เปิดกว้างและเท่าเทียม เลือดเจ้ามลายาในรั้ว ‘จตุรมิตร’ บุตรเจ้าแขกกับการศึกษาในโรงเรียนชั้นนำสยาม

บทความโดย จีรวุฒิ (อุไรรัตน์) บุญรัศมี

เมื่อกล่าวถึงบรรดาศิษย์เก่าของโรงเรียนใน ‘เครือจตุรมิตร’ คนไทยจำนวนหนึ่งมักนึกภาพไปถึงบรรดาคนดังในแวดวงการเมือง วิชาการ และวงการบันเทิง ซึ่งก็ไม่ผิดแผกไปจากความจริงนักที่โรงเรียนเหล่านี้ได้ผลิตบุคคลกรที่มีคุณภาพจำนวนมากมายทั้งที่มีพื้นเพมาจากในกรุงเทพฯ และนอกกรุงเทพ หากลองส่องประวัติของบุคคลเหล่านั้นดูจะพบว่าหลายคนไม่ได้มีพื้นเพเป็นคนกรุง แต่ก็ได้รับโอกาสให้เข้ารับการศึกษาจนกระทั่งสำเร็จออกมาเป็นศิษย์เก่าผู้สร้างชื่อเสียงให้แก่สถาบันการศึกษาที่อบรมฟูมฟักวิชาความรู้พวกเขามา

หลังจากที่ไม่นานมานี้ได้มีบทความชิ้นหนึ่งมีเนื้อหาไปในทางค่อนแคะและกระแหนะกระแหนความภาคภูมิใจของสถาบันเหล่านี้ โดยชี้ชวนไปในทำนองที่ว่าโรงเรียนในเครือจตุรมิตรเป็นโรงเรียนของ ‘อีลิต’ (ชนชั้นนำ-หัวกะทิของชาติ) ยิ่งกว่านั้น ผู้เขียนบทความพยายามใช้ทฤษฎีเครือข่าย (network theory) ในความพยายามที่จะชักแม่น้ำทั้ง 5 ให้เห็นว่าบรรดาศิษย์จากโรงเรียนในเครือจตุรมิตรได้ครอบงำการเมืองไทยมาเป็นเวลานานโดยเฉพาะในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและผู้ทรงอิทธิพลในทางการเมือง และการสร้างจินตภาพให้โรงเรียนในเครือจตุรมิตรคือโรงเรียนของพวกคนกรุงเทพฯ ข้อสรุปจึงเป็นไปอย่างบิดเบี้ยวว่าเครือข่ายคนกรุงเทพฯชั้นสูงเหล่านั้นที่จะได้รับโอกาสอันดีซึ่งต่างกับคนต่างจังหวัดที่กลายเป็นคนนอกเครือข่าย และด้วยเหตุนี้โรงเรียนในเครือจตุรมิตรจึงเป็นโรงเรียนที่มีลักษณะอนุรักษ์นิยม (conservative)

ผู้เขียนมีความเห็นว่าข้อสรุปข้างต้นมีลักษณะฉาบฉวยและมองข้ามข้อเท็จจริงพื้น ๆ ไปว่า เพราะโรงเรียนเหล่านี้ ‘มีคุณภาพ’ ใช่หรือไม่ ? จึงทำให้ศิษย์ได้รับการยอมรับและมีความสามารถมากพอที่จะได้รับตำแหน่งสูง ๆ ทั้งในทางการเมืองและราชการ และเพราะโรงเรียนเหล่านี้ ‘มีความเก่าแก่’ ใช่หรือไม่ ? จึงทำให้บรรดาคนกรุงเทพเมื่อร้อยปีก่อนเป็นต้นมาซึ่งมีอยู่จำนวนไม่มากนักเลือกที่จะส่งบุตรหลานเพศชายเข้าเรียน ลองจินตนาการถึงกรุงเทพฯในเวลาดังกล่าวดู โรงเรียนชายล้วนที่เปิดอยู่ไม่กี่แห่งอาจเป็นตัวเลือกไม่กี่ที่สำหรับผู้ปกครองก็เป็นได้ ด้วยเหตุนี้ การพยายามใช้ทฤษฎีเครือข่ายมาอธิบายกรณีโรงเรียนในเครือจตุรมิตรจึงเต็มไปด้วยจุดอ่อนและมีลักษณะผิวเผินอย่างมาก

