ประวัติศาสตร์การเมืองไทย พ.ศ. 2500 ปิดฉาก 25 คณะราฎร ด้วยการสิ้นอำนาจอย่างไม่มีทางหวนกลับ

พ.ศ.2500 เป็นปีที่สำคัญโดยเฉพาะในเส้นทางประวัติศาสตร์การเมืองไทย เพราะเป็นช่วงปีที่คณะราษฎรได้สูญเสียอำนาจอย่างสมบูรณ์จากการรัฐประหารและปิดฉากการปกครองโดยคณะราษฎรที่ได้ดำรงอยู่มาได้ 25 ปีพอดี ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 15 ปีแรก ที่คณะราษฎรมีอำนาจปกครองเต็มรูปแบบ และอีก 10 ปีหลัง ที่เริ่มเสื่อมอำนาจลงเรื่อย ๆ ในช่วงหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 พร้อมกับการเข้ามามีอิทธิพลของสหรัฐอเมริกาในประเทศไทยอย่างจริงจังในช่วงเวลาหลังจากนั้น

โดยการเสื่อมอำนาจของคณะราษฎรได้เกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไปอย่างช้า ๆ อย่างต่อเนื่อง จากความกังขาในการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่คณะราษฎรสายทหารได้เคยวางรากฐานไว้ และด้วยเหตุนี้จึงนำไปสู่การผงาดของแนวคิดทางการเมืองต่าง ๆ ที่ครั้งหนึ่งเคยถูกกดทับและด้อยค่าอย่างเป็นกระบวนการโดยคณะราษฎรในช่วงเรืองอำนาจ

ไม่ว่า จะเป็นกลุ่มการเมืองอนุรักษ์นิยมที่ถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามหลักของคณะราษฎรมาโดยตลอด กลุ่มการเมืองสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ที่ถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามของคณะราษฎรสายทหารภายใต้การนำโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม รวมทั้งกลุ่มการเมืองลัทธิชาตินิยมเองที่เคยเป็นอุดมการณ์แกนกลางของคณะราษฎรก็ถูกมองว่า เป็นภัยคุกคามของคณะราษฎรสายพลเรือนภายใต้การนำโดยปรีดี พนมยงค์

ซึ่งทั้งกลุ่มการเมืองอนุรักษ์นิยมและสังคมนิยมที่เคยโดนกดทับโดยกลุ่มการเมืองลัทธิชาตินิยมนั้น ได้กลับมามีบทบาททางการเมืองอีกครั้ง ภายหลังสมดุลของคณะราษฎรเปลี่ยนไปหลังการเสื่อมอำนาจของรัฐบาลลัทธิชาตินิยมภายใต้การนำของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม การเสื่อมอำนาจของรัฐบาลคณะราษฎรสายพลเรือนภายใต้อิทธิพลของ ปรีดี พนมยงค์ พร้อมกับการเข้ามาของกลุ่มซอยราชครูและกลุ่มสี่เสาเทเวศร์ ที่ได้มีบทบาทในการเมืองไทยช่วงหลัง พ.ศ.2490 เป็นต้นมา

ทั้งหมดนี้ สามารถมองได้จากสมดุลของคณะราษฎรที่เปลี่ยนแปลงไปหลังจากการรัฐประหารในปี พ.ศ.2490 เนื่องจากช่วงก่อน พ.ศ.2490 นั้น คณะราษฎรจะมีอำนาจเต็มในการบริหารประเทศทั้งในรูปแบบของคณะราษฎรสายทหารและสายพลเรือน ตั้งแต่ พ.ศ.2475 เป็นต้นมา แต่เมื่อเกิดการรัฐประหารก็ทำให้เกิดกลุ่มการเมืองใหม่ที่เริ่มมีบทบาททางการเมือง คือ กลุ่มซอยราชครูและกลุ่มสี่เสาเทเวศร์ และลดทอนการรวมศูนย์อำนาจของคณะราษฎรเดิม ซึ่งย่อมเป็นการเปิดโอกาสให้กลุ่มการเมืองต่าง ๆ ที่เคยถูกแช่แข็งในช่วงเรืองอำนาจของคณะราษฎรได้กลับมามีบทบาทในการเมืองไทยอีกครั้ง

แม้ว่าในเวลาต่อมาคณะรัฐประหารจะเชิญ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่เป็นเสาหลักของคณะราษฎรสายทหาร กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไทยอีกครั้ง แต่การกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีคราวนี้ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ไม่ได้เหมือนเดิมเหมือนช่วงการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก่อนหน้านี้ และบทบาทใหม่ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ไม่ได้ศักดิ์สิทธิ์และมีอำนาจเต็มเหมือนแต่ก่อนอีกต่อไป

เพราะการเชิญจอมพล ป. พิบูลสงคราม ให้กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้นก็ด้วยเหตุผลที่ว่า จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นแกนหลักของคณะราษฎรสายทหารและสามารถประคับประคองระหว่างกลุ่มการเมืองต่าง ๆ ได้ดี จึงทำให้บทบาทเดิมของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่เคยเป็นผู้นำมีอำนาจเต็ม ได้แปรสภาพกลายเป็นบุคคลที่ทำหน้าที่ประสานกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ แทน และทำให้ความสุดโต่งที่จอมพล ป. พิบูลสงครามเคยผลักดันในช่วงเรืองอำนาจของคณะราษฎรก่อนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้หายไปแทบหมดสิ้น และต้องรักษาความอยู่รอดของฐานอำนาจตนเองให้มั่นคงในช่วงเวลานี้อีกด้วย

มากกว่านั้น ฐานอำนาจของกลุ่มซอยราชครู กลุ่มสี่เสาเทเวศร์ และกลุ่มอนุรักษ์นิยม ได้ขยายตัวขึ้นมาเรื่อย ๆ จนเป็นภัยคุกคามโดยตรงต่อ จอมพล ป. พิบูลสงคราม และยังไม่รวมกลุ่มคณะราษฎรสายพลเรือนที่มีเหล่าทัพเรือสนับสนุน และกลุ่มสังคมนิยมที่เริ่มสะสมอิทธิพลมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงทำให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม พยายามที่จะให้อำนาจกลับมาอยู่ที่ตนเองในหลากหลายวิธีเหมือนช่วงคณะราษฎรรุ่งเรือง เช่น การรัฐประหารตนเองใน พ.ศ.2494 เพื่อยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2492 และนำรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2475 กลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง ซึ่งได้มีแก้ไขเพิ่มเติมใน พ.ศ.2495 และใช้ถึง พ.ศ.2500 ที่อำนาจของจอมพล ป. พิบูลสงครามได้หมดลง

และเหตุที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ทำการรัฐประหารตนเองก็เพราะว่าต้องการบั่นทอนอำนาจของกลุ่มการเมืองอนุรักษ์นิยมให้ลดลง และเสริมอำนาจของตนเองผ่านกลไกของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2475 ซึ่งไม่เพียงเท่านั้น ในเวลาต่อมา จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนและสื่อมวลชนสามารถวิพากษ์วิจารณ์ในที่สาธารณะได้ ด้วยจุดประสงค์ที่ต้องการด้อยค่าความน่าเชื่อถือของกลุ่มซอยราชครูที่นำโดยพล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ และกลุ่มสี่เสาเทเวศร์ที่นำโดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน แต่บ่อยครั้งที่การวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าวได้กระทบถึงจอมพล ป. พิบูลสงคราม ด้วยในอีกทางหนึ่ง

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มอำนาจใหม่ที่มีบทบาทในการเมืองไทยคือ สหรัฐอเมริกา ที่ได้เข้ามาสนับสนุนกลุ่มการเมืองต่าง ๆ โดยเฉพาะกลุ่มซอยราชครู กลุ่มสี่เสาเทเวศร์ และตัวจอมพล ป. พิบูลสงครามเอง เพื่อเข้ามามีบทบาทในนโยบายภายในประเทศและต่างประเทศของไทย ในรูปแบบของการสนับสนุนทางการเงินและความช่วยเหลืออื่น ๆ เพื่อต่อต้านการแทรกซึมของลัทธิคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย

ในที่สุด จุดพลิกผันของการถ่วงดุลทางการเมืองของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ได้เกิดขึ้นในช่วงการเลือกตั้ง พ.ศ.2500 ที่เต็มไปด้วยคำครหาถึงการทุจริตอย่างเปิดเผย และจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่เริ่มโดนกีดกันอำนาจจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในช่วงก่อนหน้านี้ ก็สามารถใช้โอกาสนี้ในการถอนตัวจากการร่วมรัฐบาลอย่างจริงจังและสร้างความนิยมในหมู่ประชาชน ซึ่งถือได้ว่าเป็นการทำลายสมดุลอำนาจของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในฐานะแกนกลางไกล่เกลี่ยกลุ่มอำนาจต่าง ๆ ที่เสื่อมอำนาจลงอย่างรวดเร็ว และเป็นการเปิดทางให้เกิดการรัฐประหารวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2500 ที่เป็นการปิดฉากอำนาจของคณะราษฎรอย่างสมบูรณ์

ด้วยเหตุที่ว่า แม้อำนาจคณะราษฎรสายทหารที่เคยเด็ดขาดจะแปรสภาพกลายเป็นแกนกลางของการต่อรองอำนาจผลประโยชน์ก็ตาม แต่ต้องอย่าลืมว่า จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็พยายามที่จะรักษาอำนาจของคณะราษฎรสายทหาร ทั้งการทำลายอำนาจของคณะราษฎรสายพลเรือนและกลุ่มทหารเรือ การบ่อนทำลายฐานอำนาจของกลุ่มอนุรักษ์นิยม หรือการพยายามกระชับอำนาจของกลุ่มซอยราชครูและกลุ่มสี่เสาเทเวศร์ในอยู่ในมือของตนเอง แต่เมื่อกลุ่มสี่เสาเทเวศร์เลือกที่แยกตัวออกมาจากสมดุลอำนาจใหม่ที่เกิดขึ้นหลัง พ.ศ.2490 และความนิยมของประชาชนที่เทไปที่กลุ่มสี่เสาเทเวศร์ก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านทางอำนาจของการเมืองไทยหลัง พ.ศ.2500 และเป็นการปิดฉากอำนาจทางตรงและทางอ้อมของคณะราษฎรตั้งแต่นั้นมา

พร้อมกับแทนที่ด้วยแนวคิดทางการเมืองใหม่ นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ และการสนับสนุนของสหรัฐอเมริกาที่หนักแน่นขึ้นต่อรัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งเป็นการปิดฉากการกลับมาของฐานอำนาจคณะราษฎรทั้งในทางตรงและทางอ้อม และได้เริ่มฟื้นฟูวัฒนธรรมของชาติพร้อมกับฟื้นฟูการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่เคยชะงักงันในช่วง 25 ปีก่อนหน้านั้น ให้กลับมามีพลังอีกครั้ง จนเกิดวาทะทรงพลังในเวลาต่อมาว่า

น้ำไหล ไฟสว่าง ทางสะดวก”

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า