จากเรือเหล็กไอน้ำจำลอง ในเรื่องบุพเพสันนิวาส 2 สู่เรือเหล็กไอน้ำลำแรกของไทย

เปิดตัวภาพยนตร์ไปอย่างงดงาม กับ “บุพเพสันนิวาส 2” ที่สามารถทำรายได้อย่างงดงาม ซึ่งวันที่ 3 สิงหาคม ที่ผ่านมา ทะลุ 300 ล้านบาทไปเรียบร้อยแล้วนั่นเอง

กระแสการตอบรับไม่เพียงในประเทศเท่านั้นที่ดี ในประเทศเพื่อนบ้าน อย่างลาว และกัมพูชา ก็ได้รับการต้อนรับอย่างล้นหลามด้วยเช่นกัน

สำหรับเรื่องราวของภาพยนตร์นั้น เนื้อเรื่อง หยิบเอาปมความขัดแย้งระหว่างพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) กับนายโรเบิร์ต ฮันเตอร์ เกี่ยวกับการซื้อขายเรือเอ็กเพรสมาเป็นไคลแม็กซ์ของเรื่อง

โดยเมื่อเริ่มเรื่อง ภาพยนตร์กล่าวถึงการมาของเรือเอ็กเพรส เรือเหล็กขับเคลื่อนด้วยไอน้ำลำแรกที่เดินทางมาถึงกรุงสยาม ช่วงเดือนมกราคม พ.ศ. 2386 หรือ ค.ศ. 1844 นั่นเอง (ในสมัยนั้น นับเดือนเมษายนเป็นเดือนที่ 1 ของปี)

ซึ่งนายโรเบิร์ต ฮันเตอร์ พ่อค้าชาวอังกฤษสั่งเรือลำนี้เข้ามาเพื่อขายให้แก่กรุงสยาม แต่ทางการสยาม ซึ่งนำโดยเสด็จในกรม ทรงปฏิเสธที่จะซื้อ เนื่องจากทรงไม่เชื่อว่าเรือเหล็กนั้นจะลอยน้ำ และแล่นได้เองโดยไม่ต้องใช้ลมหรือฝีพาย

เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างราชสำนักกับอังกฤษ “ภพ” พระเอกของเรื่องจึงขันอาสา ต่อเรือเหล็กไอน้ำจำลองถวายเสด็จในกรม เพื่อพิสูจน์ว่า เรือเหล็กสามารถลอยน้ำและขับเคลื่อนด้วยไอน้ำได้จริงนั่นเอง

เรื่องนี้ อาจจะฟังดูเหลือเชื่ออย่างยิ่ง เนื่องจากว่า เรือเหล็กไอน้ำนั้น ถือเป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดของโลกในเวลานั้น

นอกจากนี้ กว่าที่ชาวยุโรปจะศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับไอน้ำ จนกระทั่งสามารถสร้างเครื่องจักรไอน้ำที่สามารถใช้งานได้จริงในเชิงพาณิชย์นั้น ต้องใช้เวลาในการศึกษา ค้นคว้า และวิจัยนานกว่าร้อยปีเลยทีเดียว

ดังนั้น การที่ “ภพ” พระเอกของเรื่องนั้น สามารถสร้างเรือเหล็กไอน้ำได้สำเร็จนั้น เป็นเรื่องที่ฟังดูแล้ว เหลือเชื่ออย่างยิ่ง

เพราะประเทศไทยในเวลานั้น ยังไม่เปิดรับชาวตะวันตกและองค์ความรู้ของตะวันตกสักเท่าไร อีกทั้ง ทัศนคติของราชสำนักสยามในเวลานั้น ไม่ค่อยจะเปิดรับชาวตะวันตกอีกด้วย

แต่ถึงกระนั้น

ในอีก 4 ปีต่อมา คนไทยกลับสามารถต่อเรือเหล็กไอน้ำขึ้นมาอวดสายตาชาวโลกได้จริง ๆ

สำหรับเรือเหล็กไอน้ำนั้น ถือว่าเป็นเทคโนโลยีที่ใหม่มากสำหรับโลกในเวลานั้น โดยเรือเหล็กไอน้ำลำแรกของโลกนั้น คือเรือ นอร์ท รีเวอร์ สตรีมโบต์ท (North River Streamboat) โดยโรเบิร์ต ฟูลตัน วิศวกรชาวอเมริกัน

มันถูกใช้งานครั้งแรกที่นิวยอร์ค ในวันที่ 7 สิงหาคม ค.ศ. 1807 และเรือเหล็กของฟูลตัน สะกิดความสนใจของนาวาเอก แมททิว คาลเบรท เพอรี่ นายทหารเรืออเมริกันผู้มีชื่อเข้าอย่างจัง และเพอรี่ คือผู้ผลักดันการนำเรือเหล็กไอน้ำเข้าประจำการในกองทัพเรืออเมริกา

อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกของการผลักดัน เพอรี่ พบแรงต้านจากบรรดาผู้อาวุโสหัวเก่าเช่นกัน

