‘จีนาภิวัฒน์’ การกลืนกินทางวัฒนธรรม ผ่าน Soft Power ของจีนในยุคโบราณ

ประเทศจีน เป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมที่เก่าแก่และต่อเนื่องยาวนานที่สุดในโลก มีความเก่าแก่และต่อเนื่องยาวนานถึง 5 พันปี แต่จะอย่างไรก็ตาม อารายธรรมหลักของแผ่นดินจีนนั้นถูกเรียกว่า “วัฒนธรรมฮั่น”

และชาติพันธุ์หลักของประเทศจีนในปัจจุบัน คือชนชาติฮั่นนั่นเอง

ชื่อ “ฮั่น” ในที่นี้ มาจากชื่อราชวงศ์ฮั่น (206 – 220 ก่อนคริสตกาล) ซึ่งก่อตั้งภายหลัง การล่มสลายของราชวงศ์ฉิน และกลายขึ้นมาเป็นยุคทองยุคแรกของชนชาติ

คำ “ชาวฮั่น” จึงถูกใช้เรียกคนของจักรวรรดิฮั่นมานับแต่นั้น จวบจนปัจจุบัน

แต่จะอย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ก่อนราชวงศ์ฮั่น ชาวจีนที่เคยอาศัยในดินแดนภาคกลาง (จงหยวน) นั้น หากไม่เผชิญหน้ากับภัยคุกคามจากสงครามภายใน ก็จะพบกับการปล้นสะดมโดยชนเผ่าเร่ร่อนทางตอนเหนือ ซึ่งในเอกสารประวัติศาสตร์จีนโบราณ บันทึกนามของชนเผ่าเหล่านั้นไว้ว่า “ชาวหู”

ชาวหู ชนเผ่าเร่ร่อนเหล่านั้นในภายหลังได้รวมตัวกันเป็น “สหพันธ์” และตั้งชื่อเรียกตนเองว่า “ซุงหนู” ทำให้เอกสารของจีนในเวลาต่อมา เรียกชนเผ่าเร่ร่อนทางตอนเหนือว่า ซุงหนู ตามนั่นเอง

ความสัมพันธ์ของจักรวรรดิฮั่น และสหพันธ์ซุงหนู เป็นไปในลักษณะที่มีความขัดแย้งกันมาตลอด แต่ถึงกระนั้น ความขัดแย้ง ถูกจำกัดไว้ตามแนวกำแพงเมืองจีน

จนกระทั่ง หลังยุคสามก๊ก ตระกูลซือหม่า (สุมา) สามารถรวบรวมแผ่นดินจีนได้สำเร็จ และก่อตั้งราชวงศ์จิ้น (ค.ศ. 266–316)

แต่ด้วยความไร้เสถียรภาพในการปกครอง ทำให้เหล่าเชื้อพระวงศ์แย่งชิงอำนาจกันเอง

กลุ่มขั้วอำนาจต่างฝ่ายต่างว่าจ้างให้ชนเผ่าซุงหนูนอกด่าน ซึ่งในเวลานั้น แตกออกเป็น 5 ชนเผ่าไปแล้วเข้ามาทำสงครามแย่งชิงอำนาจในแผ่นดินจงหยวน

แต่ชนเผ่านอกด่านเหล่านั้น กลับหันดาบเข้าหานายจ้าง และยึดอำนาจปกครองแผ่นดินจีนทางตอนเหนือแทน

นี่คือยุคสมัยที่เรียกว่า “5 ชนเผ่า 16 อาณาจักร” ของจีน (ค.ศ. 304 – 439)

ช่วงเวลานี้เอง แผ่นดินจีนตอนใต้ ถูกปกครองโดยชนชาติฮั่น

ในขณะที่แผ่นดินทางตอนเหนือนั้น ถูกปกครองโดยชนเผ่าทั้ง 5 อันได้แก่ ซุงหนู, เซียนเป่ย, เจี๋ย, เชียง และตี้ ในขณะที่ชนชาติฮั่นที่หนีไม่ทัน ได้แต่ตกลงไปอยู่ในสถานะ “ผู้ถูกปกครอง”

ถึงชนเผ่าทั้ง 5 จะสามารถยึดครองดินแดนมาได้ด้วยดาบและม้า แต่จะปกครองชาวฮั่นที่มีระดับอารยธรรมที่สูงกว่าได้อย่างไร ?

