บิดาแห่ง ‘ประชานิยม’ ผู้สร้างอำมาตย์เพื่อปลุกความอาฆาตระหว่างชนชั้นล่างกับชนชั้นนำ จุดเริ่มต้นของประเทศไทยที่ไม่เหมือนเดิม

นโยบายเชิงประชานิยมนั้นเป็นสิ่งที่ถูกศึกษาอย่างจริงจังทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมวิทยาจนมีงานวิชาการที่ตั้งคำถามอย่างตรงไปตรงมาว่า “ประชานิยมส่งผลดีต่อประชาธิปไตยหรือไม่?” [1]  การศึกษาความเป็นประชานิยมนั้นจึงได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางและมีการศึกษาในบริบทของหลากประเทศในหลายทวีป [2] ดังนั้นประชานิยมจึงมีพลวัตอยู่มาก และมีสาเหตุปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้นโยบายประชานิยมเกิดขึ้นแตกต่างกันออกไป แต่ทั้งนี้ก็มีลักษณะร่วมอยู่เช่นกัน

ไทยเองก็เป็นหนึ่งในหลายๆ ประเทศที่นโยบายประชานิยมได้เกิดขึ้นเช่นกัน ในอดีตเราก็มีนโยบายที่อาจจัดได้ว่าเป็นประชานิยมเช่นนโยบายเงินผันสมัยของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช แต่ทั้งนี้นโยบายประชานิยมที่เกิดขึ้นอย่างเด่นชัดมากที่สุด และอาจจะทั้งสร้างและอยู่ใต้ความขัดแย้งของการเมืองไทยมากที่สุดนั้น เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเกิดขึ้นในสมัยของทักษิณ ชินวัตร และการเกิดขึ้นในสมัยนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นการ “ตัดริบบิ้น” ให้แก่นโยบายประชานิยมที่อยู่คู่กับการเมืองไทยเรื่อยมาก็ว่าได้ เพราะหลังจากสมัยของทักษิณแล้ว การเมืองไทยไม่เคยขาดนโยบายประชานิยมเลย เพียงแต่มีความเข้มข้นมากน้อยแตกต่างกัน และมีการให้เหตุผลต่อนโยบายที่ต่างกัน

แต่คำถามที่น่าสนใจก็คือว่านโยบายประชานิยมนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะนโยบายประชานิยมนั้นไม่สามารถเกิดขึ้นมาโดยไม่มีอะไรรองรับได้ และสังเกตว่านโยบายเช่นนี้มีอยู่ในทุกระบอบไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตยหรือระบอบอำนาจนิยมก็ตาม [3] ดังนั้นนโยบายประชานิยมจึงมีสาเหตุและเงื่อนไขที่ทำให้เกิดขึ้น และทั้งนี้การมีนโยบายประชานิยมแม้อาจจะส่งผลประโยชน์ต่อประชาชนได้ แต่ก็สามารถถูกใช้เป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจได้ด้วย การพิจารณานโยบายประชานิยมจึงต้องพิจารณาโดยมองบริบทรวมด้วย เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วเราก็น่าจะเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในสมัยของทักษิณได้ดีขึ้นด้วย

ก่อนที่จะกล่าวถึงนโยบายประชานิยมนั้น เราจำเป็นที่จะต้องย้อนไปดูพัฒนาการเศรษฐกิจของไทยเสียก่อน [4] กล่าวคือหลังจากที่ไทยเปิดรับการค้าเสรีและหลักการอื่นๆ ที่เอื้อให้ทุนนิยมพัฒนาแล้ว ประเทศไทยก็เติบโตขึ้นมาก ซึ่งทำให้จากเดิมที่ไทยมีข้าราชการที่มีฐานะดีกว่าโดยเปรียบเทียบ ก็เกิดกลุ่มคนนอกระบบราชการที่มีฐานะขึ้นมาด้วย แต่ทั้งนี้การพัฒนาเศรษฐกิจของไทยนั้นมีปัญหาในการพัฒนาอยู่ กล่าวคือกรุงเทพฯ (และปริมณฑล) จะเติบโตมากกว่าภูมิภาคอื่นๆ ทำให้แรงงานภาคเกษตรต้องโยกย้ายถิ่นฐานเข้ามาในเมือง ดังนั้นไทยจึงมีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจอยู่มาก เห็นได้จากรายได้ที่คนจากภูมิภาคอื่นจะต่ำกว่าในเมืองมาก แม้ว่าแรงงานชนบทจะมีจำนวนมากกว่าก็ตาม

การพัฒนาที่แตกต่างกันนี้ได้ทับถมกันเป็นปัจจัยที่เอื้อต่การเกิดของประชานิยมโดยเฉพาะภาคเหนือและอีสานที่ได้รับส่วนแบ่งความมั่งคั่งน้อยกว่าผลการพัฒนาที่ผ่านมา ประเด็นนี้เองได้สร้างการแบ่งขั้วขึ้นอย่างช้าๆ ระหว่างภูมิภาคกับกรุงเทพฯ ยิ่งเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ. 2540 ที่รัฐบาล ชวน หลีกภัย มีข้อจำกัดในการดำเนินนโยบายที่ยังไม่เพียงพอในสายตาของคนชนบทและแรงงานนอกระบบมากนัก และยังถูกมองว่าช่วยเหลือกลุ่มทุนต่างชาติมากกว่า ทำให้ความรู้สึกชาตินิยมทางเศรษฐกิจได้แพร่หลายมากขึ้น พรรคไทยรักไทยในขณะนั้นจึงได้ใช้โอกาสนี้ในเรื่องความรู้สึกของคนในชนบทเป็นฐานเสียงจนสามารถรับชัยชนะได้อย่างถล่มทลาย (แต่ทั้งนี้คนชนชั้นอื่นก็เลือกไทยรักไทยในฐานะทางเลือกใหม่ด้วย)

ในช่วงแรกที่ทักษิณขึ้นสู่อำนาจนั้นยังมีลักษณะประชานิยมแบบอ่อนๆ และยังไม่มีการสร้างคู่ตรงข้ามระหว่างประชาชนและชนชั้นนำ แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงที่สองซึ่งจะมีความเด่นชัดของประชานิยมมากขึ้น และสร้างคู่ตรงข้ามระหว่างประชาชนกับชนชั้นนำมากขึ้น (ทั้งที่ตัวเขาเองก็น่าจะเป็นชนชั้นนำด้วย แต่ชนชั้นนำที่เขาสร้างนั้นไม่ใช่เขา) สาเหตุที่ท่าทีของเขามีความชัดเจนมากขึ้นก็เพราะเขาถูกโจมตีในประเด็นต่างๆ เช่น เรื่องการซุกหุ้น ดังนั้นเขาจึงเริ่มใช้ประชาชนที่เลือกเขามาโดยเฉพาะคนชนบทมาเป็นเกราะป้องกันตัวเองจากการโจมตีต่างๆ ว่าเสียงข้างมากเลือกเขามา และยังมีการดำเนินงานที่ทำให้การเมืองเสียสมดุล เช่น การตั้งบุคคลที่คุ้นเคยให้ดำรงตำแหน่งต่างๆ หรือการเข้าควบคุมวุฒิสภาจนไม่มีองค์กรใดสามารถเป็นภัยคุกคามหรือตรวจสอบทักษิณได้อีก

การอ้างฐานเสียงสนับสนุนว่าเป็นเสียงส่วนใหญ่นี้ทำให้สร้างแรงกดดันไม่มากก็น้อยต่อศาลรัฐธรรมนูญในการตัดสินคดีด้วย ในขณะเดียวกันทักษิณได้ดำเนินแคมเปญที่ทำให้ภาพของเขาเป็นผู้นำติดดิน เช่น อาบน้ำด้วยผ้าขาวม้า ร่วมวงกินข้าวกับชาวบ้าน หรือโครงการทัวร์นกขมิ้น ดังนั้นในการต่อต้านกระแสต่อต้านในตัวเขา ทักษิณจะอ้างความชอบธรรมจากการเลือกตั้งโดยเน้นว่าประชาชนที่เลือกมาคือคนไทยส่วนใหญ่หรือเป็นชาวบ้าน และมีเพียงเขาเท่านั้นที่ช่วยให้ชาวบ้านเหล่านี้หลุดพ้นจากความยากจนได้ ความพยายามของเขาจึงทำให้ชนชั้นนำไม่พอใจดังที่เขากล่าวว่า “นโยบายทำสงครามกับความยากจน…สร้างความไม่พอใจให้กับชนชั้นนำเก่า…พวกเขามีแนวโน้มปกป้องสถานภาพของตน พวกเขาไม่ต้องการความเปลี่ยนแปลง…พวกเขาไม่เข้าใจคนจน” ทำให้เกิดการแตกกันระหว่างประชาชนกับชนชั้นนำ หรือเป็นการแบ่งขั้วในเชิงศีลธรรมนั่นเอง

ความชัดเจนอีกรูปแบบหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือการเกิดขึ้นของวาทกรรม “ไพร่” กับ “อำมาตย์” ซึ่งไพร่นี้คือประชาชนเสียงข้างมากที่ถูกละเลยมาในอดีต ส่วนอำมาตย์คือชนชั้นนำที่ขโมยอำนาจไปจากประชาชน ความคิดนี้ได้เป็นแรงผลักที่สำคัญในการดำเนินงานของกลุ่มคนเสื้อแดงซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ไม่มีหลักประกันความมั่นคงในชีวิตจริง หาเช้ากินค่ำจริง รัฐบาลทักษิณจึงเป็นรัฐบาลแรกที่หยิบยื่นผลประโยชน์ให้กับพวกเขา แต่ทั้งนี้แม้จะเกิดประชานิยมที่เหมือนว่าจะช่วยกลุ่มคนชนบท แต่กลับพบว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำก็ยังไม่ได้ลดลงและหนี้สินยังเพิ่มขึ้นด้วย แต่ทั้งนี้นโยบายที่ได้ผลดีจริงนั้นคือนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคที่ทำให้รายจ่ายครัวเรือนในด้านสาธารณสุขลดลงอย่างมาก

การเกิดขึ้นของประชานิยมอย่างเข้มข้นในยุคของทักษิณนั้นไม่ได้เป็นสิ่งที่วางแผนมาตั้งแต่แรก แต่จะถูกเน้นมากขึ้นตามสถานการณ์ และยังเป็นการทำลายตัวกลางอย่างนักการเมืองท้องถิ่นให้คนชนบทได้ขึ้นตรงต่อทักษิณอีกด้วย นโยบายประชานิยมของไทยในยุคทักษิณนั้นจึงมีเรื่องความเหลื่อมล้ำมารองรับก่อนหน้า แต่ทักษิณเป็นคนใช้ประโยชน์จากเสียงที่เลือกเขามาเป็นเกราะป้องกันตัวเขาเอง และปฏิเสธไม่ได้ว่าทำให้วิกฤตการเมืองนั้นเข้มข้นขึ้นด้วย

ท้ายที่สุดแล้ว เราสามารถมีนโยบายประชานิยมอย่างฉลาดได้เพื่อให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืน แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่เกิดการแบ่งแยกระหว่างกันไม่ว่าจะประชาชนกับประชาชนหรือประชาชนกับชนชั้นนำก็ตาม เพราะเราต่างต้องอยู่ร่วมกันและช่วยกันหาวิธีในการแก้ไขปัญหาโดยที่ไม่ให้นักการเมืองเข้ามาจัดการให้มากเกินไปจนทำให้ประเทศอาจแตกเป็นเสี่ยงๆ ได้

อ้างอิง :

[1] Bojan Bugaric, “Could Populism Be Good for Constitutional Democracy?,” Annual Review of Law and Social Science Vol. 15 (2019): 41-58.
[2] Cas Mudde and Cristóbal Rovira Kaltwasser, “Studying Populism in Comparative Perspective: Reflections on the Contemporary and Future Research Agenda,” Comparative Political Studies Vol. 51 No. 13 (2018): 1667-1693.
[3] Bojan Bugaric, “The two faces of populism: Between authoritarian and democratic populism,” German Law Journal Vol. 20 No. 3 (April 2019): 390-400.
[4] เรียบเรียงจาก นิธิ เนื่องจำนงค์, ประชานิยมในโลกที่เหลื่อมล้ำ (กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า, 2563), บทที่ 6.

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า