แต่เขาพยายามพิสูจน์ศักยภาพของเรือรบไอน้ำต่อหน้าสาธารณชนหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการแข่งความเร็วระหว่างเรือไอน้ำ กับเรือรบแบบดั้งเดิม

หรือการปล่อยให้ลูกเรือเดินเรือพลาด ชนเรือสินค้าเอกชน ที่ยังทำด้วยไม้ จนเรือเอกชนแตกหักเสียหาย ในขณะที่เรือเหล็กยังปลอดภัยไร้รอยขีดข่วน

ในเวลาต่อมา กองทัพเรือสหรัฐอนุมัติโครงการเรือเหล็กไอน้ำของเพอรี่ ทำให้เพอรี่ได้รับการยกย่องให้เป็น “บิดาแห่งเรือไอน้ำของกองทัพเรืออเมริกา” ในเวลาต่อมา

ซึ่งเรือเหล็กไอน้ำลำแรกของโลกคือ เรือหลวง เดโมโลโกส์ เข้าประจำการในกองทัพเรือสหรัฐในวันที่ 29 ตุลาคม ค.ศ. 1815

สำหรับราชนาวีอังกฤษเอง ก็เพิ่งจะมีเรือเหล็กไอน้ำเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ค.ศ. 1822 นี่เอง

นอกจากนี้ ในปี ค.ศ. 1844 (พ.ศ. 2386) นั้น มีเพียง 4 กองทัพเรือในโลกที่มีเรือเหล็กไอน้ำในประจำการ ได้แก่ กองทัพเรือสหรัฐอเมริกา, ราชนาวีอังกฤษ, กองทัพเรือฝรั่งเศส และกองทัพเรือรัสเซีย

นี่เห็นได้เลยว่า เทคโนโลยีเรือเหล็กไอน้ำ และเรือรบไอน้ำนั้น เป็นเรื่องที่ใหม่ของโลกมาก ๆ

ในเวลานั้น หนังสือ Siam Then ซึ่งเป็นจดหมายข่าวของหมอบรัดเลย์ มิชชันนารีชาวอเมริกันได้บันทึกถึงเหตุการณ์การมาถึงของเรือเอ็กเพรสเอาไว้ด้วยเช่นกัน โดยข้อความส่วนหนึ่งนั้นระบุว่า

“เรือลำนี้ก็ก้าวหน้าเกินกว่าสติปัญญาและทักษะของชาวสยามเหลือเกิน”

นี่แปลว่า การสร้างเรือเหล็กไอน้ำโดยคนไทยในเวลานั้น

ใคร ๆ ก็คิดว่า เหลือเชื่อ

แต่ถึงกระนั้น เรือเหล็กลอยน้ำได้ และขับเคลื่อนโดยไม่ต้องพึ่งลมและฝีพายกลับเป็นที่ต้องพระทัยของ “เจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์” อย่างยิ่ง

ในเวลานั้น กรมขุนอิศเรศ ฯ ทรงเป็นเจ้านายหัวสมัยใหม่พระองค์หนึ่ง ที่ทรงสนพระทัยในวิทยาการตะวันตก โดยเฉพาะวิชาการทหารเรือ และเครื่องยนต์กลไกอย่างยิ่ง

และด้วยความช่วยเหลือของจอห์น แฮสเซตต์ แชนด์เลอร์ มิชชันนารี ชาวอเมริกัน

เรือเหล็กไอน้ำลำแรกของไทย ก็ได้ออกมาอวดสายตาชาวโลกในวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2390 หรือ 4 ปี หลังการมาถึงของเรือเอ็กเพรสนั่นเอง

หนังสือพิมพ์ สิงค์โปร์ ฟรี เพรส ฉบับวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2391 ได้กล่าวถึงเรือเหล็กไอน้ำลำนี้ว่า

“ชาวสยามก็สามารถคุยเขื่องได้แล้วว่า ตนมีเรือกลไฟไว้แล่นในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยที่ชิ้นส่วนทุกชิ้นของเรือถูกสร้างและผลิตขึ้นในประเทศโดยชาวสยามเอง เรือลำนี้มีความยาว 26 ½ ฟุต ความกว้าง 3 ฟุต และมีเครื่องยนต์ 3 แรงม้า ปรากฏการณ์ขนาดย่อมนี้ได้แล่นขึ้นลงแม่น้ำสายนั้นหลายเที่ยวแล้ว ท่ามกลางสายตาที่เต็มไปด้วยความรู้สึกประหลาดใจและชื่นชมของฝูงชนนับพันที่ยืนแออัดกันบนฝั่งแม่น้ำทุกครั้งที่เรือแล่นผ่าน โดยที่ส่วนใหญ่เจ้าฟ้ากรมขุนฯ ทรงเป็นนายท้ายเรือด้วยพระองค์เอง”

