช่วยเหลืออย่างแข็งขัน ยกตัวอย่างเช่น สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงส่งเสริมกิจการทุกประเภทที่เกี่ยวกับสิทธิสตรี เช่น การก่อตั้งโรงเรียนสตรี แม้จะทรงเห็นว่ารัฐบาลมีเงินที่จะสามารถจัดตั้งโรงเรียนได้ แต่ก็ได้พระราชทานอุดหนุนเสริมอีกแรงหนึ่ง จนก่อให้เกิดโรงเรียนราชินี ซึ่งเป็นโรงเรียนสตรีแห่งแรกๆ และมีฐานะเป็นโรงเรียนเอกชนของคนไทย ที่เป็นนิติบุคคลภายใต้การบริหารงานของมูลนิธิ

สำหรับโครงการ mega-project ในสมัย ร.5 อย่างการสร้างทางรถไฟ จริงอยู่ว่าการก่อสร้างทางรถไฟจะเป็นความคิดริเริ่มของชาวต่างชาติ แต่ข้อเสนอเหล่านั้นเป็นเพียงการเข้ามาขอสัมปทานเพื่อกอบโกยผลประโยชน์มากกว่า ซึ่งไม่ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานอนุญาต แต่ว่า ในหลวง ร.5 ทรงเริ่มก่อสร้างทางรถไฟสายแรกคือ กรุงเทพ-โคราช ด้วยพระราชทรัพย์ที่ทรงชักชวนพระบรมวงศานุวงศ์ร่วมกันลงขันสร้าง หรือการสร้างป้อมปราการที่ปากแม่น้ำ ก็ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จัดซื้อปืนใหญ่ระบบอัตโนมัติที่ทันสมัยที่สุดมาติดตั้ง โดยไม่รอเงินงบประมาณแผ่นดิน

สมัยก่อนยุค ร.5 แนวความคิดเกี่ยวกับการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน หรือสถานที่สาธารณะ ค่อนข้างมีมุมมองที่จำกัด ดังนั้นพระมหากษัตริย์ในยุคก่อนๆ ก็จะสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานเพียงไม่กี่ชนิด เป็นต้นว่า การสร้างวัดวาอาราม โดยเฉพาะในสมัย ร.3 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดขึ้นมากมาย รวมถึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองพัฒนาระบบชลประทานและเส้นทางคมนาคม ส่วนในสมัย ร.1 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมตำราแพทย์ แล้วให้ทำจารึกที่วัดพระเชตุพนฯ เพื่อเผยแพร่ความรู้ทางการแพทย์ จนวัดพระเชตุพนฯ ได้รับการยกย่องว่าเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทย หรือกรณีการขุดคลองคูเมือง เพื่อให้ประชาชนไว้ผ่อนคลายล่องเรือเล่นกลอนสักวาในฤดูน้ำหลาก ซึ่งแนวพระราชดำริดังกล่าว ในสมัย ร.4 ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุดสระปทุม เพื่อเปิดให้ประชาชนเข้าไปพักผ่อนสร้างความรื่นเริงได้เช่นกัน

การพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานยังได้ต่อยอดเรื่อยมาถึงสมัย ร.5 พระองค์ทรงสร้างพระราชอุทยานสราญรมย์สวนหลวงขึ้น เป็นสวนสาธารณะแบบยุโรปแห่งแรก และยังเป็นสวนสัตว์แห่งแรกของไทยอีกด้วย พอเข้าสู่ช่วงสมัย ร.6 ก็ได้พระราชทานที่ดินส่วนพระองค์หลายร้อยไร่สร้างเป็นสวนลุมพินีวัน ซึ่งเป็นสวนสาธารณะที่ใหญ่ที่สุด สิ่งเหล่านี้เป็น mega-project ที่ไม่มีใครเรียกร้อง แต่เป็นพระราชดำริหรือพระราชประสงค์ขององค์พระมหากษัตริย์ทั้งสิ้น

สำหรับเรื่องการคลังและผลกระทบทางเศรษฐกิจ ก็ยิ่งเป็นสิ่งตอกย้ำถึงพระปรีชาสามารถ โดยจะเห็นได้จาก โครงการก่อสร้างทางรถไฟ ซึ่งเป็นโครงการที่ต้องใช้เงินมาก ถึงขนาดว่าที่ปรึกษาชาวต่างชาติยังให้ความเห็นว่า ถ้าใช้เงินคงคลังเพียงอย่างเดียว บางทีการสร้างทางรถไฟจากกรุงเทพไปโคราช ระยะทางไม่ถึงสองร้อยกิโลเมตร ก็อาจจะต้องใช้ระยะเวลาสร้างนับร้อยปีก็เป็นได้ ดังนั้นในหลวง ร.5 จึงพระราชทานแนวพระราชดำริว่าทรงยอมรับการกู้เงินได้เฉพาะโครงการก่อสร้างที่เป็นการลงทุนเท่านั้น แต่ไม่พระราชทานอนุญาตให้กู้เงินมาซื้ออาวุธ ด้วยเหตุนี้ทางรถไฟกรุงเทพ-โคราช จึงเป็นโครงการแรกที่สร้างด้วยเงินกู้ และให้ประโยชน์แก่ส่วนรวมอย่างสูงสุด

