ประวัติศาสตร์การเมืองไทย การปิดประชุมสภาผู้แทนฯ ครั้งแรกของสยาม บนความขัดแย้งถึงขั้นแตกหัก

ก่อนที่จะถึงวันปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกของสยามในเดือนเมษายน 2476 นั้น ภาพความขัดแย้งหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองมีมาให้เห็นอยู่ตลอดระหว่างผู้นำคณะราษฎรในฐานะตัวแทนของระบอบใหม่ กับคณะเจ้าในรัฐบาลในฐานะตัวแทนของระบอบเก่าหรือสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ทว่าประเด็นสำคัญที่นำมาสู่การแตกหัก คือ ข้อโต้แย้งเรื่องการเสนอ “เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ” โดยปรีดี พนมยงค์  และความขัดแย้งดังกล่าวเริ่มมีความซับซ้อนยิ่งขึ้นเมื่อมันกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างปรีดี พนมยงค์กับคณะราษฎรฝ่ายทหารสายคุมกำลัง และการนำเอาพระบรมราชวินิจฉัยของพระมหากษัตริย์ที่มีต่อเค้าโครงการเศรษฐกิจออกมาเผยแพร่

ด้านหนึ่งจึงเป็นความขัดแย้งที่พระยามโนนิติธาดากับคณะราษฎรอ้างว่ามีรัฐมนตรี (ปรีดี พนมยงค์) ต้องการเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจของประเทศให้เป็นแบบ “คอมมิวนิสต์” ดังความตอนหนึ่งในคำแถลงการณ์ปิดสภาผู้แทนราษฎรของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ว่า

“…ในคณะรัฐมนตรี ณ บัดนี้ เกิดการแตกแยกเป็น 2 พวก มีความเห็นแตกต่างกัน ความเห็นข้างน้อยนั้นปรารถนาที่จะวางนโยบายเศรษฐกิจไปในทางอันมีลักษณะเป็นคอมมิวนิสต์ ความเห็นข้างมากนั้นเห็นว่านโยบายเช่นนั้นเป็นการตรงกันข้ามแก่ขนบประเพณีชาวสยาม และเป็นที่เห็นได้โดยแน่นอนทีเดียวว่านโยบายเช่นนั้น จักนำมาซึ่งความหายนะแก่ประชาราษฎร และเป็นมหันตภัยแก่ความมั่นคงของประเทศ”

ความขัดแย้งนี้ยิ่งทวีความตึงเครียดมากขึ้น เมื่อถูกแปลงให้เป็นความขัดแย้งระหว่างปรีดี พนมยงค์กับสถาบันกษัตริย์ ดังที่มีการพิมพ์เผยแพร่พระราชวินิจฉัยของพระปกเกล้าฯ ต่อเค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ออกไปอย่างแพร่หลายว่า

“โครงการนี้นั้นเป็นโครงการอันเดียวอย่างแน่นอนกับที่ประเทศรัสเซียใช้อยู่ ส่วนใครจะเอาอย่างใครนั้นข้าพเจ้าไม่ทราบ  สตาลินจะเอาอย่างหลวงประดิษฐ์ฯ หรือหลวงประดิษฐฯ จะเอาอย่างสตาลินก็ตอบไม่ได้ ตอบได้ข้อเดียวว่า โครงการทั้ง 2 นี้ เหมือนกันหมด”

หากจะกล่าวโดยละเอียด เหตุการณ์ในช่วงเวลาของการปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่่ 1 เมษายน พ.ศ.2476 นั้น การดำเนินการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของคณะรัฐมนตรีถือเป็นเรื่องเร่งด่วน เนื่องจากขณะนั้นประเทศกำลังประสบภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างต่อเนื่องอันเป็นผลกระทบมาจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งคณะราษฎรได้นำมาใช้อ้างเป็นสาเหตุในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่นับจากที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจวบจนถึงมีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นลงแล้ว ก็ยังไม่เห็นมีการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรมแต่อย่างใด ทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอภิปรายซักถามปัญหาดังกล่าวต่อรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเป็นระยะ แต่ปัญหาได้ยุติลงเมื่อหลวงประดิษฐมนูธรรมออกมาชี้แจงว่า จะนํานโยบายเศรษฐกิจซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้เขาเป็นผู้ร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติเสนอเข้าที่ประชุม เพื่อให้คณะกรรมานุการพิจารณาและจะแจ้งให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรทราบต่อไป

เมื่อคณะกรรมานุการได้ประชุมพิจารณาร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติดังกล่าวแล้ว ผลปรากฏว่ากรรมานุการเสียงข้างมากเห็นชอบกับเค้าโครงการนี้ และมีมติให้นําเสนอต่อคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองก่อนแล้วค่อยนําเสนอต่อคณะรัฐมนตรี โดยสรุปความเห็นของที่่ประชุมออกมาได้เป็น 2 แนวทาง คือ

  1. แนวทางของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ให้วางหลักและดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจตามแนวทางที่่เคยปฏิบัติมา และจะเลือกดำเนินการตามแนวทางใหม่เท่าที่โอกาสจะอํานวย และจะไม่มีการวางแผนงานทางเศรษฐกิจเอาไว้
  2. แนวทางของหลวงประดิษฐมนูธรรม ให้วางหลักและดำเนินนโยบายตามเค้าโครงการเศรษฐกิจที่เสนอ เมื่อเห็นชอบกับเค้าโครงการแล้วให้จัดตั้งสภาเศรษฐกิจแห่งชาติเพื่อทำหน้าที่วางแผนด้านเศรษฐกิจ