ด้วยเหตุนี้ จึงอาจกล่าวได้ว่า เจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ คือคนไทยคนแรก ที่สามารถต่อเรือเหล็กไอน้ำได้สำเร็จนั่นเอง

เจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ในสมัยรัชกาลที่ 3 นั้น พระองค์ทรงรับราชการในกองทัพ และทรงมีพระบารมีในกองทัพอย่างสูง

กระทั่งเมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 ทรงใกล้สวรรคต เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) เดินทางไปเข้าเฝ้าสมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎซึ่งทรงผนวชอยู่วัดบวรนิเวศวิหาร กราบทูลว่าจะเชิญเสด็จขึ้นครองราชย์

แต่เจ้าฟ้ามงกุฎตรัสว่าเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ มีพระชะตาแรงต้องเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ให้ถวายราชสมบัติแก่ท่านนั้นด้วย

เจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ จึงได้เสวยราชสมบัติเป็น พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ที่ 2 ในรัชกาลที่ 4 ด้วยนั่นเอง

เมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงครองราชสมบัตินั้น พระองค์ทรงมีพระราชกรณียกิจที่สำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนากองทัพเรือไทย คู่กับ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ซึ่งเป็นชาวไทยอีกคน ที่มีความรู้ความชำนาญในด้านเรือกลไฟ

ในสมัยนั้น สมเด็จพระปิ่นเกล้า ฯ ทรงมีกองเรือวังหน้าในบังคับบัญชาส่วนพระองค์กองหนึ่ง และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ก็คุมกองเรือวังหลวงไว้อีกกองหนึ่ง

ซึ่งกองเรือทั้งสองนี้ คือต้นแบบของกองทัพเรือไทยในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ในหนังสือ “ตำนานเรือรบไทย” ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นั้น กล่าวถึงเรือลำนี้ว่า “เปนเรือพอแล่นได้ จะใช้การหาได้ไม่” ในขณะที่ ส. พลายน้อย กล่าวในหนังสือ “กษัตริย์วังหน้า” ระบุถึงเรือลำนี้ว่า เป็นเพียงเรือกลไฟธรรมดา ไม่ควรนับว่าเป็นเรือรบ

จึงทำให้ความสำคัญ และการถูกพูดถึงในเวลาต่อมานั้น ค่อย ๆ หายลืมเลือนไปจากหน้าประวัติศาสตร์ไทย

ด้วยเหตุนี้ ตำแหน่งเรือกลไฟลำแรกของไทย ของเรือลำนี้ จึงถูกแย่งไปโดย “เรือสยามอรสุมพล” แทน

ซึ่งเรือลำนี้นั้น เข้าประจำการในวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2398 โดยตัวเรือนั้น ถูกสร้างขึ้น ณ อู่ตรงข้ามท่าราชวรดิฐ (ปัจจุบันคือ กรมอู่ทหารเรือ และฐานทัพเรือกรุงเทพ) ควบคุมการสร้างโดยเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ แต่เครื่องจักรนั้น ถูกสั่งมาจากอังกฤษนั่นเอง

และการพัฒนาทักษะในการต่อเรือรบของไทยนั้น ยังคงพัฒนาต่อไป โดยกองเรือวังหน้า และกองเรือวังหลวง ต่างก็แข่งกันพัฒนาเทคนิคการต่อเรือรบของไทย

จนกระทั่ง พ.ศ.2409 ไทยสามารถส่งเรือยงยศอโยชฌิยา ของวังหน้า ออกไปอวดธงถึงสิงคโปร์

และในการอวดธงในครั้งนั้น ไทยได้รับคำชมเชยจากผู้ใหญ่ทางสิงคโปร์ว่าเรือของไทยรู้ธรรมเนียมปฏิบัติแบบสากลดี และครั้งนั้นธงชาติไทยได้มีโอกาสขึ้นยอดเสาเคียงคู่ธงชาติอังกฤษที่ป้อมแคนนิ่ง

บทความนี้ จะเห็นแล้วว่า

การต่อเรือไอน้ำของ “ภพ” ในภาพยนตร์บุพเพสันนิวาส 2 นั้น เป็นเรื่องที่ “เหลือเชื่ออย่างยิ่ง” แต่ถึงกระนั้น ทุกคนก็เข้าใจได้ว่า นี่เป็นเพียงภาพยนตร์ที่แต่งขึ้นเพื่อความบันเทิง

แต่ทว่า พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว กลับทรงต่อเรือกลไฟได้ในเวลาเพียง 4 ปี นับตั้งแต่ที่เรือเอ็กเพรสมาถึงประเทศไทยได้จริงนั้น

เป็นเรื่องที่น่าทึ่งเสียยิ่งกว่า อีกทั้งเรื่องนี้นั้น เป็นเรื่องจริง ที่มีบันทึกในประวัติศาสตร์เป็นเครื่องยืนยัน

นี่จึงเป็นสิ่งยืนยันถึง พระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า ในด้านวิชาวิศวกรรมต่อเรือนั่นเอง

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย