ความจริงที่พูดไม่หมดของ ‘สิทธิในการกำหนดใจตนเอง’ คำอ้างสวยหรู ที่ปูทางสู่การแบ่งแยกดินแดน

เมื่อกล่าวถึงแนวคิด ‘สิทธิในการกำหนดใจตนเอง’ (self-determination) นั้น หลายคนอาจจะงงว่าคำดังกล่าวนี้หมายถึงอะไร เพราะความหมายในตัวของมันนั้นค่อนข้างคลุมเครือ และเป็นเรื่องเชิงเทคนิค (technical) อยู่มาก แต่กล่าวโดยสรุป สิทธิในการกำหนดใจตนเอง (self-determination) ก็คือ ‘แนวคิดที่อนุญาตให้ปูทางไปสู่การแยกตัวเป็นรัฐเอกราชได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายระหว่างประเทศ’ นั่นเอง

เพราะแนวคิดนี้มีพื้นฐานอยู่บนหลักการที่ว่า ถ้าประชากรส่วนใหญ่ของพื้นที่ที่มีอัตลักษณ์และประวัติศาสตร์สืบเนื่องมาอย่างยาวนาน แต่ต้องกลับกลายเป็นอาณานิคมของชนชาติอื่น ประชากรเหล่านี้ก็สามารถเรียกร้องให้มีการกำหนดชะตากรรมตนเองเพื่อที่จะ ‘ลงประชามติ’ว่าจะขออยู่ภายใต้ประเทศเดิมหรือไม่ ซึ่งหลักการนี้ได้รับการยอมรับโดยสหประชาชาติ หรือ UN อีกด้วย

สำหรับกรณีที่องค์การระหว่างประเทศ อาทิ UN เข้ามาแทรกแซงเพื่อให้เกิด สิทธิในการกำหนดใจตนเอง กรณีชัดๆ เลยก็คือ ติมอร์-เลสเต (ติมอร์ตะวันออก) ที่เคยได้รับเอกราชตามแนวทางนี้จากการช่วยเหลือในการเปลี่ยนถ่ายอำนาจจาก UN เมื่อปี พ.ศ. 2542 หลังจากถูกรัฐบาลอินโดนีเซียยึดครองมาตั้งแต่ปี  พ.ศ. 2518

จึงกล่าวได้ว่าโมเดลของติมอร์-เลสเต เป็นรูปแบบที่ขบวนการแบ่งแยกดินแดน 3 จังหวัดชายแดนใต้ หรือ BRN ประสงค์อยากจะให้เป็นมากที่สุด เพราะการสู้รบด้วยกำลังอาวุธนั้นมีแต่จะแพ้เข้าไปทุกที การยืมมือต่างชาติเข้าแทรกแซงการเมืองการปกครองของไทยจึงเป็นสิ่งที่คนเหล่านี้พึงปรารถนาอย่างมาก

ข้อมูลข้างต้นนี้ทาง ฤา ไม่ได้กล่าวลอย ๆ เพราะผู้สนับสนุนขบวนการแบ่งแยกดินแดนฯ ได้เขียนหนังสือภาษาอังกฤษออกมาเล่มหนึ่งในปี พ.ศ. 2562 ชื่อ ‘The Freedom to Decide Our Future: Patani People Call for a Peaceful Settlement’ หนังสือเล่มดังกล่าวได้ป่าวประกาศความต้องการให้ทั่วโลกรู้ชัดเจนว่า ปัตตานีต้องได้รับเอกราชผ่านแนวทางสิทธิในการกำหนดใจตนเองจากความช่วยเหลือของนานาชาติ และ ขบวนการ BRN คือตัวแทนของชาวปัตตานีที่แท้จริง มิใช่รัฐไทย กล่าวชัด ๆ ได้ว่า BRN คือผู้ที่จะจัดตั้งรัฐปัตตานีเอกราชขึ้น หลังจากแยกตัวมาจากไทยได้สำเร็จนั่นเอง และขบวนการชาตินิยมปัตตานีมีหัวใจสำคัญอยู่ที่ประวัติศาสตร์และชาตินิยม ดังที่เรารับรู้ผ่านวาทกรรม ‘ปาตานี’ ที่เพิ่งสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2540 นี้เอง เรียกได้ว่าเป็นวาทกรรมที่สดใหม่มาก ๆ