โดยท้ายบันทึกการประชุมมีการเสนอความเห็นว่า หากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามแนวทางของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ก็ให้หลวงประดิษฐมนูธรรมประกาศเค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติในนามของหลวงประดิษฐมนูธรรมเอง มิใช่ในนามของคณะรัฐมนตรี เพราะอาจจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดได้ว่า คณะรัฐมนตรีมีแนวนโยบายที่จะดำเนินการตามเค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาตินี้

นอกจากความขัดแย้งระหว่างสภาผู้แทนราษฎรกับคณะรัฐมนตรีแล้ว ภายในคณะรัฐมนตรีเองก็มีความขัดแย้งเกิดขึ้นเช่นกัน  โดยฝ่ายหนึ่งเห็นด้วยกับแนวทางเดิมของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา แต่อีกฝ่ายหนึ่งกลับเห็นด้วยกับแนวทางใหม่ตามเค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติของหลวงประดิษฐมนูธรรม ผลการลงมติของคณะรัฐมนตรีปรากฏว่า มีมติไม่เห็นชอบด้วยคะแนนเสียง 11 ต่อ 3 อย่างไรก็ตาม ที่่ประชุมลงมติไม่ให้ประกาศเป็นนโยบายของคณะรัฐมนตรีว่าจะดำเนินการตามแนวทางเดิมของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เพื่อเป็นการลดปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น

ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่สนับสนุนแนวความคิดของหลวงประดิษฐมนูธรรมกับคณะรัฐมนตรีซึ่งสนับสนุนแนวความคิดของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา กลายเป็นประเด็นปัญหาทางการเมืองที่ยากจะประนีประนอมกันได้ ประกอบกับการที่นายพันเอกพระยาทรงสุรเดชมีคำสั่งให้ทหารเข้าตรวจค้นอาวุธปืนจากสมาชิกก่อนเข้าประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้สร้างความไม่พอใจให้แก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นอย่างยิ่ง โดยได้อภิปรายตําหนิการกระทำดังกล่าวอย่างรุนแรงว่าเป็นการไม่สมควร เพราะผู้ที่มีอำนาจสั่งการในลักษณะดังกล่าวได้ คือ ประธานสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมีอำนาจสูงสุดในสภาผู้แทนราษฎร

พระยามโนปกรณ์นิติธาดาในฐานะนายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงว่า เรื่องดังกล่าวเป็นไปเพื่อรักษาความปลอดภัยให้แก่สมาชิกที่เข้าประชุม เนื่องจากมีสมาชิกบางคนพกอาวุธปืนเข้ามาในสภาผู้แทนราษฎร ทั้งนี้มิได้มีเจตนาเป็นอื่นหรือต้องการก้าวก่ายอำนาจของประธานสภาผู้แทนราษฎรแต่อย่างใด และได้ขอให้สมาชิกอย่าพกอาวุธปืนเข้ามาในสภาผู้แทนราษฎร เหตุการณ์ครั้งนี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่าต่างฝ่ายต่างก็ไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน

ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 จะได้ให้อำนาจในการยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเลือกตั้งสมาชิกขึ้นมาใหม่ไว้ในมาตรา 35 ก็ตาม แต่เนื่องจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้เป็นสมาชิกชั่วคราวที่ได้รับการแต่งตั้งขึ้นมาเพื่อให้ทำหน้าที่ไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้นจึงไม่สามารถยุบสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ได้

พระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้ตอบโต้สภาผู้แทนราษฎร ด้วยการประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรและห้ามมิให้มีการเรียกประชุมจนกว่าจะมีสภาผู้แทนราษฎรขึ้นมาใหม่ อีกทั้งยังได้ยุบคณะรัฐมนตรีและแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ รวมทั้งยังให้รอการใช้บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญบางมาตราอีกด้วย โดยรัฐบาลได้ออกแถลงการณ์ความว่ารัฐบาลมีความจำเป็นต้องปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร พร้อมกับตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่และงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา เนื่องจากคณะรัฐมนตรีแตกออกเป็น 2 พวก มีความเห็นแตกต่างกันและไม่สามารถที่จะคล้อยตามกันได้ โดยความเห็นข้างน้อยนั้นต้องการวางนโยบายเศรษฐกิจไปในแนวทางคอมมิวนิสต์ แต่ความเห็นข้างมากเห็นว่านโยบายเช่นนั้นตรงกันข้ามกับขนบธรรมเนียมประเพณีที่มีอยู่ อีกทั้งแนวทางเช่นนั้นยังจะนําหายนะมาสู่ประชาชน และเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของประเทศอีกด้วย

ที่มา :

[1] สุเทพ เอี่ยมคง, “บริบทของการปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร งดใช้รัฐธรรมนูญบาง มาตราและตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่ พุทธศักราช 2476,” รัฐสภาสาร, ฉบับที่่ 3, ปีที่่ 52
[2] “คําแถลงการณ์ของรัฐบาล,” ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่ 50, ตอนที่ 0 ก, น.7-9, (1 เมษายน 2476)
[3] อิทธิพล โคตะมี, “รัฐประหารครั้งแรกในระบอบประชาธิปไตย”

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า