เปิดประวัติศาสตร์ ตีแผ่คำโกหกของนักวิชาการนายู ‘จะนะ’ และ ‘เทพา’ ไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรปัตตานี (ปตานี)

บทความโดย จีรวุฒิ (อุไรรัตน์) บุญรัศมี

จากการที่เฟซบุ๊กของนายฮาซัน ยามาดีบุ (ประธานกลุ่มบุหงารายา) นักประวัติศาสตร์ชาวนายู (มลายู 3 จังหวัด) ที่มักโพสต์และบรรยายประวัติศาสตร์เกี่ยวกับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้บ่อยครั้งจนมีผู้ติดตามจำนวนมาก

การกระทำดังกล่าวของนายฮาซันเป็นสิทธิที่พึงกระทำได้ตามรัฐธรรมนูญของราชอาณาจักรไทยที่รับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นของประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ซึ่งควรเป็นหน้าที่ของคนในท้องถิ่นนั้น ๆ เป็นผู้ศึกษาและเผยแพร่ความรู้ดังกล่าวให้เกิดจิตสำนึกความเป็นท้องถิ่นโดยไม่มีจุดประสงค์ที่จะสร้าง “ลัทธิท้องถิ่นนิยมหัวรุนแรง” ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรูปแบบการปกครองของรัฐและเพื่อนร่วมชาติอื่น ๆ

อย่างไรก็ดี ผู้เขียนในฐานะผู้ที่สนใจประวัติศาสตร์ภาคใต้ได้ติดตามการเผยแพร่ข้อมูลประวัติศาสตร์ของนายฮาซันมาพอสมควร จนจับเค้าลางความไม่ชอบมาพากลได้ว่า นายฮาซันมักพูดและเขียนโดยไม่ได้อ้างอิงเอกสารหรือหลักฐาน ตัวอย่าง เช่น การพยายามในการผนวกรวม (annexation) 4 อำเภอของสงขลา ได้แก่ จะนะ เทพา สะบ้าย้อย นาทวี มาเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรปัตตานีโบราณ (ปตานี) พฤติกรรมดังกล่าวได้สร้างความไม่สบายใจแก่ชาวสงขลาที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้เป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะคนไทยพุทธและคนแขก (เป็นคำสุภาพที่คนไทยเชื้อสายมลายูใช้เรียกตัวเองในพื้นที่สงขลา-พัทลุง-นคร-ตรัง-กรุงเทพฯ) ซึ่งอาศัยร่วมกันในบริเวณนี้มาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษและแทบไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมแบบปัตตานี-กลันตัน (ตานิง-กลาแต) แต่อย่างใด

โดยเฉพาะคนแขกในพื้นที่ 4 อำเภอ ซึ่งส่วนมากมีวัฒนธรรมใกล้เคียงกับคนไทยเชื้อสายมลายูในพื้นที่จังหวัดสงขลา-พัทลุง (พื้นที่ดังเดิมของรัฐสุลต่านสงขลา-ซิงฆูรา) และมีบางส่วนที่มีความเกี่ยวข้องกับชาวมลายูจากรัฐไทรบุรี ส่วนบรรดาผู้ที่พูดมลายูสำเนียงปัตตานี-กลันตันนั้น โดยมากแล้วเป็นกลุ่มคนที่เพิ่งอพยพมาในช่วงหลังนี้เท่านั้น

ความผิดฐาน “แต่งเสริมประวัติศาสตร์” (fabrication) เช่นนี้ของนายฮาซัน เป็นเรื่องที่ยอมรับกันไม่ได้ทางวิชาการ แต่กรณี 4 อำเภอของสงขลาเคยเป็นของปัตตานี หาใช่กรณีเดียวที่นายฮาซันได้ปั้นเรื่องขึ้นอย่างลอย ๆ ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 และ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2565 นายฮาซัน ได้โพสต์บทความในเฟซบุ๊กของตัวเอง กรณีการแบ่งเมืองจะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวีออกจากปัตตานี ซึ่งผู้เขียนพบว่ามีแต่ความผิดพลาด ความเท็จและไร้เอกสารอ้างอิงใด ๆ ทั้งสิ้น