อย่างไรก็ดี การเรียกร้องสิทธิในการกำหนดใจตนเอง ไม่ใช่ของใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ถ้าเราย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2488 หรือช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 บรรดารอยัลลิสต์หรือเจ้ามลายูเก่าจากวังสายบุรี ซึ่งปัจจุบันคือส่วนหนึ่งของจังหวัดปัตตานี ได้เคยอ้างสิทธิ์ดังกล่าวด้วยการเขียนจดหมายไปถึงนายกรัฐมนตรีอังกฤษในเวลานั้นว่า พวกเขาจะขอเลือกชะตากรรมของชาติตนเองตามสนธิสัญญาซานฟรานซิสโก (The San Francisco Conference) โดยขออยู่ภายใต้อาณานิคมของอังกฤษ มิใช่ไทย แต่คำร้องขอดังกล่าวทางรัฐบาลอังกฤษกลับไม่ได้ให้ความสนใจแต่อย่างใด เพราะเห็นว่าปัตตานีคือส่วนหนึ่งของประเทศไทยอย่างไม่ต้องสงสัย

ต้องย้ำด้วยว่า สาเหตุความไม่พอใจดังกล่าวเกิดขึ้นจากนโยบายชาตินิยมของจอมพล ป. พิบูลสงคราม สมาชิกคณะราษฎรที่เป็นนายกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2482 เป็นต้นมา รัฐบาลจอมพล ป. บังคับใช้นโยบายรัฐนิยมที่มีลักษณะกดขี่และละเมิดวิถีชีวิตของชาวไทยเชื้อสายมลายู ทำให้ชาวบ้านในชายแดนใต้เกิดความรู้สึกไม่พอใจรัฐบาลอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน บวกกับกระแสที่รัฐต่าง ๆ ได้รับเอกราชในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เข้มข้นขึ้น จนกระทั่งว่า อิบรอฮิม ชุกรี นักเขียนและนักชาตินิยมปัตตานีในช่วงปี พ.ศ. 2490-2491 ระบุไว้ในหนังสือ Sejarah Melayu Patani หรือ ประวัติศาสตร์ราชอาณาจักรมลายูปะตานี ไว้อย่างชัดเจนว่า “เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ชาวมลายูปะตานีจะต้องไม่ปล่อยให้รัฐบาลสยามเป็นผู้กำหนดโชคชะตาให้ แต่พวกเขาจะต้องกำหนดโชคชะตาของตัวเอง”

จะเห็นได้ว่า แนวคิดสิทธิในการกำหนดใจตนเองไม่ใช่ของใหม่ แต่เป็นสิ่งที่ขบวนการแบ่งแยกดินแดนใช้อ้างเพื่อจะได้รับเอกราชมานานแล้ว แต่นานาชาติกลับไม่ให้ความสนใจเนื่องจากมองกลุ่มขบวนการฯ เป็นแค่พวกก่อการร้ายหรือผู้ก่อความไม่สงบฯ เพราะในห้วงหลัง พ.ศ. 2500 หรือกว่า 50 ปีที่ผ่านมา บรรดาขบวนการแบ่งแยกดินแดนได้ให้ความสนใจกับแนวทางการต่อสู้ด้วยอาวุธหรือก่อการร้าย อาทิ การยิง วางระเบิด ลอบฆ่า มากกว่าการพูดคุยเจรจา

แต่หลังจากปี พ.ศ. 2557 เป็นต้นมา สถานการณ์เริ่มเปลี่ยนไป เพราะการก่อเหตุความรุนแรงมีแนวโน้มลดลงเนื่องจากความขัดแย้งและแตกแยกกันภายในกลุ่มขบวนการ BRN เป็นผลให้พวกเขาเริ่มมีความคิดที่จะเอาเรื่องสิทธิในการกำหนดใจตน มาต่อรองกับรัฐบาลไทยโดยตรง

และนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 รัฐบาลไทยได้ยืนยันหนักแน่นว่า จะให้สถานะการต่อรองเป็นเพียงแค่ ‘การพูดคุยสันติสุข’ (Peace Talk) ไม่ใช่ ‘เจรจาสันติภาพ’ เพราะในมุมมองความมั่นคงแล้ว การใช้คำว่า ‘เจรจาสันติภาพ’ เท่ากับว่าเป็นการยอมรับสภาวะสงครามภายในประเทศ กล่าวคือ มีสงครามจึงต้องมีการเจรจา อีกทั้งยังเป็นการยกสถานะของขบวนการก่อการร้าย/โจรใต้ ในที่นี้คือ BRN ให้มีสถานะ ‘เทียบเท่ากับรัฐ’ ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนคนไทยยอมไม่ได้ มีหรือที่จะยอมให้โจรก่อการร้ายที่ก่ออาชญากรรมฆ่าคนมาเกือบหมื่นชีวิต มีสถานะเทียบเท่ากับรัฐบาลไทยในฐานะคู่เจรจา การใช้คำที่ผิดเพี้ยนไปแม้เพียงเล็กน้อยเช่นนี้ อาจกลายเป็นการเสียรู้จนกระทั่งชักศึกเข้าบ้านก็เป็นได้

และหากต่อไปในอนาคต นักการเมืองพรรคใดสนับสนุนให้มีการใช้คำว่า ‘เจรจาสันติภาพ’ หรือพยายามเสนอให้บทบาทของนานาชาติเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในประเทศมากขึ้น ก็น่าสงสัยอยู่มากว่า นักการเมืองเหล่านี้มีความเกี่ยวข้องอย่างไรกับยุทธศาสตร์ของ BRN

ในเรื่องสิทธิในการกำหนดใจตนเอง เรื่องความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ เป็นปัญหาภายในประเทศ ก็ต้องแก้ภายในประเทศ หากจะมีต่างชาติเข้ามาช่วยในฐานะตัวกลาง ก็ย่อมหนีไม่พ้นประเทศเพื่อนบ้านของไทย เช่น มาเลเซีย ในฐานะประเทศที่มีพรมแดนติดต่อกันที่โจรใต้มักหนีเข้าไปกบดาน ซึ่งกรณีเจรจากันเป็นการภายในเช่นนี้ หากใครแย้งว่าไม่มีทางสำเร็จ นั่นหมายความว่าคนๆ นั้นกำลังพูดเท็จ เพราะกรณีนี้เคยประสบผลสำเร็จมาแล้วในคราวปราบปรามพรรคคอมมิวนิสต์มลายาระหว่างไทย-มาเลเซียเมื่อ 20 กว่าปีก่อน ในเวลานั้นก็ไม่เห็นว่าต้องอาศัยหรือต้องไปพึ่งต่างชาติ เช่น UN ในการยุติความรุนแรงแรง เรื่องภายในของเรา เราจัดการเองได้ เพราะประเทศไทยมีอธิปไตยเป็นของตนเอง

สำหรับข้อสงสัยที่ว่า สุดท้ายแล้วแนวคิดสิทธิในการกำหนดใจตนเองนั้น สามารถใช้ได้กับกรณี 3 จังหวัดชายแดนใต้หรือไม่ (ย้ำว่าต้องตัด 4 อำเภอของสงขลา คือ จะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี ออกไปก่อน เพราะพวกขบวนการแบ่งแยกดินแดนได้เคลมเอาพื้นที่ที่ไม่เกี่ยวข้องเหล่านี้เข้ามาเพื่อสร้างเป็นเขตกันชน หรือ buffer zone) ขอตอบได้เพียงว่าตามเงื่อนไขของกฎหมายระหว่างประเทศที่เกิดเพราะ UN นั้น แนวคิดสิทธิในการกำหนดใจตนเอง กรณีของปัตตานี ‘ไม่ตรงตามเงื่อนไข’ ใด ๆ เลย ประเด็นแรก คือ ปัตตานีไม่ได้เป็นดินแดนที่ตั้งอยู่ห่างไกลกับส่วนอื่นของประเทศไทยหรือมีเขตน่านน้ำเค็มขวางกั้น เช่น เป็นเกาะที่แยกตัวต่างหากหรือเป็นดินแดนอาณานิคมอันไกลโพ้น และประเด็นที่ 2 คือประเด็นสำคัญที่สุด นั่นคือ กฎของสิทธิในการกำหนดใจตนเองสิ้นสุดเพียงแค่ดินแดนที่ถูกผนวกหลังปี พ.ศ. 2488 หรือสงครามโลกครั้งที่ 2 กล่าวคือ หากพื้นที่ใดรวมกับประเทศนั้น มาก่อนปี พ.ศ. 2488 หรือ ค.ศ. 1945 ให้ถือว่าดินแดนเหล่านั้นอยู่นอกเหนือไปจากเงื่อนไขของแนวคิดสิทธิในการกำหนดใจตนเองตามที่ UN จะบังคับใช้ได้ เพราะ พ.ศ. 2488 เป็นปีที่ UN ให้ชาติต่าง ๆ ให้สัตยาบันรับหลักการดั่งกล่าวนั่นเอง