ถึงจะมีกองทัพที่เก่งกาจเกรียงไกร แต่ในด้านอารยธรรมแล้ว กลุ่มชนเผ่าซุงหนู สุดท้ายแล้วก็เป็นเพียงชนเผ่าเร่ร่อน ที่เพียงรู้จักการล่าสัตว์ และหัตถกรรมเล็กน้อยในครัวเรือน

พวกเขาจะเข้าใจชาวฮั่น และปกครองชาวฮั่น ที่รุ่มรวยกว่าด้วยอารยธรรม มีความรู้ความสามารถในเชิงกสิกรรม และอุตสาหกรรมยุคโบราณได้อย่างไร ?

ทางออกเพียงหนึ่งเดียวของผู้ปกครองชนเผ่าทั้ง 5 คือการใช้บริการเหล่าขุนนางชาวฮั่น ซึ่งถือได้ว่า เป็น “ผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น” ในการปกครองแผ่นดินนั่นเอง

และการ “ช่วย” ปกครองโดยชาวฮั่นนี้เอง ที่ทำให้เกิดการ “ถ่ายทอดวัฒนธรรม” จากชาวฮั่น สู่ชนเผ่านอกด่านเหล่านี้โดยปริยาย

บรรดาลูกหลานของชนชั้นปกครองและขุนพลของชาวเผ่าทั้งหลาย ล้วนแต่ร่ำเรียนตัวหนังสือฮั่น, วัฒนธรรมฮั่น และวิธีคิดแบบฮั่น เพื่อให้ลูกหลานเข้าใจในศิลปะวิทยาการต่าง ๆ ของชาวฮั่น และทำการปกครองชาวฮั่นต่อไปได้อย่างราบรื่น

เรื่องราว ดูเหมือนว่าจะเป็นเช่นนั้น

แต่ในความเป็นจริงนั้น พวกเขาต่างหากที่กำลังค่อย ๆ ถูก “กลืนกินทางความคิด” ไปโดยที่พวกเขาเองก็ไม่เคยรู้ตัว

จุดเปลี่ยนแปลงที่เปลี่ยนชาวเผ่า ให้กลายเป็นชาวฮั่นอย่างเป็นรูปธรรมเกิดขึ้นในรัชสมัยของจักรพรรดิเซี่ยวเหวิน (ค.ศ. 467-499) โดยในเวลานั้น จักรวรรดิเว่ยของพระองค์ปกครองครอบคลุมแผ่นดินจีนตอนเหนือไว้ทั้งหมดแล้ว

แต่ในการกรีฑาทัพลงใต้ พระองค์กลับเกรงว่า การปกครองของพระองค์จะไม่ราบรื่น หากพระองค์ยังคงความเป็น “คนเถื่อน” ในสายตาชาวฮั่นอยู่

พระองค์จึงทรงเริ่มการเปลี่ยนแปลงราชวงศ์ และเหล่าขุนพล ขุนนางที่มาจากชนเผ่าทั้งหลาย ให้เปลี่ยนนามสกุลตัวเองให้เป็นอย่างฮั่น

แม้ราชสกุล “ทัวปา” ของพระองค์ ยังถูกเปลี่ยนเป็น “หยวน” อย่างชาวฮั่น

นอกจากนี้ การแต่งงานระหว่างชาวเผ่า กับชาวฮั่น ยังได้รับการยุยงส่งเสริมในรัชสมัยของพระองค์ เพื่อให้ชาวฮั่นทั้งปวงเห็นว่า ผู้ปกครองของพวกเขา ก็มีเชื้อสายฮั่นไหลเวียนอยู่ในกายด้วยเช่นกัน