ตัวอย่าง เช่น โพสต์วันที่ 31 สิงหาคม นายฮาซันกล่าวว่า “พระยาสงขลาและนายพ่ายได้จัดแจงพื้นที่ให้เป็นส่วนๆจาก 18 เมืองให้เป็น 12 เมือง ได้แก่ เมืองจือเนาะ ตีบอ หนองจิก ตานี ยาลอ รือมัน ยือริง กันดังกืรเบา กลาบอ สาย ลือแฆะห์ และสุไหงปาดี เมืองเหล่านี้ต่างมีผู้ปกครองหรือราชาเมืองที่มีสถานะเท่ากันในยศฐาบรรดาศักดิ์เจ้ามลายูในขณะนั้น… ส่วนเมืองจือเนาะและตีบอกลับถูกแยกออกจากสาระบบเขตพื้นที่ปตานี เพราะพระยาสงขลาต้องการสองเมืองนี้ไว้ในครอบครอง จึงได้ทำการไหว้วานพระยาอภัยสงครามให้ช่วยว่าความสนับสนุนในการถวายแผนการแบ่งแยกแล้วปกครองเมืองปตานีต่อกษัตริย์สยาม สุดท้าย เมืองจือเนาะและตีบอ ก็ถูกยกให้แก่เมืองสงขลาเพื่อตอบแทนให้แก่พระยาสงขลาที่เสนอแผนการจัดการปัญหาการต่อต้านของชาวปตานี

ทั้งนี้ นายฮาซันไม่ได้กล่าวถึงเอกสารอ้างอิงข้อความดังกล่าวแต่อย่างใด และเมื่อผู้เขียนได้ตรวจสอบเอกสารของฝั่งมลายูทุกฉบับ ข้อความในทำนองว่าเจ้าเมืองสงขลาและนายพ่ายจัดราชการหัวเมืองจาก 18 เป็น 12 ไม่ปรากฏในเอกสารใด ๆ เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลที่พูดถึงเมืองจะนะและเทพา (จือเนาะ และติบอ เป็นสำเนียงนายูที่ไม่ได้รับความนิยมในพื้นที่ เพราะคนจะนะและเทพาแท้ ๆ จะออกเสียงเมืองของเขาว่า “จะนะ” และ “เทพา” แบบคนไทยทั่วไป) ไม่ทราบว่านายฮาซันเอาข้อมูลนี้มาจากไหน

อาศัยตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เมืองจะนะและเทพาอยู่ภายใต้การปกครองของเมืองพัทลุงในช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา และเจ้าเมืองพัทลุงในเวลาดังกล่าวก็สืบเชื้อสายมาจากรัฐมลายูซิงกูรา (สุลต่านลุไลมานแห่งสงขลา) ซึ่งสายตระกูลนี้มีอำนาจมากพอสมควรทั้งในกรุงศรีอยุธยาและหัวเมืองทางใต้ นอกจากพัทลุงและสงขลาอันเป็นเมืองสำคัญแล้ว คนจากเชื้อสายตระกูลสุไลมานยังได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองไชยาอีกด้วย (อดีตสุลต่านมุสตาฟาหลังเมืองสงขลาแตก) โดยยังไม่นับรวมตำแหน่งเจ้าพระยาราชบังสันหรือแม่ทัพเรือในอยุธยา ซึ่งตกอยู่ภายใต้การปกครองของสายสกุลนี้สืบเนื่องกัน ดังนั้น การที่บางส่วนของสงขลา-พัทลุงภายใต้อิทธิพลตระกูลสุลต่านสุไลมาน จะตกเป็นไปของปัตตานีอันเป็นเมืองคู่อริ จึงเป็นเรื่องเหลวไหลอย่างมาก

ยิ่งกว่านั้น ในสมัยที่พระยาไชยา (อดีตสุลต่านมุสตาฟาแห่งสงขลา) ยังมีชีวิต ท่านได้นำกองกำลังจากไชยา สงขลา และพัทลุง เข้ามาระงับความวุ่นวายในปัตตานีอันเป็นผลจากสงครามกลางเมืองระหว่างขุนนางปัตตานี-กลันตันที่แย่งชิงตำแหน่งอัครเสนาบดี (บันดาหรา) ซึ่งฮิกายัตปัตตานี (พงศาวดารเมืองปัตตานี) ระบุไว้ว่าในช่วงรัชสมัยของรายามัส กลันตัน (โมรหุมกลันตัน) ทัพของสยามจากไชยา สงขลา พัทลุงได้เข้ามาจัดแจงราชการให้เรียบร้อย ดังนั้น ข้อโกหกว่าปัตตานียึดบางส่วนของสงขลาไปจึงเป็นการโกหกบิดเบือนประวัติศาสตร์ เพราะแม้แต่เอกสารชั้นต้นจากปัตตานีเองก็ไม่ได้กล่าวเช่นนั้นเลย และออกจะตรงกันข้ามเสียมากกว่า (ฮิกายัตปัตตานีค่อนข้างจะยอมรับอำนาจสยามและสายสกุลสุลต่านสงขลาในการจัดการสงครามกลางเมืองในเวลานั้นด้วย)