ดังนั้น จึงสิ้นสงสัยกันเสียทีว่า ปัตตานีไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขนี้แน่นอน เพราะเป็นที่ประจักษ์ว่าปัตตานีนั้น ชัดเจนว่าเป็นของสยาม/ไทย มาตั้งแต่โบราณ โดยมีหลักฐานรับรองถึงอธิปไตยของไทยต่อปัตตานีเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างชัดเจนเป็นที่รับรู้ไปทั่วโลก นั่นก็คือเอกสารของเฮนรี่ เบอร์นี่ ซึ่งมีอายุเก่าแก่สมัยรัชกาลที่ 3 โน่นทีเดียว และไม่ใช่เพิ่งจะมาผนวกในสมัยรัชกาลที่ 5 ในช่วงสนธิสัญญาแองโกลสยาม ตามที่ข้อมูลวิชาการผิด ๆ ในยุคหลังมักผลิตซ้ำข้อมูลเท็จแบบนี้อยู่บ่อย ๆ

จึงเรียกได้ว่า นอกจากแนวคิดสิทธิในการกำหนดใจตนเองจะไม่สามารถทำได้ตามระเบียบวิธีของกฎหมายระหว่างประเทศแล้ว ข้อสำคัญที่สุดคือ ยังเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญของราชอาณาจักรไทยอย่างร้ายแรงด้วย เพราะถือเป็นการทำลายหลักการขั้นมูลฐานของความเป็นรัฐเดี่ยวตามความในมาตรา 1 เลยทีเดียว

และนี่คือข้อเท็จจริงที่บรรดานักการเมือง นักวิชาการ และนักเคลื่อนไหวสนับสนุนการแบ่งแยกดินแดนพูดไม่หมด หรือปกปิดไม่ยอมพูด ดังที่อธิบายไปแล้วว่า แนวคิดสิทธิในการกำหนดใจตนเอง (self-determination) นั้น ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงหรือเงื่อนไขของปัตตานี เว้นเสียแต่ รัฐบาลไทยในอนาคตหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดันจะไปยกให้ความต้องการในการกำหนดใจตนเองของปัตตานีเป็นจริงขึ้นได้ ด้วยการยกระดับให้ขบวนการ BRN มีสถานะเทียบเท่ากับรัฐบาลไทยในฐานะผู้เจรจาสนติภาพ ด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อลบล้างมาตรา 1 ทิ้งไป หรือกระทั่งอนุญาตให้ประเทศมหาอำนาจเข้ามาแทรกแซงในฐานะตัวกลางไกล่เกลี่ย เมื่อนั้นแหละ ที่ปัตตานีจะถูกแยกออกจากประเทศไทยในที่สุด ฉะนั้นนับจากนี้ไป ขอให้พวกเราคนไทยช่วยกันจับตาดูขบวนการสนับสนุนการแบ่งแยกดินแดนนี้อย่างใกล้ชิด

อ้างอิง :

[1] self determination (international law)
[2] The Patani. The Freedom to Decide Our Future: Patani People Call for a Peaceful Settlement (2019)
[3] Nik Anuar Nik Mahmud. The Malays of Patani.(2008)
[4] อิบรอฮิม ชุกรี. Sejarah Melayu Patani หรือ ประวัติศาสตร์ราชอาณาจักรมลายูปะตานี. (เอกสารสำเนา)

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น