โรงเรียนราษฎร์หลวง ที่ถือกำเนิดในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์

หากเรียงลำดับการก่อตั้งโรงเรียนก่อนหลังแล้ว โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย (2395) นับเป็นโรงเรียนราษฎร์ (เอกชน) ที่เก่าแก่ที่สุดในไทย กล่าวคือก่อตั้งโดยคณะมิชชันนารีอเมริกันเพรสไบทีเรียน (โปรแตสแตนท์) ในสมัยรัชกาลที่ 4 ต่อมาโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย (2424) และโรงเรียนเทพศิรินทร์ (2428) ได้ก่อตั้งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยทางราชสำนักของในหลวงรัชกาลที่ 5 ส่วนโรงเรียนอัสสัมชัญ (2428) แม้ว่าจะตั้งปีเดียวกับโรงเรียนเทพศิรินทร์ หากแต่อัสสัมชัญจัดอยู่ในประเภทโรงเรียนราษฎร์ (เอกชน) อันก่อตั้งและบริหารโดยคณะบาทหลวงเซนต์คาเบรียล (คาทอลิก) ที่กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่าประวัติของโรงเรียนในเครือจตุรมิตรสามารถสืบสาวไปได้อย่างยาวนานกว่าร้อยปีจึงไม่แปลกใจว่าในห้วงที่มาผ่านจนถึงปัจจุบันจะสามารถผลิตศิษย์เก่าขึ้นมาได้จำนวนมาก ก็เพราะโรงเรียนเหล่านี้ตั้งมาก่อนใคร ๆ นั่นเอง

ศิษย์เก่าเทพศิรินทร์ผู้เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลเซีย

ตนกูอับดุล เราะห์มาน (Tunku Abdul Rahman) บุตรของสุลต่านอับดุลฮามิดแห่งรัฐไทรบุรีกับหม่อมชาวไทย (เนื่อง นททนาคร) ต่อมาเขาผู้นี้ได้กลายมาเป็นนายกรัฐมนตรีของมาเลเซียคนแรกในปี 2498 ภายใต้สังกัดพรรคอัมโน (UMNO) และได้ต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษเรื่อยมาจนกระทั่งสหพันธรัฐมลายาได้รับเอกราชในปี 2500 พร้อมภาพจำระดับตำนาน ณ จัตุรัสเมอเดกา ที่เขาได้ประกาศก้อง ‘เอกราช เอกราช เอกราช’ ในช่วงที่พิธีรับมอบเอกราชจากอังกฤษอย่างเป็นทางการ

และตามประวัติแล้ว ตนกูอับดุล เราะห์มาน ถือเป็นศิษย์เก่าของโรงเรียนเทพศิรินทร์ แรกเข้าปี 2456 (น่าสนใจว่าเป็นช่วงที่รัฐบาลไทยตัดสินใจมอบโอนรัฐไทรบุรีให้แก่อังกฤษไปแล้วเมื่อปี2452) ขณะอายุได้ 10 ขวบ และเรียนอยู่ที่โรงเรียนแห่งนี้เป็นระยะเวลา 2 ปีจนกระทั่งย้ายกลับไปเรียนที่เกาะปีนังในมลายาช่วงปี 2458 แต่กระนั้นสายสัมพันธ์ของท่านกับทางประเทศไทยก็ยังเป็นไปอย่างแนบแน่นต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี

ศิษย์เก่าอัสสัมชัญผู้ได้รับฉายา เสือแห่งมลายา

ศิษย์เก่าอัสสัมชัญท่านนี้แม้ลงท้ายจะไม่ได้รับตำแหน่งการเมืองอันสำคัญใด ๆ ไม่ว่าจะทางไทยหรือมลายา และมีข้อครหาว่าเขาคือต้นเหตุอีกแห่งหนึ่งของขบวนการแบ่งแยกดินแดนทางใต้ในสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กระนั้น การกระทำของเขาในห้วงนี้ขอให้ผู้อ่านเป็นผู้ตัดสินใจเอาเอง แต่สำหรับวีรกรรมของเต็งกูมะหมูด มะไฮยิดดิน (บุตรของรายาตานี ชื่อ เต็งกูอับดุลกาเกร์ กามารุดดิน ที่ถูกรัฐบาลสยามถอดเพราะขัดพระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อปี 2445) สมควรได้รับการพูดถึงไว้ด้วย ณ ที่นี้ เพราะปัจจุบันชาวมาเลเซียในรัฐกลันตันยังนับถือบุคคลท่านนี้อยู่ในฐานะ ‘เสือแห่งมลายา’ ผู้มีบทบาทใต้ดินร่วมกับราชการอังกฤษในช่วงญี่ปุ่นยึดครองดินแดนมลายาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

เต็งกูมะไฮยิดดินเกิดที่วังจะบังติกอ จังหวัดปัตตานี ในช่วงที่อับดุลกาเดร์ผู้เป็นบิดาได้รับการอภัยโทษและปล่อยตัวจากพิษณุโลกกลับปัตตานีแล้ว ด้วยเหตุนี้ เต็มกูมะไฮยิดดินจึงเป็นคนไทยเต็มขั้นต่างกับตนกูอับดุล เราะห์มาน บุตรของสุลต่านไทรบุรีแห่งเทพศิรินทร์ น่าสนใจว่าครอบครัวของเขาได้ตัดสินใจให้เข้ามาศึกษาในกรุงเทพ ณ โรงเรียนอัสสัมชัญบางรักในปี 2463-2466  แต่ลงท้ายเมื่ออับดุลกาเดร์ผู้เป็นบิดาได้ก่อกบฏต่อรัฐบาลสยามในสมัยรัชกาลที่6 (อีกครั้ง) เต็งกูมะไฮยิดดินพร้อมครอบครัวจึงต้องลี้ภัยไปอยู่ดินแดนมลายาของอังกฤษโดยการเข้าเรียนที่เกาะปีนัง และต่อมาได้เข้าเรียนมัธยมปลายโรงเรียนเดียวกับตนกูอับดุล เราะห์มาน (แต่คนละรุ่น)

เพราะ คุณภาพใช่ ขู่เข็ญหรือบังคับ

จะเห็นได้ว่ากรณีเจ้าแขกอดีตประเทศราชของสยามได้ตัดสินใจส่งบุตรหลานของตนเข้าเรียนโรงเรียนระบบสยามในกรุงเทพฯ ท่านหนึ่งเรียนโรงเรียนวัดไทย ส่วนอีกท่านเรียนโรงเรียนวัดคริสต์ เจ้าแขกเหล่านี้แม้จะมีศาสนาและธรรมเนียมบางประการผิดแผกไปจากชาวสยาม หากแต่ลงท้ายพวกเขาก็ตัดสินใจส่งบุตรหลานมาเรียนโรงเรียนไทยที่ใช้ระบบภาษาไทยในการสั่งสอนวิชา ไม่มีหลักฐานว่าการตัดสินใจเหล่านี้มาจากการ ‘บังคับ’ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีของตนกูอับดุล เราะห์มานที่เวลานั้นไทรบุรีหาใช่ส่วนหนึ่งของไทยแล้ว แต่ครอบครัวก็ยังตัดสินใจส่งท่านมาเรียนที่กรุงเทพฯ และถ้าไม่ใช่ด้วย ‘คุณภาพ’ ของการศึกษาในสถาบันดังกล่าว ผู้เขียนเองก็นึกไม่ออกว่าเจ้าแขกเหล่านี้จะเห็นประโยชน์สำคัญอันใดจึงตัดสินใจส่งลูกหลานไกลบ้านมาเรียนถึงที่นี่ ทั้ง ๆ ที่เกาะปีนังนั้นอยู่แค่เพียงแค่เอื้อมเท่านั้น

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า