และหลักฐานเชิงมุขปาฐะที่ชัดเจนมากคือชาวจะนะและเทพา มีความทรงจำว่าบรรพบุรุษของพวกเขาเกี่ยวข้องกับรัฐมลายูซิงฆูรา ไม่ใช่ปัตตานีอันเสมือนอีกสังคมหนึ่งต่างหาก ที่แปลกปลอมทั้งสำเนียง วัฒนธรรม และอุดมการณ์ชาตินิยม (ชาวจะนะและเทพาไม่มีอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน เช่นกลุ่มขบวนการซึ่งส่วนมากอพยพมาจาก 3 จังหวัดเข้ามาแฝงตัวเคลื่อนไหวในพื้นที่สงขลา)

นอกจากนั้น หลังสิ้นกรุงศรีอยุธยาให้พม่าในสงครามเสียกรุงครั้งที่ 2 เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช (หนู) ได้ตั้งตนเป็นกษัตริย์ไม่ขึ้นกับกรุงธนบุรี เมืองจะนะและเทพาซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของเมืองพัทลุงอีกทอดหนึ่งนั้น ก็ชัดเจนว่าอยู่ภายใต้การปกครองของก๊กเจ้านครศรีธรรมราช เรื่องนี้แม้แต่สุลต่านมูฮัมหมัดแห่งปัตตานี (สุลต่านปัตตานีพระองค์สุดท้าย) ก็ตระหนักพระทัยดีเพราะตอนที่ครอบครัวของเจ้าพระยานครฯ หลบภัยกองทัพพระเจ้าตากมายังเมืองเทพาอันเป็นเมืองภายใต้การปกครองของก๊กเจ้านครฯ ต่อมาพวกเขาก็ตัดสินใจขอลี้ภัยต่อยังเมืองปัตตานี ซึ่งสุลต่านปัตตานีก็อนุญาต มาถึงตรงนี้จะเห็นได้ว่า เมืองเทพาในเวลานั้น อยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์พระเจ้านครศรีธรรมราช หาใช่การปกครองของราชวงศ์สุลต่านปัตตานีเชื้อสายกลันตันแต่อย่างใด

การปรุงแต่งประวัติศาสตร์เท็จเกี่ยวกับ 4 อำเภอของสงขลา เป็นเรื่องที่ภาครัฐไม่ควรจะยอมให้เกิดขึ้น เพราะเท่ากับเป็นการอนุญาตให้พวกขบวนการแบ่งแยกดินแดนซึ่งจัดเป็นคนนอก (aliens) นำกองกำลังติดอาวุธเข้ามาเคลื่อนไหวในพื้นที่ของสงขลา ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องอันใดกับประวัติศาสตร์ 3 จังหวัดชายแดนใต้เลย

อย่างไรก็ดี เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้ผู้ถูกพาดพิง ผู้เขียนในฐานะนักวิชาการอยากจะเปิดโอกาสให้นายฮาซันเอาข้อมูลเรื่องเมืองจะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี ที่เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ว่าเคยเป็นของปัตตานีมาเผยแพร่ และต้องเป็นหลักฐานที่น่าเชื่อถือและอ้างอิงได้ตามหลักวิชาการเท่านั้น หากไม่มีแล้ว ผู้เขียนก็ขอให้นายฮาซันสงบปากสงบคำ ในความพยายามเรียกร้องที่จะกลืนพื้นที่ของจังหวัดสงขลาดังกล่าว ให้เป็นส่วนหนึ่งของปัตตานีเสียที

ที่มา :

[1] อับราฮิม ชุกรี. ประวัติศาสตร์ราชอาณาจักนมลายูปะตานี. (กรุงเทพ: ซิลค์วอร์ม บุ๊คส์) 2549
[2] พงศาวดารเมืองสงขลา ฉบับ เจ้าพระยาวิเชียรคีรี (บุญสังข์).
[3] พงศาวดารเมืองสงขลา ฉบับ พระยาวิเชียรคิรี (ชม).
[4] พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม).
[5] อาณัติ อนันตภาค. สุลต่านลุ่มทะเลสาบสงขลา. (กรุงเทพฯ: ยิปซี) 2557.
[6] พรรณงาม เง่าธรรมสาร. ความสัมพันธ์สยาม-ปัตตานีจากธนบุรีสู่รัตนโกสินทร์. ใน จุลสารความมั่นคงศึกษา ฉบับที่ 67(พฤศจิกายน พ.ศ. 2552).
[7] Graham Hamilton Dalrymple. Melayu to Thai Muslim : Historical and theoretical perspectives on ethnonyms, ethnogensis and ethnic changes amongst Muslims in Songklha province. (Universiti Kebangsaan Malaysia) 2021.
[8] A. Teeuw and D.K. Wyatt. The Story of Patani (Hikayat Patani). 1970.

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า