เปิดความพลาดพลั้งครั้งสำคัญของมลายู เมื่อ ‘รัฐเปรัค’ ล่มสลายเพราะการลอบสังหารข้าหลวงอังกฤษ

รัฐเปรัค (Perak) เป็นรัฐมลายูแห่งหนึ่งตั้งอยู่ค่อนไปทางตะวันตกระหว่างรัฐเคดาห์และกลันตันในประเทศมาเลเซียปัจจุบัน ในอดีตเปรัคเคยเป็นดินแดนที่สยามแผ่อิทธิพลลงไปถึง (ผ่านทางนครศรีธรรมราชและเคดาห์) อย่างไรก็ดี ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 อังกฤษได้ตัดสินใจที่จะมีอิทธิพลเหนือดินแดนแห่งนี้ โดยการอ้างว่าอิทธิพลของสยามในสมัยจารีตนั้นหาได้เข้มแข็งต่อพื้นที่นี้เป็นเรื่องที่ฟังไม่ขึ้น

ความจำเป็นที่จะต้องควบคุมพื้นที่คาบสมุทรมลายูฝั่งตะวันตกนั้นเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งยวด เพราะการค้าของอังกฤษในพื้นที่เกาะปีนัง มะละกาและสิงคโปร์นั้นมีมูลค่าสูง เปรัคถือว่าเป็นดินแดนหนึ่งที่มีพื้นที่คาบเกี่ยวกับเขตการปกครองของอังกฤษดังกล่าว ความพยายามที่จะเข้าไปควบคุมเปรัคจึงเป็นหลักประกันที่จะทำให้อังกฤษมั่นใจได้ว่าเส้นทางการค้าและมูลค่าการค้าจะไม่ถูกขัดขวางจากบรรดาโจรสลัดและสงครามอั้งยี่ ซึ่งเป็นที่ชัดเจนว่ามักมีเจ้ามาเลย์เข้าไปเกี่ยวข้องกับความวุ่นวายเหล่านี้ อังกฤษจึงเข้าใจเป็นอย่างดีว่าการควบคุมเจ้ามาเลย์จึงเท่ากับเป็นการควบคุมการกระทำอันเป็นโจรสลัดไปในตัวและเปรัคก็เป็นหนึ่งในสถานที่ที่เจ้านายมาเลย์เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมสนับสนุนโจรสลัด

อย่างไรก็ดี การแต่งตั้งให้ เจมส์ ดับบลิว ดับบลิว เบิร์ช (James W. W. Birch) ข้าราชการพลเรือนสังกัดดินแดนนิคมช่องแคบ (Strait Settlement) ไปดำรงตำแหน่ง ‘ข้าหลวง/ผู้แทนอังกฤษ’ ประจำรัฐเปรัค ซึ่งขณะนั้นอังกฤษเพิ่งจะรับมาเป็นรัฐในอารักขา (protectorate) ตามสนธิสัญญาปังกอร์ 1874 (Pangkor Treaty of 1874) อันมีเนื้อหาสาระสำคัญในเรื่องการยุติสงครามลาอุต (พื้นที่ตอนเหนือของเปรัค) สงครามอั้งยี่ของชาวจีนกลุ่มงี่หิน-ไฮซิน และปัญหาแห่งการสืบราชสมบัติของราชวงศ์เปรัคที่ยืดเยื้อยาวนานภายใต้การยินยอมและรับรู้ร่วมกันของทั้งสุลต่านอับดุลลาห์แห่งเปรัค ขุนนางมลายู หัวหน้าชาวจีน และข้าราชการอาณานิคมอังกฤษ อีกทั้งสนธิสัญญาฉบับนี้ยังเป็นการแผ้วถางหนทางอนุญาตให้อังกฤษเข้ามาในฐานะ ‘ผู้คุ้มครองและพัฒนา’ ซึ่งต่อมาอังกฤษจะ ‘รวบเอา’ ดินแดนมลายูทั้งหมด ‘ในทุกๆรัฐ’ เป็นดินแดนอาณานิคมของพวกเขาในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้าภายใต้คำโฆษณาว่าจะคุ้มครองและจัดการปกครองดินแดนในแถบนี้อย่างดีที่สุด อย่างไรก็ดีต้องให้ความเป็นธรรมแก่อังกฤษด้วยว่า แต่เดิมนั้นอังกฤษไม่ได้มีความริเริ่มแนวคิดที่จะยึดครองคาบสมุทรมลายูเอง หากแต่เป็นความพยายามของเจ้ามาเลย์ท้องถิ่นและจีนช่องแคบในการ ‘เชื้อเชิญ’ อังกฤษเข้ามาเกี่ยวข้องกับกิจการภายในของตนก่อน

เพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงในสนธิสัญญาปังกอร์ เบิร์ชจึงได้รับการแต่งตั้งเป็นข้าหลวงประจำรัฐเปรัคในวันที่ 4 พฤศจิกายน 1874 อันมีหน้าที่สำคัญคือการช่วยเหลือและให้คำแนะนำสุลต่านเปรัคในการจัดการปกครองให้มีประสิทธิภาพและทันสมัย แต่จะไม่แตะต้องในเรื่องที่เกี่ยวกับประเพณีและศาสนาอิสลามของท้องถิ่น อย่างไรก็ดี ข้าหลวงอังกฤษท่านนี้ก็หาได้ประสบความสำคัญในหน้าที่การงานแต่อย่างใด เพราะในปีถัดมาเบิร์ชก็ถูก ‘ลอบสังหาร’ อย่างอนาถาขณะกำลังอาบน้ำอยู่ริมแม่น้ำเปรัค

ความขัดแย้งระหว่างข้าหลวงกับเจ้านายมาเลย์ท้องถิ่น

ทันทีที่เข้าสู่ตำแหน่ง เบิร์ชได้มีแนวคิดที่จะ ‘เลิกทาส’ ในรัฐเปรัคเสีย เขาในฐานะชาวอังกฤษเห็นว่าการอนุญาตให้มีระบบทาสอยู่ในสังคมนั้นเป็นสิ่งที่ไม่อารยะ แต่แนวคิดนี้เป็นที่ชัดเจนว่าได้สร้างความกระเทือนแก่บรรดาชนชั้นนำและสังคมมาเลย์ เพราะนี่เป็นการก้าวล่วงถึง ‘ประเพณีท้องถิ่น’ อย่างปฏิเสธไม่ได้ (และถ้าหากมองด้วยสายตาท้องถิ่นนี่ยังเป็นการละเมิดสัญญาปังกอร์ด้วย) แม้จะมีคำเตือนจาก แอนดรูว คลาร์ค (Andrew Clarke) ข้าหลวงใหญ่อังกฤษที่สิงคโปร์ ผู้เป็นเจ้านายของเบิร์ชว่าควรระมัดระวังอย่าด่วนจัดการอย่างรุนแรงเกินไป อีกทั้งคลาร์คก็เคยได้รับคำร้องเรียนจากชนชั้นสูงมาเลย์เปรัคในเรื่องการแทรกแซงกิจการของพวกเขาด้วย แต่เบิร์ชก็หาได้ฟังคำทัดทานนั้นแต่อย่างใด เขายังมุ่งดำเนินการเลิกทาสในเปรัคต่อไปอย่างไม่แยแสผู้ใดกระทั่งไม่แม้แต่จะปรึกษาหารือกับสุลต่าน เหล่าบรรดาเจ้ามาเลย์ทนไม่ได้อีกต่อไป

แผนการลอบสังหารเบิร์ชถูกวางไว้โดยการประชุมที่สุลต่านทรงมีบทบาทในการเรียกประชุมเอง ขั้นแรกพวกเขาต้องการจะวางยาพิษเบิร์ชแต่แผนการณ์นี้เป็นอันต้องล้มเลิกไป ท้ายที่สุดที่ประชุมเห็นตรงกันว่ามอบหมายให้เจ้าท้องถิ่น คือ มหาราชาเลลา (Maharaja Lela) เป็นผู้แทงเบิร์ชถึงแก่ความตายและแล้วแผนนี้ก็ถูกกำหนดให้เป็นวันที่ 2 พฤศจิกายน 1875 อันเป็นวันที่เบิร์ชจะต้องพบกับจุดจบของเขา

ความตายของเบิร์ชและจุดจบของเหล่าฆาตกร

ในขณะที่เบิร์ชกำลังอาบน้ำอยู่ในเรือนอาบน้ำขณะที่เรือกำลังเทียบฝั่งอยู่ที่ริมแม่น้ำเปรัคซึ่งไม่ไกลจากบ้านของมหาราชาเลลามากนัก แฟรงค์ สแวตเตนนัม (Frank Swettenham) เพื่อนร่วมงานของเบิร์ช ได้เล่าถึงเหตุการณ์อันน่าสยดสยองครั้งนี้ไว้ว่า

 ปันดัก ดินดัต ผู้เป็นล่าม ได้ตะโกนขึ้นมาว่า นั่นไง ! มิสเตอร์เบิร์ชอยู่ในเรือนอาบน้ำ มาเร็วพวกเรา ฆ่าเขาให้ตายเสีย !’ หลังจากนั้นก็ตามมาด้วยคนสามสี่คนตะโกน อะม็อค อะม็อค ดังลั่น พวกเขากระโดดลงบนท่อนซุงที่กำลังลอยน้ำอยู่และเอาหอกพุ่งแทงเข้าไปส่วนข้างหน้าที่โล่ง ๆ ของเรือนอาบน้ำ…. [แต่] มิสเตอร์เบิร์ชหายไปโดยปราศจากเสียง [หนีลงน้ำ] แต่ขณะที่เขาแอบโผล่ขึ้นจากน้ำที่ส่วนหลังของเรือนอาบ ฆาตกรจำนวนหนึ่งได้เตรียมพร้อมรออยู่แล้ว และหนึ่งในนั้นคือชายที่ชื่อสปูตัม ก็ได้ฟันศรีษะของข้าหลวงเบิร์ชเข้าด้วยดาบ เบิร์ชจมลงในน้ำและไม่ใครเคยได้พบเจออีกเลย

และสำหรับข้าราชอาณานิคมแล้ว ความตายของเบิร์ชหาใช่เรื่องส่วนตัวหากแต่เป็นปัญหาทางการเมือง ดังที่สแวตเตนนัมเชิดชูเบิร์ชอย่างมากว่าเป็นผู้ที่จะนำพาความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ชาวมาเลย์แท้ ๆ และเป็นผู้ที่ไม่ย่อท้อที่จะผจญกับการกระทำอันแสนชั่วร้าย (ในที่นี้คือการต่อต้านการมีทาส) อันสะท้อนถึงความเป็นชาวคริสต์ที่สมบูรณ์

หลังจากเบิร์ชได้ถูกฆาตรกรรมก็ได้สร้างความไม่พอใจต่อชาวอังกฤษเป็นอย่างมาก กองกำลังอังกฤษได้จับกุมมหาราชาเลลาและบรรดาผู้เกี่ยวข้องกับการสังหารเบิร์ชทั้งหมดก่อนจะถูกประหารชีวิตด้วยการแขวนคอในที่สาธารณะ ส่วนสุลต่านอัลดุลลาห์แห่งเปรัคผู้ ‘มีส่วนรู้เห็น’นั้น ก็ถูก ‘ถอด’ จากการเป็นประมุขของรัฐด้วยอำนาจต่างด้าวเจ้าอาณานิคม (อังกฤษ) ก่อนที่จะถูกเนรเทศไปยังเกาะเซร์เชลลส์ (Seychelles ) แถบมหาสมุทรอินเดีย นี่จึงเป็นที่ชัดเจนว่าในปี 1875 นั้น เปรัคได้สูญสิ้นสภาพความเป็นรัฐอธิปไตยให้แก่อังกฤษโดยสมบูรณ์แล้ว

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า