และข้อความที่บันทึกถึงชนเผ่าซุงหนู และสาแหรกของชนเผ่าซุงหนูทั้งหมดในหน้าประวัติศาสตร์จีน ก็จบลงด้วยการ “ถูกกลืนกินทางวัฒนธรรม” อย่างเงียบ ๆ และสันตินี่เอง

กาลเวลาที่หมุนเวียนวน สุดท้าย ราชวงศ์ถัง คือราชวงศ์ที่สามารถยุติการแบ่งแยกแผ่นดินจีนนับตั้งแต่ราชวงศ์จิ้นลงได้สำเร็จ และพัฒนาจักรวรรดิจนกลายเป็นยุครุ่งเรืองของจีนสมัยที่ 2 ถัดจากราชวงศ์ฮั่น

พงศาวดารราชวงศ์ถังบันทึกว่า บรรพบุรุษของราชสกุล สืบเชื้อสายมาจากหลานชาวของหลี่เกา กษัตริย์แห่งราชวงศ์เหลียงตะวันตก ซึ่งล่มสลายไปอาศัยในแคว้นเว่ยเหนือ และต่อมาลูกหลานของหลี่เกา ก็เปลี่ยนนามสกุลเป็น ต้าเย่ว ตามแบบเซียนเป่ย ในรุ่นปู่ของหลี่หยวน ถังเกาจง ปฐมจักรพรรดิแห่งราชวงศ์ถัง

อย่างไรก็ตาม นักประวัติศาสตร์ยุคหลังเชื่อว่า เป็นการแอบอ้างเสียมากกว่า เพื่อให้ราชวงศ์ถัง ได้รับการยอมรับในฐานะผู้ปกครอง

ปรากฎการณ์ดังกล่าว นักสังคมวิทยายุคหลังเรียกว่ากระบวนการ “ทำให้เป็นจีน” (sinicization, sinofication, sinification, หรือ sinonization) ซึ่งเป็นกระบวนการ “หลอมกลืน” ทางสังคม ที่เกิดขึ้นตลอดหน้าประวัติศาสตร์ของจีน

แม้ในหมู่ผู้รุกรานยุคหลัง อาทิ ราชวงศ์หยวนของมองโกล หรือ ราชวงศ์ชิงของแมนจู จะพยายามสร้างกฎระเบียบบางอย่าง เพื่อรักษาอัตลักษณ์ตัวตนของชนเผ่าตนเองเอาไว้ มิให้ชนเผ่าของตนเองถูกกลืนหายไปอย่างที่ชนเผ่าซุงหนูเคยถูกกระทำ

แต่ถึงกระนั้น ทั้งเชื้อพระวงศ์และขุนนาง ทั้งชาวมองโกล และแมนจู ต่างก็จำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ภาษา, อักษรศาสตร์ และศิลปะวิทยาการของชาวฮั่นเพื่อประโยชน์ในการปกครอง และการยอมรับของปวงชน

และนี่เป็นที่มาของคำกล่าวของขงจื๊อที่ว่า “เมื่อชาวต่างแดนเข้าสู่แผ่นดินจงหยวน จะกลายเป็นชาวจงหยวน” นั่นเอง

แต่ถึงแม้ว่า นักสังคมศาสตร์ยุคหลัง จะมองว่า “จีนาภิวัฒน์” นั้น เป็นแนวทางของชาตินิยมอย่างหนึ่ง

แต่หากพิจารณากันให้ดี การรุกรานเข้ามาของต่างชาติ เป็นเหตุที่เหนือความคาดคิด ซึ่งบรรพบุรุษจีนในแต่ละยุค ล้วนแต่พยายามต่อต้านผู้รุกรานอย่างสุดความสามารถแล้ว แต่แพ้พ่ายไปนั่นเอง

แต่ถึงกระนั้น “วัฒนธรรม” จัดได้ว่าเป็น “Soft Power” อย่างหนึ่งของชาติ

และนี่คือตัวอย่างของ “อำนาจทางวัฒนธรรม” ที่มีพลังอำนาจถึงขั้นสามารถกลืนกินชนชาติผู้รุกราน ให้กลายเป็นพวกเดียวกันได้นั่นเอง

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า