แม้ว่าในปลายสมัย ร.5 ฐานะการคลังของประเทศจะมีความมั่นคงสูง มีรายรับสูงกว่ารายจ่ายต่อเนื่องกันทุกปี แต่เมื่อเข้ารัชสมัย ร.6 เกิดความขัดแย้งของประเทศมหาอำนาจ จนบานปลายเป็นสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งส่งผลให้สภาพการค้าซบเซา เงินคงคลังของประเทศขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน แต่ในหลวง ร.6 ทรงเห็นว่า การกู้เงินจากต่างประเทศมาลงทุนสาธารณูปโภค ยังเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ และจำเป็นต้องมีการพัฒนาด้านสาธารณูปโภคต่อไป เมื่อพ้นสมัย ร.6 ขึ้นรัชสมัย ร.7 เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว ประเทศสยามก็ฟื้นตัวตาม ค่าเงินที่เคยหดตัว ก็ฟื้นค่าขึ้น จนทำให้มูลค่าเงินคงคลังฟื้นกลับมามากพอที่ ร.7 จะกันเงินบางส่วนออกมาเพื่อตั้งเป็นกองทุนเพื่อการใช้หนี้ได้ ในจำนวนมูลค่าหลายสิบล้านบาท

ทั้งหมดนี้คือพระราชกรณียกิจที่พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ได้ทรงปฏิบัติมาตลอดหลายร้อยปี เพื่อประโยชน์แก่ประชาชนทั้งประเทศ ดังนั้นก็เป็นเรื่องถูกต้องแล้วไม่ใช่หรือ ที่บูรพกษัตริย์ทุกๆ พระองค์ย่อมทรงมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะได้รับพระเกียรติเฉพาะพระองค์

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความทันสมัยของประเทศสยาม ในรัชสมัย ร.5 ถือเป็นสิ่งที่ชาวไทยสามารถพูดได้อย่างเต็มภาคภูมิว่า เป็นพระอัจฉริยภาพอันยอดเยี่ยมของพระปิยมหาราช เพราะว่ามีเพียงไม่กี่ประเทศในโลกตะวันออก ที่สามารถรักษาเอกราชไว้ได้ พร้อมๆ กับการพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าทัดเทียมชาวยุโรป และการปฏิรูปประเทศของพระองค์ ก็ทำให้เกิดการยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยอย่างแท้จริง

อ้างอิง :

[1] Hodge, A. Trevor (2002). Roman aqueducts & water supply (2 ed.). London: Duckworth.
[2] Kenoyer, Jonathan Mark (1998). “Indus Cities, Towns and Villages”, Ancient Cities of the Indus Valley Civilization. Islamabad: American Institute of Pakistan Studies.
[3] อ็องเดร มาลโรซ์. ราชมรรคา, กรุงเทพฯ: มติชน, 2557
[4] พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ.116. ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 14 แผ่นที่ 9 วันที่ 30 พฤษภาคม ร.ศ.116 หน้า 105
[5] ภาวรรณ เรืองศิลป์. การบูรณาการยุโรปกับการจรรโลงสิทธิสตรี ทศวรรษ 1950-ทศวรรษ 1970. วารสารยุโรปศึกษา. (2555, ก.ค.-ธ.ค.)
[6] ชัย เรืองศิลป์. ประวัติศาสตร์ไทยสมัย พ.ศ. 2352-2453 ด้านเศรษฐกิจ. กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช. 2541
[7] ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 24 จดหมายเหตุเรื่องปราบฮ่อ. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร. 2465
[8] ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา, 2405-2486, พิทยลาภพฤฒิยากร, พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่น, 2428-2517 และ อาทิตย์ทิพอาภา, พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า, 2447-2489. ประวัติมหาอำมาตย์นายก เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม). [ม.ป.ท.]: โรงพิมพ์ไทยเขษม; 2499.
[9] จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระฯ, 2396-2453. พระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระเจ้าลูกยาเธอ พระราชปรารถในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าด้วยเรื่องทาสและเกษียณอายุ กับ, สำเนากระแสพระบรมราชโองการ พระราชบัญญัติ พระราชดำรัส พระราชหัตถเลขา และประกาศการศึกษาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. [ม.ป.ท.]: โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย; 2509.
[10] ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา, 2405-2486. ตำนานโรงเลี้ยงเด็กของพระอัครชายาเธอฯ. [ม.ป.ท.]: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร; 2472.
[11] สมใจ ไพโรจน์ธีระรัชต์. บทบาทของประเทศมหาอำนาจตะวันตกในการสร้างทางรถไฟของประเทศไทย ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2517.
[12] พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่ 1. [ม.ป.ท.]: โรงพิมพ์พระจันทร์; 2478.
[13] ทิพากรวงษ์มหาโกษาธิบดี (ขำ), เจ้าพระยา, 2356-2413. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2. [ม.ป.ท.]: กรมศิลปากร; 2482.
[14] ทิพากรวงษ์มหาโกษาธิบดี (ขำ), เจ้าพระยา, 2356-2413. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่ 3 ฉะบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์. [ม.ป.ท.]: กรมศิลปากร; 2477.
[15] ทิพากรวงษ์มหาโกษาธิบดี (ขำ), เจ้าพระยา, 2356-2413. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่ 4 พศ 2394-2411 ฉะบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์. [ม.ป.ท.]: โรงพิมพ์พระจันทร์; 2477.
[16] ประกาศตั้ง โรงเรียนข้าราชการพลเรือน ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 27 วันที่ 11 มกราคม ร.ศ.129 หน้า 123
[17] หัวข้อความคิดจัดการโรงเรียนข้าราชการพลเรือน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 29 วันที่ 9 กุมภาพันธ์ ร.ศ.131 หน้า 2566
[18] ประกาศกระแสพระบรมราชโองการบรรจุในศิลาพระฤกษ์โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 32 วันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2458 หน้า 2562
[19] พระยาบำรุงราชบริพาร(เสมียน สุนทรเวช). “กบฏ 13”, มานวสาร ปีที่ 1 ฉบับที่ 3 (มีนาคม 130)

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดไ